สีลสูตร
การหลีกออก ๒ วิธี
[ ๓๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติ
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย วิมุตติญาณทัสสนะ
การได้เห็นภิกษุเหล่านั้นก็ดี การได้ฟังภิกษุเหล่านั้นก็ดี
การเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นก็ดี การเข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้นก็ดี
การระลึกถึงภิกษุเหล่านั้นก็ดี การบวชตามภิกษุเหล่านั้นก็ดี
แต่ละอย่างๆ เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
เพราะว่า ผู้ที่ได้ฟังธรรม ของภิกษุเห็นปานนั้นแล้ว
ย่อมหลีกออกอยู่ด้วย ๒ วิธี คือ
หลีกออกด้วยกาย ๑ หลีกออกด้วยจิต ๑
เธอหลีกออกอยู่อย่างนั้นแล้ว ย่อมระลึกถึง ย่อมตรึกถึงธรรมนั้น .
|
|
|
|
[ ๓๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย!
สมัยใด ภิกษุหลีกออกอยู่อย่างนั้นแล้ว ย่อมระลึกถึง ย่อมตรึกถึงธรรมนั้น
สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
ภิกษุ ย่อมชื่อว่า เจริญสติสัมโพชฌงค์
สติสัมโพชฌงค์ ของภิกษุ ย่อมถึงความเจริญ บริบูรณ์
เธอ มีสติอยู่อย่างนั้น ย่อมเลือกเฟ้น ตรวจตรา
ถึงความพินิจ พิจารณาธรรมนั้น ด้วยปัญญา.
[ ๓๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย!
สมัยใด ภิกษุมีสติอยู่อย่างนั้น ย่อมเลือกเฟ้น ตรวจตรา
ถึงความพินิจ พิจารณาธรรมนั้น ด้วยปัญญา
สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
ภิกษุ ย่อมชื่อว่า เจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ของภิกษุย่อมถึง ความเจริญ บริบูรณ์
เมื่อภิกษุเลือกเฟ้น ตรวจตรา พินิจ พิจารณา ธรรมนั้น ด้วยปัญญา
ความเพียร อันไม่ย่อหย่อน เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว .
|
|
[ ๓๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
สมัยใด เมื่อภิกษุเลือกเฟ้น ตรวจตรา พินิจพิจารณา
ธรรมนั้นด้วยปัญญา ความเพียร อันไม่ย่อหย่อน อันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
ภิกษุย่อมชื่อว่า เจริญวิริยสัมโพชฌงค์
วิริยสัมโพชฌงค์ ของภิกษุย่อมถึง ความเจริญ บริบูรณ์
ปีติ ที่ไม่มีอามิส ย่อมเกิดแก่ภิกษุ ผู้ปรารภความเพียร.
[ ๓๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย!
สมัยใด ปีติที่ไม่มีอามิส ย่อมเกิด แก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร
สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
ภิกษุ ย่อมชื่อว่า เจริญปีติสัมโพชฌงค์
ปีติสัมโพชฌงค์ ของภิกษุ ย่อมถึง ความเจริญ บริบูรณ์
กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจกอปรด้วยปีติ ย่อมสงบระงับ.
[ ๓๗๘ ] ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
สมัยใด กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจ กอปรด้วยปีติ ย่อมสงบระงับ
สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
ภิกษุย่อมชื่อว่า เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ของภิกษุย่อมถึง ความเจริญ บริบูรณ์
จิต ของภิกษุ ผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น .
|
|
|
|
[ ๓๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
สมัยใด จิตของภิกษุ ผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น
สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
ภิกษุ ย่อมชื่อว่า เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์
สมาธิสัมโพชฌงค์ ของภิกษุย่อมถึง ความเจริญ บริบูรณ์
เธอย่อมเป็น ผู้เพ่งดูจิต ที่ตั้งมั่นแล้ว อย่างนั้น ด้วยดี.
[ ๓๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย!
สมัยใด ภิกษุย่อมเป็นผู้เพ่งดูจิต ที่ตั้งมั่นแล้ว อย่างนั้น ด้วยดี
สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
ภิกษุ ย่อมชื่อว่า เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ของภิกษุย่อมถึง ความเจริญ บริบูรณ์.
|
|
อานิสงส์การเจริญโพชฌงค์
[ ๓๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เมื่อโพชฌงค์ ๗
อันภิกษุเจริญแล้ว อย่างนี้ กระทำให้มาก แล้วอย่างนี้
ผลานิสงส์ ๗ ประการ อันเธอพึงหวังได้ ผลานิสงส์ ๗ ประการเป็นไฉน?
[ ๓๘๒] คือ
( ๑) ในปัจจุบัน จะได้บรรลุอรหัตผล โดยพลัน
( ๒) ในปัจจุบันไม่ได้บรรลุ ทีนั้น จะได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตาย
( ๓) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ ไม่ได้บรรลุ ทีนั้น
จะได้เป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
( ๔) ถ้าในปัจจุบัน ก็ไม่ได้บรรลุ
ในเวลาใกล้ตาย ก็ไม่ได้บรรลุ
และไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี
เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป ทีนั้น
จะได้เป็นพระอนาคามี ผู้อุปหัจจปรินิพพายี
เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
( ๕) ถ้าในปัจจุบัน ก็ไม่ได้บรรลุ
ในเวลาใกล้ตาย ก็ไม่ได้บรรลุ
ไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี
และไม่ได้เป็นพระอานาคามี ผู้อุปหัจจปรินิพพายี ทีนั้น
จะได้เป็นพระอนาคามี ผู้อสังขารปรินิพพายี
เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป |
|
|
|
( ๖) ถ้าในปัจจุบัน ก็ไม่ได้บรรลุ
ในเวลาใกล้ตาย ก็ไม่ได้บรรลุ
ไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี
ไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อุปหัจจปรินิพพายี
และไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อสังขารปรินิพพายี ทีนั้น
จะได้เป็นพระอนาคามี ผู้อสังขารปรินิพพายี
เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
( ๗) ถ้าในปัจจุบัน ก็ไม่ได้บรรลุ
ในเวลาใกล้ตาย ก็ไม่ได้บรรลุ
ไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี
ไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อุปหัจจปรินิพพายี
ไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อสังขารปรินิพพายี
และไม่ได้เป็นพระอนาคามี ผู้อสังขารปรินิพพายี ทีนั้น
จะได้เป็นพระอนาคามี ผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี
เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เมื่อโพชฌงค์ ๗
อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มาก แล้วอย่างนี้
ผลานิสงส์ ๗ ประการเหล่านี้ อันเธอพึงหวังได้.
จบ สูตร
|
|
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๙
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
หน้าที่ ๙๕/ ๔๖๙ หัวข้อที่ ๓๗๓ - ๓๘๑
|
|