ตำนาน อาฏานาฏิยปริตร หรือ อาฏานาฏิยสูตร
เนื้อความที่นำมาสวดนั้นมาจากอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งมีเนื้อหาว่า ด้วยรักษาในอาฏานาฏานคร
บรรยายถึงเหตุการณ์การณ์เข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 ผู้ปกครองสวรรค์
ชั้น จาตุมหาราชิกา และผู้ดูแลปกครองยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ และนาค
ที่มา
หากพิจารณาเนื้อหาในอาฏานาฏิยสูตรจะพบว่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแจ้งให้พระบรมศาสดาพุทธ
และบรรดาสาวกในพระพุทธศาสนา ได้ตระหนักว่า ยังมีเหล่ายักษ์ ที่เป็นมิจฉาทิษฐิ ไม่เลื่อมใสในพระธรรม
อันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศไว้ดีแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพื่อเว้นจากฆ่าสัตว์,
ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม, พูดปด, ดิ่มสุราเมรัย พวกยักษ์เหล่านั้นไม่เว้นจากสิ่งเหล่านี้โดยมากจึงไม่ชอบ
ท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 กราบทูลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า หากพระสาวกของพระผู้มีพระภาค
เสพเสนาสนะอันสงัดในป่า อาจถูกยักษ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่เลื่อมใสในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาครบกวน
และทำอันตรายได้ ด้วยเหตุนี้เพื่อคุ้มครองรักษารักษาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4
จึงกราบทูลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงเรียนคาถาบทหนึ่ง เพื่อทำยักษ์เหล่านั้นให้เลื่อมใส
พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ท้าวเวสสวัณจึงกล่าวการรักษา ชื่อ อาฏานาฏิยา ซึ่งคำว่า “ รักขา”
มีลักษณะเดียวกับ “ ปริตร” คือสวดสำหรับคุ้มครองป้องกันภัย
ทั้งนี้ พระสูตรดังกล่าวมีขนาดยาวมาก ในหนังสือบทสวดมนต์หลวง ส่วนของ ภาณวาร หรือจุตภาณวาร
จึงแบ่งเป็น 2 ภาค คือ ปุพพภาค และปัจฉิมภาค ภาคแรกเรียกว่า “ ยกฺขภาควาร” หรือ ภาณยักษ์
ส่วนภาคหลังเรียกว่า “ พุทฺธภาควาร” หรือภาณพระ แต่ด้วยความที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับยักษ์ และอมนุษย์
ผู้คนทั่วไปจึงนิยมเรียกกันว่าการสวด ภาณยักษ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วการสวด ภาณยักษ์ เป็นการเรียกโดยสะดวก
เพราะในการสวด ภาณยักษ์ นั้นมีทั้ง ภาณยักษ์ และภาณพระ รวมกันเป็น อาฏานาฏิยสูตร
นอกจากนี้ ยังมีการตัดตอนอาฏานาฏิยสูตรในส่วนที่เป็น "รักขา" หรือคาถา หรือพระปริตร ที่ท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4
ทรงถวายแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระองค์ได้ทรงมีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์เรียนรักขานี้
เพื่อป้องกันภยันตรายจากยักษ์และอมนุษย์ ที่เป็นมิจฉาทิษฐิ ต่อมาพระปริตรนี้นิยมสวดกันอย่างกว้างขวาง
มีรวมอยู่ในจุลราชปริตร หรือ สวด 7 ตำนาน อันหมายถึงการสวดพระปริตร 7 บท และในมหาราชปริตร
หรือสวด 12 ตำนาน อันหมายถึงการสวดพระปริตร 12 บท
|