โยคสูตร

[ ๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โยคะ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ กามโยคะ ๑ ภวโยคะ ๑ ทิฏฐิโยคะ ๑ อวิชชาโยคะ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลายก็กามโยคะเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งกามทั้งหลาย ตามความเป็นจริง
เมื่อเขาไม่รู้ชัดซึ่ง ความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งกามทั้งหลาย ตามความเป็นจริง
ความกำหนัดเพราะกาม ความเพลิดเพลินเพราะกาม ความเยื่อใยเพราะกาม
ความหมกมุ่นเพราะกาม ความกระหายเพราะกาม ความเร่าร้อนเพราะกาม
ความหยั่งลงในกาม และความทะยานอยากเพราะกามในกามทั้งหลาย
ย่อมเกิดขึ้น นี้เราเรียกว่า กามโยคะ กามโยคะเป็นดังนี้

ก็ ภวโยคะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งภพทั้งหลาย ตามความเป็นจริง
เมื่อเขาไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งภพทั้งหลาย ตามความเป็นจริง
ความกำหนัดเพราะภพ ความเพลิดเพลินเพราะภพความเยื่อใยเพราะภพ
ความหมกมุ่นเพราะภพ ความกระหายเพราะภพ ความเร่าร้อนเพราะภพ
ความหยั่งลงในภพ และความทะยานอยากเพราะภพ ในภพทั้งหลาย
ย่อมเกิดขึ้น นี้เราเรียกว่า ภวโยคะ กามโยคะ ภวโยคะ เป็นดังนี้

ก็ ทิฏฐิโยคะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งทิฐิทั้งหลาย
ตามความเป็นจริง เมื่อเขาไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณโทษ
และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งทิฐิทั้งหลาย ตามความเป็นจริง
ความกำหนัดเพราะทิฐิ ความเพลิดเพลินเพราะทิฐิความเยื่อใยเพราะทิฐิ
ความหมกมุ่นเพราะทิฐิ ความกระหายเพราะทิฐิ ความเร่าร้อนเพราะทิฐิ
ความหยั่งลงเพราะทิฐิ และความทะยานอยากเพราะทิฐิ ในทิฐิทั้งหลาย
ย่อมเกิดขึ้น นี้เราเรียกว่า ทิฏฐิโยคะ กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะเป็นดังนี้

ก็อวิชชาโยคะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ประการ
ตามความเป็นจริง เมื่อเขาไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับคุณ โทษ
และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ประการ ตามความเป็นจริง
ความไม่รู้ ความไม่หยั่งรู้ ในผัสสายตนะ ๖ ย่อมเกิดขึ้น นี้เราเรียกว่า อวิชชาโยคะ
กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ และอวิชชาโยคะ เป็นดังนี้

บุคคลผู้ประกอบด้วยอกุศลธรรมอันลามก อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง
เป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก มีชาติ
ชราและมรณะต่อไปอีก ฉะนั้น เราจึงเรียกว่า ผู้ไม่เกษมจากโยคะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย โยคะ ๔ ประการเหล่านี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพรากจากโยคะ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ ความพรากจากกามโยคะ ๑ ความพรากจาก ภวโยคะ ๑
ความพรากจาก ทิฏฐิโยคะ ๑ ความพรากจากอวิชชาโยคะ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความพรากจากกามโยคะเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดความดับ คุณ โทษ
และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งกามทั้งหลาย ตามความเป็นจริง
เมื่อเขารู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งกามทั้งหลาย ตามความเป็นจริง
ความกำหนัดเพราะกาม ความเพลิดเพลินเพราะกาม ความเยื่อใยเพราะกาม
ความหมกมุ่นเพราะกามความกระหายเพราะกาม ความเร่าร้อนเพราะกาม
ความหยั่งลงในกาม ความทะยานอยากเพราะกามในกามทั้งหลาย ย่อมไม่เกิดขึ้น
นี้เราเรียกว่า ความพรากจากกามโยคะ ความพรากจากกามโยคะเป็นดังนี้

ก็ความพรากจาก ภวโยคะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ
คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งภพทั้งหลาย ตามความเป็นจริง
เมื่อเขารู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก
แห่งภพทั้งหลายตามความเป็นจริง ความกำหนัดเพราะภพ ความเพลิดเพลินเพราะภพ
ความเยื่อใยเพราะภพ ความหมกมุ่นเพราะภพ ความกระหายเพราะภพ
ความเร่าร้อนเพราะภพ ความหยั่งลงในภพ และความทะยานอยากเพราะภพ
ในภพทั้งหลายย่อมไม่เกิดขึ้น นี้เราเรียกว่า ความพรากจาก ภวโยคะ
ความพรากจากกามโยคะ ความพรากจาก ภวโยคะ เป็นดังนี้

ก็ความพรากจาก ทิฏฐิโยคะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ
คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งทิฐิทั้งหลาย ตามความเป็นจริง
เมื่อเขารู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก
แห่งทิฐิทั้งหลายตามความเป็นจริง ความกำหนัดเพราะทิฐิ
ความเพลิดเพลินเพราะทิฐิ ความเยื่อใยเพราะทิฐิ ความหมกมุ่นเพราะทิฐิ
ความกระหายเพราะทิฐิ ความเร่าร้อนเพราะทิฐิ ความหยั่งลงในทิฐิ
และความทะยานอยากเพราะทิฐิ ในทิฐิทั้งหลายย่อมไม่เกิดขึ้น
นี้เราเรียกว่า ความพรากจาก ทิฏฐิโยคะ ความพรากจากกามโยคะ
ความพรากจาก ภวโยคะ ความพรากจาก ทิฏฐิโยคะ เป็นดังนี้

ก็ความพรากจากอวิชชาโยคะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ประการ
ตามความเป็นจริง เมื่อเขารู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ประการ ตามความเป็นจริง
ความไม่รู้ ความไม่หยั่งรู้ในผัสสายตนะ ๖ ประการ ย่อมไม่เกิดขึ้น
นี้เราเรียกว่า ความพรากจากอวิชชาโยคะ ความพรากจากกามโยคะ
ความพรากจาก ภวโยคะความพรากจาก ทิฏฐิโยคะ เป็นดังนี้

บุคคลผู้พรากจากอกุศลธรรมอันลามก อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง
เป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก
มีชาติ ชรา และมรณะต่อไปอีก ฉะนั้น เราจึงเรียกว่า ผู้เกษมจากโยคะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพรากจากโยคะ ๔ ประการ นี้แล ฯ

สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยกามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ
และอวิชชาโยคะ ย่อมเป็นผู้มีปรกติถึงชาติและมรณะ
ไปสู่ สงสาร ส่วนสัตว์เหล่าใด กำหนดรู้กามทั้งหลาย
และ ภวโยคะโดยประการทั้งปวง ถอนขึ้นซึ่ง ทิฏฐิโยคะ
และสำรอก อวิชชาเสียได้ สัตว์เหล่านั้นแล
เป็นผู้พรากจากโยคะทั้งปวง เป็นมุนีผู้ล่วงพ้นโยคะเสียได้ ฯ

จบสูตรที่ ๑๐

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
หน้าที่ ๙-๑๑ หัวข้อที่ ๑๐

กสิภารทวาชสูตร สัมปทานสูตร บุคคลเหมือนวลาหก ๔