อัมพัฏฐสูตร
[ ๑๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ
๕๐๐ รูป บรรลุถึงพราหมณคาม แห่งชาวโกศล ชื่ออิจฉานังคลคาม. ได้ยินว่า สมัยนั้นพระองค์
ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน เขตอิจฉานังคลคาม.
[ ๑๔๒] ก็สมัยนั้น พราหมณ์โปกขรสาติอยู่ครองนครอุกกัฏฐะ ซึ่งคับคั่งด้วยประชาชน
และหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชสมบัติ
อันพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นส่วนพรหมไทย.
พราหมณ์โปกขรสาติได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล
แล้ว เสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงอิจฉานัง
คลคามโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน เขตอิจฉานังคลคาม ก็เกียรติศัพท์
อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า
แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้วทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่น
ยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วย
พระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์
ให้รู้ตามพระองค์ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ
พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์
ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดีแล.
เรื่องอัมพัฏฐมาณพ
[ ๑๔๓] สมัยนั้นแล อัมพัฏฐมาณพ ศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติ เป็นผู้เล่าเรียน
ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์
อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และ
มหาปุริสลักษณะ อันอาจารย์ยกย่องและรับรองในลัทธิปาพจน์ คือ ไตรวิทยา อันเป็นของอาจารย์
ของตนว่า ฉันรู้สิ่งใด เธอรู้สิ่งนั้น เธอรู้สิ่งใด ฉันรู้สิ่งนั้น.
ครั้งนั้นแล พราหมณ์โปกขรสาติ เรียกอัมพัฏฐมาณพมาเล่าว่า พ่ออัมพัฏฐะ พระสมณะ
โคดมศากยบุตร พระองค์นี้ทรงผนวชจากศากยสกุล แล้วเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงอิจฉานังคลคาม โดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ราวป่า
อิจฉานังคลวันใกล้อิจฉานังคลคาม ก็เกียรติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไป อย่างนี้ว่า
แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้วทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่น
ยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วย
พระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์
ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ
พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์
ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดีแล.
พ่ออัมพัฏฐะ พ่อจงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วจงรู้ว่าเกียรติศัพท์ของ
ท่านพระโคดมพระองค์นั้นที่ขจรไป จริงตามนั้นหรือไม่ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ทรงคุณ
เช่นนั้นจริงหรือไม่ เราทั้งหลายจะได้รู้จักท่านพระโคดมพระองค์นั้นไว้ โดยประการนั้น.
อัมพัฏฐมาณพถามว่า ท่าน ก็ไฉนเล่า ข้าพเจ้าจึงได้รู้ว่าเกียรติศัพท์ของท่านพระโคดม
พระองค์นั้นที่ขจรไป จริงอย่างนั้นหรือไม่ ท่านพระโคดมพระองค์นั้นทรงคุณเช่นนั้นจริงหรือไม่?
พราหมณ์โปกขรสาติตอบว่า พ่ออัมพัฏฐะ มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการมาแล้วใน
มนต์ของเรา ซึ่งพระมหาบุรุษประกอบแล้วย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้นไม่เป็นอย่างอื่น ถ้าครองเรือน
จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร
๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว
ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗ พระราชบุตรของ
พระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้
พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศาตรา ครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็น
ขอบเขต ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคา
คือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก
พ่ออัมพัฏฐะ เราเป็นผู้สอนมนต์ พ่อเป็นผู้เรียนมนต์.
อัมพัฏฐมาณพรับคำพราหมณ์โปกขรสาติแล้ว ลุกจากที่นั่ง ไหว้พราหมณ์โปกขรสาติ
กระทำประทักษิณ แล้วขึ้นรถม้าพร้อมด้วยมาณพหลายคน ขับตรงไปยังราวป่าอิจฉานังคลวัน
ตลอดภูมิประเทศเท่าที่รถจะไปได้ ลงจากรถเดินตรงไปยังพระอาราม .
[ ๑๔๔] สมัยนั้นแล ภิกษุหลายรูปกำลังจงกรมอยู่กลางแจ้ง.
ลำดับนั้น อัมพัฏฐมาณพเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรม ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้
กะภิกษุเหล่านั้นว่า ท่านผู้เจริญ เวลานี้ท่านพระโคดมพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน พวกข้าพเจ้า
พากันเข้ามาที่นี่ เพื่อจะเฝ้าพระองค์ท่าน.
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นคิดเห็นร่วมกันเช่นนี้ว่า อัมพัฏฐมาณพผู้นี้เป็นคนเกิดในสกุล
ที่มีชื่อเสียง ทั้งเป็นศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติผู้มีชื่อเสียงอันการสนทนาปราศรัยกับพวก
กุลบุตร เห็นปานนี้ ย่อมไม่เป็นการหนักพระทัยแก่พระผู้มีพระภาคเลย ดังนี้แล้วจึงตอบอัมพัฏฐ
มาณพว่า อัมพัฏฐะ นั่นพระวิหารมีประตูปิดอยู่ ท่านจงสงบเสียงเข้าไปทางพระวิหารนั้น
ค่อยๆ เข้าไปที่เฉลียง กระแอมไอแล้ว เคาะบานประตูเถิด พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิดประตู รับท่าน.
ลำดับนั้น อัมพัฏฐมาณพสงบเสียง เข้าไปทางพระวิหารซึ่งมีประตูปิดอยู่นั้น ค่อยๆ
เข้าไปยังเฉลียง กระแอมไอแล้ว เคาะบานประตู พระผู้มีพระภาคทรงเปิดประตู อัมพัฏฐมาณพ
เข้าไปแล้ว แม้พวกมาณพก็พากันเข้าไปปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้
ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[ ๑๔๕] ฝ่ายอัมพัฏฐมาณพ เดินปราศรัยบ้าง ยืนปราศรัยบ้าง กับพระผู้มีพระภาค
ผู้ประทับนั่งอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า อัมพัฏฐะ เธอเคยสนทนาปราศรัยกับพวกพราหมณ์
ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เหมือนดังเธอ เดินบ้างยืนบ้าง สนทนาปราศรัยกับเราผู้นั่งอยู่ เช่นนี้หรือ?
อ. ข้อนี้หามิได้ พระโคดมผู้เจริญ เพราะว่าพราหมณ์ผู้เดินก็ควรเจรจากับพราหมณ์
ผู้เดิน พราหมณ์ผู้ยืนก็ควรเจรจากับพราหมณ์ผู้ยืน พราหมณ์ผู้นั่งก็ควรเจรจากับพราหมณ์ผู้นั่ง
พราหมณ์ผู้นอนก็ควรเจรจากับพราหมณ์ผู้นอน.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แต่ผู้ใดเป็นสมณะโล้น เป็นคฤหบดีเชื้อสายกัณหโคตร เกิดจาก
พระบาทของท้าวมหาพรหม ข้าพเจ้าย่อมสนทนาปราศรัยกับผู้นั้น เหมือนกับที่สนทนาปราศรัย
กับพระโคดมผู้เจริญนี้.
อัมพัฏฐะ ก็เธอมีธุระจึงได้มาที่นี้ ก็พวกเธอมาเพื่อประโยชน์อันใดแล พึงใส่ใจถึง
ประโยชน์นั้นแหละไว้ให้ดี ก็อัมพัฏฐมาณพ ยังไม่ได้รับการศึกษาเลย สำคัญตัวว่าได้รับการศึกษา
ดีแล้ว จะมีอะไรอีกเล่า นอกจากไม่ได้รับการศึกษา.
ลำดับนั้น อัมพัฏฐมาณพถูกพระผู้มีพระภาคตรัสตำหนิด้วยพระวาจาว่า เป็นคนไม่ได้
รับการศึกษา โกรธ ขัดใจ เมื่อจะด่าข่มว่ากล่าวพระผู้มีพระภาค คิดว่าเราจักต้องให้พระสมณโคดม
ได้รับความเสียหาย ได้กล่าวคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านโคดม พวกชาติศากยะดุร้าย หยาบช้า มีใจเบา พูดพล่าม เป็นแต่พวกคฤหบดี
แท้ๆ ยังไม่สักการะพวกพราหมณ์ ไม่เคารพพวกพราหมณ์ ไม่นับถือพวกพราหมณ์ ไม่บูชา
พวกพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมพวกพราหมณ์
ท่านโคดม การที่พวกศากยะเป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ แต่ไม่สักการะพวกพราหมณ์
ไม่เคารพพวกพราหมณ์ ไม่นับถือพวกพราหมณ์ ไม่บูชาพวกพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมพวกพราหมณ์
นี้ไม่เหมาะไม่สมควรเลย.
อัมพัฏฐมาณพกดพวกศากยะว่า เป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ นี้เป็นครั้งแรกด้วยประการ ฉะนี้ .
[ ๑๔๖] อัมพัฏฐะ ก็พวกศากยะได้ทำผิดต่อเธออย่างไร?.
ท่านโคดม ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ไปยังนครกบิลพัสดุ์ ด้วยกรณียกิจบางอย่างของ
พราหมณ์โปกขรสาติผู้อาจารย์ ได้เดินเข้าไปยังสัณฐาคารของพวกศากยะ เวลานั้นพวกศากยะ
และศากยกุมารมากด้วยกัน นั่งเหนืออาสนะสูงๆ ในสัณฐาคารเอานิ้วมือสะกิดกันและกันเฮฮาอยู่
เห็นทีจะหัวเราะเยาะข้าพเจ้าเป็นแน่ ไม่มีใครเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้านั่งเลย.
ท่านโคดม ข้อที่พวกศากยะเป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ แต่ไม่สักการะพวกพราหมณ์
ไม่เคารพพวกพราหมณ์ ไม่นับถือพวกพราหมณ์ ไม่บูชาพวกพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมพวกพราหมณ์
นี้ไม่เหมาะไม่สมควรเลย.
อัมพัฏฐมาณพกดพวกศากยะว่า เป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ นี้เป็นครั้งที่สอง ด้วยประการ ฉะนี้.
[ ๑๔๗] อัมพัฏฐะ แม้นางนกไส้ก็ยังเป็นสัตว์พูดได้ตามความปรารถนาในรังของตน
ก็พระนครกบิลพัสดุ์เป็นถิ่นของพวกศากยะ อัมพัฏฐะไม่ควรจะข้องใจ เพราะการหัวเราะเยาะ
เพียงเล็กน้อยนี้เลย.
ท่านโคดม วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ เวสส์ ศูทร บรรดาวรรณะ
๔ เหล่านี้ ๓ วรรณะ คือ กษัตริย์ เวสส์ ศูทร เป็นคนบำเรอของพราหมณ์พวกเดียวโดยแท้.
ท่านโคดม ข้อที่พวกศากยะเป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ แต่ไม่สักการะพวกพราหมณ์
ไม่เคารพพวกพราหมณ์ ไม่นับถือพวกพราหมณ์ ไม่บูชาพวกพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมพวกพราหมณ์
นี้ไม่เหมาะไม่สมควรเลย.
อัมพัฏฐมาณพกดพวกศากยะว่า เป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ นี้เป็นครั้งที่สาม ด้วยประการ ฉะนี้.
[ ๑๔๘] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริเช่นนี้ว่า อัมพัฏฐมาณพผู้นี้ กล่าว
เหยียบย่ำพวกศากยะอย่างหนัก โดยเรียกว่า เป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ ถ้ากระไร เราจะพึง
ถามถึงโคตรเธอดูบ้าง
แล้วพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กับอัมพัฏฐมาณพว่า
อัมพัฏฐะ เธอมีโคตรว่าอย่างไร?
กัณหายนโคตร ท่านโคดม.
อัมพัฏฐะ ก็เธอระลึกถึงโคตรเก่าแก่อันเป็นของมารดาบิดาดูเถิด พวกศากยะเป็นลูกเจ้า
เธอเป็นลูกนางทาสีของพวกศากยะ ก็พวกศากยะเขาพากันอ้างถึงพระเจ้าอุกกากราชว่าเป็นบรรพบุรุษ .
ว่าด้วยศากยวงศ์
[ ๑๔๙] อัมพัฏฐะ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าอุกกากราชทรงพระประสงค์จะพระราชทาน
สมบัติให้แก่พระโอรสของพระมเหสีผู้ที่ทรงรักใคร่โปรดปราน จึงทรงรับสั่งให้พระเชฏฐกุมาร
คือพระอุกกามุขราชกุมาร พระกรกัณฑุราชกุมาร พระหัตถินีกราชกุมาร และพระสีนิปุระราชกุมาร
ออกจากพระราชอาณาเขต พระกุมารเหล่านั้น เสด็จออกจากพระราชอาณาเขตแล้ว จึงไปตั้งสำนัก
อาศัยอยู่ ณ ราวป่าไม้สากะใหญ่ริมฝั่งสระโปกขรณีข้างภูเขาหิมพานต์ พระราชกุมารเหล่านั้น
ทรงสำเร็จการอยู่ร่วมกับพวกพระภคินีของพระองค์เอง เพราะกลัวพระชาติจะระคนปนกัน.
อัมพัฏฐะ ต่อมาพระเจ้าอุกกากราชตรัสถามหมู่อำมาตย์ราชบริษัทว่า บัดนี้พวกกุมาร
อยู่กัน ณ ที่ไหน?.
พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ขอเดชะ มีราวป่าไม้สากะใหญ่อยู่ริมฝั่งสระโบกขรณีข้างภูเขา
หิมพานต์ บัดนี้ พระราชกุมารทั้งหลายอยู่ ณ ที่นั้น พระราชกุมารเหล่านั้นทรงสำเร็จการอยู่
ร่วมกับพวกพระภคินีของพระองค์เอง เพราะกลัวพระชาติจะระคนปนกัน.
อัมพัฏฐะ ทีนั้นพระเจ้าอุกกากราชทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านทั้งหลาย พวกกุมาร
สามารถหนอ พวกกุมารสามารถยอดเยี่ยมหนอ.
อัมพัฏฐะ ก็พวกที่ชื่อว่าศากยะปรากฏตั้งแต่กาลครั้งนั้นเป็นต้นมา และพระเจ้าอุกกากราช
พระองค์นั้น เป็นบรรพบุรุษของพวกศากยะ
และพระเจ้าอุกกากราชมีนางทาสีคนหนึ่งชื่อทิสา นางคลอดบุตรคนหนึ่ง ชื่อกัณหะ
กัณหะพอเกิดมาก็พูดได้ว่า แม่จงชำระฉัน จงให้ฉันอาบน้ำ แม่จ๋า ขอแม่จงปลดเปลื้องฉัน
จากสิ่งโสโครกนี้ ฉันเกิดมาเพื่อประโยชน์แก่แม่.
อัมพัฏฐะ มนุษย์สมัยนี้เรียกปีศาจว่า ปีศาจ ฉันใด มนุษย์สมัยนั้นก็ฉันนั้น เรียกปีศาจ
ว่า คนดำ มนุษย์เหล่านั้นจึงกล่าวกันเช่นนี้ว่า ทารกนี้พอเกิดมาก็พูดได้ คนดำเกิดแล้ว
ปีศาจเกิดแล้ว. อัมพัฏฐะ ก็พวกที่ชื่อว่ากัณหายนะ ปรากฏตั้งแต่กาลครั้งนั้นเป็นต้นมา และ
กัณหะนั้นเป็นบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ.
อัมพัฏฐะ เธอระลึกถึงโคตรเก่าแก่อันเป็นของมารดาบิดาดูเถิด พวกศากยะเป็นลูกเจ้า
เธอเป็นลูกทาสีของพวกศากยะ ด้วยประการฉะนี้แล .
ว่าด้วยวงศ์ของอัมพัฏฐมาณพ
[ ๑๕๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาณพเหล่านั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
พระโคดมผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าทรงเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพด้วยพระวาทะว่าเป็นลูกทาสีให้
หนักนักเลย
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อัมพัฏฐมาณพมีชาติดี เป็นบุตรผู้มีสกุล เป็นพหูสูต เจรจา
ไพเราะ เป็นบัณฑิต และเธอสามารถจะโต้ตอบในคำนี้กับพระโคดมผู้เจริญได้.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะมาณพเหล่านั้นว่า ถ้าพวกเธอคิดเช่นนี้ว่า อัมพัฏฐ
มาณพมีชาติทราม มิใช่บุตรผู้มีสกุล มีสุตะน้อย เจรจาไม่ไพเราะ มีปัญญาทราม และไม่สามารถ
จะโต้ตอบในคำนี้กับพระสมณโคดมได้ อัมพัฏฐมาณพจงหยุดเสียเถิด พวกเธอจงโต้ตอบกับเรา ในคำนี้
ก็ถ้าพวกเธอคิดเช่นนี้ว่า อัมพัฏฐมาณพมีชาติดี เป็นบุตรผู้มีสกุล เป็นพหูสูตร เจรจา
ไพเราะ เป็นบัณฑิต และสามารถจะโต้ตอบในคำนี้กับพระสมณโคดมได้ พวกเธอจงหยุดเสียเถิด
อัมพัฏฐมาณพจงโต้ตอบกับเราในคำนี้.
มาณพเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อัมพัฏฐมาณพมีชาติดี เป็นบุตรผู้มีสกุล
เป็นพหูสูตร เจรจาไพเราะ เป็นบัณฑิต และสามารถจะโต้ตอบในคำนี้กับพระโคดมได้ พวก
ข้าพเจ้าจักนิ่งละ อัมพัฏฐมาณพจงโต้ตอบกับพระโคดมในคำนี้เถิด.
[ ๑๕๑] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะอัมพัฏฐมาณพว่า อัมพัฏฐะ ปัญหา ประกอบ
ด้วยเหตุนี้แล มาถึงเธอเข้าแล้ว ถึงแม้จะไม่ปรารถนา เธอก็ต้องแก้ ถ้าเธอจักไม่แก้ก็ดี
จักกลบเกลื่อนด้วยคำอื่นเสียก็ดี จักนิ่งเสียก็ดี หรือจักหลีกไปเสียก็ดี ศีรษะของเธอจักแตก
เป็นเจ็ดเสี่ยง ณ ที่นี้แหละ
อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอได้ยินพวกพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้เป็น
อาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาว่าอย่างไร พวกกัณหายนะเกิดมาจากใครก่อน และใครเป็นบรรพบุรุษ
ของพวกกันหายนะ.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว อัมพัฏฐมาณพได้นิ่งเสีย. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถาม
อัมพัฏฐมาณพแม้เป็นครั้งที่สองว่า อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอได้ยิน
พวกพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้เป็นอาจารย์และเป็นปาจารย์เล่ากันมาว่าอย่างไร พวกกัณหายนะเกิดมา
จากใครก่อน และใครเป็นบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ.
แม้ครั้งที่สอง อัมพัฏฐมาณพก็ได้นิ่งเสีย.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะอัมพัฏฐมาณพว่า อัมพัฏฐะ เธอจงแก้เดี๋ยวนี้ บัดนี้
ไม่ใช่เวลาของเธอจะนิ่ง อัมพัฏฐะ เพราะผู้ใดถูกตถาคตถามปัญหาอันประกอบด้วยเหตุถึงสามครั้ง
แล้วไม่แก้ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง ณ ที่นี่แหละ .
[ ๑๕๒] สมัยนั้น ยักษ์วชิรปาณีถือค้อนเหล็กใหญ่ลุกโพลงโชติช่วงยืนอยู่ในอากาศ
เบื้องบนอัมพัฏฐมาณพ คิดว่า ถ้าอัมพัฏฐมาณพนี้ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาที่ประกอบด้วย
เหตุถึงสามครั้งแล้ว แต่ไม่แก้ เราจักต่อยศีรษะของเขาให้แตกเป็นเจ็ดเสี่ยง ณ ที่นี้แหละ.
พระผู้มีพระภาคและอัมพัฏฐมาณพเท่านั้นเห็นยักษ์วชิรปาณีนั้น.
ครั้งนั้นอัมพัฏฐมาณพตกใจกลัวขนพองสยองเกล้า ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคนั่นเองเป็น
ที่ต้านทาน ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคนั่นเองเป็นที่เร้น ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคนั่นเองเป็นที่พึ่ง
กระเถิบเข้าไปนั่งใกล้ๆ แล้วกราบทูลว่า
พระโคดมผู้เจริญ ได้ตรัสคำอะไรนั่น ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดตรัสอีกครั้งเถิด.
อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอได้ยินพวกพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้เป็น
อาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาว่าอย่างไร พวกกัณหายนะเกิดมาจากใครก่อน และใครเป็นบรรพบุรุษ
ของพวกกัณหายนะ?.
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยินมาเหมือนอย่างที่พระโคดมผู้เจริญตรัสนั่นแหละ
พวกกัณหายนะเกิดมาจากกัณหะนั้นก่อน และก็กัณหะนั้นเป็นบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ.
[ ๑๕๓] เมื่ออัมพัฏฐมาณพกล่าวเช่นนี้แล้ว มาณพเหล่านั้นส่งเสียงอื้ออึงเกรียวกราวว่า
ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าอัมพัฏฐมาณพมีชาติทราม มิใช่บุตรผู้มีสกุล เป็นลูกทาสีของพวกศากยะ
ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าพวกศากยะเป็นโอรสของเจ้านายอัมพัฏฐมาณพ พวกเราไพล่ไปสำคัญเสียว่า
พระสมณโคดม ผู้ธรรมวาทีพระองค์เดียว ควรจะถูกรุกรานเสียได้.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิเช่นนี้ว่า มาณพเหล่านี้พากันเหยียดหยามอัมพัฏฐ
มาณพด้วยวาทะว่า เป็นลูกทาสีหนักนัก ถ้ากระไรเราพึงช่วยปลดเปลื้องให้.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะมาณพเหล่านั้นว่า ดูกรมาณพ
พวกเธออย่าเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพด้วยวาทะว่า เป็นลูกทาสีให้หนักนัก เพราะกัณหะนั้น
ได้เป็นฤาษีคนสำคัญ เธอไปยังทักษิณาชนบทเรียนมนต์อันประเสริฐ แล้วเข้าไปเฝ้าพระอุกกากราช
ทูลขอพระราชธิดาพระนามว่ามัททรูปี พระเจ้าอุกกากราชทรงพระพิโรธขัดพระทัยแก่พระฤาษีนั้นว่า
บังอาจอย่างนี้เจียวหนอ ฤาษีเป็นลูกทาสีของเราแท้ๆ ยังมาขอธิดาชื่อว่ามัททรูปี แล้วทรงขึ้น
พระแสงศร ท้าวเธอไม่อาจจะทรงแผลง และไม่อาจจะทรงลดลง.
[ ๑๕๔] ดูกรมาณพ ครั้งนั้น หมู่อำมาตย์ราชบริษัทพากันเข้าไปหากัณหฤาษีแล้วได้กล่าว
คำนี้กะกัณหฤาษีว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอความสุขสวัสดีจงมีแต่พระราชา ขอความสวัสดีจงมี
แด่พระราชา ฤาษีตอบว่า ความสวัสดีจักมีแด่พระราชา แต่ว่าท้าวเธอจักทรงแผลงพระแสงศร
ลงไปเบื้องต่ำ แผ่นดินจักทรุดตลอดพระราชอาณาเขต อำมาตย์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ขอความสวัสดีจงมีแด่พระราชา ขอความสวัสดีจงมีแก่ชนบท ฤาษีตอบว่า ความสวัสดีจักมีแด่
พระราชา ความสวัสดีจักมีแก่ชนบท แต่ถ้าท้าวเธอจักทรงแผลงพระแสงศรขึ้นไปเบื้องบน
ฝนจักไม่ตกทั่วพระราชอาณาเขตถึงเจ็ดปี อำมาตย์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอความสวัสดี
จงมีแด่พระราชา ขอความสวัสดีจงมีแก่ชนบท ขอฝนจงตกเถิด ฤาษีตอบว่า ความสวัสดี
จักมีแด่พระราชา ความสวัสดีจักมีแก่ชนบท ฝนจักตก แต่พระราชาต้องทรงวางพระแสงศรไว้ที่
พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ ด้วยทรงพระดำริว่า พระราชกุมารจักเป็นผู้มีความสวัสดี หายสยด สยองดังนี้.
ดูกรมาณพ ลำดับนั้นพระเจ้าอุกกากราช ได้ทรงวางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมาร
พระองค์ใหญ่ ด้วยทรงพระดำริว่า พระราชกุมารจักเป็นผู้มีความสวัสดี หายสยดสยอง ดังนี้
ครั้นท้าวเธอทรงวางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมารพระองค์ใหญ่แล้ว พระราชกุมารก็เป็นผู้มีความ
สวัสดี หายสยดสยอง พระเจ้าอุกกากราชทรงกลัวถูกขู่ด้วยพรหมทัณฑ์ จึงได้พระราชทาน
พระนางมัททรูปีราชธิดาแก่ฤาษีนั้น.
ดูกรมาณพ พวกเธออย่าเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพด้วยวาทะว่า เป็นลูกทาสีให้หนัก
นักเลย กัณหะนั้นได้เป็นฤาษีสำคัญแล้ว .
[ ๑๕๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะอัมพัฏฐมาณพว่า ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะ
สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ขัตติยกุมารในโลกนี้พึงสำเร็จการอยู่ร่วมกับนางพราหมณกัญญา เพราะ
อาศัยการอยู่ร่วมกันของคนทั้งสองนั้น พึงเกิดบุตรขึ้น บุตรผู้เกิดแต่นางพราหมณกัญญากับ
ขัตติยกุมารนั้น จะควรได้ที่นั่งหรือน้ำในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่?
ควรได้ พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์จะควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อการมงคล
ในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยงเพื่อแขกบ้างหรือไม่?
ควรเชิญเขาให้บริโภคได้ พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์จะควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่?
ควรบอกให้ พระโคดมผู้เจริญ.
เขาควรจะถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่?
เขาไม่ควรถูกห้ามเลย พระโคดมผู้เจริญ.
เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์ได้บ้างหรือไม่?
ข้อนี้ไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ.
เพราะเหตุอะไร?
เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ข้างฝ่ายมารดา.
[ ๑๕๖] ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณกุมารในโลกนี้
พึงสำเร็จการอยู่ร่วมกับนางขัตติยกัญญา เพราะอาศัยการอยู่ร่วมของคนทั้งสองนั้น พึงเกิดบุตรขึ้น
บุตรผู้เกิดแต่ขัตติยกัญญากับพราหมณกุมาร จะควรได้ที่นั่งหรือน้ำในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่?
ควรได้ พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์จะควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อการมงคล
ในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยงเพื่อแขกได้บ้างหรือไม่?
ควรเชิญเขาให้บริโภคได้ พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์ควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่?
ควรบอกให้ พระโคดมผู้เจริญ.
เขาควรถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่?
เขาไม่ควรถูกห้ามเลย พระโคดมผู้เจริญ.
เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์ได้บ้างหรือไม่?
ข้อนี้ไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ.
เพราะเหตุอะไร?
เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดา .
[ ๑๕๗] ดูกรอัมพัฏฐะ เมื่อเทียบหญิงกับหญิงก็ดี เมื่อเทียบชายกับชายก็ดี กษัตริย์
พวกเดียวประเสริฐ พวกพราหมณ์เลว ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
พราหมณ์ทั้งหลาย ในโลกนี้ พึงโกนศีรษะพราหมณ์คนหนึ่ง มอมด้วยเถ้า เนรเทศเสียจาก
แว่นแคว้นหรือจากเมืองเพราะโทษบางอย่าง เขาจะควรได้ที่นั่งหรือน้ำในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่?
ไม่ควรได้เลย พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์ควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อการมงคล
ในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยงเพื่อแขกได้บ้างหรือไม่?
ไม่ควรเชิญเขาให้บริโภคเลย พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์ควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่?
ไม่ควรบอกให้เลย พระโคดมผู้เจริญ.
เขาควรถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่?
เขาควรถูกห้ามทีเดียว พระโคดมผู้เจริญ.
[ ๑๕๘] อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กษัตริย์ทั้งหลาย ในโลกนี้
พึงปลงเกศากษัตริย์องค์หนึ่ง มอมด้วยเถ้า แล้วเนรเทศเสียจากแว่นแคว้นหรือจากเมืองเพราะ
โทษบางอย่าง เขาจะควรได้ที่นั่งหรือน้ำในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่?
ควรได้ พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์ควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อการมงคล
ในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยงเพื่อแขกได้บ้างหรือไม่?
ควรเชิญให้เขาบริโภคได้ พระโคดมผู้เจริญ.
พวกพราหมณ์ควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่?
ควรบอกให้ พระโคดมผู้เจริญ.
เขาควรถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่?
เขาไม่ควรถูกห้ามเลย พระโคดมผู้เจริญ.
ดูกรอัมพัฏฐะ กษัตริย์ย่อมถึงความเป็นผู้เลวอย่างยิ่ง เพราะเหตุที่ถูกกษัตริย์ด้วยกัน
ปลงพระเกศา มอมด้วยเถ้า แล้วเนรเทศเสียจากแว่นแคว้นหรือจากเมือง ดูกรอัมพัฏฐะ
แม้ในเมื่อกษัตริย์ถึงความเป็นคนเลวอย่างยิ่งเช่นนี้ พวกกษัตริย์ก็ยังประเสริฐ พวกพราหมณ์เลว
ด้วยประการฉะนี้.
สมจริงดังคาถาที่สนังกุมารพรหมได้ภาษิตไว้ ดังนี้
คาถาสินังกุมารพรหม
[ ๑๕๙] กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด
ในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร
ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐที่สุด
ในหมู่เทวดาและมนุษย์.
[ ๑๖๐] ดูกรอัมพัฏฐะ ก็คาถานี้นั้น สนังกุมารพรหมขับถูกไม่ผิด ภาษิตไว้ถูก ไม่ผิด
ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราเห็นด้วย ดูกรอัมพัฏฐะ ถึงเรา ก็กล่าวเช่นนี้ว่า
[ ๑๖๑] กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด
ในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร
ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐที่สุด
ในหมู่เทวดาและมนุษย์.
จบ ภาณวารที่หนึ่ง
วิชชาจรณสัมปทา
[ ๑๖๒] อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็จรณะนั้นเป็นไฉน วิชชา นั้นเป็นไฉน.
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอัมพัฏฐะ ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณ
ยอดเยี่ยม เขาไม่พูดอ้างชาติอ้างโคตรหรืออ้างมานะว่า ท่านควรแก่เรา หรือท่านไม่ควรแก่เรา
อาวาหมงคล วิวาหมงคล หรืออาวาหวิวาหมงคล มีในที่ใด ในที่นั้นเขาจึงจะพูดอ้างชาติบ้าง
อ้างโคตรบ้าง หรืออ้างมานะบ้างว่า ท่านควรแก่เรา หรือท่านไม่ควรแก่เรา ชนเหล่าใดยัง
เกี่ยวข้องด้วยการอ้างชาติ ยังเกี่ยวข้องด้วยการอ้างโคตร ยังเกี่ยวข้องด้วยการอ้างมานะ หรือยัง
เกี่ยวข้องด้วยอาวาหวิวาหมงคล ชนเหล่านั้น ชื่อว่ายังห่างไกลจากวิชชาสมบัติ และจรณสมบัติ
อันเป็นคุณยอดเยี่ยม การทำให้แจ้งซึ่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ อันเป็นคุณยอดเยี่ยมย่อมมีได้
เพราะละการเกี่ยวข้องด้วยการอ้างชาติ ความเกี่ยวข้องด้วยการอ้างโคตร ความเกี่ยวข้องด้วยการ
อ้างมานะ และความเกี่ยวข้องด้วยอาวาหวิวาหมงคล .
[ ๑๖๓] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ จรณะนั้นเป็นไฉน วิชชานั้นเป็นไฉนเล่า.
ดูกรอัมพัฏฐะ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่น
ยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วย
พระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์
ให้รู้ตามทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิด
เฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้
ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทาง
ปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์ โดยส่วนเดียว
ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมาเขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่
ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วสำรวมระวังใน
พระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์
ถึงพร้อมด้วยศีลคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ.
จุลศีล
ดูกรอัมพัฏฐะ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล?
๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ
วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้
เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของ
ที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๓. เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล
เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์มีถ้อยคำ
เป็นหลักฐานควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น
เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าว
กัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียง
กัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คน
พร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบกล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก
จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง
พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วย
ประโยชน์ โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๘. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม.
๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล.
๑๐. เธอเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่น อันเป็นข้าศึก แก่กุศล.
๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ของหอมและ
เครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว.
๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่.
๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน.
๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ.
๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ.
๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี.
๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส.
๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ.
๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร.
๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา.
๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน.
๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้.
๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย.
๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วย เครื่องตวงวัด.
๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง.
๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิงการปล้น และกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
จบจุลศีล.
มัชฌิมศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ
บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคาม เห็นปานนี้
คือพืชเกิดแต่เง่า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด เป็นที่ครบห้า
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ
บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ปานนี้
คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่องประเทืองผิว
สะสมของหอม สะสมอามิส แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ
บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็น
ปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่น
ปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล
การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่
รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ
กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่น
อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่น
การพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตาแถวละสิบตา
เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา
เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนู
น้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเรียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เห็น
ปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาด
ที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็น
ช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือเป็นต้น
เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม
เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง
เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะอันมีขนอ่อนนุ่ม
เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล
ของเธอประการหนึ่ง.
๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย
ประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวเห็นปานนี้ คือ อบตัว ไคลอวัยวะ
อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก
ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าประดับ
วิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล
ของเธอประการหนึ่ง.
๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะ
ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบติรัจฉานกถา เห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องมหา
อำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้
เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ
เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่อง
ทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบาง
จำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เห็นปานนี้ เช่นว่า ท่าน
ไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด
ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าว
ก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชอง
มาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะ
เสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ
บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบทูตกรรมและการรับใช้
เห็นปานนี้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และกุมารว่า
ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา ดังนี้
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูดหว่าน
ล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
จบมัชฌิมศีล.
มหาศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า
ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธี
เติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน
ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู
เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอ
ทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เป็น
ศีลของเธอประการหนึ่ง.
๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบ
ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะ
กุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า
ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ
ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า
ทายลักษณะมฤค แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็น
ปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายในจัก
ยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายในจัก
ถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชา
ภายในจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ แม้ข้อนี้ก็เป็น
ศีลของเธอประการหนึ่ง.
๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่าจักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาวนักษัตรจัก
เดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และ
ดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลเป็น
อย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตร
เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาตจักมีผลเป็น
อย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้
ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตร
ตกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เห็นปานนี้ คือพยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก
จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณ
นับประมวลแต่งกาพย์โลกายตศาสตร์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เห็นปานนี้ คือให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์
จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง
ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว
เป็นหมอทรงเจ้าบวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกระเทย
ให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์
รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยา
แก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา
ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
ดูกรอัมพัฏฐะ ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะศีลสังวร
นั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกกำจัดราชศัตรูได้แล้วย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะ
ราชศัตรูนั้น ดูกรอัมพัฏฐะ ภิกษุก็ฉันนั้นสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ
เพราะศีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน
ดูกรอัมพัฏฐะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
จบมหาศีล.
อินทรียสังวร
ดูกรอัมพัฏฐะ อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย? ดูกรอัมพัฏฐะ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌา และ
โทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุฟังเสียงด้วย
โสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้นรสด้วยชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์
ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว
จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์
ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้
เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน ดูกรอัมพัฏฐะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า
เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
ดูกรอัมพัฏฐะ อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ? ดูกรอัมพัฏฐะ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว
ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว
การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ
การตื่น การพูด การนิ่ง ดูกรอัมพัฏฐะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบ
ด้วยสติสัมปชัญญะ.
ดูกรอัมพัฏฐะ อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ? ดูกรอัมพัฏฐะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทาง
ทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรอัมพัฏฐะ นกมีปีกจะบินไปทางทิสาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัว
เป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วย
บิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรอัมพัฏฐะ
ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ.
ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะและสันโดษ อันเป็นอริยะ
เช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ
ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิต
ให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้าย คือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา
หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือ พยาบาทได้
ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ
ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา
ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.
ว่าด้วยอุปมานิวรณ์ ๕
ดูกรอัมพัฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขาจะพึง
สำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขา จะพึงมี
เหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา เขาพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน
บัดนี้ การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และทรัพย์
ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความ
โสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
ดูกรอัมพัฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก
บริโภคอาหารไม่ได้และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้ และ
มีกำลังกาย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก
บริโภคอาหารไม่ได้และไม่มีกำลังกาย บัดนี้เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้ และมี
กำลังกายเป็นปรกติ ดังนี้เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
ดูกรอัมพัฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจาก
เรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อน
เราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเราไม่ต้อง
เสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีการพ้นจาก
เรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
ดูกรอัมพัฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหน
ตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงมีความพอใจ เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้น
จากความเป็นทาสนั้นแล้ว พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ
ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทยแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
ดูกรอัมพัฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษ มีทรัพย์ มีโภคสมบัติ พึงเดินทางไกลกันดาร
หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้าน
อันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ
เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุ
ถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส
มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
รูปฌาน ๔
ดูกรอัมพัฏฐะ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้
เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณา
เห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือน
การพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทยแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.
เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตนย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์
แล้วย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปิติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข
จิตย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปิติ
และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง.
ดูกรอัมพัฏฐะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน
เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปิติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
แม้ข้อนี้ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง.
ดูกรอัมพัฏฐะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
เพราะปิติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา
มีสติอยู่เป็นสุข แม้ข้อนี้ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง
ดูกรอัมพัฏฐะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข
ละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็น
จรณะของเธอประการหนึ่ง ดูกรอัมพัฏฐะ แม้นี้แลคือจรณะนั้น.
วิชชา ๘
วิปัสสนาญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล
มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง
ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัย
อยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ ดูกรอัมพัฏฐะ เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่าง
บริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียว
เหลือง แดง ขาว หรือนวลร้อยอยู่ในนั้น บุรุษมีจักษุจะพึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้น วางไว้ในมือ
แล้วพิจารณาเห็นว่าแก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว
สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียวเหลือง แดง ขาวหรือ นวลร้อยอยู่ในแก้วไพฑูรย์นั้น
ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมน้อมโน้มจิตไปเพื่อญาณทัสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรา
นี้แล มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิด แต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด
ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรา
นี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง.
มโนมยิทธิญาณ
ภิกษุนั้น ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือ นิรมิตกายอื่นจากกายนี้
มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ดูกรอัมพัฏฐะ เปรียบเหมือน
บุรุษจะพึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้หญ้าปล้อง นี้ไส้หญ้าปล้อง
อย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่ง ก็แต่ไส้ชักออกจากหญ้าปล้องนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ
จะพึงชักดาบออกจากฝัก เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่ง
ก็แต่ดาบชักออกจากฝักนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักงูออกจากคราบ เขาจะพึง
คิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้งู นี้คราบ งูอย่างหนึ่ง คราบอย่างหนึ่ง ก็แต่งูชักออกจากคราบนั่นเอง
ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่นจาก
กายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง แม้ข้อนี้ก็เป็นวิชชา
ของเธอประการหนึ่ง.
อิทธิวิธญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียว
เป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง
ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบน
น้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์
พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้
ดูกรอัมพัฏฐะ เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อนวดดินดีแล้ว
ต้องการภาชนะชนิดใดๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างงา
หรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้องการเครื่องงาชนิดใดๆ พึงทำเครื่องงาชนิด
นั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือของช่างทองผู้ฉลาด เมื่อ
หลอมทองดีแล้ว ต้องการทองรูปพรรณชนิดใดๆ พึงทำทองรูปพรรณชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้
ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ
คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้
ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้
เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์
พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้
แม้ข้อนี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง.
ทิพยโสตญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียง
ทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ดูกร
อัมพัฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล เขาจะพึงได้ยินเสียงกลองบ้าง เสียงตะโพนบ้าง
เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงเปิงมางบ้าง เขาพึงเข้าใจว่าเสียงกลองดังนี้บ้าง
เสียงตะโพนดังนี้บ้าง เสียงสังข์ดังนี้บ้าง เสียงบัณเฑาะว์ดังนี้บ้าง เสียงเปิงมางดังนี้บ้าง ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ
เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์
แม้ข้อนี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง.
เจโตปริยญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของ
บุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมี
โทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ
หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิต
ฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรรคต หรือจิตไม่เป็นมหรรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรรคต
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิต
หลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดูกรอัมพัฏฐะ เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่ม
ที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกอันบริสุทธิ์สะอาด หรือในภาชนะน้ำอันใส
หน้ามีไฝก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝก็จะพึงรู้ว่าหน้าไม่มีไฝ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล
ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ
คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิต
มีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิต
ปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหรรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรรคต หรือจิตไม่เป็นมหรรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรรคต จิตมีจิตอื่น
ยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ
ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น
หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น แม้ข้อนี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง.
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้
เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง
สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง
พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง
ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณ
อย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติ
จากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น
มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ
พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้
ดูกรอัมพัฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงจากบ้านตนไปบ้านอื่น
แล้วจากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้นกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม เขาจะพึงระลึกได้
อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้นเราได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น
ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เราได้จากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านโน้น แม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืน
อย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรากลับจากบ้านนั้นมาสู่บ้าน
ของตนตามเดิม ดังนี้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง
สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติ
บ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป
เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตร
อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียง
เท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น
มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด
อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็น
อันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นวิชชาของเธอ ประการหนึ่ง.
จุตูปปาตญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์
ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ
อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบ
ด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วย
อำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น
สัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อม
เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต
มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์
ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ ณ ทาง
๓ แพร่งท่ามกลางพระนคร บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปสู่เรือน
บ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังสัญจรเป็นแถวอยู่ในถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่งท่ามกลาง
พระนครบ้าง เขาจะพึงรู้ว่า คนเหล่านี้เข้าไปสู่เรือน เหล่านี้ออกจากเรือน เหล่านี้สัญจรเป็นแถว
ในถนน เหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนคร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมโน้ม
น้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว
ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ
ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้า
แต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย
กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วย
อำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้
เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม
ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไป
ตามกรรมด้วยประการฉะนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง.
อาสวักขยญาณ
ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์
นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ
แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์
อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ดูกรอัมพัฏฐะ เปรียบ เหมือนสระน้ำบนยอดเขาใสสะอาดไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระนั้น
จะพึงเห็น หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง
หยุดอยู่บ้างในสระน้ำนั้น เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและ
หอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุด
อยู่บ้าง ในสระนั้น ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ
ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้
จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว
ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี แม้ข้อนี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง ดูกรอัมพัฏฐะ นี้แล คือวิชชานั้น.
ดูกรอัมพัฏฐะ ภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่าผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาบ้าง ผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะ
บ้าง ผู้ถึงพร้อมด้วยทั้งวิชชาและจรณะบ้าง อันวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอย่างอื่น ซึ่งดียิ่งกว่า
หรือประณีตกว่านี้ไม่มี.
ทางเสื่อมวิชชาและจรณะ ๔
ดูกรอัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมนี้แล มีทางเสื่อมอยู่
๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน?
๑. ดูกรอัมพัฏฐะ สมณพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อไม่บรรลุวิชชาสมบัติ และ
จรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมนี้ หาบบริขารดาบสเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่า จักบริโภคผลไม้
ที่หล่น สมณพราหมณ์นั้นต้องเป็นคนบำเรอท่านที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ นี้เป็น
ทางเสื่อมข้อที่หนึ่ง.
[ ๑๖๔] ๒. ดูกรอัมพัฏฐะ อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อไม่บรรลุ
วิชชาสมบัติ และจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้
ถือเสียมและตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่า จักบริโภคเหง้าไม้รากไม้และผลไม้ สมณพราหมณ์
นั้นต้องเป็นคนบำเรอท่านที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ นี้เป็นทางเสื่อมข้อที่สอง.
[ ๑๖๕] ๓. ดูกรอัมพัฏฐะ อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อไม่บรรลุ
วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม ไม่สามารถที่จะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ และ
ไม่สามารถจะหาเหง้าไม้รากไม้และผลไม้บริโภคได้ จึงสร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้าน หรือนิคมแล้ว
บำเรอไฟอยู่ สมณพราหมณ์นั้น ต้องเป็นคนบำเรอท่านที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้
นี้เป็นทางเสื่อมข้อที่สาม.
[ ๑๖๖] ๔. ดูกรอัมพัฏฐะ อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อไม่บรรลุ
วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้
ไม่สามารถจะหาเหง้าไม้รากไม้และผลไม้บริโภคได้ และไม่สามารถจะบำเรอไฟได้ จึงสร้างเรือน
มีประตูสี่ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แล้วสำนักอยู่ด้วยตั้งใจว่าผู้ใดที่มาจากทิศทั้ง ๔ นี้ จะเป็น
สมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม เราจักบูชาท่านผู้นั้นตามสติกำลัง สมณพราหมณ์นั้นต้องเป็นคนบำเรอ
ท่านที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ นี้เป็นทางเสื่อมข้อที่สี่.
ดูกรอัมพัฏฐะ ทางเสื่อมแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมนี้มีอยู่
๔ ประการดังนี้.
[ ๑๖๗] ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอกับอาจารย์ย่อมปรากฏ
ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมนี้บ้างหรือไม่?
ข้อนี้ไม่มีเลย พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ากับอาจารย์เป็นอะไร วิชชาสมบัติและจรณสมบัติ
อันเป็นคุณยอดเยี่ยมเป็นอะไร ข้าพเจ้ากับอาจารย์ ยังห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ
อันเป็นคุณยอดเยี่ยมนี้.
ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอกับอาจารย์เมื่อไม่บรรลุวิชชาสมบัติ
และจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมนี้แหละ หาบบริกขารดาบสเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่า จัก
บริโภคผลไม้ที่หล่น บ้างหรือไม่?
ข้อนี้ไม่มีเลย พระโคดมผู้เจริญ.
ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอกับอาจารย์เมื่อไม่บรรลุวิชชาสมบัติ
และจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมนี้ และไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ จึงถือเสียม
และตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่า ด้วยตั้งใจว่า จักบริโภคเหง้าไม้รากไม้และผลไม้บ้างหรือไม่?
ข้อนี้ไม่มีเลย พระโคดมผู้เจริญ.
ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอกับอาจารย์เมื่อไม่บรรลุวิชชาสมบัติ
และจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ และไม่สามารถ
จะหาเหง้าไม้รากไม้และผลไม้บริโภคได้ จึงสร้างเรือนไฟไว้ใกล้ๆ บ้านหรือนิคม แล้วบำเรอไฟ
อยู่ บ้างหรือไม่?
ข้อนี้ไม่มีเลย พระโคดมผู้เจริญ.
ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอกับอาจารย์เมื่อไม่บรรลุวิชชาสมบัติ
และจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ไม่สามารถจะหา
เหง้าไม้รากไม้และผลไม้บริโภคได้ และไม่สามารถจะบำเรอไฟได้ จึงสร้างเรือนไฟที่มีประตู
สี่ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แล้วสำนักอยู่ด้วยตั้งใจว่า ผู้ใดที่มาจากทิศทั้ง ๔ นี้ จะเป็นสมณะ
หรือพราหมณ์ก็ตาม เราจักบูชาท่านผู้นั้นตามสติกำลัง บ้างหรือไม่?
ข้อนี้ไม่มีเลย พระโคดมผู้เจริญ.
ดูกรอัมพัฏฐะ เธอกับอาจารย์เสื่อมจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม
นี้ด้วย และคลาดจากทางเสื่อมของวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม ๔ ประการ นี้ด้วย.
[ ๑๖๘] ดูกรอัมพัฏฐะ ก็พราหมณ์โปกขรสาติอาจารย์ของเธอได้พูดว่า สมณะโล้น
บางเหล่าเป็นเชื้อสายคฤหบดี กัณหโคตร เกิดแต่บาทของพรหม ประโยชน์อะไรที่พวกพราหมณ์
ผู้ทรงไตรวิชาจะสนทนาด้วย ดังนี้ แม้แต่ทางเสื่อม ตนก็ยังไม่ได้บำเพ็ญ ดูกรอัมพัฏฐะ
ความผิดของพราหมณ์โปกขรสาติอาจารย์ของเธอนี้เพียงใด ถึงพราหมณ์โปกขรสาติกินเมืองที่
พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทาน พระองค์ยังไม่ทรงพระราชทานพระวโรกาสให้เข้าเฝ้าหน้าพระ
ที่นั่ง เวลาจะทรงปรึกษาด้วย ก็ทรงปรึกษานอกพระวิสูตร ดูกรอัมพัฏฐะ ไฉนเล่าจึงไม่
พระราชทานการเข้าเฝ้าต่อหน้าพระที่นั่งแก่เขาผู้รับภิกษาที่ชอบธรรม ซึ่งพระราชทานให้ ดูเถิด
อัมพัฏฐะ ความคิดของพราหมณ์โปกขรสาติอาจารย์ของเธอนี้เพียงใด.
[ ๑๖๙] ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงช้าง
พระที่นั่งหรือรถพระที่นั่ง จะทรงปรึกษาราชกิจบางเรื่องกับมหาอำมาตย์ หรือพระราชวงศานุวงศ์
แล้วเสด็จไปประทับอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งจากที่นั้น ภายหลังคนชั้นศูทรหรือทาสของศูทรพึงมา ณ
ที่นั้นแล้วพูดอ้างว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสอย่างนี้ๆ เพียงเขาพูดได้เหมือนพระราชาตรัส
หรือปรึกษาได้เหมือนพระราชาทรงปรึกษา จะจัดว่าเป็นพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ได้หรือไม่?
ข้อนี้เป็นไม่ได้ พระโคดมผู้เจริญ.
บุรพฤาษี ๙ ตน
ดูกรอัมพัฏฐะ เธอก็เช่นนั้นเหมือนกัน บรรดาฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์
คือฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตร ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรส
ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์ ในปัจจุบันนี้
พวกพราหมณ์ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว
กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกไว้ เพียงคิดว่าเรากับอาจารย์เรียนมนต์
ของท่านเหล่านั้น เธอจักเป็นฤาษีหรือปฏิบัติเพื่อเป็นฤาษีได้ ดังนี้ นั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอได้ฟังพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้เป็น
อาจารย์และเป็นปาจารย์เล่ากันมาว่าอย่างไร บรรดาฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์คือฤาษี
อัฏฐะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตร ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ
ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์ ในปัจจุบันนี้ พวกพราหมณ์
ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้
ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกไว้ ฤาษีเหล่านั้นอาบน้ำ ทาตัวเรียบร้อย
แต่งผม แต่งหนวด สวมพวงดอกไม้และเครื่องอาภรณ์ นุ่งผ้าขาว อิ่มเอิบ พรั่งพร้อม
บำเรออยู่ด้วยกามคุณห้า เหมือนเธอกับอาจารย์ในบัดนี้หรือไม่?
ไม่เหมือน พระโคดมผู้เจริญ ...
ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฤาษีเหล่านั้นบริโภค ข้าวสาลีที่เก็บ
กากแล้ว มีแกงและกับหลายอย่าง เหมือนเธอกับอาจารย์ในบัดนี้หรือไม่?
ไม่เหมือน พระโคดมผู้เจริญ ...
ดูกรอัมพัฏฐะ ... ฤาษีเหล่านั้นบำเรออยู่ด้วยเหล่านารีผู้มีร่างกระชดกระช้อย เหมือนเธอ
กับอาจารย์ในบัดนี้หรือไม่?
ไม่เหมือน พระโคดมผู้เจริญ ...
ดูกรอัมพัฏฐะ ... ฤาษีเหล่านั้นใช้รถเทียมม้าหางตัด แทงด้วยปฏักด้ามยาวเหมือนเธอ
กับอาจารย์ในบัดนี้หรือไม่?
ไม่เหมือน พระโคดมผู้เจริญ ...
ฤาษีเหล่านั้นใช้บุรุษขัดกระบี่ให้รักษาเชิงเทินแห่งนคร ที่มีคูล้อมรอบลงลิ่ม เหมือนเธอ
กับอาจารย์ในบัดนี้หรือไม่?
ไม่เหมือน พระโคดมผู้เจริญ ...
ดูกรอัมพัฏฐะ เธอกับอาจารย์มิได้เป็นฤาษีเลย ทั้งมิได้ปฏิบัติเพื่อเป็นฤาษีด้วยประการ
ฉะนี้แล ดูกรอัมพัฏฐะ ผู้ใดมีความเคลือบแคลงสงสัยในเรา ผู้นั้นจงถามเราด้วยปัญหา
เราจักชำระให้ด้วยการพยากรณ์.
[ ๑๗๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหารจงกรมแล้ว. แม้อัมพัฏฐมาณพ
ก็ออกจากพระวิหารเดินจงกรมแล้ว. ขณะที่อัมพัฏฐมาณพเดินจงกรมตามพระผู้มีพระภาคอยู่นั้น
ได้พิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคก็ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ
๓๒ ประการโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑ พระชิวหาใหญ่ ๑ จึงยัง
เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใสอยู่ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า อัมพัฏฐมาณพ
นี้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของเราโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ คุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑
ชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อไม่เลื่อมใสอยู่ ทันใดนั้น จึงทรงบันดาล
อิทธาภิสังขาร ให้อัมพัฏฐมาณพได้เห็นพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอด
เข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒ กลับไปมา สอดเข้าช่องพระนาสิกทั้ง ๒ กลับไปมา แผ่ปิดจนมิดมณฑล
พระนลาต.
[ ๑๗๑] ครั้งนั้น อัมพัฏฐมาณพคิดว่า พระสมณโคดมประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ
๓๒ ประการบริบูรณ์ไม่บกพร่อง ดังนี้แล้วจึงได้ทูลลาพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ข้าพเจ้าขอทูลลาไป ณ บัดนี้ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีธุระมาก.
ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจงสำคัญกาลอันควรบัดนี้ แล้วอัมพัฏฐมาณพก็ขึ้นรถม้ากลับไป.
โปกขรสาติพราหมณ์
[ ๑๗๒] สมัยนั้น พราหมณ์โปกขรสาติลุกออกมานั่งคอยรับอัมพัฏฐมาณพอยู่ ณ อาราม
ของตน พร้อมด้วยพราหมณ์หมู่ใหญ่ ฝ่ายอัมพัฏฐมาณพขับรถไปอารามของตนจนสุดทางที่รถ
ไปได้ แล้วลงเดินเข้าไปหาพราหมณ์โปกขรสาติ ไหว้แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พราหมณ์โปกขรสาติถามว่า พ่ออัมพัฏฐะ พ่อได้เห็นพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้นแล้วหรือ?
ได้เห็นแล้ว ท่าน.
ก็เกียรติศัพท์ของท่านพระโคดมพระองค์นั้นที่ขจรไป จริงตามนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นหรือ
ท่านพระโคดมพระองค์นั้นทรงคุณเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นหรือ.
เกียรติศัพท์ของท่านพระโคดมพระองค์นั้นที่ขจรไป จริงตามนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นเลย
ท่านพระโคดมพระองค์นั้นทรงคุณเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลย และประกอบด้วยมหาปุริส
ลักษณะ ๓๒ ประการ บริบูรณ์ไม่บกพร่อง.
พ่อได้สนทนาปราศรัยอะไร ด้วยหรือไม่?
ได้สนทนาปราศรัยด้วยทีเดียว.
พ่อได้สนทนาปราศรัยอย่างไรบ้าง?
ทันใดนั้นอัมพัฏฐมาณพได้เล่าเรื่องเท่าที่ตนได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ให้
พราหมณ์โปกขรสาติทราบทุกประการ.
[ ๑๗๓] เมื่ออัมพัฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้ พราหมณ์โปกขรสาติได้กล่าวว่า พุทโธ่เอ๋ย
พ่อบัณฑิตของเรา พุทโธ่เอ๋ย พ่อพหูสูตของเรา พุทโธ่เอ๋ย พ่อทรงไตรวิชาของเรา ได้ยินว่า
คนเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จะพึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเสีย เพราะท่าน
ผู้ประพฤติประโยชน์เช่นนี้ เจ้าได้พูดกระทบกระเทียบพระโคดมอย่างนี้ๆ แต่พระโคดมกลับ
ยกเอาพวกเราขึ้นเป็นตัวเปรียบเทียบอย่างนี้ๆ พุทโธ่เอ๋ย พ่อบัณฑิตของเรา พุทโธ่เอ๋ย
พ่อพหูสูตของเรา พุทโธ่เอ๋ย พ่อทรงไตรวิชาของเรา ได้ยินว่า คนเบื้องหน้าแต่ตายเพราะ
กายแตก จะพึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเสีย เพราะท่านผู้ประพฤติประโยชน์เช่นนี้.
พราหมณ์โปกขรสาติโกรธ ขัดใจ เอาเท้าปัดอัมพัฏฐมาณพให้ล้มลงแล้ว ใคร่จะไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเสียในขณะนั้นทีเดียว. พวกพราหมณ์เหล่านั้นได้พูดห้ามว่า ท่าน วันนี้เกินเวลา
ที่จะไปเฝ้าพระสมณโคดมเสียแล้ว พรุ่งนี้ค่อยไปเถิด.
[ ๑๗๔] ครั้งนั้น พราหมณ์โปกขรสาติให้จัดแจงของเคี้ยวของบริโภคอย่างประณีตใน
นิเวศน์ของตนแล้วเอาใส่รถ เมื่อคบเพลิงยังตามอยู่ ได้ออกจากอุกกัฏฐนคร ขับรถตรงไปยัง
ราวป่าอิจฉานังคลวัน ครั้นไปสุดทางรถ ลงเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัย
กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
แล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อัมพัฏฐมาณพศิษย์ของข้าพเจ้าได้มาที่นี้หรือ?
ได้มา พราหมณ์.
พระองค์ได้สนทนาปราศรัยอะไรๆ กับเขาหรือไม่?
ได้สนทนา พราหมณ์
พระองค์ได้สนทนาปราศรัยกับเขา อย่างไร?
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่าเรื่องเท่าที่พระองค์ได้สนทนาปราศรัยกับอัมพัฏฐ
มาณพ ให้พราหมณ์โปกขรสาติทราบทุกประการ.
[ ๑๗๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว พราหมณ์โปกขรสาติได้ทูลว่า ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ อัมพัฏฐมาณพเป็นคนโง่ ได้โปรดอดโทษให้เขาเถิด.
ภ. อัมพัฏฐมาณพจงมีความสุขเถิด พราหมณ์.
ครั้งนั้น พราหมณ์โปกขรสาติได้พิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการในพระกายของ
พระผู้มีพระภาคก็ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ โดยมากเว้นอยู่ ๒ ประการ คือ พระ
คุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑ พระชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลงสงสัยอยู่ ไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใสอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า พราหมณ์โปกขรสาตินี้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ
ของเราโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ คุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑ ชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลง
สงสัย ไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใสอยู่ ทันใดนั้น จึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้พราหมณ์โปกขรสาติ
ได้เห็นพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒ กลับไปมา
สอดเข้าช่องพระนาสิกทั้ง ๒ กลับไปมา แผ่ปิดจนมิดมณฑลพระนลาต พราหมณ์โปกขรสาติ
คิดว่า พระสมณโคดมประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง ดังนี้
แล้วทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหารในวันนี้
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยอาการนิ่งอยู่ พราหมณ์โปกขรสาติทราบว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทูลภัตตกาลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว.
[ ๑๗๖] ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จเข้าไป
ยังนิเวศน์ของพราหมณ์โปกขรสาติพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวาย.
พราหมณ์โปกขรสาติได้อังคาสพระผู้มีพระภาค ให้ทรงอิ่มหนำเพียงพอด้วยของเคี้ยวของฉันอัน
ประณีต ด้วยมือของตน และพวกมาณพก็ได้อังคาสพระภิกษุสงฆ์. ครั้นพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
วางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว พราหมณ์โปกขรสาติถืออาสนะต่ำนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุบุพพิกถาแก่พราหมณ์โปกขรสาติ คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา
สัคคกถา โทษของกามที่ต่ำช้า เศร้าหมอง และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อทรงทราบว่า
พราหมณ์โปกขรสาติ มีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใสแล้ว
จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค โปรดพราหมณ์โปกขรสาติ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พราหมณ์โปกขรสาติว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล
มีความดับไปเป็นธรรมดา ณ ที่นั่งนั้นแล เหมือนผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อม ด้วยดี ฉะนั้น.
พราหมณ์โปกขรสาติแสดงตนเป็นอุบาสก
[ ๑๗๗] ลำดับนั้น พราหมณ์โปกขรสาติ เห็นธรรม ถึงธรรม รู้แจ้งธรรม หยั่งทราบ
ธรรม ข้ามความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้าแล้ว ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นใน
สัตถุศาสนา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด
ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศ พระธรรมโดยอเนก
ปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้พร้อมทั้งบุตรภริยา บริษัทและ
อำมาตย์ ขอถึงพระองค์ และพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระสมณโคดมผู้เจริญ
จงทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระองค์
จงเสด็จเข้าไปสู่สกุลโปกขรสาติ เหมือนเข้าไปสู่สกุลแห่งอุบาสกอื่นๆ ในนครอุกกัฏฐะ เหล่า
มาณพมาณวิกาในสกุลโปกขรสาตินั้น จักไหว้ จักลุกรับ จักถวายอาสนะ หรือน้ำ จักเลื่อมใส
ในพระองค์ ข้อนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มาณพมาณวิกาเหล่านั้นสิ้นกาลนาน
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านกล่าวชอบ ดังนี้แล.
จบอัมพัฏฐสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย) เล่มที่ ๙
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
หน้าที่ ๘๐- ๑๑๗ หัวข้อที่ ๑๔๑ - ๑๗๗
|