สุขุมสูตร

[ ๓๒๐ ] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องเคยมีมาแล้ว
มีเต่าตัวหนึ่ง เที่ยวหากินอยู่ ที่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง
ในเวลาเย็น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ก็ได้เที่ยวหากิน
อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง

ในเวลาเย็น เต่าได้แลเห็นสุนัขจิ้งจอก ซึ่งเที่ยวหากินอยู่แต่ไกลแล้ว
ก็หดอวัยวะ ๕ ทั้งหัว ( หดขาทั้ง ๔ มีคอเป็นที่ ๕ )
เข้าอยู่ในกระดองของตนเสีย มีความขวนขวายน้อย นิ่งอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ฝ่ายสุนัขจิ้งจอก ก็ได้แลเห็นเต่า
ซึ่งเที่ยวหากินอยู่แต่ไกล แล้วเข้าไปหาเต่าถึงที่แล้ว

ได้ยืนอยู่ใกล้เต่าด้วยคิดว่า
เวลาใด เต่าตัวนี้จักเหยียด คอ หรือ ขา ข้างใดข้างหนึ่งออกมา
เวลานั้น เราจักงับมันฟาด แล้วกัดกินเสีย
เวลาใด เต่าไม่เหยียดคอ หรือ ขา ข้างใดข้างหนึ่งออกมา
เวลานั้น สุนัขจิ้งจอก ก็หมดความอาลัย

ไม่ได้โอกาส จึงหลีกไปจากเต่า ฉันใด
























ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! มารผู้ใจบาปอันท่านทั้งหลาย
เข้าใกล้อยู่เสมอๆแล้วก็คิดว่า
บางทีเราจะพึงได้โอกาสทางจักษุหูจมูก
ลิ้นกายหรือใจของภิกษุเหล่านี้บ้าง

เพราะฉันนั้นแล ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้คุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว
อย่าถือนิมิต อย่าถืออนุพยัญชนะ

จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว
จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำ
นั้นชื่อว่า รักษาจักขุนทรีย์
ชื่อว่า ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
อย่าถือนิมิตอย่าถืออนุพยัญชนะจงปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์

ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำ
นั้นชื่อว่า รักษามนินทรีย์
ชื่อว่า ถึงความสำรวมในมนินทรีย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
เวลาใด ท่านทั้งหลายจักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่
เวลานั้น มารผู้ใจบาปก็จักหมดความอาลัย ไม่ได้โอกาส หลีกจากท่านทั้งหลายไป
ดุจสุนัขจิ้งจอก หมดความอาลัย หลีกจากเต่า ก็ฉันนั้น เหมือนกันฯ

[ ๓๒๑ ] ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่น
ในมโนวิตก อันตัณหามานะและทิฐิไม่อิงอาศัย
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ดับกิเลสได้แล้ว
ไม่ติเตียนผู้ใด ผู้หนึ่งเหมือนเต่าหดคอและ
ขาอยู่ในกระดองของตนฉะนั้นฯ

จบสูตร

พระไตรปิฎกฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย ) เล่มที่๑๘
พระสุตตันตปิฎกเล่มที่๑๐สังยุตตนิกายสฬายตนวรรค
หน้าที่๑๙๗ / ๔๐๒หัวข้อที่๓๒๐ - ๓๒๑