กฎหมายเกี่ยวกับศาสนา ศาสนสถานและพระสงฆ์ที่ควรทราบ

ศาสนวิทยา DR.SINCHAI CHAOJAROENRAT· 4 สิงหาคม 2016

กฎหมายเกี่ยวกับศาสนาของประเทศไทย มีอยู่ไม่น้อย ผู้เขียนปรารถนาจะนำเสนอตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญยังอยู่ระหว่างการทำประชามติ ฉะนั้นจะขอข้ามส่วนของรัฐธรรมนูญไปก่อน จนเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจึงจะนำเสนอเพิ่มเติมภายหลัง แต่ของรัฐธรรมนูญฉบับเก่าก็ได้เคยนำเสนอไปแล้ว

ในที่นี้จะเน้นถึงกฎหมายศาสนาที่บุคคลทั่วไปจำเป็นต้องทราบ เพื่อจะไม่ไปกระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นั่นคือ กฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นศาสนา และกฎหมายอื่นที่ควรทราบ ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการทรัพย์สินของพระนักบวช และกฎหมายที่ดินทางศาสนา ขอเสนอตามลำดับดัง่ต่อไปนี้


กฏหมายเกี่ยวกับการหมิ่นศาสนา

ตามประมวลกฎหมายอาญา ได้บัญญัติเกี่ยวกับความผิดในลักษณะเหยียดหยามศาสนาบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ในหลายมาตราด้วยกัน คือ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 “ ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเปนการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ”

มาตรานี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกามาประกอบ เป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1807/2550 พิพากษาว่าพระพุทธรูปเป็นที่เคารพสักการะในทางศาสนาของประชาชนผู้นับถือศาสนาพุทธทั่วไป การกระทำของจำเลยตามที่ปรากฏในภาพถ่าย จำเลยแต่งกายเป็นภิกขุแล้วใช้เท้าข้างหนึ่งยืนอยู่บนฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ โดยเท้าจำเลยอยู่บนส่วนหนึ่งของพระบาทพระพุทธรูปยกมือขวาขึ้นเลียนแบบพระพุทธรูป ส่วนใบหน้าของจำเลยแสดงท่าทางล้อเลียนถลึงตาอ้าปากเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการไม่เคารพต่อพระพุทธรูปแล้ว จำเลยยังได้แสดงตนเสมอกับพระพุทธรูป จึงเป็นการกระทำอันไม่สมควรและเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพุทธศาสนา จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องที่จำเลยอ้างว่า จำเลยทำพิธีรักษาโรคโดยนั่งเพ่งกระแสจิตเกิดตัวลอยขึ้นไปยืนอยู่บนฐานพระพุทธรูปไม่มีเจตนาล้อเลียนนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว จะเห็นว่า แม้จำเลยจะอ้างว่าตนไม่ได้มีเจตนาเหยียดหยามพระพุทธรูป หากแต่ตนมีเจตนาทำพิธีรักษาโรคก็ตาม แต่ถ้าเป็นการกระทำที่มีลักษณะ “ เหยียดหยามศาสนา ” ตามความรู้สึกของศาสนิก ก็จะถือว่าเป็นความผิด

ฉะนั้นจึงพูดได้ว่าความผิดตามมาตรานี้ จึงไม่ได้มีเจตนารมณ์เพื่อมุ่งปกป้องวัตถุหรือศาสนสถานของแต่ละศาสนาแต่อย่างใด หากแต่มีเจตนารมณ์ของกฎหมายคือเพื่อปกป้องความรู้สึกของประชาชนในการนับถือศาสนาเสียมากกว่า ฉะนั้นการพิจารณาความผิดตามมาตรานี้ จึงต้องนำความรู้สึกของคนปกติทั่วไปในแต่ละศาสนาเข้าคำนึงประกอบ

นั่นหมายความว่าหากศาสนิกทั่วไปในศาสนานั้นๆ เห็นว่าเป็นการเหยียดหยามศาสนา ก็ต้องถือว่าเป็นการเหยียดหยามศาสนา แม้ผู้กระทำจะอ้างว่าตนไม่ได้มีเจตนาเหยียดหยามศาสนา แต่กระทำไปด้วยเจตนาอื่นก็ตาม และการกระทําที่ถือเปนการเหยียดหยามศาสนาจะต้องเป็นการกระทําที่ถึงขนาดก่อกวนความสงบสาธารณะด้วย

ที่จริงยังมีตัวอย่างคำพิพากษาอีกอันหนึ่งแต่ก็ไม่ชัดเจนนัก คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 736/2505 จำเลยขณะเป็นพระภิกษุ ได้ร่วมประเวณีกับหญิงในกุฏิของจำเลยบนเขาวัง จ.เพชรบุรี มีกุฏิพระใกล้เคียงหลายหลัง มีพระพุทธรูปพระฉายบนเขาวัง เป็นสถานที่ที่ประชาชนเคารพนับถือนั้นเห็นได้ว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่จะถือว่าเป็นการเหยียดหยามศาสนาตามความในมาตรา 206 ยังไม่ถนัด (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16/2505)

มาตรา 207

ปอ.มาตรา 207 ผู้ใดก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกันนมัสการหรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 208

ปอ.มาตรา 208 ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวชในศาสนาใด โดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 335 ทวิ

มาตรา 335 ทวิ ผู้ใดลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนา ถ้าทรัพย์นั้นเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน หรือเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูป หรือวัตถุดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ได้กระทำในวัด สำนักสงฆ์ สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา โบราณสถานอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน สถานที่ราชการหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท

พ.ร.บ.คณะสงฆ์

กฎหมายหมิ่นศาสนาไม่ได้มีอยู่แต่ในประมวลกฏหมายอาญาเท่านั้น แต่ยังมีอยู่ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 ด้วย

มาตรา 44 ทวิ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 44 ตรี ที่ระบุว่า ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่น อันก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือความแตกแยก ต้องระวางโทษจำคุกเช่นกัน "
กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุสงฆ์

ถ้าถามว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุเมื่อท่านมรณภาพ ทรัพย์สินนั้นจะตกอยู่ที่ใคร ? ตามประมวล-กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ปพพ.มาตรา 1622 พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ แต่พระภิกษุนั้น อาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้

ปพพ.มาตรา 1623 ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม

ปพพ.มาตรา 1624 ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้

ลองดูตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา

ฎีกา 1265/2495 พระภิกษุถึงมรณภาพในขณะที่เป็นพระภิกษุอยู่ โดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใคร มรดกของพระภิกษุนั้นย่อมตกได้แก่วัดที่พระภิกษุนั้นอยู่ แม้ทายาทจะครอบครองที่ดินมรดกของพระภิกษุนั้นเกิน 10 ปี นับแต่วันมรณภาพทายาทนั้นก็จะเอาที่ดินมรดกนั้นไม่ได้ เพราะที่ดินมรดกนั้นเป็นของวัด จะใช้อายุความ 10 ปี ยันวัดให้เสียสิทธิหาได้ไม่

ฎีกา 1064/2532 บิดามารดายกที่นาให้แก่พระภิกษุ ข. ภายหลังที่พระภิกษุ ข.บวชเป็นพระภิกษุเมื่อพระภิกษุ ข. ขายที่นาแปลงดังกล่าวและนำเงินที่ขายได้ไปฝากธนาคาร เงินที่นำไปฝากธนาคารรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศเมื่อพระภิกษุ ข. ถึงแก่มรณภาพเงินฝากดังกล่าวย่อมตกเป็นของวัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ ข.

สรุปก็คือ ทรัพย์สินของพระภิกษุเมื่อมรณภาพ แบ่งเป็น 2 กรณี

ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนอุปสมบท เมื่อท่านมรณภาพทรัพย์สินนี้จะตกสู่ทายาทโดยธรรม

ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างอุปสมบท เมื่อท่านมรณภาพทรัพย์สินนี้จะตกอยู่แก่วัดที่เป็นภูมิลำเนา(วัดที่สังกัด)ของพระภิกษุรูปนั้นๆเว้นแต่จะทำพินัยกรรมหรือได้จำหน่ายในขณะที่มีชีวิต

กฎหมายที่ดินเกี่ยวกับศาสนา

การกำหนดสิทธิในที่ดินเพื่อการศาสนา ตาม “ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497”
หมวด 7

มาตรา 84 การได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม วัดบาดหลวงโรมันคาธอลิค มูลนิธิเกี่ยวกับคริสต์จักร หรือมัสยิดอิสลาม ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี และให้ได้มาไม่เกิน 50 ไร่

ในกรณีที่เป็นการสมควร รัฐมนตรีจะอนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินเกินจำนวนที่บัญญัติไว้ในวรรคแรกก็ได้

บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนการได้มาซึ่งที่ดินที่มีอยู่แล้วก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และการได้มาซึ่งที่ดินของมัสยิดอิสลามโดยทางบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามในจังหวัดที่มีตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรม

มาตรา 85 ในกรณีที่นิติบุคคลได้มาซึ่งที่ดินเกินกำหนดตามความในมาตรา 84 เมื่อประมวลกฎหมายนี้ได้ใช้บังคับแล้ว ให้นิติบุคคลดังกล่าวจัดการจำหน่ายภายในห้าปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

กฎหมายศาสนาอื่นๆ

ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับศาสนาอีกหลายฉบับที่ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาลงลึกต่อไปได้ นอกเหนือจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมาในอนาคตอันใกล้ แล้วก็ยังมี พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับ พศ. 2505 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 และกฎหมายการบริหารองค์กรอิสลาม พ.ศ. 2540 ซึ่งผู้เขียนได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้วทั้งสิ้น

และแน่นอนว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายศาสนาอื่นๆ ตามมาด้วย

ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์


การเสนอร่าง กม.เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินวัดและพระ และร่าง กม. ที่ให้มีองค์กรขึ้นมา
ตีความพระธรรมวินัยกำลังมาแรงและเป็นเรื่องร้อนในหมู่สงฆ์