พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา

พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา  

ในระหว่างเวลา ๔๕ ปีแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ สถานที่ต่างๆ
ซึ่งท่านได้ประมวลไว้ พร้อมทั้งเหตุการณ์สำคัญบางอย่างอันควรสังเกต ดังนี้
        พรรษาที่ ๑   ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี (โปรดพระเบญจวัคคีย์)
        พ.๒-๓-๔   พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ (ระยะประดิษฐานพระศาสนา เริ่มแต่โปรดพระเจ้าพิมพิสาร ได้อัครสาวก ฯลฯ
เสด็จนครกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ฯลฯ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นอุบาสกถวายพระเชตวัน พรรษาที่ ๓
น่าจะประทับที่พระเชตวัน นครสาวัตถี)
        พ.๕   กูฎาคารในป่ามหาวัน นครเวสาลี (โปรดพุทธบิดาปรินิพพานที่กรุงกบิลพัสดุ์
โปรดพระญาติที่วิวาทเรื่องแม่น้ำโรหิณี มหาปชาบดีผนวช เกิดภิกษุณีสงฆ์)
        พ.๖   มกุลบรรพต (ภายหลังทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่นครสาวัตถี)
        พ.๗   ดาวดึงสเทวโลก (แสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา)
        พ.๘   เภสกลาวัน ใกล้เมืองสุงสุมาคีรี แคว้นภัคคะ (พบนกุลบิดาและนกุลมารดา)
        พ.๙   โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี
        พ.๑๐   ป่าตำบลปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี (ในคราวที่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน)
        พ.๑๑   หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกนาลา
        พ.๑๒   เมืองเวรัญชา
        พ.๑๓   จาลิยบรรพต
        พ.๑๔   พระเชตวัน (พระราหุลอุปสมบทคราวนี้)
        พ.๑๕   นิโครธาราม นครกบิลพัสดุ์
        พ.๑๖   เมืองอาฬวี (ทรมานอาฬวกยักษ์)
        พ.๑๗   พระเวฬุวัน นครราชคฤห์
        พ.๑๘-๑๙   จาลิยบรรพต
        พ.๒๐   พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ โปรดมหาโจรองคุลิมาล, พระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ)
        พ.๒๑-๔๔   ประทับสลับไปมา ณ พระเชตวันกับบุพพาราม พระนครสาวัตถี (รวมทั้งคราวก่อนนี้ด้วย
อรรถกถาว่าพระพุทธเจ้าประทับที่เชตวนาราม ๑๙ พรรษา ณ บุพพาราม ๖ พรรษา)
        พ.๔๕   เวฬุวคาม ใกล้นครเวสาลี

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

" พุทธกิจ ๔๕ พรรษา"

      เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ขณะมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา
ในระหว่างเวลา ๔๕ ปี แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ จวบจนทรงดับขันธปรินิพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษานั้น
พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ สถานที่ต่าง ๆ ซึ่งท่านได้ประมวลไว้
พร้อมทั้งเหตุการณ์สำคัญบางอย่างอันควรสังเกตดังนี้

พรรษาที่ ๑ (ปีระกา)
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี

      ภายหลังจากพระมหาบุรุษตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วพระองค์ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข
คือสุขอันเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลส อาสวะ และปวงทุกข์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เป็นเวลา ๗
สัปดาห์จากนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินจากโพธมณฑล ดำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ
ไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี แคว้นกาสี ใช้เวลาเสด็จพุทธดำเนิน ๑๑ วัน
เสด็จถึงป่าอิสิปตนฤคทายวันใน เวลาเย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘ ปีระกา

      พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา "ธัมมจักรกัปปนวัตตนสูตร" ทำให้เกิดมีปฐมสาวกและพระอริยบุคคลคือ
พระอัญญาโกณฑัญญะเกิดสังฆรัตนะ คำรบพระรัตนตรัย มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขึ้นโดยบริบูรณ์
ในวันเพ็ญเดือน ๘ อันเป็นที่มาขาองการบูชาในเดือน ๘ คือ"อาสฬบูชา"

      พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดปัจจวัคคีย์ ได้บรรลุพระอรหันต์ทั้ง ๕ องค์
จากนั้นทรงแสดงธรรมโปรดพระยสะภิกษุสาวกองค์ที่ ๖ ของพระพุทธเจ้าได้บรรลุพระอรหัตถผล
ครั้งนั้นมีบุตรเศรษฐีชาวเมืองพารณสี ๔ คน ซึ่งเป็นสหายรักของพระยสะ เข้าเฝ้าฟังธรรมได้อุปสมบท ๕๐ คน
ได้สดับธรรมและอุปสมบทได้บรรลุพระอรหัตถผลด้วยกันทั้งหมด จึงเกิดมีพระอรหันต์รวมทั้งพระบรมศาสดาด้วย
๖๑ องค์

      ในตอนปลายพรรษาที่ ๑พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินไปยังดำบลอุรุเวลา ตำบลใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
แคว้นมคธ อีกครั้งหนึ่งทรงทรมานอุรุเวลากัสสปด้วยอิทิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ
จนอุรุเวลกัสสปผู้เป็นคณาจารย์ใหญ่ของนักบวชชฏิล ละทิ้งลัทธิบูชาไฟยอมมอบตัวเป็นพุทธสาวกขอบรรพชา
ทำให้ชลฎิผู้น้องอีกสองคนพร้อมบริวารออกบวชตามด้วยทั้งหมด
ครั้นบวชแล้วได้ฟังเทศนาอาทิตตปริยายสูตรจากพระพุทธเจ้าก็ได้สำเร็จพระอรหัต
ทั้งสามพี่น้องคณาจารย์ชฏิลพร้อมด้วยบริวารทั้งหมดรวมหนึ่งพันองค์
จากนั้นพระบรมศาสดาได้เสด็จสู่พระนครราชคฤห์

พรรษาที่ ๒-๓-๔ (ปีจอ-กุน-ชวด)
ณ พระเวฬุวันวิหาร พระนครราชคฤห์

      พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับจำพรรษา ณ ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่มอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระนครราชคฤห์
พระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์ผู้ครองพระนครและแคว้นมคธ เข้าเฝ้าพร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก
ทรงสดับพระธรรมเทศนา ได้ธรรมจักษุ ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกและถวายพระเวฬุวัน
ซึ่งเป็นป่าไผ่สวนที่ประพาสพักผ่อนของพระเจ้าพิมพิสาร อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล จากพระนครราชคฤห์
นครหลวงของแคว้นมคธ เป็นที่ร่มรื่นเงียบสงบ มีหนทางไปมาสะดวก พระเจ้าพิมพิสารถวายเป็นสังฆาราม
นับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษา ที่ ๒-๓-๔
เป็นลำดับการแห่งการประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นในชมพูทวีป พระบรมศาสดาพร้อมด้วย
พระอรหันต์สาวกทรงทุ่มเทจนพระพุทธศาสนาสามารถสถิตตั้งมั่นหยั่งรากลงลึกและแผ่กิ่งก้านสาขา
ไปสู่ปริมณฑลด้านกว้างในชมพูทวีป

      ในลำดับกาลนี้พระบรมศาสดาได้ทรงตั้งตำแหน่งคู่แห่งอัครสาวกคือ พรสารีบุตรเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องขวา
พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย พระพุทธเจ้าทรงเสด็จนครกบิลพัสดุ์ เป็นครั้งแรกภายหลังจากตรัสรู้
อนาถบิณฑิกเศรษฐีแห่งนครสาวัตถีประกาศตนเป็นอุบาสก และเริ่มต้นสร้างพระเชตวันมหาวิหาร
เพื่อถวายแด่พระบรมศาสดา

พรรษาที่ ๕ (ปีฉลู)
ณ ป่ามหาวัน นครเวสาลี

                                                                                                  

ในพรรษานี้ พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่กูฏาคาร ณ ป่ามหาวัน นครเวสาลี (ไพศาลี)
ในกาลนี้พระองค์ทรงเสด็จจากกูฏาคารไปโปรดพระพุทธบิดาปรินิพานที่กรุงกบิลพัสดุ์
และโปรดพระญาติทั้งฝ่ายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ ที่วิวาทเรื่องแย้งน้ำในแม่น้ำโรหิณี
เพื่อการเกษตรกรรม โดยประทับที่นิโครธารามอันเป็นพระอารามที่พระญาติทรงสร้างถวาย
อยู่ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระน้านางของพระพุทธเจ้าได้เข้าเฝ้าทูลอนุญาต
ให้สตรีละเรือนออกบวชในพระธรรมวินัย พระบรมศาสดาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง

      ต่อมาพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์กลับไปประทับจำพรรษาที่กูฏาคาร
ป่ามหาวัน นครเวสาลี ครั้นนี้พระนางมหาปชาบดีโคตรมี ถึงกับปลงผมนุ่งผ้ากาสวะเอง
ออกเดินทางพร้อมด้วยเจ้าหญิงศากยะ ๕๐๐ องค์มายังป่ามหาวัน ณ ที่นี้ พระบรมศาสดาทรงอนุญาต
ให้มีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยประทานอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตรมี
บวชเป็นภิกษุณีด้วยวิธีรับคุรุธรรม ๘ ประการ ส่วนเจ้าหญิงศากยะที่ตามมาทั้งหมด
พระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์อุปสมบทให้

พรรษาที่ ๖ (ปีขาล)
ณ มกุลบรรพต

      ในพรรษานี้พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่มกุลพรรพต
(สันนิษฐานว่า ภูเขานี้อยู่ในแคว้นมคธหรือแคว้นโกศล หรือบริเวณใกล้เคียง)
แต่ใน "ปฐมสมโพธิกถา" ระบุว่า "เสด็จไปสถิตบนมกุฎบรรพตทรงทรมานหมู่อสุร เทวดา
และมนุษย์ให้ละเสียพยศอันร้ายแล้วและให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

      ในพรรษาที่ ๖ นี้ พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่นครสาวัตถีคือ
การแสดงน้ำคู่กับไฟ เพื่อสยบพวกเดียรถีย์นักบวชนอกศาสนาพุทธ ในที่สุดแห่งยมกปาฏิหาริย์
ธรรมาภิสมัยได้มีแก่พุทธบริษัทเพราะได้เห็นและได้ฟังธรรมเทศนาเป็นอเนก

พรรษาที่ ๗ (ปีเถาะ)
ณ ดาวดึงส์เทวโลก

      เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์เสร็จสิ้นแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จขึ้นเทวพิภพชั้นดาวดึงส์
ทันทีโดยทรงยกพระบาทขวาขึ้นจากจงกรมแก้วก้าวขึ้นเหยียบยอดภูเขายุคันธร แล้วยกพระบาทซ้าย
ก้าวขึ้นเหยียบยอดเขาสิเนรุ ทรงประทับนั่งบนบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ภายใต้ร่มไม้ปาริชาต
ท้าวสักกะเทวราชจอมภพผู้ปกครองดาวดึงส์เทวโลกสวรรค์ชั้นที่ ๒ ป่าสวรรค์ ๖ ชั้น
เสด็จขึ้นสู่สุสิตเทวพิภพสวรรค์ชั้นที่ ๔ เข้าเฝ้าพระมหามายาเทพเจ้าผู้เป็นพระพุทธมารดา
ทูลอัญเชิญให้เสด็จไปเผ้าพระบรมศาสดาตามพุทธประสงค์

      พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาตลอดสามเดือนเทพยาดาในโลกธาตุ
ที่มาประชุมฟังธรรมอยู่ที่นั้นบรรลุมรรคผลสุดที่จะประมาณ ส่วนพระมหามายาเทพเจ้าผู้เป็นพระพุทธมาดา
ได้ทรงบรรลุพระโสดาปัตติผลสมพระประสงค์ของพระบรมศาสดา

พรรษาที่ ๘ (ปีมะโรง)
ณ เภสกลาวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคีรี

      เมื่อพระพุทธเจ้า ทรงเปิดโลกเสด็จลีลาลงจาดาวดึงส์สวรรค์ในท่ามกลางเทพยาดาและพรหมเป็นอันมาก
มหาชนทั้งหลายต่างแซ่ซ้องสาธุการเสียงสนั่นหวั่นไหว พระบรมศาสดาทรงเสด็จดำเนินสูป่าไม่สีเสียด
ใกล้เมืองสุงสุมารคีรี แคว้นภัคคะ ทรงประทับจำพรรษาที่ ๘ ณ ป่าไม้สีเสียดเภสกลาวัน

      ในกาลนั้นมีสองสามีภรรยาคฤหบดีชาวเมืองสุงสุมารคีรี มีนามว่านุกุลบิดา และนกุลมารดา
เข้าเฝ้าพร้อมกับชาวเมืองคนอื่น ๆ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดทั้งสองสามีภรรยาได้บรรลุธรรม
เป็นพระโสดาบัน ท่านนกุลบิดาได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสก
ผู้สนิทสนมคุ้นเคย ส่วนท่านนกุลมารดาก็เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาผู้สนิทสนมคุ้นเคย

พรรษาที่ ๙ (ปีมะเส็ง)
ณ วัดโฆษิตาราม เมืองโกสัมพี

      ในพรรษที่ ๙ นี้ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่วัดโฆษิตารามซึ่งเป็นวัดสำคัญในกรุงโกสัมพี
นครหลวงของแคว้นวังสะ พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมโปรดประชากรให้ตั้งอยู่ในมรรคผล
เป็นพุทธมามกะ ปฏิญาณตนตั้งอยู่ในพระรัตนตรัยเป็นจำนวนมาก

      แต่ในกาลนั้น ภิกษุสงฆ์ในเมืองโกสัมพีเกิดแตกแยกกันแม้พระพุทธเจ้าประทานโอวาทแล้ว
ก็ยังดื้อดึงตกลงกันไม่ได้ จนถึงกับแบ่งแยกกันทำอุโบสถ ฝ่ายหนึ่งทำอุโบสถทำสังฆกรรมภายในสีมา
แต่อีกฝ่ายหนึ่งออกไปทำอุโบสถทำสังฆกรรมภายนอกสีมา ภิกษุสงฆ์ได้เกิดการแตกแยกกันขั้นนี้เรียกว่า "สังฆเภท"

พรรษาที่ ๑๐ (ปีมะเมีย)
ณ ป่ารักขิตวัน ตำบลปาริเลยยกะ

      พระพุทธเจ้าทรงปลีกพระองค์จากหมู่สงฆ์ผู้แตกแยกสร้างความวุ่นวายด้วยเหตุสังฆเภท
พระบรมศาสดาเสด็จจากวัดโฆษิตาราม กรุงโกสัมพี เสด็จไปยังแดนบ้านแห่งหนึ่งชื่อ "ปาริเลยยกะ"
อยู่ใกล้กรุงโกสัมพี พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปประทับ ณ ร่มไม้ภัทรสาละพฤกษ์ในป่ารักขิตวัน
ตำบลปาริเลยยกะ ทรงประทับจำพรรษาที่ ๑๐ ด้วยความสงบสุข โดยมีพญาช้างปาริเลยยกะคอยบำรุงดูแล
พิทักษ์และรับใช้พระบรมศาสดาอย่างใกล้ชิด

พรรษาที่ ๑๑ (ปีมะแม)
ณ ทักขิณาคีรี หมู่บ้านพราหมณ์เอกนาลา

      ในพรรษาที่ ๑๑ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษา ณ ทักขิณาคีรี หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อว่า เอกนาลา

พรรษาที่ ๑๒ (ปีวอก)
ณ เมืองเวรัญชา

      ในพรรษาที่ ๑๒ นี้ พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ปุจิมัณฑมูล ณ ควงไม้สะเดา ที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต
อยู่ใกล้เมืองเวรัญชา จากนั้นเสด็จออกจากเมืองเวรัญชา จาริกผ่านเมืองโสเรยยะ ผ่านเมืองท่าปยาคะ
เสด็จออกจากเมืองโสเรยยะ ผ่านเมืองท่าปยาคะ เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาที่ท่าเมืองปยาคะ
แล้วเสด็จไปยังเมืองพาราณสี จากนั้นเสด็จจาริกไปนครเวสาลี เข้าประทับที่กูฏิบัติสำหรับพระภิกษุเป็นประถม
กำหนดเป็นปฐมบัญญัติจัดเข้าในอุเทศแห่งพระปาฏิโมกข์ในพระพุทธศาสนา

พรรษาที่ ๑๓ (ปีระกา)
ณ จาลิยบรรพต

      ในพรรษที่ ๑๓ นี้ พระพุทธทรงประทับจำพรรษาที่จาลิยบรรพต

พรรษาที่ ๑๔ (ปีจอ)
ณ พระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี

      ในพรรษานี้พระพุทธเจ้าทรงประทับที่พระเชตะวันมหาวิหาร เป็นพรรษาแรก
มหาวิหารแห่งนี้อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้เป็นมหาอุบาสกคนสำคัญสร้างถวาย เป็นมหาวิหารที่ใหญ่โต
ยังความสะดวกและความสงบได้ยิ่งกว่าวิหารใดในชมพูทวีป พระพุทธเจ้าทรงประทับพรรษาอยู่
ณ มหาวิหารแห่งนี้ถึง ๑๙ ฤดูฝน พระธรรมส่วนใหญ่แสดงที่มหาวิหารแห่งนี้

พรรษาที่ ๑๕ (ปีกุน)
ณ นิโครธาราม นครกบิลพัสดุ์

      ในพรรษาที่ ๑๕ นี้ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่นิโครธาราม อารามที่พระญาติสร้างถวาย
อยู่ใกล้นรกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของแคว้นสักกะหรือศากยะ ที่ได้ว่า "กบิลพัสดุ์" เพราะเดิมเป็นที่อยู่ของกบิลดาบส
ซึ่งเดิมอยู่ในดงไม้สักกะ หิมพานต์ประเทศ พระราชบุตรและพระราชบุตรี ของพระเจ้าโอกการาช
พากันไปสร้างพระนครใหม่ในที่อยู่ของกบิลดาบส จึงขนานนามว่า "กบิลพัสดุ์" แปลว่า ที่อยู่หรือที่ดินของกบิลดาบส

พรรษาที่ ๑๖ (ปีชวด)
ณ อัคคาฬวเจดีย์วิหาร เมืองอาฬวี

      ในพรรษาที่ ๑๖ นี้ พระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองอาฬวี ทรงแสดงพุทธอิทธานุภาพปราบฤทธิ์เดช
ของอาฬวกยักษ์ ทรงพยากรณ์แก้ปัญหา ที่อาฬวกยักษ์ทูลถาม ทำให้อาฬวกยักษ์เกิดปัญญาเห็นแจ้ง
ในธรรมสิ้นความโหดร้าย ตั้งอยู่ในภูมิโสดาปัตติผลมอบตนลงเป็นทาสพระรัตนตรัยตั้งมั่น
อยู่ในอริยธรรม ทรงช่วยให้ประชากรชาวเมืองอาฬวีตั้งอยู่ในกัลยาณธรรมให้เป็นสมาบัติ
ปลุกให้เกิดความเมตตาปรานีกันทั่วหน้า

พรรษาที่ ๑๗ (ปีฉลู)
ณ พระเวฬุวันวิหาร พระนครราชคฤห์

      ในพรรษาที่ ๑๗ นี้ พระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปประทับจำพรรษา ณ พระเวฬุวันวิหาร
พระนครราชคฤห์ อันเป็น สังฆารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง

พรรษาที่ ๑๘-๑๙(ปีขาล-เถาะ)
ณ จาลิยบรรพต

      ในพรรษาที่ ๑๘ และพรรษาที่ ๑๙ นี้ พระพุทธเจ้าทรงเสด็จกลับไปประทับจำพรรษา
ณ จาลิตบรรพต ซึ่งพระบรมศาสดาเคยประทับจำพรรษามาแล้วในพรรษาที่ ๑๓

พรรษาที่ ๒๐ (ปีมะโรง)
ณ พระเวฬุวันวิหาร พระนครราชคฤห์

      ในพรรษานี่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จกลับมาประทับจำพรรษา ณ สังฆารามแห่งแรกนี้
เป็นการประทับจำพรรษาสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ณ พระเวฬุวันวิหาร
พระบรมศาสดาทรงโปรดองคุลิมาลโจรให้กลับใจได้ขอบวชและต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัต
ในลำดับกาลพรรษานี้ พระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำพระองค์พระพุทธเจ้า

พรรษาที่ ๒๑ - พรรษาที่ ๔๔
ณ พระเชตวันและบุพพาราม นครสาวัตถี

      นับจากพรรษาที่ ๒๑ ถึงพรรษาที่ ๔๔ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษา ณ พระนครสาวัตถี
เป็นระยะเวลานานที่สุด พระบรมศาสดาทรงประทับจำพรรษา ณ พระเชตวันมหาวิหาร ๑๙ ฤดูฝน
(ในพรรษาที่ ๑๔ ทรงประทับจำพรรษาที่พระเชตวันมาแล้ว ๑ พรรษา) อีก ๖ ฤดูฝนเปลี่ยนไปประทับ
ณ วิหารบุพพาราม ที่นางวิสาขา มิคารมารดามหาอุบาสิกาสำคัญสร้างถวายอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
กับมหาเชตวันโดยประทับสลับไปมา แต่มีคำอธิบายอีกนัยหนึ่งว่า เวลากลางวันประทับ ณ วิหารแห่งหนึ่ง
และกลางคืนเสด็จไปแสดงธรรม ณ วิหารอีกแห่งหนึ่งเป็นสถานที่ประทับอันนับ
เนื่องด้วยชีวิตการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้าตลอด ๒๔ ฤดูฝน

พรรษาที่ ๔๕ (ปีมะเส็ง)
ณ เวฬุวคาม ใกล้นครเวสาลี

      ในพรรษาสุดท้ายนี้ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ที่ตำบล เวฬุวคาม ใกล้นครเวสาลี
แคว้นวัชชี พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์เป็นครั้งสุดท้ายและทรงปลงอายุสังขาร
ในวันเพ็ญ เดือน ๓ ณ ปาวาลเจดีย์ ว่าพระตถาคตจักปรินิพพานแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน

      ในการต่อมา พระบรมศาสดาทรงพาพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ เสด็จไปในครเวสาลี เสด็จประทับอยู่ที่กูฏาคาร
ในป่ามหาวัน ทรงพระกรุณาประทานพระธรรมเทศนาโปรดมวลกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย
จากนั้นทรงพาระภิกษุสงฆ์เสด็จออกจากพระนคร เสด็จประทับยืนอยู่หน้าเมืองเสาลี เยื้องพระกายผินพระพักตร์
มาทอดพระเนตรเมืองเวสาลีประหนึ่งว่าทรงอาลัยเมืองเวสาลีเป็นที่สุด พร้อมกับรับสั่งกับพระอานนท์
ผู้ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าความว่า 

     " อานนท์ การเห็นเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้ เป็นปัจฉิมทัศนา" คือเป็นการเห็นครั้งสุดท้าย
แล้วพระบรมศาสดาเสด็จกลับไปประทับยังกูฏาคารในป่ามหาวัน

      สถานที่เสด็จประทับยืนทอดพระเนตรโดยพระอาการที่แปลกจากเดิมพร้อมทั้งรับสั่งเป็นนิมิตเช่นนั้น
เป็นเจดีย์สถานอันสำคัญเรียกว่า "นาคาวโลกเจดีย์" นาคาวโลก คือ การเหลียวมองอย่างพญาช้าง
มองอย่างข้างเหลียวหลัง คือเหลียวดูโดยหันกายกลับมาทั้งหมด ซึ่งเป็นอาการที่พระพุทธเจ้า
ทรงทำเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว

      ในลำดับกาลต่อมา พระบรมศาสดาทรงเสด็จพาพระภิกษุสงฆ์ออกจากกูฏาคาร เสด็จไปยังบ้านภัณฑุคาม

บ้านหัตถีคาม บ้านอัมพะคาม บ้านชัมพูคาม และโภคนครโดยลำดับ ภายหลังจากแสดงธรรม
โปรดพุทธบริษัทชาวเมืองโภคนคร และ พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังเมืองปาวานคร เสด็จเข้าประทับ
พำนักอยู่ที่อัมพวันสวนมะม่วงของนายจุนกัมมารบุตร ซึ่งอยู่ใกล้เมืองปาวานั้น

      ครั้นนายจุนทะได้ทราบข่าว รีบเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาฟังพระธรรมเทศนาโปรด
นายจุนทะได้กราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้ากับทั้งพระภิกษุสงฆ์ ให้เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตยังนิเวศน์ของตน
ครั้นรุ่งเช้าเมื่อได้เสด็จไปยังนิเวศน์ของนายจุนทะ พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่นายจุนทะว่าสุกรมัททวะ
ซึ่งท่านตกแต่งไว้นั้น จงอังคาสเฉพาะคถาคตผู้เดียวที่เหลือนั้นให้ขุดหลุมฝังเสีย
และจงอังคาสภิกษุสงฆ์ทั้งหลายด้วยอาหารอย่างอื่น ๆ เถิด

      ครั้นกลับสู่อัมพวัน พระบรมศาสดาทรงประชวรพระโรคโลหิตปักขัณทิกาพาธ คือโรคท้องร่วงเป็นโลหิต
มีพระกำลังล้าลงเกิดทุกขเวทนามาก ทรงตรัสสั่งสอนพระอานนท์ว่า "อานนท์ มาเราจะไปเมืองกุสินารา"
พระอานนท์รับพระบัญชาแล้ว จึงรีบแจ้งให้พระสงฆ์ทั้งหลายเตรียมตามเสด็จไว้พร้อม

      ระหว่างทางที่เสด็จไปยังนครกุสินาราพระพุทธเจ้าทรงกระหายน้ำ ตรัสเรียกพระอานนท์ไปตักน้ำ
ในแม่น้าสายเล็กมีน้ำน้อยและกองเวียน ๕๐๐ เล่มเพิ่งผ่านข้ามไป ครั้นพระอานนท์ไปตักน้ำที่ขุ่นข้น
ได้กลับกลายเป็นน้ำใสสะอาดปราศจากมลทิน ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่พระบรมศาสดาทรงขอน้ำเสวย
ในขณะเดินทางยังไม่ถึงที่พัก

      พระพุทธเจ้าทรงเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านข้ามแม่น้ำกกุธานที พระอานนท์ทูลเชิญให้เสวย
และสรงชำระพระกายที่ตรากตรำมาในระยะทาง แล้วเสด็จขึ้นมาประทับยังร่มไม้และเสด็จบรรทม
ลำดับต่อมาพระบรมศาสดาทรงเสด็จพระพุทธดำเนินต่อพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์
ทรงเสด็จดำเนินข้ามแม่น้ำหิรัญวดี อันเป็นแม่น้ำสายสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าเสด็จข้าม
มุ่งสู่สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ

      ในกาลนั้น เป็นเวลาใกล้ค่ำของวันเพ็ญ เดือน ๖ พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา
พระบรมศาสดาทรงรับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดที่บรรทมระหว่างต้นสาละใหญ่ ๒ ต้น
ทรงเอนพระวรกายลงโดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ประทับไสยาสน์ แบบสีหไสยาเป็นอนุฏฐานไสยา
คือการนอนครั้งสุดท้ายไม่แปรเปลี่ยนจนกระทั่งสังขารดับ

ครั้งนั้น ต้นสาละทั้งคู่พลันผลิดอกออกบานเต็มต้น ร่วงหล่นลงมายังพระพุทธสรีระบูชาพระตถาคตเจ้า
เป็นอัศจรรย์ แม้ดอกมณฑาในเมืองสวรรค์ ตลอดจนทิพย์สุคนธชาติก็ตกลงมาจากอากาศ
ยังเทพเจ้าทั้งหลายก็ประโคมดนตรีทิพย์ บันลือลั่นเป็นมหานฤนาท บูชาพระตถาคตในอวสานกาล

      ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
"อานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพาน และหากจะมีภิกษุบางรูปดำริว่า พระศาสนาของเราปรินิพพานแล้ว
อานนท์ ท่านทั้งหลายไม่ควรดำริอย่างนั้นไม่ควรเห็นอย่างนั้น แท้จริง วินัยที่เราได้บัญญัติแก่ท่านทั้งหลายก็ดี
เมื่อเราล่วงไป ธรรมและวินัยนั้น ๆแลจักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย"

      ลำดับต่อมา พระบรมศาสดาได้ประทานปัจฉิมโอวาทความว่า
"ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา
ท่านทั่งหลายจงบำเพ็ญไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"

      เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสพระโอวาทประทาน เป็นวาระสุดท้ายเพียงเท่านี้แล้วก็หยุด
มิได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ โดยอนุโลมลำดับ
จนกระทั่งทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติที่ ๙ จากนั้นทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะ ถอยออกจากสมาบัตินั้น โดยปฏิโลมเป็นลำดับจนถึงปฐมฌาน
ออกจากปฐมฌาน และทรงเข้าทุติยฌาน อีกวาระหนึ่ง ออกจากทุติยฌานแล้วทรงเข้าตติยฌาน
ออกจากตติยฌานแล้วทรงเข้าจตุตถฌาน

      เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จปรินิพาน ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีสาขปรุณมี
เพ็ญ เดือน ๖ มหามงคลสมัย ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว ก็บังเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินไหวสั่น
กลองทิพย์บันลือลั่น กึกก้องสัททสำเนียงเสียงสนั่นในอากาศเป็นมหาโกลาหลในปัจฉิมกาล
ดอกไม้ทิพย์มณฑารพ ดอกไม้ในเมืองสวรรค์ ตกโปรยปรายละลิ่วลงมาจากฟากฟ้า ดาดาษทั่วนครกุสินารา
พร้อมกับขณะเวลาปรินิพพานของสมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นนาถะของโลก



พระพุทธพจน์ ปุจฉา-วิสัชชนา พระสูตร
พระพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน

 

 กลับสู่หน้าหลัก