พิธีถวายทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ปี ๒๕๕๘


เมื่อวันที่  ๗  ก.ค. ๕๘ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
(ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ปรึกษาโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย
เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย
เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ทั้งนี้นายอินทร์จันทร์ บุราพันธ์  กรรมการและเลขานุการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย
กล่าวในการรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย
ประจำปี  ๒๕๕๘  จำนวนทั้งหมด  ๔๔๖  ทุน เป็นเงิน ๙, ๗๔๔, ๐๐๐  บาท โดยแบ่งเป็นทั้งหมด 5  ประเภท ดังนี้ 

  ทุนเล่าเรียนหลวงภายใต้การกำกับดูแลของกองบาลีสนามหลวง 153  ทุน เป็นงิน 2,069,000 บาท แบ่งเป็น
ทุนการศึกษาระดับเปรียญธรรม (ป.ธ.) 6 - 9  ประโยค จำนวน 76  ทุน ทุนเล่าเรียนพระบาลี เพื่อส่งเสริมสามเณร
ให้ได้ศึกษาพระบาลีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ป.ธ. 3 - 9  ประโยค จำนวน 67  ทุน และทุนสำนักเรียน มอบให้สำนักเรียน
และสำนักศาสนศึกษา จำนวน 5 ทุน

นายอินทร์จันทร์ กล่าวต่อไปว่า ประเภททุนเล่าเรียนหลวงภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยสงฆ์
จำนวน 258  ทุน เป็นเงิน 2,745,000  บาท แบ่งเป็น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)
จำนวน 222  ทุน มหาวิทยาลัยมหามุกฎราชวิทยาลัย (มมร.) จำนวน 36  ทุน ประเภททุนเล่าเรียนหลวง
ภายใต้การกำกับดูแลของกองงานพระธรรมทูต จำนวน 9  ทุน เป็นเงิน 270,000  บาท  ประเภททุนเล่าเรียนหลวง
ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ จำนวน 17  ทุน เป็นเงิน 4  ล้านบาท
แบ่งเป็น ทุนสนับสนุนคณะสงฆ์ด้านวิปัสสนาจารย์ ระดับปริญญาโท 1  ทุน เป็นเงิน 2  ล้านบาท
ทุนสำนักปฏิบัติธรรมดีเด่น 15  ทุน เป็นเงิน 1  ล้านบาท ทุนสนับสนุนพระนักเทศน์  1  ทุน เป็นเงิน 1  ล้านบาท
ประเภททุนเล่าเรียนหลวงภายใต้การกำกับดูแลของกองธรรมสนามหลวง 9  ทุน เป็นเงิน 660,000  บาท
แบ่งเป็นทุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาดีเด่น ขนาดเล็ก ไม่เกิน 120  รูป 3  ทุน ขนาดกลาง 
ไม่เกิน 300  รูป  3  ทุน และขนาดใหญ่ มากกว่า 301  รูป 3  ทุน

“ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดตั้งโครงการทุนเล่าเรียนสำหรับพระสงฆ์ไทย
ในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมพรรษา 76 พรรษา 5  ธันวาคม 2547  ในการส่งเสริมการเล่าเรียน
พระธรรมวินัย และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนตามพระราชประสงค์ ซึ่งขณะนี้โครงการได้ถวายทุน
แด่พระสงฆ์ไปแล้วกว่า 6,000  ทุนในการส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์ไทย” เลขานุการโครงการฯ กล่าว

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ / ข่าว