ทรงพิจารณาสัตวโลก เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า
.........................................................
[ ๙ ] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงกราบคำทูลอาราธนาของพรหม
และทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์
จึงทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ เมื่อตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ
ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยก็มี
ที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุมากก็มี ที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี
ที่มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่มีอาการดีก็มี ที่มีอาการทรามก็มี
ที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ยากก็มี
ที่มีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ก็มี .
มีอุปมาเหมือนดอกอุบลในกออุบล
ดอกปทุมในกอปทุม หรือดอกบุณฑริกในกอบุณฑริก
ที่เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ งอกงามแล้วในน้ำ
บางเหล่ายังจมในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้
บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ อันน้ำไม่ติดแล้ว .
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ
ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลาย
บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย
บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุมาก
บางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า
บางพวกมีอินทรีย์อ่อน
บางพวกมีอาการดี
บางพวกมีอาการทราม
บางพวกสอนให้รู้ได้ง่าย
บางพวกสอนให้รู้ได้ยาก
บางพวกมีปกติเห็นปรโลก
และโทษโดยความเป็นภัยอยู่ ฉันนั้น เหมือนกัน
ครั้นแล้วได้ตรัสคาถาตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า ดังนี้ :-
เราเปิดประตูอมตะแก่ท่านแล้ว สัตว์เหล่าใดจะฟัง
จงปล่อยศรัทธามาเถิด ดูกรพรหม เพราะเรา
มีความสำคัญในความลำบาก จึงไม่แสดงธรรม
ที่เราคล่องแคล่ว ประณีต ในหมู่มนุษย์ .
ครั้นท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่า
พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอกาสเพื่อจะแสดงธรรม
แล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้ว
อันตรธานไปในที่นั้นแล .
พรหมยาจนกถา จบ
_____________
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย ) เล่มที่ ๔
พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
หน้าที่ ๑๑ หัวข้อที่ ๙
|