ชนิดของกฐินในประเทศไทย
ตามพระวินัยแล้ว ไม่ได้จำแนกการทอดกฐิน (การถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์)
ออกเป็นชนิด ๆ ไว้แต่อย่างใด คงกล่าวแต่เพียงในส่วนการทำหรือรับผ้ามากรานกฐินของพระสงฆ์เท่านั้น
แต่หากพิจารณาจากประเพณีที่นิยมปฏิบัติในปัจจุบัน คงพอจำแนกชนิดของการทอดกฐินได้เป็นสองคือ

จุลกฐิน
จุลกฐิน   คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน
โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวร
ให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม
และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐิน ให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง

ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก
เพราะต้องใช้ความอุตสาหพยายามมาก กว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน)
ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ประเพณีการทอดจุลกฐินนี้เป็นประเพณีที่พบเฉพาะใน ประเทศไทย และ ลาว  
ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น สำหรับประเทศไทย
มีหลักฐานว่ามีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า
หน้า ๒๖๘ ว่า "ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) โปรดให้ทำจุลกฐิน" ปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐิน
นิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น โดยอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า "กฐินแล่น"
(จุลกฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก)

กฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน
ให้บุคคลและหน่วยงานรับพระราชทานไปถวายยังพระอารามต่าง ๆ

เค้ามูลของการทำจีวรให้เสร็จในวันเดียว
ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์ อรรถกถา   กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งในคณะสงฆ์
ในวัดพระเชตวันร่วมมือกันทำผ้าไตรจีวรเพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว
โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย
โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวรครั้งนี้ด้วย

สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด
และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้
(เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐิน
แต่ยังไม่มีผู้นำผ้ากฐินมาถวาย) ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน ๑๒ (หมดฤดูกฐิน)
มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่าง ๆ เมื่อเจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐิน
จึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐินให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว
จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชน ในการร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน
(เพราะสมัยก่อนไม่มีผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปสำหรับขาย) การร่วมมือกันจัดทำจุลกฐินดังกล่าว
จึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

มหากฐิน
มหากฐิน   เป็นศัพท์ที่เรียกเพื่อหมายความถึงการทอดกฐินที่มีบริวารกฐินมาก
ไม่ต้องทำโดยเร่งรีบเหมือนจุลกฐิน มหากฐินคือกฐินที่ทอดถวายตามวัดต่าง ๆ
ในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่จะมีการรวบรวมจตุปัจจัยไทยธรรมและสิ่งของต่าง ๆ
เพื่อนำไปเป็นเครื่องประกอบในงานกฐินถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป
(มหากฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก)
โดยมหากฐินนั้นอาจเป็นกฐินที่มีเจ้าภาพเพียงคนเดียวหรือกฐินสามัคคีก็ได้

กฐินหลวง
กฐินหลวง   เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่
เสด็จไปพระราชทานแทน กฐินหลวงนี้จัดเครื่องพระราชทานด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
และบางครั้งมีการจัดพิธีแห่เครื่องกฐินพระราชทานอย่างใหญ่ โดย กระบวนพยุหยาตราชลมารค  
หรือกระบวนพยุหยาตราสถลมารถ แล้วแต่พระราชประสงค์ (ในปัจจุบันคงการเสด็จพระราชดำเนิน
ทรงถวายผ้าพระกฐินอย่างพิธีใหญ่นั้น คงเหลือเพียงโดย กระบวนพยุหยาตราชลมารค เท่านั้น)  

กฐินหลวงในปัจจุบันมีเพียง ๑๖ วัดเท่านั้น เช่น   วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร   วัดบวรนิเวศวิหาร   วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร เป็นต้น

กฐินพระราชทาน
กฐินพระราชทาน   เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์
ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคม หรือเอกชน ให้ไปทอดยังพระอารามหลวงต่าง ๆ
ทั่วราชอาณาจักร (ในปัจจุบันกรมการศาสนารับผิดชอบจัดผ้าพระกฐินและเครื่องกฐินถวาย)


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

กฐินราษฎร์
กฐินราษฎร์   คือกฐินที่ราษฏรหรือประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาจัดถวายผ้ากฐิน
และเครื่องกฐินไปถวายยังวัดราษฎร์ต่าง ๆ โดยอาจแบ่งออกเป็นจุลกฐิน และมหากฐิน (กฐินสามัคคี)
ในปัจจุบันกฐินราษฎร์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า   กฐินสามัคคี   ผู้เป็นประธานหรือเจ้าภาพ
ในการทอดกฐินจะให้ความสำคัญกับการรวบรวม (เรี่ยไร) เงินและสิ่งของ
เพื่อเข้าประกอบเป็นบริวารกฐินมากกว่า เพราะวัดสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์
ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ และเนื่องจากการถวายผ้ากฐินเป็น กาลทาน   จึงทำให้ประเพณี
การทอดกฐินเป็นงานสำคัญประจำปีของวัดต่าง ๆ โดยทั่วไปในประเทศไทย

ทีมา
http://th.wikipedia.org/wiki/กฐิน

คำอุปโลกน์กฐิน , แบบสวดกรรมวาจาให้ผ้ากฐิน, คำอธิษฐานผ้ากฐิน
เกร็ดในงานถวายผ้ากฐินในประเทศไทย
ชนิดของกฐินในประเทศไทย
ประวัติความเป็นมาของกฐิน