สาธยายธรรม เป็นเหตุละความง่วง
“ดูกรโมคคัลลานะ! เพราะเหตุนั้นแหละ
เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้าเธอยังละไม่ได้
......แต่นั้น เธอพึงตรึกตรอง พิจารณาถึงธรรม ตามที่ตนได้สดับแล้ว
ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ ข้อนี้จะเป็นเหตุ ให้เธอละความง่วงนั้นได้
......ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้น เธอพึงสาธยายธรรม ตามที่ตนได้สดับมาแล้ว
ได้เรียนมาแล้ว โดยพิสดาร ข้อนี้จะเป็นเหตุ ให้เธอละความง่วงนั้นได้”
สตฺตก. อํ. ๒๓/๘๗/๕๘.
สาธยายธรรม
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
“ภิกษุทั้งหลาย ย่อมไม่ทำการสาธยายธรรม ตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมา แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔
ย่อมเป็นไป เพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม อีกประการหนึ่ง....
....“ภิกษุทั้งหลาย ย่อมทำการสาธยายธรรม ตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมา แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔
ย่อมเป็นไป เพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม อีกประการหนึ่ง”....
ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๖๐-๑๖๑/๑๕๕
ข้อควรระวังและวิธีป้องกันในการสาธยายธรรม
... “อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมกระทำ การสาธยายธรรม ตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาโดยพิสดาร
แต่เธอไม่รู้ทั่วถึงความหมายอันยิ่งแห่งธรรมนั้นๆ ด้วยปัญญา ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้มากด้วยการสวด
(นักสวด) ยังมิใช่ ธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม)......
...เธอไม่ใช้วันทั้งวันให้เปลืองไปด้วยการเรียนธรรมนั้นๆ
ไม่เลิกร้างจากการหลีกเร้น ประกอบตามซึ่งธรรม เป็นเครื่องสงบใจในภายในเนืองๆ ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่า
ธรรมวิหารี(ผู้อยู่ด้วยธรรม)....
ปญฺจก. อํ. ๒๒/๙๙-๑๐๐/๗๒-๗๔ |