สัทธิวิหาริก
โดยมี พระสุนทรธรรมากร(หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม
เป็นพระอุปัชฌาย์


พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม

สัทธิวิหาริก-อันเตวาสิก

- คำว่า  “ สัทธิวิหาริก ”  กับ  “ อันเตวาสิก ”  นั้น ผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้วคงจะคุ้นเคยกับสองคำนี้มากกว่าคนทั่วๆ ไป แต่ก็ยังมีหลายท่านที่เข้าใจสับสนกันในระหว่างสองคำนี้   ในหนังสือ “ พูดจาภาษาวัด ” โดย กรมการศาสนา ปี พ.ศ. 2544 และหนังสือ “ คำวัด ” โดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร รวมทั้ง “ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ” โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)   ได้อธิบายความหมายของทั้งสองคำนี้ไว้ว่า...

- “ สัทธิวิหาริก ”  แปลว่า   ผู้อยู่ด้วย   เป็นคำเรียกผู้ที่ได้รับอุปสมบท คือ   ถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์รูปใด ก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์รูปนั้น   ผู้สมัครใจขออุปสมบทต้องปฏิญญาว่ามีศรัทธาเลื่อมใส ขอสมัครอุปสมบทในพระพุทธศาสนา จึงขอมอบตัวเป็นสัทธิวิหาริกในพระอุปัชฌาย์ และเมื่อได้อุปสมบทแล้ว จะเคารพนับถือเชื่อฟัง ตั้งอยู่ในโอวาทของพระอุปัชฌาย์ และจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามพระวินัย ระเบียบแบบแผนของวัด และคณะสงฆ์ตลอดไป   เมื่ออุปสมบทแล้ว พระอุปัชฌาย์จะออกหนังสือสุทธิให้แก่สัทธิวิหาริก พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนไว้ และจัดทำบัญชีสัทธิวิหาริกที่อุปสมบทในปีหนึ่ง ๆ ส่งพระสังฆาธิการผู้บังคับบัญชาตามลำดับ  

-  ที่เรียกว่า   สัทธิวิหาริก   นั้น เพราะพระวินัยกำหนดไว้ว่า ภิกษุผู้บวชใหม่จะต้องถือนิสสัยโดยอยู่กับพระอุปัชฌาย์อย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้พระอุปัชฌาย์อบรมแนะนำสั่งสอนเหมือนบิดาสอนบุตร ภิกษุผู้มีพรรษาพ้น 5 แล้ว ไม่ต้องถือนิสสัยต่อไป เรียกภิกษุนั้นว่า   นิสสัยมุตตกะ  ( ผู้พ้นนิสสัยแล้ว)   ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติ ที่สัทธิวิหาริกพึงกระทำต่อพระอุปัชฌาย์ของตนโดยย่อ คือ เอาใจใส่ ปรนนิบัติรับใช้ คอยศึกษาเล่าเรียนจากท่าน ขวนขวายป้องกันหรือระงับความเสื่อมเสีย   เช่น ความคิดจะสึก ความเห็นผิด เป็นต้น รักษาน้ำใจของท่าน มีความเคารพ จะไปไหนก็บอกลา ไม่เที่ยวตามอำเภอใจ และเอาใจใส่พยาบาลเมื่อท่านอาพาธ เรียกข้อปฏิบัติเหล่านี้ว่า...  “ อุปัชฌายวัตร ” 

ส่วนหน้าที่หรือข้อควรปฏิบัติอันพระอุปัชฌาย์จะพึงกระทำแก่สัทธิวิหาริก   คือ  

1. เอาธุระในการศึกษา  
2. สงเคราะห์ด้วยบาตร จีวร และบริขารอื่น ๆ  
3. ขวนขวาย ป้องกัน หรือระงับความเสื่อมเสีย เช่น ระงับความคิดจะสึก เปลื้องความเห็นผิด ฯลฯ  
4. พยาบาลเมื่ออาพาธ  

****** เรียกข้อปฏิบัติเหล่านี้ว่า  “ สัทธิวิหาริกวัตร ” 

-  สำหรับ  “ อันเตวาสิก ”  แปลว่า   ผู้อยู่ภายใน   ใช้เรียกภิกษุผู้อาศัยอยู่กับอาจารย์ หรือภิกษุผู้มิใช่พระอุปัชฌาย์ของตน   เช่น บวชจากวัดนี้ไปอาศัยอยู่กับอาจารย์อีกวัดหนึ่งเพื่อเล่าเรียน ดังนี้เรียกว่าเป็นอันเตวาสิกของวัดนั้น  

อันเตวาสิก มี ๔ ประเภท   คือ  

1. ปัพพชันเตวาสิก   คือ   อันเตวาสิกในบรรพชา  
2. อุปสัมปทันเตวาสิก   คือ   อันเตวาสิกในอุปสมบท  
3. นิสสยันเตวาสิก   คือ   อันเตวาสิกผู้ถือนิสสัย  
4. ธัมมันเตวาสิก   คือ   อันเตวาสิกผู้เรียนธรรม  

-  ดังนั้น  “ สัทธิวิหาริก ”  จึงคู่กับ  “ อุปัชฌาย์ ”  ส่วน  “ อันเตวาสิก ”  คู่กับ  “ อาจารย์ ” 


พระครูอรุณสุตาภรณ์ พระครูอุดมวรรณคุณ พระครูภาวนาสุตาภรณ์