ฉัปปาณสูตร

[ ๓๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
บุรุษผู้มีตัวเป็นแผล มีตัวเป็นพุพอง
พึงเข้าไปสู่ป่าหญ้าคา ถ้าแม้หน่อหญ้าคา พึงตำเท้าของบุรุษนั้น
ใบหญ้าคา พึงบาดตัว ที่พุพองบุรุษนั้น พึงเสวยทุกข์โทมนัส
ซึ่งมีการตำและการบาดนั้น เป็นเหตุโดยยิ่งกว่าประมาณ แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุ! บางรูปในธรรมวินัยนี้
อยู่ในบ้านก็ดี อยู่ในป่าก็ดี ย่อมได้บุคคลผู้กล่าวท้วงว่า
ท่านผู้นี้แล กระทำอย่างนี้ มีสมาจารอย่างนี้
เป็นหนามแห่งชาวบ้านผู้ไม่สะอาด
เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นหนาม
แห่งชาวบ้านผู้ไม่สะอาดนั้น ฉันนั้น เหมือนกันแล

[ ๓๔๗] ภิกษุรู้แจ้งอย่างนี้แล้ว พึงทราบอสังวรและสังวรฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย! อสังวรย่อมมีอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในรูป อันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในรูป อันไม่น่ารัก
ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไป ตั้งกายสติไว้ มีใจมีประมาณน้อยอยู่

และย่อมไม่รู้ชัด ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ
อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือ แห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น
อันบังเกิดขึ้นแล้ว แก่เธอตามความเป็นจริง

ภิกษุฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ย่อมน้อมใจ ไปในธรรมารมณ์ อันน่ารัก
ย่อมขัดเคือง ในธรรมารมณ์ อันไม่น่ารัก
ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไป ตั้งกายสติไว้มีใจ มีประมาณน้อยอยู่

และย่อมไม่รู้ชัด ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ
อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือ แห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น
อันบังเกิดขึ้นแล้ว แก่เธอตามความเป็นจริงฯ









[ ๓๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือน บุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิดซึ่งมีวิสัยต่างกัน
มีโคจรต่างกันแล้ว ผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น
คือจับ งู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง
แล้วผูกด้วยเชือก อันเหนียวแน่น
ครั้นแล้วพึงขมวดปม ไว้ตรงกลางปล่อยไป

ทีนั้นแล สัตว์ ๖ ชนิด ซึ่งมีวิสัยต่างกัน
มีโคจรต่างกันเหล่านั้น พึงดึงมาหาโคจร และวิสัยของตนๆ
งู พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่จอมปลวก
จระเข้ พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักลงน้ำ
นก พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักบินขึ้นสู่อากาศ
สุนัขบ้าน พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าบ้าน
สุนัขจิ้งจอก พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักไปสู่ป่าช้า
ลิง พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่ป่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เมื่อใดแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น
ต่างก็จะไปตามวิสัยของตนๆ พึงลำบาก
เมื่อนั้น บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์ใดมีกำลังมาก
กว่าสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น
พึงอนุวัตรคล้อยตามไป สู่อำนาจแห่งสัตว์นั้น แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ไม่ได้อบรม ไม่กระทำให้มาก ซึ่งกายคตาสติ ก็ฉันนั้น เหมือนกัน
จักษุ ย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในรูป อันเป็นที่พอใจ
รูปอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูลฯลฯ
ใจ ย่อมฉุดไป ในธรรมารมณ์
อันเป็นที่พอใจธรรมารมณ์ อันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย!
อสังวร ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล

๓๔๙ ] ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
สังวร ย่อมมีอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เห็นรูป ด้วยจักษุ แล้วย่อมไม่น้อมใจไปในรูป

อันน่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในรูป อันไม่น่ารัก
เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่

และย่อมรู้ชัด ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ
อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือ แห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น

อันบังเกิดขึ้นแล้ว แก่เธอตามความเป็นจริงฯลฯ

 

ภิกษุรู้แจ้ง ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว

ย่อมไม่น้อมใจ ไปในธรรมารมณ์ อันน่ารัก

ย่อมไม่ขัดเคือง ในธรรมารมณ์ อันไม่น่ารัก

เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่

และย่อมรู้ชัด ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ

อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือ แห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น

อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริงฯ













 

 

 

 

 

 





[ ๓๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนบุรุษ
จับสัตว์ ๖ ชนิด ซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน

คือพึงจับ งู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง
แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น
ครั้นแล้ว พึงผูกไว้ที่หลัก หรือที่เสา อันมั่นคง

ทีนั้นแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น ซึ่งมีวิสัยต่างกัน
มีโคจรต่างกัน พึงดึงมาสู่โคจรและวิสัยของตนๆ
คือ งู พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่จอมปลวก
จระเข้ พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักลงแม่น้ำ
นก พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักบินขึ้นสู่อากาศ
สุนัขบ้าน พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปบ้าน
สุนัขจิ้งจอก พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าสู่ป่าช้า
ลิง พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่ป่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เมื่อใดแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น
ต่างก็จะไปตามวิสัยของตนๆ พึงลำบาก
เมื่อนั้น สัตว์เหล่านั้น พึงยืนแนบ นั่งแนบ นอนแนบ
หลัก หรือ เสานั้นเอง แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
อบรมกระทำให้มาก ซึ่งกายคตาสติ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
จักษุ ย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้น ไปในรูป อันเป็นที่พอใจรูปอันไม่
เป็นที่พอใจย่อมไม่เป็นของปฏิกูล ฯลฯ
ใจ ย่อมไม่ฉุดไปในธรรมารมณ์ อันเป็นที่พอใจธรรมารมณ์
อันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย! สังวร ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย! สังวร ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย! คำว่า หลัก หรือ เสา อันมั่นคงนั้น
เป็นชื่อของ กายคตาสติ

เพราะเหตุนั้นแล! เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า
กายคตาสติ เราทั้งหลายจักอบรม กระทำให้มาก
กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งให้มั่นคง
สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แลฯ

จบสูตร

พระไตรปิฎกฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย ) เล่มที่๑๘
พระสุตตันตปิฎกเล่มที่๑๐สังยุตตนิกายสฬายตนวรรค
หน้าที่๒๑๒ / ๔๐๒หัวข้อที่๓๔๖-๓๕๐