ทรงระลึกถึงเสียงพิณ

ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธราชทรงทราบข้อปริวิตกของพระมหาบุรุษดังนั้น
จึงทรงซึ่งพิณทิพย์สามสายมาดีดถวายพระมหาบุรุษ สายหนึ่งตึงนัก พอดีดไปหน่อยก็ขาด
สายหนึ่งหย่อนนัก ดีดเข้าก็ไม่บันลือเสียง อีกสายหนึ่ง ไม่ตึงไม่หย่อนพอปานกลาง
ดีดเข้าก็บันลือเสียงไพเราะเจริญใจ 

พระมหาบุรุษได้สดับเสียงพิณทรงหวลระลึกถึง พิณที่เคยทรงมาแต่ก่อน
ก็ทรงตระหนักแน่ ถือเอาเป็นนิมิต ทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่า ทุกกรกิริยามิใช่ทางตรัสรู้แน่
ทางแห่งพระโพธิญาณที่ควรแก่การตรัสรู้ ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา บำเพ็ญเพียรทางจิต
ปฏิบัติปานกลาง ไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก จึงใคร่จะทรงตั้งปณิธานทำความเพียรทางจิต



ทรงเห็นว่าความเพียรทางจิตเช่นนั้น คนซูบผอมหากำลังมิได้เช่นอาตมานี้
ย่อมไม่สามารถจะทำได้ จำจะหยุดพักกินอาหารข้น คือ ข้าวสุก ขนมสด ให้มีกำลังดีก่อน
ครั้นตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็กลับเสวยพระอาหารตามเดิม

อนึ่ง การที่พระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยา เปลี่ยนมาทำความเพียรทางจิตนั้น
โดยทรงดำริเปรียบเทียบอุปมา ๓ ข้อ ซึ่งพระองค์ไม่เคยสดับ ไม่เคยดำริมาก่อนเลย
ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งว่า

สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งมีกายไม่ได้หลีกออกจากกาม
และมีความพอใจรักใคร่ในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น
แม้ได้เสวยทุกเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อน ที่เกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้
เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง บุคคลแช่ไว้ในน้ำ บุรุษมีความต้องการด้วยไฟ ถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้า
ด้วยหวังจะให้เกิดไฟ บุรุษนั้นก็ไม่อาจให้ไฟเกิดขึ้นได้ ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า
เพราะไม้นั้นยังสดมียางอยู่ ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ

อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว
แต่ยังมีความรักใคร่พอใจในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น
แม้ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้
เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง แม้ห่างไกลจากน้ำ บุคคลตั้งไว้บนบก บุรุษก็ไม่อาจสีให้เกิดไฟได้
ถ้าสีเข้า ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นแม้ตั้งอยู่บนบกแล้ว แต่ยังเป็นของสดชุ่มด้วยยาง

อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายหลีกออกจากกามแล้ว
และละความใคร่ในกาม ให้สงบระงับดีแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น
อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี แม้ไม่ได้เสวยเลยก็ดี ก็ควรจะตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้งที่ไกลจากน้ำ
บุคคลวางไว้บนบก บุรุษอาจสีให้เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นของแห้ง ทั้งตั้งอยู่บนบก

อุปมาทั้ง ๓ ข้อนี้ ได้เป็นกำลังสนับสนุนพระหฤทัยให้พระมหาบุรุษทรงมั่นหมาย
ในการทำความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางให้พระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณโดยแน่แท้

ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ภิกษุ ผู้มีความนิยมในทุกกรกิริยา พากันเฝ้าบำรุงพระมหาบุรุษอยู่
เมื่อเห็นพระมหาบุรุษทำความเพียรในทุกกรกิริยาอย่างตึงเครียด เกินกว่าสามัญชนจะทำได้เช่นนั้น
ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใส มั่นใจว่าพระมหาบุรุษจะต้องได้ตรัสรู้โดยฉับพลัน
และพระองค์จะได้ทรงเมตตาประทานธรรมเทศนาโปรดตนให้ตรัสรู้บ้าง

แต่ครั้นเห็นพระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยาที่ประพฤติแล้ว และเห็นร่วมกันว่า
บัดนี้ พระองค์คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว
จึงเบื่อหน่ายในการที่จะปฏิบัติบำรุงต่อไป ด้วยเห็นว่าพระองค์คงจะไม่อาจบรรลุธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง
จึงพากันหลีกไปเสียจากที่นั้นไปอยู่ณป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสี


ที่มา http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/

 กลับสู่หน้าหลัก