ความหมายโดยย่อ บทสวดจุลลชัยยปกรณ์ ( จุลลไชย ปกรณ์)
บทสวดพรรณนาชัยชนะของพระพุทธเจ้า เหนือหมู่มารทั้งปวงทั้งล่วงพ้นอำนาจท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔
และเป็นชัยชนะเหนือเทวดาทุกๆ ชั้นทั้งเป็นชัยชนะอมนุษย์ ยักษ์ ภูติผีปีศาจ อาวุธทั้งหลายก็ทำอันตราย
ไม่ได้ทั้งชัยชนะพญานาคราช ทั้งพระจันทร์ พระอาทิตย์ พระอินทร์ พระพรหมทั้งลม และไฟ ก็ทำอันตรายไม่ได้
ขอเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ ๑๘ พระองค์ จงมารักษาทั้งพระฤาษี พระสาวก พระธรรม พระสงฆ์
จงมาอวยชัยขอความสวัสดีมีชัยจงมีแด่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระรัตนตรัยในครั้งนั้น
มารผู้ชั่วช้าได้พ่ายแพ้ต่อพระรัศมีของพระพุทธเจ้า

ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงตรัสรู้เองโดยชอบพระพรหม พระอินทร์ เทวดาทั้งหลาย ผู้มีเดชานุภาพมาก
ทั้งหมู่พญานาค หมู่พญาครุฑผู้มีศักดายิ่งใหญ่ต่างชื่นชมชอบใจในชัยชนะของพระพุทธเจ้า ต่อหมู่มาร ณ โพธิบัลลังก์
เป็นชัยชนะที่เป็นอุดมมงคล ทั้งเป็นฤกษ์ดียามดี และขณะดีที่ได้ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ขององค์สม
เด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขอความสวัสดีมีชัย จงมีแก่ท่านด้วยเดชแห่งคุณพระรัตนตรัย
ขอให้ท่านจงได้รับประโยชน์และความสุขทั้งเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา ขอให้มีอายุยืนยาว
ปรารถนาสิ่งหนึ่งประการใด ขอให้ได้ดังใจประสงค์และปราศจากโรคภัยทั้งหลายทั้งปวง ทั้งห่างไกลความทุกข์
ขอให้ประสบสุขทั้งกายและใจ

บทสวดจุลลชัยยปกรณ์ ( จุลลไชย ปกรณ์)                                                                                                                 
หรือ เรียกว่า  จุลลชัยยมงคลคาถา  หรือ  จุลไชยมงคล  ก็มี  ชัยยมงคลคาถา  ก็มี ส่วนมาก
ในประเทศลาวและท้องถิ่นอีสานนิยมเรียกว่าสวดไชยน้อย  หรือ  ชัยน้อย  ก็เรียก
ว่ากันว่าบทสวดนี้ประพันธ์ในสมัยล้านช้างร่มขาว ประเทศลาว โดยพระมหาปาสมันตระมหาเถร
ว่าด้วยชัยชนะของพุทธเจ้าต่อเทพพรหม ครุฑ นาค ปีสาจ ฯลฯ และอวมงคลทั้งหลาย นิยมสวดเป็นทำนองสำเนียงสองฝั่งโขง

สมัยก่อนใช้เป็นบทสวดคุ้มครองประเทศในยามศึกสงคราม ให้ได้รับชัยชนะแคล้วคลาดจากข้าศึกศัตรู
หรือใช้สวดในงานที่เป็นมงคลต่างๆ 

บทสวดนี้  เป็นบทสวดที่สร้างความสงบร่มเย็น
เป็นมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์มีความหมายที่ดีและเป็นมงคลให้ผู้สวดผ่านพ้นปัญหาต่างๆ
หรืออาจช่วยขจัดปัดเป่าภยันอันตรายจากภัยภิบัติต่างๆได้ ถ้ามีความศรัทธาตั้งมั่นพอ 

( หมายเหตุฉบับนี้และที่สวดกันอยู่ในปัจจุบันนี้และที่มีเผยแพร่อยู่ทั่วไป 
ยังไม่ค่อยตรงตามบาลีเท่าไรมีผิดเพี้ยนบ้างเนื่องจากการทรงจำสืบต่อกันมานานเข้าก็ย่อมมีการคลาดเคลื่อนกันเป็นธรรมดา
และครูบาอาจารย์ก็พาสวดตามกันมาอย่างนี้ ถ้าไม่สวดตามท่านก็ยังไงอยู่ ถ้าไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับบาลีไวยากรณ์มาก่อน
ก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่แต่ ถ้าเคยศึกษามาก็จะรู้ว่าคลาดเคลื่อนตรงใดบ้าง ถ้ามีเวลาหรือมีคนสนใจจะนำมาชี้แจงต่อไป
ส่วนข้างล่างเป็นความหมายของบทสวดนี้เท่านั้นซึ่งมีเผยแพร่อยู่ทั่วไป แต่ยังไม่ได้แปลออกมาทั้งหมด
เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่เคยมีใครหรืออาจมีแต่ก็น้อยนำมาแปลให้หมด ให้ทราบความหมายอย่างชัดเจนทุกตัว 
พระอาจารย์มหาคมกริช สิริจันโท ท่านกล่าวว่าได้ไปเจอบทสวดนี้ในใบลานที่เป็นตัวหนังสืออักษรธรรมโบราณ
เป็นบาลีและก็แปลไปด้วย เป็นสำนวนล้านช้างโบราณ ที่ประเทศลาว ท่านก็เลยได้ทำการ
แปลและคัดลอกจากตัวอักษรธรรมโบราณออกมาเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง ถ้ามีคนสนใจก็จะได้นำออกมาเผยแพร่ต่อไป
เพราะไม่อยากให้บทสวดมนต์ที่มีความหมายดีๆเช่นนี้ศูนย์หายไป)

ที่มา
จุลชัยยะมงคลคาถา เป็นคาถาในหมวดเดียวกับพระคาถามหาชัยยะมงคลคาถา หรือ ไชยใหญ่
และพระคาถาไชยหลวงซึ่งนิยมใช้สวดสาธยายกันในงานมงคลในแถบแว่นแคว้น 2 ฝั่งแม่น้ำโขง
การแพร่หลายของพระคาถานี้ปรากฏโดยทั่วไปในแถบภาคอีสานของไทย และภาคกลางจนถึงภาคเหนือของลาว
จากการสำรวจโดยหอสมุดดิจิตอลหนังสือใบลานลาว พบคัมภีร์ใบลานเกี่ยวกับบทสวดไชยน้อย ไชยใหญ่ หรือไชยหลวงจำนวนหนึ่ง
ทั้งในเมืองหลวงพระบาง นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงคำม่วนทางภาคกลาง และในแขวงไชยบุรี ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ
ซึ่งมีพื้นที่ประชิดกับภาคเหนือของไทย 

ทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของจุลชัยยะมงคลคาถา มีอยู่หลายทฤษฎี ข้อมูลที่แพร่หลายที่สุดในประเทศไทย คือการระบุว่า
พระมหาปาสมันตเถระ พระเถระแห่งอาณาจักรกัมพูชาโบราณ ผู้อุปการะพระเจ้าฟ้างุ้ม มหาราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง
และพระเถรผู้อัญเชิญพระบางและพระไตรปิฎกมายังแผ่นดินลาว คือผู้รจนาพระคาถานี้ ซึ่งหากทฤษฎีนี้เป็นความจริง
พระคาถานี้น่าจะรจนาขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ในช่วงก่อนหรือหลังจากที่พระเถระเดินทางจากกัมพูชา
มาประกาศพระศาสนาในอาณาจักรล้านช้างในปีพ.ศ. 1902

ทั้งนี้ ผู้แต่งจุลไชยปกรณ์ หรือตำนานพระคาถาจุลชัยยะมงคลคาถา ตามทัศนะของ พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ แห่งวัด
วัดไตรสิกขาทลามลตาราม บ้านฝาง ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร คือพระมหาเทพหลวง แห่งนครหลวงพระบาง โดยนำความจากคัมภีร์
สมันตปาสาทิกา  โดยรจนาเป็นภาษาบาลีผสมกับภาษาพื้นเมือง แต่ไม่ปรากฏว่าระบุถึงปีที่รจนาแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการในประเทศลาวบางรายระบุว่า จุลชัยยะมงคลคาถา เป็นผลงานของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือ "ญาคูขี้หอม" โดยท่านมีช่วงชีวิตในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 โดยฝ่ายลาวเรียกพระคาถานี้ว่า "จุลละไชยยะสิทธิมงคลคาถา" หรือ "จุลละไซยะสิททิมุงคุนคาถา" 

ขอบคุณที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/ จุลชัยยะมงคลคาถา

บทสวด จุลลไชยยปกรณ์


บทสวดจุลลไชยยปกรณ์ (แบบที่ ๒)


 กลับสู่หน้าหลัก