ปฐมเทศนา

พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับพักในสำนักปัญจวัคคีย์ ๑ ราตรี
ครั้นวันรุ่งขึ้น เป็นวันปัณณรสี ขึ้น ๑๕ ค่ำ อาสาฬหมาส พระองค์จึงได้ทรงประกาศ
พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ประทานปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ รูปนั้นว่า

" ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่าง บรรพชิตไม่ควรนิยมยินดี คือ กามสุขขัลลิกานุโยค
ทำตนให้พัวพันด้วยสุขในกาม เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุตั้งบ้านตั้งเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา
ไม่ใช่ของพระอริยะ คือผู้บริสุทธิ์ไม่เป็นประโยชน์ นี้อย่าง ๑

อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบาก เป็นทุกข์ ไม่ทำให้เป็นพระอริยะ
ไม่เป็นประโยชน์ นี้อย่าง ๑ ทั้งสองอย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรนิยมยินดี

มัชฌิมาปฏิปทา เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำดวงตา ปรีชาญาณให้สว่างเป็นไปเพื่อความสงบระงับ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ สิ้นตัณหาเครื่องรัดรึง

มัชฌิมาปฏิทา  นั้น เป็นอย่างไร ?
มัชฌิมาปฏิทา  นั้น คือ ทางมีองค์ ๘ ทำผู้ดำเนินให้เป็นอริยะนั้นเอง องค์ ๘  นั้นอะไรบ้าง ?

องค์ ๘  นั้น คือปัญญาความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑
ความเพียรชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑

มัชฌิมาปฏิทานี้แล เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำดวงตา ปรีชาฌาณให้สว่าง
เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

เจาคันธีสถูป สถานที่พระพุทธองค์พบปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้

ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยะบุคคล คือ ความเกิดเป็นทุกข์
ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความแห้งใจ ความรำพัน ความเจ็บไข้ ความเสียใจ ความคับใจ
เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์
ความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์

ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยะบุคคล คือ ตัณหา ความทะยานอยาก
ทำให้มีภพมีชาติ สหรคด้วยความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ

ตัณหา  อะไรบ้าง ?

กามตัณหา  คือ ความทยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่ ๑ ภวตัณหา
คือความทยานอยากในความมีความเป็น ๑ วิภวตัณหา คือ ความทยานอยากในความไม่มีไม่เป็น ๑
ตัณหา ๓ ประการนี้แล เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ทุกขนิโรธ  ความดับทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยะบุคคล คือ ความดับตัณหาทั้ง ๓ นั้นแหละ
หมดสิ้น เป็นอเสสวิราค ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่พัวพัน ซึ่งตัณหานั้นแล เป็นความดับทุกข์

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  ทางเข้าถึงความดับทุกข์นี้ อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยบุคคล
ได้แก่อริยมรรค ทางมีองค์ ๘ นี้แล คือ ปัญญาเห็นชอบ ๑ ดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑
เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑ เป็นทางถึงความดับทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า

ข้อนี้  ทุกข์  ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา และเราก็ได้กำหนดรู้แล้ว
ข้อนี้  ทุกขสมุทัย  เหตุให้ทุกข์เกิด ควรละเสีย และเราได้ละเสียแล้ว
ข้อนี้  ทุกขนิโรธ  ความดับทุกข์ ควรทำให้แจ้งชัด และเราก็ได้ทำให้แจ้งชัดแล้ว
ข้อนี้  ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  ทางเข้าถึงความดับทุกข์ ควรทำให้เกิด และเราก็ได้ทำให้เกิดแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจจ์ ๔ อันมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้
ยังไม่หมดจดเพียงใดแล้ว เราก็ยังไม่อาจยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีความรู้อันใดเหนือเพียงนั้น

เมื่อใด ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจจ์ ๔ เหล่านี้ ของเราหมดจดดีแล้ว
เมื่อนั้น เราอาจยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีความรู้อันใดเหนือ ก็แลปัญญาได้เกิดขึ้นแก่เราชัดว่า
ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ ความเกิดครั้งนี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ ไม่มีความเกิดอีก

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสพระธรรมเทศนาอยู่ ธรรมจักษุ (ได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค์
ท่านผู้ได้ เป็นพระโสดาบัน) คือ ดวงตาอันเห็นธรรม ปราศจากธุลีมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านโกณทัญญะว่า 
" สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา"  พระองค์ทรงทราบว่าท่านโกณทัญญะ
ได้เห็นธรรมแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัยว่า " อัญญาสิ วต โภ โกณทัญโญ ๆ
"  แปลว่า "โกณทัญญะ ได้รู้แล้วหนอ ๆ" พระโกณทัญญะจึงได้คำว่า อัญญา อันเป็นคำนำหน้าพระอุทาน
เพิ่มชื่อข้างหน้า เป็น พระอัญญาโกณทัญญะ ตั้งแต่กาลนั้นมา

เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบลง ให้พระอัญญาโกณทัญญะได้บรรลุโสดาปัตติมรรค
เป็นพระโสดาบันแล้ว และให้บรรดาอเนกนิกรเทพยดาที่มาประชุมฟังธรรมเทศนาอยู่
ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลมากมาย สุดที่จะคนณา

พระโกณทัญญะ จึงได้ทูลขออุปสมบท เป็นภิกษุ ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ด้วยพระวาจาว่า
"ท่านจงเป็นภิกษุ มาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด"
ด้วยพระวาจาเพียงเท่านั้น ก็ได้สำเร็จเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อย่างสมบูรณ์

ด้วยในเวลานั้นยังมิได้ทรงบัญญัติวิธีอุปสมบทเป็นอื่นไว้
ทั้งเพิ่งเป็นการประทานอุปสมบทครั้งแรกในพระศาสนา ฉะนั้น พระอัญญาโกณทัญญะ จึงเป็นพระสงฆ์องค์แรก
เป็นพระอริยะบุคคคลองค์แรก และเป็นพระสาวกองค์แรกในพระศาสนานี้ เป็นอันว่า  พระรัตนตรัย 
คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า ให้เกิดขึ้นบริบูรณ์ ในกาลแต่บัดนั้น

พระบรมศาสดา มีพระพุทธประสงค์จะทรงโปรดพระปัญจวัคคีย์ให้สำเร็จพระอรหัตต์
เพื่อเป็นกำลังในการประกาศพระศาสนาต่อไป จึงเสด็จจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ทรงสั่งสอนบรรพชิตทั้ง ๔ รูปที่เหลืออยู่นั้น ด้วยพระธรรมเทศนาต่าง ๆ ตามสมควรแก่อัธยาศัย
เมื่อท่านวัปปะ แ ละท่านภัททิยะ ได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมอย่างพระอัญญาโกณทัญญะแล้ว
ทูลขออุปสมบท พระศาสดาก็ทรงประทานอุปสมบทแก่ท่านทั้ง ๒ นั้น
เหมือนอย่างประทานแก่พระอัญญาโกณทัญญะ ภายหลังท่านมหานามะ และท่านอัสสชิ ได้ธรรมจักษุ แล้ว
ทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาก็ทรงประทานเหมือนอย่างประทานแก่สาวกทั้ง ๓

ครั้นพระภิกษุปัญจวัคคีย์ ตั้งอยู่ในที่พระสาวกแล้ว มีอินทรีย์ มีศรัทธา เป็นต้น แก่กล้า
สมควรสดับธรรม จำเริญวิปัสสนา เพื่อวิมุติเบื้องสูงแล้ว ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำ แห่งเดือนสาวนะ
คือ เดือน ๙ ซึ่งเท่ากับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ไทย ด้วยสมัยนั้น นับแรมเป็นต้นเดือน นับขึ้นเป็นปลายเดือน
พระศาสดาจึงได้แสดงธรรมสั่งสอน พระปัญจวัคคีย์ด้วย  อนัตตลักขณะสูตร 

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนา แสดงอนัตตลักขณสูตรอยู่ จิตของพระภิกษุปัญจวัคคีย์
ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสเทศนานั้น พ้นแล้วจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ คือ พระสัมพุทธเจ้า ๑ พระอริยะสาวก ๕
คือ พระอัญญาโกณทัญญะ๑ พระวัปปะ ๑ พระภัททิยะ ๑ พระมหานามะ ๑
พระอัสสชิ ๑ รวมเป็น ๖ ด้วยประการฉะนี้


ที่มา http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/

 กลับสู่หน้าหลัก