เสด็จโปรดพระปัญจวัคคีย์

ต่อนั้น ก็ทรงพระดำริหาคนที่ควรจะได้รับเทศนาครั้งแรก
ได้ทรงปรารภถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ที่พระองค์ได้เคยอยู่อาศัยศึกษาลัทธิของท่านในกาลก่อน
ว่า ท่านทั้งสองนี้มีปัญญา ทั้งมีกิเลสเบาบาง สามารถจะรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน แต่ท่านทั้งสอง
ได้สิ้นชีพเสียแล้วก่อนหน้า ๗ ราตรี มัจจุ คือความตาย เป็นมาร เป็นภัยต่อคุณอันใหญ่ของท่านทั้งสอง
ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้ฟังธรรมแล้วคงจะได้ตรัสรู้โดยฉับพลันทีเดียว

ภายหลังทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ว่า เป็นผู้มีอุปนิสสัยในอันจะตรัสรู้ธรรม ทั้งมีอุปการะแก่พระองค์มาก
ได้เป็นอุปฐากของพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ครั้นทรงกำหนดแน่ในพระทัยว่า
จะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อน ดังนั้น ครั้นเวลาเช้าแห่งวันจาตุททสี ดิถีขึ้น ๑๔ ค่ำ แห่งอาสาฬหมาส
คือ เดือน ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จดำเนินไปโดยทางที่จะไปยังเมืองพาราณสี
อันเป็นทางระหว่างแห่งแม่น้ำคยา กับแดนมหาโพธิ์ต่อกัน



ทรงพบอาชีวกผู้หนึ่ง มีนามว่า อุปกะ เดินสวนทางมา ฝ่ายอุปกะได้เห็นพระรัศมีฉวีวรรณ
ของพระผู้มีพระภาพงดงามผ่องใส อย่างที่ไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน ก็ประหลาดใจ คิดไปว่า
คนผู้นี้ไฉนหนอจึงมีรัศมีโอภาสงามผุดผ่อง เป็นสง่าน่าเคารพยิ่งนัก จึงเข้าไปใกล้แล้วปราศัยด้วยคารวะเป็นอันดีว่า
ข้าแต่สมณะ อินทรีย์ของท่านผ่องใส บริสุทธิ์ปราศจากราคี ท่านบวชในสำนักไหน
ใครเป็นครูของท่าน ท่านเล่าเรียนปฏิบัติธรรมในสำนักอาจารย์ผู้ใด กรุณาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วย

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า " ดูกร อุปกะ ตถาคตเป็นสยัมภู ตรัสรู้เองด้วยปัญญายิ่ง
ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอน เป็นสัพพัญญู ตรัสรู้ธรรมทั้งมวล ไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรู้ ซึ่งตถาคตไม่รู้
อุปกะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ตถาคตแสดงว่าใครเป็นครูสั่งสอนเล่า"

อุปกะไม่เชื่อ ด้วยไม่มีญาณที่จะหยั่งเห็นตาม ทั้งไม่มีความรู้ที่จะซักถามถึงเหตุอื่นอีกได้
สั่นศีรษะแล้วก็หลีกไปจากที่นั้น ตามสันดานของอาชีวก ที่มีทิฏฐิ ที่มั่นแต่ในลัทธิของตนเท่านั้นว่าถูก
อาจารย์ของตนรู้จริง คนอื่นเปล่า ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จโดยทางนั้นต่อไป
พอเพลาสายัณห์ก็บรรลุถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ขณะนั้น ปัญจวัคคีย์ ฤาษีทั้ง ๕ ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล
จึงกล่าวนัดหมายกันว่า พระสมณะโคดม เลิกละความเพียรในการบำเพ็ญตบะ ในทุกรกิริยา

บัดนี้ มีร่างกายผ่องใสงดงามยิ่งนัก คงจะไม่มีโอกาสได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
เสด็จมา ณ ที่นี้ ชรอยจะมีความรำคาญไม่สบายพระทัย อยู่ไม่ได้โดยลำพังพระองค์เดียว
จึงเที่ยวสืบเสาะแสวงหาเรา ดังนั้น ในบรรดาพวกเรา ใครอย่าทำปัจจุคมต้อนรับ อย่าไหว้อย่ากราบ
อย่ารับบาตรจีวร ปูลาดแต่อาสนะไว้ถวาย ด้วยพระองค์เป็นกษัตริย์ขัตติยตระกูลมหาศาล
หากพระองค์ปรารถนาจะนั่ง ก็จะได้นั่งตามประสงค์ ครั้นทำกติกาสัญญานัดหมายแล้ว
ก็ทำนั่งเพิกเฉยแสดงอาการไม่เคารพ ไม่ยินดีในการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า



แต่ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ ก็บรรดาลให้ปัญญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ลืมกติกาสัญญาที่ทำกันไว้หมด
พากันลุกขึ้นยืนประนตน้อมอัญชลี รับบาตร จีวร บางรูปตักน้ำมาล้างพระยุคลบาท
บางรูปก็ร้องทูลเชิญให้เสด็จประทับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับนั่งแล้ว ปัญจวัคคีย์ได้กล่าวปฏิสันถาร
ถามถึงทุกข์สุขตามวิสัยของคนที่ต่างถิ่นมาไกลได้พบกัน หากแต่ใช้สำนวนต่ำ ๆ ว่า อาวุโส โคตมะ
อันเป็นกิริยาไม่เคารพ ซึ่งไม่เป็นการสมควร

แต่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกว่า " ดูกร ปัญจวัคคีย์ บัดนี้ ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
มาครั้งนี้หวังจะแสดงธรรมแก่เธอทั้ง ๕ เธอจงตั้งใจสดับ และปฏิบัติตามคำของตถาคต
ไม่ช้านานสักเท่าใด ก็จะได้ตรัสรู้ตาม"

ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ กลับคัดค้านว่า "อาวุโส โคตมะ แม้แต่กาลก่อน พระองค์ทรงบำเพ็ญตบะ
ทำทุกรกิริยาด้วยความเพียรอย่างแรงกล้า ก็ยังไม่สำเร็จแก่พระสัมมาสัมโพธิญาณ
แล้วไฉนเลิกละความเพียรเวียนมาเป็นผู้มักมากแล้ว พระองค์จะตรัสรู้พระสัมโพธิญาณได้เล่า"

แม้พระบรมศาสดาจะตรัสเตือนซ้ำอีก ปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ กล่าวโต้แย้งถึง ๓ ครั้ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเตือนด้วยพระกรุณา ให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ หวลระลึกถึงความหลังดูว่า 
" ดูก่อนปัญจวัคคีย์ วาจาที่ไม่ควรเชื่อคำใด ตถาคตเคยกล่าวอยู่บ้างหรือ แม้แต่คำว่า
ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณนี้ ตถาคตเคยกล่าวกะใคร ที่ไหน แต่กาลก่อน"

ด้วยอานุภาพของพระวาจาจริงของพระองค์ เป็นอัศจรรย์ ทำให้พระปัญจวัคคีย์ระลึกเห็นตาม
พากันแน่ใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า คงจะได้ตรัสรู้จริงดังพระวาจา ก็พร้อมกันถวายบังคมพระยุคลบาท
ด้วยคารวะ ขอประทานอภัยโทษที่แสดงอาการไม่เคารพต่อพระองค์ในเบื้องต้นทุกประการ


ที่มา http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/

 กลับสู่หน้าหลัก