สังโยชนสูตร ว่าด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ และสังโยชน์ [ ๓๐๘] พระนครสาวัตถี.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เราจักแสดงธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
และสังโยชน์ เธอทั้งหลายจงฟัง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์เป็นไฉน? สังโยชน์เป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย!
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ชื่อว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์. ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นชื่อว่า สังโยชน์.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย! นี้เรียกว่า
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ นี้เรียกว่า สังโยชน์.
จบ สูตรที่ ๘. พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๗
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
หน้าที่ ๑๕๙ หัวข้อที่ ๓๐๘
สังโยชน์ ๑๐ อย่าง
[ ๒๘๔] โอรัมภาคิยสังโยชน์ [ สังโยชน์เบื้องต่ำ] ๕ อย่าง
๑. สักกายทิฏฐิ [ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน]
๒. วิจิกิจฉา [ ความสงสัย]
๓. สีลัพตปรามาส [ ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่ามีได้ด้วยศีลหรือพรต]
๔. กามฉันทะ [ ความพอใจด้วยอำนาจแห่งกาม]
๕. พยาบาท [ ความคิดแก้แค้นผู้อื่น]
[ ๒๘๕] อุทธัมภาคิยสังโยชน์ [ สังโยชน์เบื้องบน] ๕ อย่าง
๑. รูปราคะ [ ความติดใจอยู่ในรูปธรรม]
๒. อรูปราคะ [ ความติดใจอยู่ในอรูปธรรม]
๓. มานะ [ ความสำคัญว่าเป็นนั่นเป็นนี่]
๔. อุทธัจจะ [ ความคิดพล่าน]
๕. อวิชชา [ ความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริง]
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๑
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
หน้าที่ ๑๙๖ หัวข้อที่ ๒๘๔ – ๒๘๕
|