ปุตตมังสสูตร

[ ๒๔๐ ] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! อาหาร ๔ อย่าง
เพื่อความดำรงอยู่ ของสัตว์โลก ที่เกิดมาแล้ว
หรือเพื่ออนุเคราะห์ แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหา ที่เกิด

อาหาร ๔ อย่างนั้น คือ
๑ . กวฬีการาหาร หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
๒ . ผัสสาหาร
๓ . มโนสัญเจตนาหาร
๔ . วิญญาณาหาร

ภิกษุทั้งหลาย ! อาหาร ๔ อย่าง เหล่านี้แล
เพื่อดำรงอยู่ แห่งสัตว์โลก ที่เกิดมาแล้ว
หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่ เหล่าสัตว์ผู้แสวงหา ที่เกิด ฯ














 

[ ๒๔๑ ] ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
ก็กวฬีการาหาร จะพึงเห็นได้ อย่างไร?

ภิกษุทั้งหลาย ! เหมือนอย่างว่า
ภรรยาสามี ๒ คน ถือเอาสะเบียงเดินทางเล็กน้อย
แล้วออกเดินไปสู่ทางกันดาร เขาทั้งสองมีบุตรน้อยๆ น่ารักน่าพอใจอยู่คนหนึ่ง

เมื่อขณะทั้งสองคน กำลังเดินไปในทางกันดารอยู่
เสบียงเดินทาง ที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้น ได้หมดสิ้นไป
แต่ทางกันดารนั้น ยังเหลืออยู่
เขาทั้งสอง ยังข้ามพ้นไปไม่ได้
ครั้งนั้น เขาทั้งสองคน คิดตกลงกัน อย่างนี้ ว่า

เสบียงเดินทาง ของเราทั้งสองอันใดแล มีอยู่เล็กน้อย
เสบียงเดินทางอันนั้น ก็ได้หมดสิ้นไปแล้ว
แต่ทางกันดารนี้ยังเหลืออยู่ เรายังข้ามพ้นไป ไม่ได้

อย่ากระนั้นเลย เราสองคนมาช่วยกันฆ่าบุตรน้อยๆคนเดียว
ผู้น่ารัก น่าพอใจ คนนี้เสีย ทำให้เป็นเนื้อเค็ม และเนื้อย่าง

เมื่อได้บริโภคเนื้อบุตร จะได้พากันเดินข้ามพ้นทางกันดาร
ที่ยังเหลืออยู่นั้น ถ้าไม่เช่นนั้น เราทั้งสามคน ต้องพากันพินาศหมดแน่

ครั้งนั้น ภรรยาสามีทั้งสองคนนั้น
ก็ฆ่าบุตรน้อยๆ คนเดียวผู้น่ารัก น่าพอใจนั้นเสีย
ทำให้เป็นเนื้อเค็ม และเนื้อย่าง
เมื่อบริโภคเนื้อบุตรเสร็จ ก็พากันเดินข้ามทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น

เขาทั้งสองคน รับประทานเนื้อบุตร พลางค่อนอก พลางรำพันว่า
ลูกชายน้อยๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย
ลูกชายน้อยๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย ดังนี้

เธอทั้งหลาย ! จะเข้าใจความข้อนั้น เป็นอย่างไร ?
คือว่า เขาได้บริโภคเนื้อบุตร ที่เป็นอาหารเพื่อ
ความคะนอง หรือเพื่อความมัวเมา หรือเพื่อความตบแต่ง
หรือเพื่อความประดับประดา ร่างกาย ใช่ไหม ?

ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า
จึงตรัสต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้น เขาพากันรับประทานเนื้อบุตร
เป็นอาหารเพียงเพื่อข้ามพ้นทางกันดาร ใช่ไหม

ใช่ พระเจ้าข้า
พระองค์จึงตรัสว่า ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า
บุคคล ควรเห็นกวฬีการาหารว่า [ เปรียบด้วยเนื้อบุตร ] ก็ฉันนั้น

เหมือนกันแล
เมื่ออริยสาวก กำหนดรู้ กวฬีการาหาร ได้แล้ว
ก็เป็นอันกำหนดรู้ ความยินดี ซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ ความยินดี ซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ ได้แล้ว
สังโยชน์ อันเป็นเครื่องชักนำ อริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีก ก็ไม่มี ฯ

[ ๒๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
ก็ ผัสสาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร ?
เหมือนอย่างว่า แม่โคนม ที่ไม่มีหนังหุ้ม
ถ้ายืนพิงฝาอยู่ ก็จะถูกพวกตัวสัตว์อาศัยฝาเจาะกิน
ถ้ายืนพิงต้นไม้อยู่ ก็จะถูก พวกสัตว์ชนิดอาศัยต้นไม้ไชกิน

หากลงไปยืนแช่น้ำอยู่ ก็จะถูก พวกสัตว์ที่อาศัยน้ำตอดและกัดกิน
ถ้ายืนอาศัยอยู่ในที่ว่าง ก็จะถูก มวลสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอากาศเกาะกัดและจิกกิน

เป็นอันว่า แม่โคนมตัวนั้น ที่ไร้หนังหุ้ม
จะไปอาศัยอยู่ในสถานที่ใดๆ ก็ถูกจำพวกสัตว์
ที่อาศัยอยู่ใน สถานที่นั้นๆ กัดกินอยู่ร่ำไป ข้อนี้ ฉันใด

เรากล่าวว่า พึงเห็นผัสสาหาร ฉันนั้น เหมือนกัน
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ ผัสสาหาร ได้แล้ว
ก็เป็นอันกำหนด รู้เวทนาทั้งสาม ได้
เมื่ออริยสาวกกำหนด รู้เวทนาทั้งสาม ได้แล้ว
เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใด ที่อริยสาวก พึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ อีกแล้ว ฯ

[๒๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
ก็มโนสัญเจตนาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร?

เหมือนอย่างว่า
มีหลุมถ่านเพลิงอยู่แห่งหนึ่ง ลึกมากกว่าชั่วบุรุษ
เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน
ครั้งนั้น มีบุรุษคนหนึ่ง อยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย
รักสุข เกลียดทุกข์ เดินมา บุรุษสองคนมี
กำลังจับเขาที่แขนข้างละคนคร่าไปสู่หลุมถ่านเพลิง

ทันใดนั้นเอง เขามีเจตนาปรารถนาตั้งใจ
อยากจะให้ไกล จากหลุมถ่านเพลิง ข้อนั้น เพราะเหตุไร?
เพราะเขารู้ว่า ถ้าเขาจักตกหลุมถ่านเพลิง นี้
ก็จักต้องตาย หรือถึงทุกข์แทบตาย ข้อนี้ฉันใด
เรากล่าวว่า พึงเห็น มโนสัญเจตนาหาร ฉันนั้น

เหมือนกัน เมื่ออริยสาวก กำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว
ก็เป็นอันกำหนด รู้ ตัณหาทั้งสามได้แล้ว
เมื่ออริยสาวก กำหนด รู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว
เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใด ที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว ฯ

[๒๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
ก็ วิญญาณาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร?
เหมือนอย่างว่า พวกเจ้าหน้าที่จับโจรผู้กระทำผิดได้แล้ว
แสดงแก่พระราชาว่า ขอเดชะ ด้วยโจรผู้นี้กระทำผิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
จงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ลงโทษโจรผู้นี้ ตามที่ทรงเห็นสมควรเถิด
จึงมีพระกระแสรับสั่ง อย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ
จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเช้านี้
เจ้าหน้าที่เหล่านั้น ก็ช่วยประหารนักโทษคนนั้น
ด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเช้า

ต่อมาเป็นเวลาเที่ยงวัน
พระราชา ทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้น อย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้น เป็นอย่างไรบ้าง
เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เขายังมีชีวิตอยู่ ตามเดิม


จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ
จงช่วยกันประหารมัน เสียด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเที่ยงวัน
เจ้าหน้าที่เหล่านั้น ก็ประหารนักโทษคนนั้น
เสียด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเที่ยงวัน

ต่อมาเป็นเวลาเย็น
พระราชา ทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้น อีกอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้น เป็นอย่างไรบ้าง
เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม

จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ
จงประหารมัน เสียด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเย็น
เจ้าหน้าที่คนนั้น ก็ประหารนักโทษคนนั้น ด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเย็น


ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย ยังเข้าใจความข้อนั้น เป็นไฉน ?

คือว่า เมื่อเขากำลังถูกประหาร ด้วยหอกร้อยเล่ม ตลอดวันอยู่นั้น
จะพึงได้เสวยแต่ทุกข์โทมนัส ซึ่งมีการประหาร นั้นเป็นเหตุเท่านั้น มิใช่หรือ


ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอก แม้เล่มเดียว

ก็พึงเสวยความทุกข์โทมนัส ซึ่งมีการประหารนั้น เป็นเหตุ
แต่จะกล่าวไปไย ถึงเมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่
ด้วยหอกสามร้อยเล่มเล่า ข้อนี้ ฉันใด

เรากล่าวว่า จะพึงเห็นวิญญาณาหาร ฉันนั้น เหมือนกัน

เมื่ออริยสาวก กำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้ว
ก็เป็นอันกำหนดรู้ นามรูป ได้แล้ว
เมื่ออริยสาวก มากำหนดรู้ นามรูป ได้แล้ว
เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกจะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว ฯ

จบสูตร

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย ) เล่มที่ ๑๖
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
หน้าที่ ๙๖ / ๒๘๘ หัวข้อที่ ๒๓๘ - ๒๔๐

ที่ตั้งแห่งสังโยชน์