ศากยวงศ์

เมื่อนับถอยหลังแต่บัดนี้ไปประมาณ ๓, ๐๐๐ ปี ก่อนพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก
หรือก่อนพระพุทธศักราช ๕๐๐ ปีเศษ ในประเทศอินเดีย มีเมือง ๆ หนึ่ง ตั้งอยู่ข้างทิศเหนือ
ไม่ปรากฏชื่อ ใกล้แคว้นสักกะชนบท พระเจ้าอุกกากะราชเป็นกษัตริย์ปกครอง
พระองค์มีพระโอรสพระธิดา ๙ พระองค์ คือ

              ๑. พระเชฏฐภคินี ไม่ปรากฏพระนาม

              ๒. พระอุกกามุข

              ๓. พระกรกัณฑุ

              ๔. พระหัตถินีก

              ๕. พระสินิปุระ

              ๖-๗-๘-๙ พระกนิฏฐภคินี ไม่ปรากฏพระนาม



พระโอรสและพระธิดาทั้ง ๙ พระองค์นี้ ประสูติแต่พระมเหสีเก่า
ครั้นพระมเหสีเก่าทิวงคตแล้ว พระเจ้าอุกกากะราช ทรงมีพระมเหสีใหม่ ได้พระโอรสซึ่งประสูติ
แต่พระมเหสีนี้ ๑ พระองค์ มีพระราชประสงค์จะพระราชทานราชสมบัติแก่พระโอรสองค์น้อยนี้
ซึ่งพระมเหสีผู้โปรดปรานทูลขอให้ จึงรับสั่งให้พระโอรสและพระธิดาทั้ง ๙ ซึ่งมีพระอุกกามุขราชกุมารเป็นหัวหน้า
ยกจาตุรงคเสนาพร้อมด้วยช่างทุกหมู่ ตลอดกสิกร สัตว์พาหนะและปศุสัตว์ทุกประเภท
ยกไปสร้างพระนครใหม่ อยู่ที่ดงไม้สักกะ ใกล้ภูเขาหิมพาน อันเป็นชัยมงคลสถานที่อยู่ของกบิลดาบส

ครั้นได้สร้างพระนครแล้ว จึงขนานนามพระนครนี้ว่า  กบิลพัสดุ์  โดยอาศัยชื่อของกบิลดาบส
เจ้าของถิ่นเดิมเป็นนิมิต ภายหลังกษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์นั้น เกรงจะเสื่อมเสียขัตติยวงศ์
หากจะไปอภิเษกสมรสด้วยกษัตริย์อื่น ด้วยพระโอรสที่เกิดมาจะไม่เป็นอุภโตสุชาติ คือ เกิดจากมารดา
และบิดาดีไม่พร้อมทั้งสองฝ่าย ดีเฉพาะบิดาฝ่ายเดียว จึงได้อภิเษกสมรสด้วยเจ้าหญิงทั้ง ๔ ผู้เป็นกนิฏฐภคินี
ยกขึ้นเป็นอัครมเหสีสืบราชสันตติวงศ์

ต่อมาพระเจ้าอุกกากะราช ทรงตรัสถามข่าวถึงพระโอรสและพระธิดาด้วยความเป็นห่วง
อำมาตย์ได้กราบทูลพฤติการณ์ของพระโอรสทั้งหลายให้ทรงทราบ พระองค์ทรงได้ปราโมทย์
ตรัสสรรเสริญพระโอรสทั้งหลายว่า เป็นผู้สามารถดี ด้วยคำว่า สักกะ แปลว่า อาจ ด้วยพระวาจานี้
ได้ถือเป็นมงคลนิมิตของกษัตริย์นครกบิลพัสดุ์ว่า ศากยะ ดังนั้นกษัตริย์วงศ์นี้ จึงมีนามว่า  ศากยวงศ์ 
ดำรงขัตติยสกุลสืบมา

ฝ่ายพระเชฏฐภคินี เจ้าหญิงผู้พี่นั้น ได้อภิเษกสมสู่ด้วยพระเจ้ากรุงเทวทหะ
ตั้งวงศ์กษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง เรียกว่า โกลิยวงศ์ ดำรงขัตติยสกุลสืบมา

กษัตริย์ศากยสกุลในพระนครกบิลพัสดุ์ สืบเชื้อสายจำเนียรกาลลงมาโดยลำดับ ถึงพระเจ้าชยเสนะ
ทรงครองราช พระองค์ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระนามว่า สีหหนุ พระราชบุตรีพระองค์หนึ่ง
พระนามว่า ยโสธรา ครั้นพระเจ้าชยเสนะทิวงคตแล้ว สีหหนุกุมารผู้เป็นรัชทายาท ก็ทรงสืบศากยวงศ์
ได้ทรงขอพระนางกาญจนาพระกนิฏฐภคินีของพระเจ้าอัญชนะ กษัตริย์แห่งนครเทวทหะ มาเป็นพระมเหสี
มีพระราชบุตรพระราชบุตรี แต่พระนางกาญจนาเทวี ๗ พระองค์ เป็นชาย ๕ พระองค์ คือ สุทโธทนะ ๑
สุกโกทนะ ๑ อมิโตทนะ ๑ โธโตทนะ ๑ ฆมิโตทนะ ๑ เป็นหญิง ๒ พระองค์ คือ ปมิตา ๑ อมิตา ๑

พระเจ้าอัญชนะกษัตริย์แห่งนครเทวทหะ ก็ได้ทูลขอพระนางยโสธรา พระกนิฏฐภคินี
ของพระเจ้าสีหหนุไปเป็นมเหสี มีพระราชบุตรพระราชบุตรี ๔ พระองค์ เป็นชาย ๒ พระองค์ คือ
สุปปพุทธะ ๑ ทัณฑปาณิ ๑ เป็นหญิง ๒ พระองค์ คือ มายา ๑ ปชาบดี ๑ พระองค์หลังนี้เรียกว่า โคตมี บ้าง

ต่อมาพระเจ้าสีหหนุได้ทูลขอพระนางมายา พระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ แห่งเทวทหะนคร
ให้เป็นพระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบุตรองค์ใหญ่ ทรงประกอบพระราชพิธีมงคลอภิเษกสมรส
ในงานครั้งนี้เป็นการใหญ่ ณ ปราสาทโกกนุท ที่อโศกอุทยาน พระนครเทวทหะ
ครั้นพระเจ้าสีหหนุทิวงคตแล้ว สุทโธทนะราชกุมาร ก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบศากยวงศ์ต่อมา

ที่มา http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/

 กลับสู่หน้าหลัก