พระสิทธัตถะกุมารทอดพระเนตรเทวทูต

พระสิทธัตถะบริบูรณ์ด้วยความสุขตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนทรงพระเจริญวัยเห็นปานนี้
ก็เพราะเป็นพระราชโอรสสุขุมาลชาติ ยิ่งพระราชบิดาและพระญาติวงศ์
ได้ทรงฟังคำทำนายของอสิตดาบส และพราหมณ์ทั้ง ๘ นาย ว่ามีคติเป็นสอง

คือจะต้องประสบอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าอยู่ครองสมบัติ จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
ถ้าออกบรรพชาจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก
ก็จำเป็นอยู่เองที่พระองค์จะปรารถนาให้พระกุมารอยู่ครองสมบัติ มากกว่าที่จะยอมให้ออกบรรพชา
จึงต้องคิดอุบายรักษาผูกพันพระกุมารไว้ให้เพลินเพลินในกามสุขอย่างนี้


วันหนึ่ง พระสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน โดยรถพระที่นั่ง
ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ซึ่งเทพยดานิรมิต
ให้ทอดพระเนตรในระยะทาง ทรงเบื่อหน่ายในกามสุข ตั้งต้นแต่ได้ทรงเห็นคนแก่ เป็นลำดับไป

ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน ไม่ล่วงพ้นไปได้
เป็นอย่างนั้น เพราะโทษที่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ เห็นผู้อื่นแก่ เจ็บ ตาย
ย่อมเบื่อหน่ายเกลียดชัง ไม่คิดถึงตัวว่า จะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้าง เมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค
และในชีวิต เหมือนหนึ่งเป็นคนจะไม่ต้องแก่ เจ็บ ตาย มีแต่ขวนขวายหาของอันมีสภาวะเช่นนั้น
ไม่คิดอุบายเครื่องพ้นบ้างเลย ถึงพระองค์ก็มีอย่างนั้นเป็นธรรม แต่จะเกลียดเบื่อหน่ายเหมือนอย่างเขา
ไม่สมควรแก่พระองค์เลย

เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงบันเทาความเมา ๓ ประการ คือ  เมาในวัย เมาในความไม่มีโรค
และเมาในชีวิตกับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติเสียได้ จึงทรงดำริต่อไปว่า  ธรรมดาสภาวะทั้งปวง
ย่อมมีของที่เป็นข้าศึกแก่กัน เช่นมีร้อน ก็มีเย็นแก้ มีมืด ก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีอุบาย
แก้ทุกข์ ๓ อย่างนั้นได้บ้างกระมัง ก็แต่ว่า การที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข ์ ๓ อย่างนั้น
เป็นการยากอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในฆราวาสวิสัย จะแสวงหาไม่ได้

เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบนัก และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำใจให้เศร้าหมอง
เหตุความรัก ความชัง ความหลง ดุจเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้ 
ทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ

ครั้นทรงแน่พระทัยว่า เป็นอุบายให้แสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นได้เช่นนั้น
ก็ทรงโสมนัส เสด็จกลับพระราชวังในเวลาเย็น ด้วยพระเกียรติยศอันสูง
เสด็จขึ้นประทับที่มุขปราสาทชั้นบน


ที่มา http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/

 กลับสู่หน้าหลัก