จิตตสูตร

ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗ ประการ
......................................................................

[ ๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ
( ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ) ๗ ประการนี้ ๗ ประการ เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์บางพวกมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน
เหมือน มนุษย์ เทวดาบางพวก และวินิปาติกสัตว์บางพวก
นี้เป็น วิญญาณฐิติ ข้อที่ ๑

สัตว์บางพวกมีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน
เหมือนเทวดาชั้นพรหมกายิกา ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน
นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๒

สัตว์บางพวกมีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน
เหมือนเทวดาชั้นอาภัสสระ นี้เป็น วิญญาณฐิติ ข้อที่ ๓

สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน
เหมือนเทวดาชั้นสุภกิณหะ นี้เป็น วิญญาณฐิติ ข้อที่ ๔

สัตว์บางพวก เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ โดยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด
เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา
เสียได้ ไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญานี้เป็น วิญญาณฐิติ ข้อที่ ๕

สัตว์บางพวก เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ โดยมนสิการว่า
วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง
นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๖

สัตว์บางพวก เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ โดยมนสิการว่าไม่มีอะไรๆ
เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๗
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ ๗ ประการนี้แล ฯ

......................................................................
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก - อัฏฐก- นวกนิบาต
หน้าที่ ๔๐ หัวข้อที่ ๔๑