นวปุราณวรรคที่ ๕

กรรมสูตร

[ ๒๒๗ ] ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เราจักแสดงกรรมทั้งใหม่และเก่า
ความดับแห่งกรรม และปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรม
ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ก็กรรมเก่าเป็นไฉน?
จักษุอันบัณฑิต พึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า อันปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งแล้ว
สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... ใจ
อันบัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นกรรมเก่า อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า กรรมเก่า ฯ

[ ๒๒๘ ] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ก็กรรมใหม่ เป็นไฉน?
กรรมที่บุคคลทำด้วยกายวาจาใจในบัดนี้นี้เราเรียกว่ากรรมใหม่ฯ






[ ๒๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความดับแห่งกรรม เป็นไฉน?
นิโรธที่ถูกต้องวิมุตติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
นี้เราเรียกว่า ความดับแห่งกรรม ฯ

[ ๒๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรมเป็นไฉน?
อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑
สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑สัมมาสมาธิ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย! นี้เราเรียกว่า ปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับกรรม ฯ

[ ๒๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมเก่า กรรมใหม่
ความดับแห่งกรรม และปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับกรรม
เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้แล

กิจใดแลอันเราผู้ศาสดา ผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลผู้อนุเคราะห์
แก่สาวกทั้งหลาย พึงทำ กิจนั้นเราทำแล้ว เพราะอาศัยความอนุเคราะห์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย! นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่างเปล่า
เธอทั้งหลายจงพยายาม อย่าประมาท
อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนใจในภายหลัง
นี้เป็นอนุศาสนีของเรา เพื่อเธอทั้งหลาย ฯ

จบสูตรที่ ๑


พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
หน้าที่ ๑๓๖/ ๔๐๒ หัวข้อที่ ๒๒๗ - ๒๓๑