อันธสูตร

[ ๔๖๘ ] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้
มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน
คือ คนตาบอด ๑ คนตาเดียว ๑ คนสองตา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลตาบอดเป็นไฉน?
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีนัยน์ตา
อันเป็นเหตุ ได้โภคทรัพย์ ที่ยังไม่ได้
หรือทำโภคทรัพย์ ที่ได้แล้ว ให้ทวีมากขึ้น

ไม่มีนัยน์ตา เครื่องรู้ธรรม ที่เป็นกุศล และ อกุศล
รู้ธรรม ที่มีโทษ และ ไม่มีโทษ
รู้ธรรม ที่เลว และ ประณีต
รู้ธรรม ที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำ และ ฝ่ายขาว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าคนตาบอด

















ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลตาเดียวเป็นไฉน?
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีนัยน์ตา
อันเป็นเหตุ ได้โภคทรัพย์ ที่ยังไม่ได้
หรือทำโภคทรัพย์ ที่ได้แล้ว ให้ทวีมากขึ้น

แต่ไม่มีนัยน์ตา เป็นเครื่องรู้ธรรม ที่เป็นกุศล และ อกุศล
รู้ธรรม ที่มีโทษ และ ไม่มีโทษ
รู้ธรรม ที่เลว และ ประณีต
รู้ธรรม ที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำ และ ฝ่ายขาว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าคนตาเดียว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ก็บุคคลสองตาเป็นไฉน?
บุคคลบางคนในโลกนี้
มีนัยน์ตา เป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้
ทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้ว ให้ทวีมากขึ้น
ทั้งมีนัยน์ตา เป็นเครื่องรู้ธรรม ที่เป็นกุศล และอกุศล

รู้ธรรม ที่มีโทษ และ ไม่มีโทษ
รู้ธรรม ที่เลว หรือ ประณีต
รู้ธรรม ที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำ และ ฝ่ายขาว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าคนสองตา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

โภคทรัพย์ เห็นปานดั่งนั้น
ย่อมไม่มี แก่คนตาบอดเลย และ คนตาบอด

ย่อมไม่ทำบุญอีกด้วย โทษเคราะห์
ย่อมมีแก่คนตาบอดเสียจักษุในโลกทั้งสอง

ต่อมา เราได้กล่าวถึง คนตาเดียวนี้ไว้อีกคนหนึ่ง
คนตาเดียวนั้น เป็นผู้คลุกเคล้ากับธรรม และ อธรรม
แสวงหาโภคทรัพย์ โดยการคดโกง และการพูดเท็จ
อันเป็นส่วนแห่งความเป็นขโมย ทั้งสองอย่าง


ก็มาณพผู้บริโภคกาม ย่อมเป็นคนฉลาด
ที่จะรวบรวมโภคทรัพย์ เขาผู้เป็นคนตาเดียว
จากโลกนี้แล้วไปนรกย่อมเดือดร้อน

อนึ่ง คนสองตาเรากล่าวว่า เป็นบุคคลที่ประเสริฐสุด
คนสองตานั้น ย่อมให้ทรัพย์ ที่ตนได้
มาด้วยความหมั่นเป็นทาน แต่โภคะที่ตนหาได้โดยชอบธรรม

เพราะเป็นผู้มีความดำริประเสริฐสุด มีใจไม่สงสัย
ย่อมเข้าถึงฐานะอันเจริญซึ่ง บุคคลไปถึงแล้วไม่เศร้าโศก
บุคคลควรเว้นคนตาบอด กับ คนตาเดียวเสียให้ห่างไกล
แต่ควรคบคนสองตา ซึ่งเป็นบุคคลผู้ประเสริฐสุด ฯ

จบสูตร

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย ) เล่มที่ ๒๐
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก - ทุก - ติกนิบาตร
หน้าที่ ๑๒๒ / ๒๙๐ หัวข้อที่ ๔๖๘