กสิภารทวาชสูตร

[ ๒๙๗ ] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พราหมณคามชื่อเอกนาฬาในทักขิณาคิรีชนบท
แคว้นมคธ ก็สมัยนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์ประกอบไถประมาณ ๕๐๐ ในเวลาเป็นที่หว่าน
พืช ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไป
ยังที่การงานของกสิภารทวาชพราหมณ์ ก็สมัยนั้นแล การเลี้ยงดูของกสิภารทวาชพราหมณ์กำลัง
เป็นไปลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปถึงที่เลี้ยงดู ครั้นแล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่
ควรส่วนข้างหนึ่ง กสิภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่เพื่อบิณฑบาต

ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระสมณะ ข้าพระองค์แล ย่อมไถและหว่าน ครั้น
ไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค แม้พระองค์ก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วจงบริโภคเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค ฯ

กสิ . ข้าแต่พระสมณะ ก็ข้าพระองค์ย่อมไม่เห็นแอก ไถ ผาล ปฏักหรือโค ของ
ท่านพระโคดมเลย ก็แลเมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพระโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็
ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค ฯ

ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

[ ๒๙๘ ] พระองค์ย่อมปฏิญาณว่าเป็นชาวนา แต่ข้าพระองค์ไม่เห็นไถของพระองค์
พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอได้โปรดตรัสบอกไถแก่ข้าพระองค์
โดยวิธีที่ข้าพระองค์จะพึงรู้จักไถของพระองค์ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า

ศรัทธา ของเราเป็นพืช
ความเพียร ของเราเป็นฝน
ปัญญา ของเราเป็นแอกและไถ
หิริ ของเราเป็นงอนไถ
ใจ ของเราเป็นเชือก
สติ ของเราเป็นผาลและปฏัก

เราคุ้มครองกายคุ้มครองวาจา สำรวมในอาหารในท้อง
ย่อมกระทำการถอนหญ้า คือ การกล่าวให้พลาดด้วยสัจจะ
ความสงบเสงี่ยมของเราเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลส
ความเพียรของเรานำธุระไปเพื่อธุระนำไปถึงแดนเกษมจากโยคะ
ไม่หวนกลับมาย่อมถึงสถานที่ๆ บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก
การไถนานั้นเราไถแล้วอย่างนี้ การไถนานั้น ย่อมมีผลเป็นอมตะ
บุคคลไถนานั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ฯ

(อถ โข กสิภารทฺวาโช พฺราหฺมโณ ภควนฺตํ คาถาย อชฺฌภาสิ

กสฺสโก ปฏิชานาสิ น จ ปสฺสามิ เต กสึ
กสฺสโก ปุจฺฉิโต พฺรูหิ กถํ ชาเนมุ ตํ กสินฺติ ฯ

สทฺธา พีชํ ตโป วุฏฺฐิ ปญฺญา เม ยุคนงฺคลํ
หิริ อีสา มโน โยตฺตํ สติ เม ผาลปาจนํ
กายคุตฺโต วจีคุตฺโต อาหาเร อุทเร ยโต
สจฺจํ กโรมิ นิทฺทานํ โสรจฺจํ เม ปโมจนํ
วิริยํ เม ธุรโธรยฺหํ โยคกฺเขมาธิวาหนํ
คจฺฉติ อนิวตฺตนฺตํ ยตฺถ คนฺตฺวา น โสจติ
เอวเมสา กสี กฏฺฐา สา โหติ อมตปฺผลา
เอตํ กสึ กสิตฺวาน สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจตีติ ฯ
ภุญฺชตุ ภวํ โคตโม กสฺสโก ภวํ ยญฺหิ ภวํ โคตโม อมตปฺผลํปิ ๑ กสตีติ ฯ )

[ ๒๙๙ ] ลำดับนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสลงในถาดสำริดใหญ่แล้ว
น้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคด้วยกราบทูลว่า ขอท่านพระโคดมเสวยข้าวปายาสเถิด
เพราะพระองค์ท่านเป็นชาวนา ย่อมไถนา อันมีผลไม่ตาย ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า

ดูกรพราหมณ์ เราไม่ควรบริโภคโภชนะที่ขับกล่อมได้มาข้อนี้ไม่ใช่ธรรม
ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้เห็นอยู่โดยชอบพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ย่อมทรงห้ามโภชนะที่ขับกล่อมได้มาดูกรพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่
การแสวงหานี้เป็นความประพฤติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เชิญท่าน
บำรุงพระขีณาสพผู้บริบูรณ์ด้วยคุณทั้งปวง ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้มี
ความคะนองอันสงบแล้ว ด้วยข้าวและน้ำอย่างอื่นเถิด เพราะว่าเขตนั้น
เป็นเขตของบุคคลผู้มุ่งบุญ ฯ

[ ๓๐๐ ] กสิ . ข้าแต่พระโคดม ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพระองค์จะถวายข้าวปายาสนี้แก่ใคร ฯ

พ . ดูกรพราหมณ์ เราย่อมไม่เห็นบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก
ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ผู้บริโภคข้าวปายาสนั้นแล้ว จะพึงให้
ย่อยได้โดยชอบ นอกจากตถาคตหรือสาวกของตถาคตเลย ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจง
ทิ้งข้าวปายาสนั้นเสียในที่ปราศจากของเขียว หรือจงให้จมลงในน้ำซึ่งไม่มีตัวสัตว์เถิด ฯ

ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสนั้นให้จมลงในน้ำอันไม่มีตัวสัตว์ พอข้าว
ปายาสนั้นอันกสิภารทวาชพราหมณ์เทลงในน้ำ ( ก็มีเสียง ) ดังจิจจิฏะ จิฏิจิฏะ เป็นควันกลุ้ม
โดยรอบ เหมือนก้อนเหล็กที่บุคคลเผาให้ร้อนตลอดวัน ทิ้งลงในน้ำ ( มีเสียง ) ดังจิจจิฏะ
จิฏิจิฏะ เป็นควันกลุ้มโดยรอบฉะนั้น ฯ

[ ๓๐๑ ] ลำดับนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์สลดใจ มีขนชูชัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แล้วกราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดม
ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนักท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด
ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญกับทั้งพระธรรม
และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบท
ในสำนักของพระโคดมผู้เจริญเถิด กสิภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ท่านภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว
ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ช้านักก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม
ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง
ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ

จบกสิภารทวาชสูตร ที่ ๔

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๕
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ- ธรรมบท- อุทาน- อิติวุตตกะ- สุตตนิบาต
หน้าที่ ๒๖๓-๒๖๕ หัวข้อที่ ๒๙๗ – ๓๐๑

โยคสูตร สัมปทานสูตร บุคคลเหมือนวลาหก ๔