การแต่งตั้ง
ปัจจุบันอุปัชฌาย์ในประเทศไทยจะต้องได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้องตาม กฎหมาย ว่าด้วยการคณะสงฆ์
เป็นเองไม่ได้ กล่าวคือ ต้องเป็นพระอุปัชฌาย์ ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 ( พ.ศ. 2536 )
ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์
ปัจจุบันพระอุปัชฌาย์มี ๓ ประเภท อันได้แก่
๑.พระอุปัชฌาย์สามัญ ซึ่งหมายถึง พระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะใหญ่
๒.พระอุปัชฌาย์วิสามัญ ซึ่งหมายถึง พระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราช
๓.พระอุปัชฌาย์ผู้ได้รับตราตั้ง พระอุปัชฌาย์อยู่ก่อนใช้กฎมหาเถรสมาคม
คุณสมบัติพระอุปัชฌาย์
๑.มีตำแหน่งในทางการปกครองชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไป เว้นแต่พระอารามหลวง
๒.มีพรรษาพ้น 10
๓.ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือน
ไม่สมประกอบ หรืออาพาธเป็นโรคติดต่อ เช่นโรคเรื้อน หรือวัณโรคในระยะอันตราย
๔.มีประวัติความประพฤติดี
๕.เป็นที่นับถือของประชาชน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
๖.เป็นเปรียญหรือนักธรรมเอก เว้นแต่ในบางท้องถิ่นซึ่งเจ้าคณะพิจารณาเห็นสมควรผ่อนผัน
๗.มีความสามารถฝึกสอนผู้อยู่ในปกครองให้เป็นพระภิกษุสามเณรที่ดี ตามพระธรรมวินัย
และสามารถบำเพ็ญกรณียกิจอันอยู่ในหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ได้
๘.มีความรู้ความสามารถ ทำอุปสมบทกรรมให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และระเบียบแบบแผนของคณะสงฆ์
เขตความรับผิดชอบในการบรรพชาอุปสมบท
พระอุปัชฌาย์จะให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรได้ภายในเขตที่ระบุไว้ในตราตั้ง
หรือเขตอำนาจที่ตนปกครองอยู่ในปัจจุบัน คือ ถ้าเป็น
๑.เจ้าอาวาส ภายในวัดของตน
๒.เจ้าคณะตำบล ภายในเขตตำบลของตน
๓.เจ้าคณะอำเภอ ภายในเขตอำเภอของตน
๔.เจ้าคณะจังหวัด ภายในเขตจังหวัดของตน
๕.เจ้าคณะภาค ภาคในเขตภาคของตน
๖.เจ้าคณะใหญ่ ภายในเขตหนของตน
๗.พระอุปัชฌาย์ที่ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการมหาเถรสมาคม ไม่จำกัดเขต
จริยาพระอุปัชฌาย์
๑.พระอุปัชฌาย์ ต้องเอื้อเฟื้อ สังวร ประพฤติ ตามพระธรรมวินัย
และกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีของสัทธิวิหาริก
๒.พระอุปัชฌาย์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้
๓.พระอุปัชฌาย์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหรือคำแนะนำชี้แจงของพระสังฆาธิการ
ผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคมนี้
๔.พระอุปัชฌาย์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง มิให้บรรพชาอุปสมบทกรรมวิบัติบกพร่องไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ
การระงับหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์
หน้าที่พระอุปัชฌาย์ต้องระงับในเมื่อ
๑.พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในทางปกครอง และมิได้เป็นกิตติมศักดิ์ในตำแหน่งนั้น ๆ
หรือถูกให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในทางปกครอง
๒.ขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามความในข้อ 8
๓.ถูกเป็นจำเลยในอธิกรณ์ที่มีโทษถึงให้สึก และอยู่ในระหว่างไต่สวนพิจารณาวินิจฉัย
๔.ถูกถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่พระอุปัชฌาย์
|