บทพิจารณาอาการ ๓๒

อัตถิ อิมัสมิง กาเย
๑. เกศา คือผม
อย่าได้ชื่นชม ว่าผมโสภา ทั้งเก้าล้านเส้น ล้วนเป็นอนิจจา อย่าได้โสกาว่าเป็นแก่นสาร

๒. โลมา คือขน
งอกทั่วตัวตน ก็เป็นอนิจจัง ได้เก้าโกฏิเส้น บ่มิเป็นแก่นสาร เวลาถึงกาล

๓. นะขา คือเล็บ
ยาวนักมักเจ็บ ว่าเล็บทั้งหลาย เปื่อยเน่าพุพอง เป็นหนองภายใน ทนทานเอาไว้ ย่อมเป็นกังวล

๔. ทันตา คือฟัน
สามสิบสองอัน ข้างล่างข้างบน งอกขึ้นภายหลัง น่าชังเหลือทน หลุดถอนคลอนหล่น ทนทุกข์เวทนา

๕. ตะโจ คือหนัง
ห่อหุ่มกายัง เท่าผลพุทรา ห่อหุ้มรอบตัว ทั่วทั้งกายา เมื่อม้วยมรณา แร้งกาจิกกิน

๖. มังสัง คือเนื้อ
อย่าได้เอื้อเฟื้อ เนื้อเก้าร้อยชิ้น เน่าหนองกองเกื้อง อยู่เหนือแผ่นดิน แร้งกาจิกกิน เมื่อสิ้นอาสัญ

๗. นะหารู คือเอ็น
เมื่อตัวยังเป็น เอ็นซักไหวหวั่น เอ็นใหญ่เก้าร้อย เอ็นน้อยเก้าพัน รัดรึงตรึงกัน ผูกพันกายา

๘. อัฐิ คือกระดูก  
นั้นพันผูก กระดูกนานา ได้ ๓๐๐ ถ้วน ล้วนเป็นอนิจจา อย่าได้โสกา ว่าเป็นแก่นสาร

๙. อัฏฐิมิญชัง คือเยื่อในกระดูก  
กระดูกนั้นยัง มีเยื่อยึดและยาน หล่อเลี้ยงสังขาร เวลาถึงกาล สาปสูญบรรลัย

๑๐. วักกัง คือม้าม  
อยู่แอบแนบข้าง ริมเนื้อหัวใจ ผู้มีปัญญา จดจำเอาไว้ เร่งคิดให้ได้ ถึงพระอนิจจัง

๑๑. หะทะยัง คือหัวใจ  
พระท่านขานไข ว่าใจนานา ใจขึงใจโกรธ ใจโทษโทสา ใจมารแกล้วกล้า ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย
ใจมักส่อเสียด ใจลวงใจล่อ ให้เขาหลงไหล ใจมือใจมัว หลงตัวจนตาย ใจดำนั้นไซร้ เหมือนสัตว์เดรัจฉาน
ใจร้ายใจพาล จะจมอยู่นาน ในจตุรบาย ใจมักทำบุญ ให้คิดถึงคุณศีลทานทั้งหลาย
ให้แล้วให้เล่า ข้าวน้ำมากมาย จงเร่งขวานขวาย มุ่งหมายทำบุญ ไหว้พระสวดมนต์ กุศลผลบุญ ใจมั่นเจือจุน ด้วยใจศรัทธา  
ใจนั้นสุภาพ ละอายต่อบาป ใจไม่หยาบช้า ซื่อสัตย์มั่นคง จำนงเจรจา หาโทษโทสา ไม่มีแก่ตน
ใจดั่งดวงแก้ว ประเสริฐเลิศแล้ว ส่องโลกโลกา กุศลผลบุญ ทำไว้นานา เราท่านเกิดมา ไม่เป็นแก่นสาร  
ใจถือขันตี เมตตาปราณี ฝูงสัตว์ทั้งหลาย เหนี่ยวเอามรรคผล ให้ถึงพระนิพพาน  
แม้นสิ้นอาสัญ ย่อมพ้นอบาย เราจะขอกล่าว ถึงต่ำลงไป

๑๒. ยะกะนัง คือตับ  
รองรับหัวใจ เป็นพวงแขวนห้อย ย้อยอยู่ข้างใน อย่าได้สงสัย ว่าจะทนทาน

๑๓. กิโลมะกัง คือพังผืด  
หุ้มเนื้อเป็นพืด มองดูแล้วน่าขัน

๑๔. ปิหะกัง คือไต
มีอยู่ข้างใน ร่างกายของตน

๑๕. ปัปผาสัง คือปอด
คิดดูให้ตลอด มันไม่เป็นผล ล้วนเป็นเครื่องเน่าเปล่าในตัวตน มันไม่เป็นผล เหลือล้นโสมม

๑๖. อันตัง คือไส้ใหญ่  
ดุจดังถุงไซร์ ขดไว้ให้กลม สามสิบสองขด ดุจดังหอยขม อย่าได้นิยม เครื่องเน่าภายใน

๑๗. อันตะคุณัง คือไส้น้อย  
ดุจดังสายสร้อย ร้อยพันเข้าไว้ เมื่อกลืนอาหาร เปรี้ยวหวานเข้าไป อยู่ในลำไส้ น่าเกลียดนักหนา

๑๘. อุทะริยัง คืออาหารใหม่  
กัดกินเข้าไป ทุกสิ่งนานา อุตส่าห์กลำกลืน แล้วรากออกมา เร่งคิดอนิจจา ทั่วทั้งกายี

๑๙. กะรีสัง คืออาหารเก่า  
เครื่องสูญสิ้นเปล่า เปื่อยเน่าหมองศรี เป็นมูลขุ่นข้น ทุกคนย่อมมี อยู่ในกายี เครื่องเหม็นภายใน

๒๐. ปิตตัง คือดี  
เขียวคลำดำหมี ดุจดังถ่านไฟ ครั้นสิ้นดับจาก พลัดพรากสูญไป เร่งคิดให้ได้ ถึงพระอนิจจา

๒๑. เสมหัง คือเสลด  
เครื่องน่าสังเวช เสลดนานา ใกล้ม้วยมรณา กลัดกลุ้มหัวใจ

๒๒. ปุปโป คือหนอง  
เน่าเปื่อยพุพอง เป็นหนองภายใน ไม่ถึงครึ่งวัน สาปสูญบรรลัย เร่งคิดให้ได้ ถึงหลักอนิจจา

๒๓. โลหิตัง คือเลือด  
ไหลมาไม่เหือด เลือดทั้งหลาย ยี่สิบทะนาน ซาบซ่านกายา พระท่านพรรณนา ว่าเลือดในตน

๒๔. เสโท คือเหงื่อ  
ไหลมาซาบเนื้อ ทั่วทุกเส้นขน ไหลมาเมื่อร้อย บ่ห่อนทานทน หลบหลีกบ่พ้น ทั่วทั้งชายหญิง

๒๕. เมโท คือมันข้น
แล่นอยู่ในตน แห่งคนทั้งหลาย

๒๖. อัสสุ คือน้ำตา
ไหลมามิวาย เมื่อใกล้จะตาย พลัดพลากจากกัน

๒๗. วะสา คือมันเหลว
ไหลมารวดเร็ว มีมากเหลือใจ

๒๘. เขโฬ คือน้ำลาย  
ไหลซาบซ่านไป ทั่วทั้งไรฟัน

๒๙. สิงฆานิกา คือน้ำมูก
จำไว้ให้ถูก น้ำมูกอนันต์ ยืดยาดเลอะเทอะ เปรอะเปื้อนมหันต์ ไหลออกมาทุกวัน โสโครกเต็มที

๓๐. ละสิกา คือไขข้อ  
มีตามที่ต่อ ทุกทั่วอินทรีย์ หล่อเลี้ยงภายใน ร่างกายของเรานี้ สำหรับกายี เยียดยัดดัดกาย

๓๑. มุตตัง คือน้ำมูตร
เมือใดพิสูจน์ น้ำมูตรในกาย น้ำเค็มน้ำขื่น เหม็นหื่นเหลือใจ เต็มแล้วจึงไข ทุกเมื่อเชื่อวัน

๓๒. มัตถะเก คือหู
สิ่งไม่น่าดู เหมือนหูกะทะ
มัตถะลุงคัง คือตา
ต้องม้วยมรณา อนิจจาดุจกัน
คัณฐี คือน้ำมันสมอง
อยู่ในกระโหลก ศีรษะชะโงก เนื่องสูงกายา เมื่อเป็นไข้หวัด ปวดแสบเหน็บขัด คัดทั่วนาสา
อาการ ๓๒ เนืองนองกันมา ล้วนแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั่วทุกตัวคน อวิชชา คือตัวโง่เขลา
ให้เบาปัญญา พาให้ไม่เห็นผล ปกปิดจิตปุถุชน ทั้งหญิงและชาย ผู้คิดไม่ได้ ย่อมตายเปล่าเอยฯ

บทพิจารณาอาการ ๓๒ (อีกแบบ)

อิมัสมิง กาเย  
1. เกศา คือผม อย่าได้ชื่นชม ว่าผมโสภา  
ทั้งเก้าล้านเส้น ย่อมเป็นอนัตตา ครั้นแก่ชรา...กลับขาวน่าชัง  

2. โลมา คือขน งอกทั่วตัวตน ก็เป็นอนิจจัง  
ได้เก้าโกฏิเส้น ล้วนเป็นอสุภัง น่าเกลียดน่าชัง...อย่าชมว่าดี  

3. นะขา คือเล็บ ถอดหักมักเจ็บ ว่าเล็บกระสี  
ทั้งยี่สิบทัศ วิบัติอัปรีย์ แก่นสารไม่มี...วิปริตสาธารณ์  

4. ทันตา คือฟัน สามสิบสองอัน ใช่แก่นใช่สาร  
คลอนขลุกหงุกหงัก หลุดหักสาธารณ์ ไม่ตั้งอยู่นาน... ควรคิดอนิจจา  

5. ตะโจ คือหนัง เปื่อยเน่าพองพัง ทั่วทั้งกายา  
ถ้าจะม้วนเข้า เท่าลูกพุทรา คนอันธพาลา...นับถือว่าดี  

6. มังสัง คือเนื้อ เปื่อยเน่าบ่มีเหลือ เท่าเส้นเกศี  
ทั้งเก้าร้อยชิ้น ในกายอินทรีย์ ตายแล้วเป็นผี...รังเกียจเกลียดอาย  

7. นะหารู คือเอ็น เก้าร้อยทำเข็ญ เมื่อยขบสารพางค์  
ลุกโอยนั่งโอย รัญจวนครวญคราง ให้โทษทุกอย่าง...อย่าถือว่าดี  

8. อัฐิ กระดูก เส้นรัดมัดผูก สามร้อยท่อนมี  
ล้วนเป็นอนัตตา อย่าชมว่าดี แก่นสารไม่มี...เครื่องถมแผ่นดิน  
หาปัญญาไม่ รักใคร่อาจิณ จะเพิ่มพูนดิน...บ่ได้คิดถึง  
อวิชชาหุ้มห่อ ผูกรัดมัดรึง หลงรักตะบึง...บ่คล้อยถอยหลัง  

9. อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก เพลิงร้อนต้องถูก ละลายไหลหลั่ง  
เหม็นขื่นเหม็นเขียว น่าเกลียดน่าชัง ควรคิดอนิจจัง...ทุกขังอนัตตา  

10. วังกัง คือม้าม แต่ล้วนไม่งาม โสโครกหนักหนา  
เครื่องเปื่อยเครื่องเน่า ถมแผ่นพสุธา ครั้นสิ้นชีวา...แร้งกาแย่งกิน  

11. หะทะยัง หัวใจ ม้ามปกคลุมไว้ ในอกอาจิณ  
สิ้นลมระบาย สุนัขกากิน เครื่องเน่าทั้งสิ้น...ไม่เหลือสักอัน  

12. ยะกะนัง คือตับ เป็นชิ้นประทับ กับหว่างนมนั้น  
กำหนดโดยสี สีแดงแสงฉัน เครื่องเน่าทั้งนั้น...ในกายอินทรีย์  

13. กิโลมะกัง พังผืดนั้นเล่า พระสรรเพชญ์เจ้า กำหนดโดยสี  
เหมือนทุกุลพัสตร์ ที่ผ้าพอดี เก่า ๆ เศร้าสี...มิสู้งามตา  
เป็นเครื่องสาธารณ์ อาหารแร้งกา ควรคิดอนิจจา...อย่าได้ละวาง  

14. ปิหะกัง คือพุง จงตั้งจิตมุ่ง อย่าเหินอย่าห่าง  
เอาเป็นกัมมัฏฐาน อย่าได้ละวาง พุงมีสีอย่าง...ดอกคนทิสอ  
สัณฐานพุงนั้น เหมือนสีโคมอ อาศัยอยู่ต่อ...ที่ท้ายดวงใจ  

15. ปัปผาสัง คือปอด เอาปัญญาสอด ส่องลงภายใน  
ให้เห็นอนิจจัง ประจักษ์แจ่มใส สีปอดนั้นไซร้...แดง ๆ สำราญ  
สามสิบสองชิ้น ติดกันสัณฐาน เหมือนขนมหวาน...ตัดชิ้นเสี้ยว ๆ  

16. อันตัง ไส้ใหญ่ เป็นสายยาวเรียว เป็นขดลดเลี้ยว...ยี่สิบแปดขด  
ไส้ชายกำหนด สามสิบสองศอก ว่ายืดยาวออก...กว่าไส้สตรี  
ไส้หญิงสั้นกว่า สี่ศอกโดยมี กำหนดโดยสี...เหมือนฉาบปูนขาว  
เบื้องบนนั้นยาว ตลอดลำคอ เบื้องต่ำนั้นต่อ...ทวารเบื้องใต้  

17. อันตะคุณัง ไส้น้อยกำหนด รัดขดไส้ใหญ่ บางทีรัดไว้...บางทีโยนยาน  

18. อุทะริยัง คืออาหารใหม่ เข้าอยู่ในไส้ เหมือนไถ้ข้าวสาร  

19. กะรีสัง คืออาหารเก่า ลงเข้าทวาร เหม็นพ้นประมาณ...รังเกียจเกลียดชัง  

20. ปิตตัง คือดี เขียว ๆ โดยสี ดีมีสองอย่าง  
อย่างหนึ่งดีฝัก ซับซาบสารพางค์ ดีทั้งสองอย่าง...อสุจิอสุภัง  

21. เสมหัง เสลดข้น เป็นไขไหลล้น น่าเกลียดน่าชัง  
ท่านผู้บัณฑิต ควรคิดอนิจจัง เสลดนี้ปิดบัง...อยู่บนอาหาร  

22. ปุปโป คือหนอง เกิดแต่พุพอง เปื่อยเน่าทุกประการ  

23. โลหิตัง คือเลือด เหลวไหลซาบซ่าน ทั่วกายทวาร...สีแดงดังชาด  
เลือดข้นนั้นไซร้ พอได้เต็มบาตร เป็นอาโปธาตุ...ชังอยู่ในท้อง  
ทับท่วมหัวใจ ตับไตทั้งผอง พึงระลึกตรึกตรอง...ให้เห็นอนัตตา  

24. เสโท คือเหงื่อ ซาบอยู่ในเนื้อ ทั่วทั้งสรีรา  
ต้องร้อนไหลหลั่ง เทพังออกมา โซมทั่วกายา...น่าเกลียดน่าอาย  

25. เมโท คือมันข้น ซาบอยู่ในตน ทั่วทั้งสารพางค์  
สีเหมือนขมิ้น เหลืองอ่อนจาง ๆ เหม็นสาบเหม็นสาง...โสโครกหนักหนา  

26. อัสสุ น้ำเนตร โทมนัสเป็นเหตุ ไหลหลั่งออกมา  
จากคลองจักษุ ทั้งสองซ้ายขวา เป็นท่อธารา...หยาดย้อยฟูมฟอง  

27. วะสา มันเหลว ต้องร้อนไหลนอง ปลงสติติตรอง...ให้เห็นอนัตตา  

28. เขโฬ น้ำลาย ที่เหลวอยู่ปลาย ประเทศชิวหา  
ข้นอยู่ปลายลิ้น ไหลออกอัตรา เร่งคิดอนิจจา...อย่าหลงว่าดี  

29. สิงฆานิกา น้ำมูก ออกช่องจมูก เห็นน่าบัดสี  
บ้างขังบ้างไหล มิใช่พอดี โสโครกเต็มที...น่าเกลียดน่าอาย  

30. ละสิกา ไขข้อ อยู่ที่ข้อต่อ กระดูกร่างกาย  
เหมือนไขทาเพลา แห่งเกวียนทั้งหลาย อย่าได้มั่นหมาย...ว่าเป็นของดี  
เร่งคิดสังเวช จิตตั้งสังเกต ถึงกายอินทรีย์  
ปัญญาส่องมอง ตามคลองวิถี โดยพระบาลี... ว่าไว้ในสูตร  

31. มุตตัง มูตรเน่า คืออาหารเก่า แบ่งออกเป็นมูตร  
ยิ่งเก่ายิ่งเหม็น ยิ่งเน่ายิ่งบูด รู้ว่าเป็นมูตร...แสยงขนพอง  

32. มัตถะเก มัตถะลุงคัง เยื่อในศีรษะ...คือแป้งสามปั้น  
อยู่ในสมอง  ต้องร้อนเมื่อไร เหลวไหลออกนอง อย่าได้คิดปอง...ว่าเป็นแก่นสารเลยฯ  


ข่าวสารงานบุญอื่นๆ