น้ำปานะ คือ อะไร

กาลิก   เนื่องด้วยกาล , ขึ้นกับกาล , 
ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด  
จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ

๑.   ยาวกาลิก   รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น
เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ
ยาวกาลิก   ของที่อนุญาตให้ฉันได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ;

๒.   ยามกาลิก   รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่
ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต
ยามกาลิก   ของที่ให้ฉันได้ ชั่วระยะวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ;

๓.   สัตตาหกาลิก   รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน
ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕
สัตตาหกาลิก   ของที่รับประเคนเก็บไว้ ฉันได้ชั่ว ๗ วัน
ได้แก่เภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย

๔.   ยาวชีวิก   รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา
ได้แก่ ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น
( ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)
ยาวชีวิก   ของที่ให้ฉันได้ไม่จำกัดเวลาตลอดชีวิต ;

ปานะ เครื่องดื่ม , น้ำสำหรับดื่ม ที่คั้นจากลูกไม้ (น้ำคั้นผลไม้) จัดเป็นยามกาลิก
ท่านแสดงไว้ ๘ ชนิด คือ
๑. อมฺพปานํ น้ำมะม่วง
๒. ชมฺพุปานํ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
๓. โจจปานํ น้ำกล้วยมีเม็ด
๔. โมจปานํ น้ำกล้วยไม่มีเม็ด
๕. มธุกปานํ น้ำมะทราง (ต้องเจือน้ำจึงจะควร)
๖. มุทฺทิกปานํ น้ำลูกจันทร์หรือองุ่น
๗. สาลุกปานํ น้ำเหง้าอุบล
๘. ผารุสกปานํ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่
นิยมเรียกว่า   อัฏฐบาน   หรือ   น้ำอัฏฐบาน  ( ปานะ ๘ อย่าง)

วิธีทำปานะที่ท่านแนะไว้ คือ ปอกหรือคว้านผลไม้เหล่านี้ที่สุก เอาผ้าห่อ บิดให้ตึงอัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า
เติมน้ำลงให้พอดี (จะไม่เติมน้ำก็ได้เว้นแต่ผลมะทรางซึ่งท่านระบุว่าต้องเจือน้ำจึงควร) แล้วผสมน้ำตาลและเกลือเป็นต้นลงไปพอให้ได้รสดี

ข้อจำกัดที่พึงทราบคือ
๑. ปานะนี้ให้ใช้ของสดห้ามมิให้ต้มด้วยไฟ
( ข้อนี้พระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่าแม้สุกก็ไม่น่ารังเกียจ)
๒. ต้องเป็นของที่อนุปสัมบันทำ จึงควรฉันในเวลาวิกาล
( ถ้าภิกษุทำถือเป็นเหมือนยาวกาลิก เพราะรับประเคนมาทั้งผล)
๓. ของประกอบเช่นน้ำตาลและเกลือ ไม่ให้เอาของที่รับประเคนค้างคืนไว้มาใช้
( แสดงว่ามุ่งให้เป็นปานะที่อนุปสัมบันทำถวายด้วยของของเขาเอง)

เภสัช   ยา , ยารักษาโรค , ยาแก้โรค เป็นอย่างหนึ่งในปัจจัย ๔ ,
เภสัช ๕ ที่เป็นสัตตาหกาลิก รับไว้ฉันได้ตลอด ๗ วัน คือ
๑. สัปปิ เนยใส
๒. นวนีตะ เนยข้น
๓. เตละ น้ำมัน
๔. มธุ น้ำผึ้ง
๕. ผาณิต น้ำอ้อย ;

ส่วนยาแก้โรคที่ทำจากรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ เป็นต้น จัดเป็นยาวชีวิก   คือรับประเคนไว้แล้ว เก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต

เภสัชชขันธกะ   ชื่อขันธกะที่ ๖ แห่งคัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องเภสัชคือ ยาบำบัดโรค ตลอดจนเรื่องยาคู  
อุทิสสมังสะ กัปปิยะอกัปปิยะ และกาลิก ๔

มธุกะ   มะทราง , น้ำคั้นมะทรางเจือน้ำแล้ว เรียกมธุกปานะ เป็นสัตตาหกาลิกอย่างหนึ่ง ;

ประเภทและความหมายของเภสัช

กสาวเภสัช   น้ำฝาดเป็นยา , ยาที่ทำจากน้ำฝาดของพืช เช่น น้ำฝาดของสะเดา น้ำฝาดกระดอม น้ำฝาดบรเพ็ด

ชตุเภสัช   พืชที่มียางเป็นยา , ยาทำจากยางพืช เช่น มหาหิงคุ์ กำยาน เป็นต้น

มูลเภสัช   “ มีรากเป็นยา ” , ยาทำจากรากไม้ เช่น ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ข่า แห้วหมู เป็นต้น

ปัณณเภสัช   พืชมีใบเป็นยา ,
ยาทำจากใบพืช เช่น ใบสะเดา ใบมูกมัน ใบกระดอม ใบกะเพรา เป็นต้น

ผลเภสัช   มีผลเป็นยา , ยาทำจากลูกไม้ เช่น ดีปลี พริก สมอไทย มะขามป้อม เป็นต้น


แถมท้ายด้วยหมวดที่กล่าวอ้างถึง ปานะ และ เภสัช
มหาวรรค ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดที่ ๓ ใน ๕ หมวด แห่งพระวินัยปิฎก คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร ,
มหาวรรค มี ๑๐ ขันธกะ (หมวด ตอน หรือบท) คือ
๑. มหาขันธกะ (ว่าด้วยการบรรพชาอุปสมบท เริ่มแต่เหตุการณ์หลังตรัสรู้ใหม่ๆ และการประดิษฐานพระศาสนา)
๒. อุโปสถขันธกะ (ว่าด้วยอุโบสถและสีมา)
๓. วัสสูปนายิกขันธกะ (ว่าด้วยการเข้าพรรษา)
๔. ปวารณาขันธกะ (ว่าด้วยปวาณา)
๕. จัมมขันธกะ (ว่าด้วยเครื่องหนัง เช่น รองเท้าและเครื่องลาด)
๖. เภสัชชขันธกะ (ว่าด้วยเรื่องยาตลอดจนเรื่องกัปปิยะ อกัปปิยะ และกาลิกทั้ง ๔)
๗. กฐินขันธกะ (ว่าด้วยกฐิน)
๘. จีวรขันธกะ (ว่าด้วยเรื่องจีวร)  
๙. จัมเปยยขันธกะ (ว่าด้วยข้อควรทราบบางอย่างเกี่ยวกับนิคคหกรรมต่างๆ)
๑๐. โกสัมพิกขันธกะ (ว่าด้วยเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี วิวาทกันและสังฆสามัคคี) ;


มหาปเทส   “ ข้อสำหรับอ้างใหญ่ ” (ในทางพระวินัย) หลักอ้างอิงสำหรับเทียบเคียง ๔ คือ
๑. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งเป็นอกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นควร
๒. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร
๓. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นอกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นไม่ควร
๔. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร

กัปปิยะ   สมควร , ควรแก่สมณะบริโภค , ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย
คือพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุให้หรือฉันได้
เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ
แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ
สิ่งที่ไม่เป็นกัปปิยะ เรียกว่า อกัปปิยะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
.........................................................................

 พระพุทธานุญาตน้ำอัฏฐบาน

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำปานะ ๘ ชนิด
คือ น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลหว้า ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑
น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะทราง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือ
องุ่น ๑ น้ำปานะทำด้วยเง่าบัว ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑ .

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะทราง.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด.

[พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๕
พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๙๘ หัวข้อที่ ๘๖]

............................................................................................................................................................................

อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ เภสัชชขันธกะ

พระพุทธานุญาตมหาประเทศ ๔ เป็นต้น

                มหาปเทส ๔               

                เพื่อประโยชน์ที่ภิกษุทั้งหลายจะได้ถือไว้เป็นแบบ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสมหาปเทส (คือ หลักสำหรับอ้างใหญ่) ๔ ข้อเหล่านี้ว่า   ยํ ภิกฺขเว มยา อิทํ น กปฺปติ   เป็นต้น.  
                พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลาย เมื่อถือเอาสูตรสอบสวนดูในมหาปเทสนั้น ได้เห็นความข้อนี้ว่า :-  

                ด้วยพระบาลีว่า   ฐเปตฺวา ธญฺญผลรสํ   นี้ ธัญญชาติ ๗ ชนิดเป็นอันห้ามแล้วว่า ไม่ควรในปัจฉาภัต. มหาผล ๙ อย่าง คือ ผลตาล ผลมะพร้าว ผลขนุน ผลสาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไท แตงโม ฟักทอง เป็นอันทรงห้าม และอปรัณณชาติทุกชนิด มีคติอย่างธัญญชาติเหมือนกัน. มหาผลและอปรัณณชาตินั้น ไม่ได้ทรงห้ามไว้ก็จริง ถึงกระนั้น ย่อมเข้ากับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ , เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรในปัจฉาภัต.  

                น้ำปานะ ๘ อย่าง ทรงอนุญาตไว้ น้ำปานะแห่งผลไม้เล็กมีหวาย มะขาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อและเล็บเหนี่ยวเป็นต้น มีคติอย่างอัฏฐบานแท้ น้ำปานะแห่งผลไม้เหล่านั้น ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ก็จริง. ถึงกระนั้น ย่อมเข้ากับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ เพราะฉะนั้น จึงควร.  
 
               ในกุรุนทีแก้ว่า จริงอยู่ เว้นรสแห่งเมล็ดข้าวกับทั้งสิ่งที่อนุโลมเสียแล้ว ขึ้นชื่อว่านํ้าผลไม้อื่นที่ไม่ควร ย่อมไม่มี น้ำผลไม้ทุกชนิดเป็นยามกาลิกแท้.  

                จีวรพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ ๖ ชนิด. จีวรอื่นอีก ๖ ชนิดที่อนุโลมจีวรเหล่านั้น คือผ้าทุกุละ ผ้าแคว้นปัตตุนนะ ผ้าเมืองจีน ผ้าเมืองแขก ผ้าสำเร็จด้วยฤทธิ์ ผ้าเทวดาให้ พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายอนุญาตแล้ว.  

                บรรดาผ้าเหล่านั้น ผ้าปัตตุนนะนั้นได้แก่ ผ้าที่เกิดด้วยไหมในปัตตุนประเทศ. ผ้า ๒ ชนิด เรียกตามชื่อของประเทศนั่นเอง. ผ้า ๓ ชนิดนั้น อนุโลมผ้าไหม ผ้าทุกุละ อนุโลมผ้าป่าน นอกจากนี้ ๒ ชนิด อนุโลมผ้าฝ่ายหรือผ้าทุกอย่าง.  

                บาตรพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้าม ๑๑ อย่าง อนุญาต ๒ อย่าง คือบาตรเหล็ก บาตรดิน. ภาชนะ ๓ อย่าง คือ ภาชนะเหล็ก ภาชนะดิน ภาชนะทองแดง อนุโลมแก่บาตรนั้นแล.  

                กระติกน้ำ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ ๓ อย่าง คือ กระติกโลหะ กระติกไม้ กระติกผลไม้. ภาชนะน้ำ ๓ อย่าง คือ คนโทน้ำ ขันทองห้าว หม้อตักน้ำ อนุโลมกระติกน้ำ ๓ อย่างนั้นแล. แต่ในกุรุนทีแก้ว่า สังข์สำหรับใส่น้ำฉัน และขันน้ำ อนุโลมแก่กระติกเหล่านั้น.  

                ประคดเอวทรงอนุญาตไว้ ๒ ชนิด คือ ประคดทอเป็นแผ่น ประคด ไส้สุกร ประคดเอวที่ทำด้วยผืนผ้า และด้วยเชือกอนุโลมประคด ๒ ชนิดนั้น  

                ร่มทรงอนุญาตไว้ ๓ ชนิด คือ ร่มขาว ร่มรำแพน ร่มใบไม้ , ร่มใบไม้ใบเดียว อนุโลมตามร่ม ๓ ชนิดนั้นเอง แม้ของอื่นๆ ที่เข้ากับสิ่งที่ควรและไม่ควร ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาดูบาลีและอรรถกถาแล้วทราบตามนัยนี้เถิด.


                ว่าด้วยกาลิกระคนกัน               

                คำว่า   ตทหุปฏิคฺคหิตํ กาเล กปฺปติ   เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอารสที่เจือกันทุกอย่าง. ก็ถ้าน้ำปานะเป็นของที่รับประเคนปนกับมะพร้าวทั้งผล ยังไม่ได้ปอกเปลือก เอามะพร้าวออกเสียแล้ว น้ำปานะนั้นควรแม้ในเวลาวิกาล.  

                พวกทายกถวายข้าวปายาสเย็น วางก้อนสัปปิไว้ข้างบน เนยใสไม่ปนกับข้าวปายาส จะเอาเนยใสนั้นออกไว้ฉัน ๗ วันก็ควร.  
                แม้ในสัตตาหกาลิกที่เหลือ มีน้ำผึ้งและน้ำตาลที่เป็นแท่งเป็นต้นก็นัยนี้แล.  
 
               พวกทายกถวายบิณฑบาต ประดับด้วยกระวานและลูกจันทน์เป็นต้นบ้าง กระวานและลูกจันทน์เป็นต้นนั้น พึงยกออกล้างไว้ฉันได้ตลอดชีวิต ในขิงที่เขาใส่ในยาคูถวายเป็นต้นก็ดี ในชะเอมที่เขาใส่แม้ในน้ำมันเป็นอาทิ แล้วถวายเป็นต้นก็ดี มีนัยเหมือนกันแล.  
 
               กาลิกใดๆ เป็นของมีรสระคนปนกันไม่ได้อย่างนั้น กาลิกนั้นๆ แม้รับประเคนรวมกัน ล้างหรือปอกเสียจนบริสุทธิ์แล้วฉัน ด้วยอำนาจแห่งกาลของกาลิกนั้นๆ ย่อมควร. แต่ถ้ากาลิกใดเป็นของมีรสแทรกกันได้ ปนกันได้ กาลิกนั้นย่อมไม่ควร.  

                จริงอยู่ ยาวกาลิกย่อมชักกาลิกทั้ง ๓ มียามาลิกเป็นต้น ซึ่งมีรสเจือกับตน เข้าสู่สภาพของตน ถึงยามกาลิกก็ชักกาลิกแม้ ๒ มีสัตตาหกาลิกเป็นต้นเข้าสู่สภาพของตน สัตตาหกาลิกเล่า ย่อมชักยาวชีวิกที่ระคนเข้ากับตน เข้าสู่สภาพของตนเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พึงทราบสันนิษฐานว่า ยาวชีวิกที่รับประเคนในวันนั้นก็ดี รับประเคนในวันก่อนๆ ก็ดี ปนกับสัตตาหกาลิกนั้น ซึ่งรับประเคนในวันนั้น ควรเพียง ๗ วัน ปนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนไว้ ๒ วัน ควรเพียง ๖ วัน ปนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนไว้ ๓ วัน ควรเพียง ๕ วัน ปนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนไว้ ๗ วัน ควรในวันนั้นเท่านั้น ก็เพราะเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ยาวชีวิกที่รับประเคนในวันนั้น ปนกับสัตตาหกาลิก ควร ๗ วัน ตรัสว่า ยาวชีวิกที่รับประเคนแล้ว คือปนกับสัตตาหกาลิก ควร ๗ วัน ก็เมื่อกาลิก ๓ นี้ก้าวล่วงกาล ยาม และ ๗ วัน พึงทราบอาบัติด้วยอำนาจวิกาลโภชนสิกขาบท สันนิธิสิกขาบทและเภสัชชสิกขาบท.  
 
               ก็แลในกาลิก ๔ นี้ กาลิก ๒ คือ ยาวกาลิก ๑ ยามกาลิก ๑ นี้เท่านั้นเป็นอันโตวุตถะด้วย เป็นสันนิธิการกะด้วย แต่สัตตาหกาลิกและยาวชีวิก แม้จะเก็บไว้ในอกัปปิยกุฏิ ก็ควร. ทั้งไม่ให้เกิดสันนิธิด้วย ดังนี้แล.  
                คำที่เหลือในที่ทั้งปวงตื้นทั้งนั้นฉะนี้แล.


                อรรถกถาเภสัชชขันธกะ จบ.                
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ เภสัชชขันธกะ พระพุทธานุญาตมหาประเทศ ๔ เป็นต้น จบ

ภูมิชสูตร (เรื่องนม เนย น้ำมัน) ปัญจโครส น้ำปานะ