อวกุชชิตาสูตร

[ ๔๖๙ ] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๓ จำพวกนี้
มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน ? คือ
บุคคล มีปัญญาคว่ำ ๑
บุคคล มีปัญญาเช่นกับตัก ๑
บุคคล มีปัญญากว้างขวาง ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลที่มีปัญญาคว่ำเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้
หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรม ในสำนักของภิกษุเสมอ
ภิกษุย่อมแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง แก่เขา

เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นไม่ได้
ถึงลุกจากอาสนะแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดของกถานั้นไม่ได้

เปรียบเหมือน หม้อคว่ำ
ถึงจะเอาน้ำรดลงที่หม้อนั้น ย่อมราดไป หาขังอยู่ไม่ แม้ฉันใด









บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรม ในสำนักของภิกษุเสมอ
ภิกษุย่อมแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง แก่เขา

เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นไม่ได้
แม้ลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นไว้ไม่ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าบุคคลมีปัญญาคว่ำ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ก็บุคคลที่มีปัญญา เหมือนตักเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้
หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรม ในสำนักของภิกษุเสมอ
ภิกษุย่อมแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เขา

เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้นท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นได้
ครั้นลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นไม่ได้

เปรียบเหมือน บนตักของบุรุษ มีของเคี้ยวนานาชนิด
คือ งา ข้าวสาร ขนมต้ม พุทรา เกลื่อนกลาด
เขาลุกจากอาสนะนั้น พึงทำเรี่ยราด เพราะเผลอสติ แม้ฉันใด

บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรม ในสำนักของภิกษุเสมอ
ภิกษุย่อมแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้น เชิงแก่เขา

เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นได้
ครั้นลุกจากอาสนะนั้นแล้ว จำเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดของกถานั้นไว้ไม่ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า บุคคลมีปัญญาเหมือนตัก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ก็บุคคลที่มีปัญญากว้าง ขวางเป็นไฉน?

บุคคลบางคนในโลกนี้
หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรม ในสำนักของภิกษุเสมอ
ภิกษุย่อมแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง แก่เขา

เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นได้
แม้ลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นได้

เปรียบเหมือน หม้อหงาย เอาน้ำเทใส่ไปในหม้อนั้น
ย่อมขังอยู่ หาไหลไปไม่ แม้ฉันใด









บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรม ในสำนักของภิกษุเสมอ
ภิกษุย่อมแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เขา

เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้นได้
ถึงลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดของกถานั้นได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าบุคคลมีปัญญากว้างขวาง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

บุรุษมีปัญญาคว่ำ เป็นคนเขลา ไร้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
บุรุษเช่นนั้น แม้หากจะหมั่นไปในสำนักของภิกษุเสมอ
ก็ไม่อาจจะเล่าเรียน เบื้องต้น ท่ามกลาง และ ที่สุดของกถาได้
เพราะเขาไม่มีปัญญา

บุรุษมีปัญญาเหมือนตัก เรากล่าวว่าดีกว่า บุรุษที่มีปัญญาคว่ำ
บุรุษเช่นนั้น ถึงแม้จะไปในสำนักของภิกษุเสมอ

นั่งบนอาสนะนั้น เรียนเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดของกถาได้
ครั้นลุกมาแล้ว กำหนดจดจำพยัญชนะไม่ได้
เพราะพยัญชนะที่เขาเรียนแล้ว เลอะเลือนไป

ส่วนบุรุษ ผู้มีปัญญากว้างขวาง
เรากล่าวว่าดีกว่า บุรุษที่มีปัญญา เหมือนตัก

บุรุษเช่นนั้น แม้ไปในสำนัก ของภิกษุเสมอ
นั่งบนอาสนะนั้น เล่าเรียนเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของกถาได้
แล้วจำพยัญชนะไว้ เป็นคนมีความดำริประเสริฐสุด
มีใจไม่สงสัยปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม พึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ฯ


จบสูตร

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย ) เล่มที่ ๒๐
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก - ทุก - ติกนิบาตร
หน้าที่ ๑๒๓ / ๒๙๐ หัวข้อที่ ๔๖๙