ปัญจโครสวินิจฉัย

ปัญจโครส แปลว่า รสที่ได้จากโค  
มี ๕ อย่าง คือ
๑.   นมสด
๒.   นมเปรี้ยว
๓.   เปรียง
๔.   เนยใส ( เนยหุง)
๕.   เนยข้น ( เนยสด)
นมสด นมเปรี้ยว และเปรียง จัดเป็นยาวกาลิก (อาหาร) ภิกษุ สามเณร และผู้ถือศีล ๘ ไม่สามารถบริโภคในเวลาวิกาลได้  
ส่วนเนยใสกับเนยข้น จัดเป็นสัตตาหกาลิก ถ้ามีเหตุคือป่วย ก็สามารถบริโภคในเวลาวิกาลได้ ทั้งภิกษุสามารถเก็บไว้ฉันได้ตลอด ๗ วัน
เพราะเหตุที่มีความแตกต่างกันเช่นนี้ จึงควรเข้าใจชัดเจนว่า สิ่งที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น โยเกิร์ต ชีส เป็นต้น ควรจัดเข้าในปัญจโครสข้อใด

คำอธิบายปัญจโครส ( สรุปความจากที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาและข้อมูลสมัยใหม่) :-
นมสด  
ในสมัยก่อนไม่ได้ผ่านการต้ม แต่ปัจจุบันมีการต้มและแยกไขมันบางส่วนออก (ดู วิกิพีเดีย)
นมเปรี้ยว  
นมสดที่ทิ้งไว้จนเปรี้ยว
เปรียง และ เนยข้น (เนยสด)  
เอานมสดที่ทิ้งไว้จนเป็นนมเปรี้ยว มาเทใส่ภาชนะแล้วกวนหรือปั่น พอกวนเสร็จมันจะแบ่งเป็นชั้นน้ำมันกับชั้นของแข็ง (สีขาว) ส่วนน้ำมันก็คือเนยข้น ส่วนที่เหลือเป็นเปรียง (ดู ภูมิชสูตร ม.อุ. , มิลินทปัญหา ตอนรุกอเจตนาภาวปัญหา)
เนยใส (เนยหุง)
เอานมสด นมเปรี้ยว เปรียง หรือเนยข้นมาต้ม เมื่อต้มแล้ว ส่วนที่เป็นน้ำมันด้านบนคือเนยใส (ส่วนที่เหลือน่าจะเป็นเปรียง)
( ดู อรรถกถาเภสัชชสิกขาบท)


โยเกิร์ต  จัดเข้าในนมเปรี้ยว (ส่วนใหญ่เป็นโปรตีนที่ผ่านการแยกไขมันออก)
เนยก้อน ( ที่ใช้แทนน้ำมันพืชในอาหารบางอย่าง) จัดเข้าในเนยใส (เนยใสเป็นน้ำหรือเป็นก้อนก็ได้แล้วแต่อุณหภูมิ)
ชีส  จัดเข้าในเปรียง

หมายเหตุ :- เหตุที่จัดชีสเข้าในเปรียงเพราะมีส่วนประกอบหลักเป็นโปรตีน ต่างจากเนยข้นและเนยใสที่มีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำมัน  
( พระภิกษุสามเณรจึงไม่ควรฉันโยเกิร์ตและชีสในเวลาวิกาล)


ที่มา facebook เครือข่ายรักษาธรรมวินัย

ภูมิชสูตร (เรื่องนม เนย น้ำมัน) ปัญจโครส น้ำปานะ