มะเขือพวง

มะเขือพวง  ( อังกฤษ: Turkey berry;  ชื่อวิทยาศาสตร์: Solanum torvum) เป็นพืชตระกูล มะเขือ  เป็นไม้ข้ามปี มีถิ่นกำเนิดในแถบ รัฐฟลอริดา,  หมู่เกาะเวสต์ อินดีส์,  เม็กซิโก  จนถึง อเมริกากลาง  และ ทวีปอเมริกาใต้ แถบ ประเทศบราซิล  เป็น วัชพืช ขึ้นกระจัดกระจายเกือบทั่วเขตร้อน


มะเขือพวง ใช้ตำผสมลงในน้ำพริกหลายชนิดเช่น   น้ำพริกกะปิ  น้ำพริกขี้กา  ใช้ใส่ในแกงเช่น   แกงเผ็ด  แกงเขียวหวาน  แกงป่า  แกงอ่อม ซุบ กินดิบเป็นผักจิ้ม หรือกินสุกโดยการเผา ปิ้ง ย่างใน ภาษาใต้ จะเรียกว่า "มะเขือเทศ" หรือ "เขือเทศ"


ประโยชน์ของมะเขือพวง


- ในมะเขือพวงมีสารโซลาโซดีน (Solasodine) สามารถช่วยต่อต้านโรคมะเร็งได้

- มะเขือพวง มีสารทอร์โวไซด์ เอ, เอช (Torvoside A, H) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 (Herpes simplex virus type 1)  โดยมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งไวรัสได้มากกว่าอะไซโคลเวียร์ถึง 3 เท่า

- มะเขือพวง มีสารทอร์โวนินบี (Torvonin B) ซึ่งเป็นซาโพนินชนิดหนึ่ง โดยเชื่อว่ามีฤทธิ์ในการขับเสมหะ

- มะเขือพวงมีสารเพกติน (Pectin) ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยสารนี้จะมีหน้าที่ช่วยเคลือบผิวในลำไส้ ทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ช้า จึงช่วยดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง ทำให้ระดับของน้ำตาลในเลือดคงที่ อีกทั้งสารเพกตินในมะเขือพวงยังมีคุณสมบัติช่วยดูดซับไขมันส่วนเกิน และอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต

- สารสกัดจากมะเขือพวงมีผลยับยั้ง Platelet activating factor (PAF) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหอบหืด 

-  ช่วยบำรุงไต ช่วยป้องกันและรักษาอาการเป็นพิษต่อไตที่เกิดจากยาคีโมที่ใช้รักษามะเร็งได้

- มะเขือพวงช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการใช้ยา แอลกอฮอล์ และความเครียด

- มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันความเสื่อมและช่วยชะลอความแก่

- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล

- ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง

ข้อมูลงานวิจัย

1. มะเขือพวงกับการบำรุงไต


มีงานวิจัยในอินเดียในปี 2545 พบว่าสารสกัดมะเขือพวงเมื่อให้ก่อนรับยามีความสามารถป้องกันและรักษาอาการพิษต่อไตที่เกิดจากยาคีโมรักษามะเร็งได้  โดยจากการศึกษานี้จึงสนับสนุนการใช้มะเขือพวงในการบำรุงไตของหลายประเทศ

2. มะเขือพวงกับโรคเบาหวา

มีงานวิจัยที่ศึกษาปฏิกิริยาต้านอนุมูลอิสระของเครื่องดื่มจากมะเขือพวงแห้ง พบว่าน้ำสมุนไพรมะเขือพวงสามารถลดระดับอนุมูลอิสระซูเปอร์ออกไซด์ หรืออนุมูลอิสระไนทริกออกไซด์ในเลือดหนูที่เป็นเบาหวานได้   นอกจากนี้ พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเบาหวานลดลงด้วย

3. มะเขือพวงกับโรคความดันโลหิตสูง และปัญหาเกล็ดเลือด


งานวิจัยที่ประเทศแคเมอรูนพบว่า เมื่อให้สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของผลมะเขือพวงกับหนูทดลอง พบว่าความดันโลหิตของหนูต่ำลง และลดอัตราการเต้นของหัวใจด้วย  

4. มะเขือพวงรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

กลุ่มวิจัยในแคเมอรูนในปี 2551 พบว่า สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของมะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ยา และความเครียด   ส่วนที่ให้ผลดังกล่าวเพราะมีองค์ประกอบเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และไทรเทอร์พีน  ซึ่งผลวิจัยนี้สนับสนุนการใช้งานใบมะเขือพวงของแพทย์พื้นบ้านในประเทศแคเมอรูน

5.  มะเขือพวงต้านอนุมูลอิสระ


งานวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณสารฟีนอลิก รวมสารสกัดแอลกอฮอล์ของผลมะเขือตากแห้งแช่แข็ง 11 ชนิดในประเทศไทยในปี 2551    พบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์จากผลมะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุดจากบรรดามะเขือทุกชนิด

6. มะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านอักเสบ 


งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาในปี 2552 พบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์จากมะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านการผลิตไนตริกออกไซด์ และ TNF-? ในเซลล์มิวรีนมาโครฟาจที่ถูกกระตุ้นด้วยไลโพโพลีแซกคาไรด์ของแบคทีเรียในภาชนะเพาะเลี้ยง  จึงมีฤทธิ์ต้านอักเสบ

นอกจากนี้ งานวิจัยจากสถาบันวิจัยป่าไม้ประเทศมาเลเซียพบว่า สารสกัดผลมะเขือพวงมีผลยับยั้ง platelet activating factor (PAF)  ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหอบหืด การอักเสบเฉียบพลัน ภูมิแพ้และภาวะเลือดแข็งตัวอีกด้วย

สารที่พบ

ในมะเขือพวงพบสารสำคัญ เช่น

1.ทอร์โวไซด์ เอ , เอช  (torvoside A, H) เป็น สตีรอยด์ไกลไซด์ จากผลมะเขือพวง มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส เริม ชนิดที่ 1 (Herpes simplex virus type 1) โดยมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสมากกว่ายา อะไซโคลเวียร์ 3 เท่า

2.ทอร์โวนิน บี  (torvonin B) เป็น ซาโพนิน ชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์ขับ เสมหะ

3. โซลานีน (solanine) เป็นอัลคาลอยด์ สารที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ผู้ป่วยโรคไขข้อควรหลีกเลี่ยง

4. โซลาโซนีน และ โซลามาจีน  (solasonine and solamagine) เป็น ไกลโคซิเลตอัลคาลอยด์ ที่พบร้อยละ ๐.๐๔ ของใบแห้ง ในมะเขือพวงบางสายพันธุ์แถบแคริบเบียน มีปริมาณสารเหล่านี้มาก อาจเกิดอาการของระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทได้

5. โซลาโซดีน (solasodine) เป็นสารที่มีสรรพคุณต้าน โรคมะเร็ง

6. เพกติน  เป็นสารที่ละลายน้ำได้ ช่วยเคลือบที่ผิวของลำไส้ ทำให้ลำไส้ดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลงจึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วย โรคเบาหวาน


หมายเหตุ     ในมะเขือพวงมีสารโซลานีน ( Solanine) ซึ่งเป็นอัลคาลอยด์ ผู้ที่เป็นโรคไขข้อควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เพราะสารนี้อาจจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกายได้

ข้อมูลประกอ
บ :
-www.doctor.or.th ( หมอชาวบ้าน)
-medthai.com
-ผู้จัดการออนไลน
-https://th.wikipedia.org/wiki