โรหิตัสสสูตร ที่ ๒

[ ๔๖ ] ครั้งนั้นแล เมื่อราตรีนั้นผ่านไปแล้ว
พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อคืนนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว
โรหิตัสสเทวบุตร มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว
เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทเราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ถามเราว่า

ข้าแต่พระองค์เจริญ สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่
ย่อมไม่ตายย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดหนอแล
พระองค์อาจหรือหนอ เพื่อจะทรงทราบ เพื่อจะทรงเห็น
หรือเพื่อจะทรงถึงที่สุดแห่งโลก ด้วยการไป ในโอกาสนั้น ดังนี้

 
เมื่อเทวบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะเทวบุตรนั้นว่า

ดูกรอาวุโส ! สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย
ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล
เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก
ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว
โรหิตัสสเทวบุตร ได้กล่าวกะเราว่า น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า
สิ่งไม่เคยมี ได้มีขึ้น พระเจ้าข้าเท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า

สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย
ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล
เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้นว่า เป็นที่สุดแห่งโลก
ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป เป็นอันตรัสดีแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว
ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตรนายบ้านมีฤทธิ์

ไปในอากาศได้ ความเร็วของข้าพระองค์นั้น
เปรียบได้กับนายขมังธนู ผู้มีธนูอันมั่นเหมาะ ศึกษาดีแล้ว
เคยแสดงให้ปรากฏแล้ว พึงยิงลูกศรอันเบา
ให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่สู้ยาก ฉะนั้น

การยกย่างเท้าแต่ละก้าว ของข้าพระองค์
เปรียบด้วยสมุทรด้านตะวันตก ไกลจากสมุทรด้านตะวันออก ฉะนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปรารถนาเห็นปานนี้ว่า
เราจักถึงที่สุดแห่งโลกด้วยการไป ดังนี้

ได้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์นั้น ผู้ประกอบด้วยกำลังเร็ว เห็นปานนั้น
และด้วยการยกย่างเท้า เห็นปานนั้น ข้าพระองค์นั้นแล
เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
เว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับ

และการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย เป็นผู้มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี
ในคราวที่มนุษย์มีอายุร้อยปี ไปตลอดร้อยปี ไม่ทันถึงที่สุดแห่งโลก
ได้ทำกาละเสียในระหว่าง ทีเดียว

น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมีได้มีขึ้น
พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมีได้มีขึ้น
พระเจ้าข้า เท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า

ดูกรอาวุโส ! สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย
ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด
เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก
ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป
 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
เมื่อเทวบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะเทวบุตรว่า

ดูกรอาวุโส ! สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย
ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น
ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง
ด้วยการไปและเราย่อมไม่กล่าวการกระทำที่สุดแห่งทุกข์

เพราะไปไม่ถึงที่สุดแห่งโลก แต่เราย่อมบัญญัติโลก
เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับ
แห่งโลก ในอัตภาพอันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญาและ มีจิตนี้ เท่านั้น

ในกาลไหนๆ ที่สุดแห่งโลกอันใครๆ ไม่พึงถึงด้วยการไป
และการเปลื้องทุกข์ย่อมไม่มี เพราะไม่ถึงที่สุดแห่งโลก

เพราะฉะนั้นแล ท่านผู้รู้แจ้งโลก มีเมธาดีถึงที่สุดแห่งโลก
มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว เป็นผู้มีบาปอันสงบ
รู้ที่สุดแห่งโลกแล้ว ย่อมไม่หวังโลกนี้ และโลกหน้า ฯ

จบสูตร


พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย ) เล่มที่ ๒๑
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
หน้าที่ ๔๘ / ๒๔๐ หัวข้อที่ ๔๖