พระพุทธพจน์ น่าสนใจ

โมฆราชปัญหา ที่ ๑๕
[ ๔๓๙ ] โมฆราชมาณพทูลถามปัญหาว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาถึงสองครั้งแล้ว
พระองค์ผู้มีพระจักษุไม่ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์
ได้สดับมาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเทพฤาษี จะทรงพยากรณ์
ในครั้งที่สาม ( ข้าพระองค์จึงขอทูลถามว่า ) โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลก
กับทั้งเทวโลกข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ผู้โคดม
ผู้เรืองยศ ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงได้มาเฝ้าพระองค์
( ผู้มีปรกติเห็นก้าวล่วงวิสัยของสัตว์โลก ) ผู้มีปรกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้
บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า
“ดูกรโมฆราช ! ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ
พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่าเถิด
จงถอนความตามเห็นว่าเป็นตัวตนเสียแล้ว
พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น”

( ขุ ธ. ๒๕/๔๔๑/๔๓๙)

ทุกกรสูตร ที่ ๗
[ ๓๖ ] ( เทวดากล่าวว่า )
ธรรมของสมณะ คนไม่ฉลาด ทำได้ยาก ทนได้ยาก
เพราะธรรมของสมณะนั้นมีความลำบากมาก เป็นที่ติดขัดของ คนพาล ฯ

[ ๓๗ ] ( พระผู้มีพระภาคตรัสว่า )
“คนพาล ! ประพฤติธรรมของสมณะสิ้นวันเท่าใด
หากไม่ห้ามจิต เขาตกอยู่ในอำนาจของความดำริทั้งหลาย
พึงติดขัดอยู่ทุกๆ อารมณ์
ภิกษุยั้งวิตกในใจไว้ได้ เหมือนเต่าหดอวัยวะทั้งหลาย
ไว้ในกระดองของตน อันตัณหานิสัยและทิฐินิสัยไม่พัวพันแล้ว
ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ปรินิพพานแล้ว ไม่พึงติเตียนใคร”

สํ. สคาถ. ๑๕/๙/๓๖

มหากัจจานสูตร
[ ๑๕๔ ] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก
เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหากัจจานะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
มีกายคตาสติตั้งมั่นดีแล้วเฉพาะหน้าในภายใน ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นท่านพระมหากัจจานะนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง
มีกายคตาสติตั้งมั่นดีแล้วเฉพาะหน้าในภายใน ในที่ไม่ไกล ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
“ผู้ใดพึงตั้งกายคตาสติไว้มั่นแล้วเนืองๆ ในกาลทุกเมื่อว่า
อะไรๆ
อัน พ้นจากขันธ์ห้า...ไม่พึงมี
อะไรๆ
ที่ชื่อว่าเป็นของเรา...ก็ไม่พึงมี
อะไรๆ ที่ชื่อว่าตนอันพ้นจากขันธ์...จักไม่มี

และอะไรๆ
ที่เนื่องในตน...จักไม่มีแก่เรา
ผู้นั้นมีปกติอยู่ด้วยอนุปุพพวิหาร ตามเห็นอยู่ในสังขารนั้น
พึงข้ามตัณหาได้ โดยกาลเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคแล”

อุ. ขุ. ๒๕/๑๔๐ /๑๕๔

อชิตปัญหาที่ ๑

[ ๔๒๕] อชิตมาณพทูลถามปัญหาว่า
โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้ ?
โลกย่อมไม่แจ่มแจ้งเพราะอะไร ?
พระองค์ตรัสอะไรว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ ?
อะไรเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ?

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า
ดูกรอชิตะ ! โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่( เพราะความประมาท)
เรากล่าวตัณหา ว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็น ภัยใหญ่ของโลกนั้น ฯ

อชิตะ.
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย?
ขอพระองค์จงตรัสบอกเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
กระแสทั้งหลายอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยธรรมอะไร ฯ

พระพุทธเจ้า.
ดูกรอชิตะ ! สติ เป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก
เรากล่าว สติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา ฯ

อชิตะ.
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ และนามรูป
ธรรมทั้งหมดนี้ ย่อมดับไป ณ ที่ไหน?
พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอจงตรัสบอก ปัญหาข้อนี้แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ

พระพุทธเจ้า.
ดูกรอชิตะ ! เราจะบอกปัญหาที่ท่านได้ถามแล้วแก่ท่าน
นามและรูป ย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด
สติและปัญญานี้ ย่อมดับไป ณ ที่นั้น
เพราะความดับแห่งวิญญาณ ฯ

อชิตะ.
ชนเหล่าใด ผู้มีธรรมอันพิจารณาเห็นแล้ว
และชนเหล่าใด ผู้ยังต้องศึกษาอยู่เป็นอันมากมีอยู่ในโลกนี้ ?
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์ผู้มีปัญญารักษาตน
อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกความเป็นไป
ของชนเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ

พระพุทธเจ้า.
ภิกษุไม่กำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว
ฉลาดในธรรมทั้งปวง มี สติ พึงเว้นรอบ ฯ

จบอชิตมาณวกปัญหาที่ ๑
ขุ.ธ. ๒๕/๓๙๖/๔๒๕-๔๒๖

เมตตสูตร

[ ๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ฯ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก
เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้วโดยเอื้อเฟื้อ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็น
ดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง หมั่นเจริญเนืองๆ สั่งสมไว้โดยรอบ ปรารภด้วยดี

พึงหวังได้ อานิสงส์ ๘ ประการ
๘ ประการเป็นไฉน คือหลับก็เป็นสุข ๑ ตื่นก็เป็นสุข ๑ไม่ฝันเห็น
สิ่งลามก ๑ เป็นที่รักของมนุษย์ ๑ เป็นที่รักของอมนุษย์ ๑ เทวดาย่อมรักษา ๑ ไฟ ยาพิษ
หรือศาตราไม่กล้ำกลายผู้นั้น ๑ เมื่อแทงตลอดคุณธรรมที่สูงขึ้นไปยังไม่ได้ ย่อมไปบังเกิดใน
พรหมโลก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้วโดยเอื้อเฟื้อ เจริญแล้ว
ทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง หมั่นเจริญเนืองๆ สั่งสมไว้โดยรอบ
ปรารภด้วยดี พึงหวังได้อานิสงส์ ๘ ประการนี้ ฯ

ก็ผู้ใดมีสติมั่นคง เจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้ สังโยชน์
ของผู้นั้น ผู้เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส ย่อมเบาบาง
หากว่าเขาไม่มีจิตคิดประทุษร้ายสัตว์แม้สักตัวเดียว
เจริญเมตตาจิตอยู่ เพราะเจริญเมตตาจิตนั้น ย่อมเป็นกุศล
เขามีใจอนุเคราะห์หมู่สัตว์ทั้งปวงเป็นผู้ประเสริฐ กระทำบุญมาก
พระราชาผู้ประกอบด้วยธรรมเช่นกับฤาษี ชำนะแผ่นดิน
อันประกอบด้วยหมู่สัตว์ เจริญรอยตามกัน บูชายัญเหล่าใด
คือ สัสสเมธ ความทรงพระปรีชาในการบำรุงพืชพันธ์
ธัญญาหาร ปุริสเมธ ทรงพระปรีชาในการเกลี้ยกล่อม
ประชาชน สัมมาปาสะ มีพระอัธยาศัยดุจบ่วงคล้องน้ำใจ
ประชาชน วาชเปยยะ มีพระวาจาเป็นที่ดูดดื่มน้ำใจคน
ซึ่งมีผลคือทำให้นครไม่ต้องมีลิ่มกลอน มหายัญเหล่านั้น
ทั้งหมด ยังไม่เทียบเท่าส่วนที่ ๑๖ แห่งเมตตาจิตที่บุคคล
เจริญดีแล้ว ดุจกลุ่มดวงดาวทั้งหมด ไม่เทียบเท่าแสงจันทร์
ฉะนั้น ผู้ใดมีเมตตาจิตในสรรพสัตว์ ไม่ฆ่า ( สัตว์) เอง
ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ ผู้นั้น
ย่อมไม่มีเวรกับใครๆ ฯ

จบสูตรที่ ๑

(อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๑๑๗/๙๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้
มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ
อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง ๑
วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น ๑
เนยยะผู้พอแนะนำได้ ๑
ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

จตุก. อํ. ๒๑/๑๓๕/๑๓๓

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล
มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ
บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลของความหมั่น ไม่ใช่ดำรงชีพด้วยผลของกรรม ๑
บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลของกรรม ไม่ใช่ดำรงชีพด้วยผลของความหมั่น ๑
บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลของความหมั่นทั้งดำรงชีพด้วยผลของกรรม ๑
บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลของความหมั่นก็ไม่ใช่ ดำรงชีพด้วยผลของกรรมก็ไม่ใช่ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

จตุก. อํ. ๒๑/๑๓๕/๑๓๔