พระนางเจ้ามายาเสด็จทิวงคต-พระกุมารเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน

ส่วนพระนางมายาเทวี เมื่อประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าล่วงไปได้ ๗ วัน ก็เสด็จทิวงคต
ไปบังเกิดเป็นเทพธิดา สถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณีพระพุทธมารดา
พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้มอบการบำรุงรักษาพระสิทธัตถะกุมาร ให้เป็นภาระแก่พระนางปชาบดี โคตมี
พระเจ้าน้า ซึ่งก็เป็นพระมเหษีของพระองค์ด้วย แม้พระนางปชาบดี โคตมี
ก็ทรงมีพระเมตตารักใคร่พระกุมารเป็นที่ยิ่ง เอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงพระกุมารเป็นอย่างดี

แม้ต่อมาพระนางเจ้าจะทรงมีพระโอรสถึง ๒ พระองค์
คือ นันทกุมาร และรูปนันทากุมารี ก็ทรงมอบภาระให้แก่พี่เลี้ยงนางนมบำรุงรักษา
ส่วนพระนางเจ้าทรงเป็นธุระบำรุงพระสิทธัตถะกุมารด้วยพระองค์เอง



ต่อมาวันหนึ่ง เป็นวันพระราชพิธีวัปปมงคล งานแรกนาขวัญ
พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปทรงแรกนาขวัญ ในงานพระราชพิธีนั้น ก็โปรดเกล้าให้เชิญพระกุมาร
ไปในงานพระราชพิธีนั้นด้วย ครั้นเสด็จถึงภูมิสถานที่แรกนาขวัญ ก็โปรดให้จัดร่มไม้หว้า
ซึ่งหนาแน่นด้วยกิ่งใบ อันอยู่ใกล้สถานที่นั้น เป็นที่ประทับของพระกุมาร
โดยแวดวงด้วยม่านอันงามวิจิตร ครั้นถึงเวลาพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงไถแรกนา

บรรดาพระพี่เลี้ยงนางนมที่เฝ้าถวายบำรุงรักษาพระกุมาร พากันหลีกออกมาดูพิธีนั้นเสียหมด
คงปล่อยให้พระกุมารประทับ ณ ภายใต้ร่มไม้หว้าพระองค์เดียว

เมื่อพระกุมารเสด็จอยู่พระองค์เดียว ได้ความสงัดเป็นสุข
ก็ทรงนั่งขัดสมาธิเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังปฐมฌานให้บังเกิด
ในเวลานั้นเป็นเวลาบ่าย เงาแห่งต้นไม้ทั้งหลาย ย่อมชายไปตามแสงตะวันทั้งสิ้น
แต่เงาไม้หว้านั้นดำรงทรงรูปปรากฏเป็นปริมณฑลตรงอยู่ดุจเวลาตะวันเที่ยง เป็นมหัศจรรย์

เมื่อนางนมพี่เลี้ยงทั้งหลายกลับมา เห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นก็พลันพิศวง
จึงรีบไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะราช ๆ ได้ทรงสดับก็เสด็จมาโดยเร็ว ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์
เป็นมหัศจรรย์เช่นนั้น ก็ยกพระหัตถ์ถวายอภิวันทนาการ ออกพระโอฐดำรัสว่า

เมื่อวันเชิญมาให้ถวายนมัสการพระกาฬเทวิลดาบส ก็ทรงทำปาฏิหาริย์ขึ้นไปยืนบนชฏาพระดาบส
อาตมะก็ประณตครั้งหนึ่งแล้ว และครั้งนี้อาตมะก็ถวายอัญชลีเป็นวาระที่สอง
ตรัสแล้วให้เชิญพระกุมารเสด็จคืนเข้าพระนคร ด้วยความเบิกบานพระทัย

ครั้นจำเนียรกาลมา พระสิทธัตถกุมารเจริญพระชนมพรรษาได้ ๗ ขวบ
พระราชบิดาจึงโปรดให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระ ปลูกปทุมบัวหลวงสระ ๑ ปลูกปุณฑริกบัวขาวสระ ๑
ปลูกอุบลบัวขาบสระ ๑ จัดให้มีเรือพายพร้อมสรรพ เพื่อให้พระกุมารและบริวารน้อย ๆ
ทรงเล่นเป็นที่สำราญพระทัย กับทรงจัดเครื่องทรง คือจันทน์สำหรับทา ผ้าโผกพระเศียร ฉลองพระองค์
ผ้าทรงสะพัก พระภูษา ล้วนเป็นของมาแต่แคว้นกาสี ซึ่งนิยมว่าเป็นของประณีต ของดี ในเวลานั้นทั้งสิ้น
มีคนคอยกั้นเศวตฉัตร (คือพระกลดขาว ซึ่งนับว่าเป็นของสูง) ทั้งกลางวันกลางคืน
เพื่อจะมิให้เย็นร้อนธุลีละออง แดด น้ำค้าง มาถูกต้องพระกายได้

เมื่อพระสิทธัตถะกุมารมีพระชนม์เจริญ ควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว
พระราชบิดาจึงทรงพาไปมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร พระกุมารทรงเรียนได้ว่องไว
จนสิ้นความรู้ของอาจารย์สิ้นเชิง ต่อมาได้ทรงแสดงศิลปธนู ซึ่งถือว่าเป็นวิชาสำคัญสำหรับกษัตริย์
ในท่ามกลางขัตติยวงศ์ศากยราช และเสนามุขอำมาตย์ แสดงความแกล้วกล้าสามารถเป็นเยี่ยม
ไม่มีผู้ใดเทียมถึง ให้ปรากฏเป็นอัศจรรย์

    

ครั้นพระกุมารมีพระชันษาได้ ๑๖ ปี ควรมีพระเทวีได้แล้ว พระราชบิดาตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ หลัง
คือ วัมยปราสาท ๑ สุรัมยปราสาท ๑ สุภปราสาท ๑ เพื่อเป็นที่เสด็จประทับอยู่ของพระราชโอรส
ใน ๓ ฤดูกาล คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ตกแต่งปราสาท ๓ หลังนั้นงดงามสมพระเกียรติ
เป็นที่สบายในฤดูนั้น ๆแล้วตรัสขอ  พระนางยโสธรา  แต่นิยมเรียกว่า พระนางพิมพา
พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ ในเทวทหนคร อันประสูติแต่พระนางอมิตา
พระกนิฏฐภคินีของพระองค์ มาอภิเษกเป็นพระชายา

พระสิทธัตถะกุมารเสด็จอยู่บนปราสาททั้ง ๓ หลังนั้น ตามฤดูทั้ง ๓ บำเรอด้วยดนตรีล้วน
แต่สตรีประโคมขับ ไม่มีบุรุษเจือปน เสวยสุขสมบัติทั้งกลางวันกลางคืน จนพระชนม์ได้ ๒๙ ปี
มีพระโอรสประสูติแต่นางยโสธราพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า  ราหุลกุมาร


ที่มา http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/

 กลับสู่หน้าหลัก