วันอัฏฐมีบูชา
วันอัฏฐมีบูชา
คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
( หลัง เสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ ๘ วัน) ถือเป็นวันสำคัญใน
พระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน วิสาขะ ( เดือน ๖ ของไทย)
นอกจากนั้น วันนี้เป็นวันคล้ายวันที่ พระนางสิริมหามายา
องค์พระพุทธมารดาสิ้นพระชนม์ (หลังประสูติ) และเป็นวันคล้ายวัน
ที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขตลอด ๗ วัน (หลัง ตรัสรู้) อีกด้วย
ประวัติ
งานประเพณีถวายพระเพลิงฯจำลอง ในวันอัฏฐมีบูชา
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว ๗ วัน มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา
พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน
ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ
ณ มกุฏพันธนเจดีย์ แห่งเมือง กุสินารา
เป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธต้องมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง
เพราะการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖
|
ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฏฐมีนั้น เมื่อเวียนมาบรรจบแต่ละปี
พุทธศาสนิกชนบางส่วนได้ประกอบพิธีบูชาขึ้น มีการเวียนเทียนเป็นต้น
แต่ไม่ทั่วไปทั่วราชอาณาจักร โดยจะประกอบพิธีในบางวัดเท่านั้น
ตามแต่ความศรัทธาของท้องถิ่น ในจังหวัดอุตรดิตถ์
เช่น ประเพณีถวายพระเพลิงฯ จำลอง ที่ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เป็นต้น
ประวัติพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในพุทธประวัติ
พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพมีขึ้นในวันที่ ๘หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน
ใต้ต้นสาละในราตรี ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ โดยพวกเจ้ามัลลกษัตริย์จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้
และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ใน เมืองกุสินาราตลอด ๗ วัน แล้วให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๘ คน
สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออก ของพระนคร
เพื่อถวาย พระเพลิง พวกเจ้ามัลละถามถึงวิธีปฏิบัติพระสรีระกับพระอานนท์เถระ
แล้วทำตามคำของพระเถระนั้นคือ ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี
แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็ก
ที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด
จากนั้นอัญเชิญ พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๔ คน สระสรงเกล้า
และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้
จึงสอบถามสาเหตุ พระอนุรุทธะ พระเถระ แจ้งว่า "เพราะเทวดามีความประสงค์
ให้รอ พระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ ๕๐๐ รูป ผู้กำลังเดินทางมา
เพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้" ก็เทวดา เหล่านั้น
เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดี
ที่ไม่เห็น พระมหากัสสปะ อยู่ในพิธี และเมื่อภิกษุหมู่ ๕๐๐ รูป
โดยมี พระมหากัสสปะ เป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว
ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด
|
โทณพราหมณ์
สถานที่สันนิษฐานว่าเป็นที่โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุ
แก่เจ้าผู้ครองนครทั้ง ๘ ในกุสินารานคร หลังจากที่พระเพลิงเผาซึ่งเผาไหม้
พระพุทธสรีระดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลาย
จึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้
ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่างๆ ของพระพุทธเจ้า
ได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร
อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตรอัญเชิญไปประดิษฐาน
ที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น
และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่างๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้า
ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครกุสินาราจึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่ง
พระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะ
ยังแคว้นของตนแต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้ง
และเตรียมทำสงครามกัน แต่ในสุดเหตุการณ์ก็มิได้บานปลาย
เนื่องจากโทณพราหมณ์ได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย
เพื่อยุติความขัดแย้งโดยเสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
ออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งกษัตริย์แต่ละเมืองทรงสร้างเจดีย์
ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามเมืองต่างๆ ดังนี้
กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวสาลี
กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกบิลพัสดุ์
กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองอัลลกัปปะ
กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองรามคาม
มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวฏฐทีปกะ
กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองปาวา
พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองราชคฤห์
มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกุสินารา
กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร (อังคารสถูป)
ที่เมืองปิปผลิวัน โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ
ที่เมืองกุสินารา (ทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุแจก ,
คำว่า ตุมพะ แปลว่า ทะนาน , บางทีเรียกสถูปนี้ว่า ตุมพสถูป)
สำหรับกรณีของกษัตริย์เมืองโมริยะนั้น ได้ส่งผู้แทนมา
หลังจากที่โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทั้ง ๘ เมืองไปแล้ว
จึงได้อัญเชิญพระอังคารไปแทน ส่วนโทณพราหมณ์ ก็ได้สร้างสถูปบรรจุทะนาน
ที่ใช้สำหรับตวงพระบรมสารีริกธาตุสำหรับตนเอง และผู้คนได้สักการะดังที่ได้กล่าวไป
สาลวโนทยาน สถานที่ปรินิพพาน |
ที่ตั้ง กุสินารา
กุสินาราเป็นพุทธสังเวชนียสถาน
ที่สำคัญ ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถานของชาวพุทธ
เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา
( โรมัน:Kushinagar-Kasia-Kasaya) ในเขตจังหวัดเดวเย หรือ เทวริยา
( โรมัน:Devria-Devriya-Kasia-Kasaya) รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย
สาลวโนทาย สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า
มาถากุนวะระกาโกฎ ( โรมัน:Matha-Kunwar-Ka-Kot)
ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ
กุสินาราในสมัยพุทธกาล
ในสมัย พุทธกาล เมืองกุสินาราอันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยาน
อยู่ในแคว้นมัลละ ๑ ใน ๑๖ แคว้น ซึ่งเป็นเขตการปกครองสมัยพุทธกาล
โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินารา
เป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "โกสินารกา" และฝ่ายใต้
มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "ปาเวยยมัลลกะ"
ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง ๑๒ กิโลเมตร
มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบการปกครอง
แบบ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ( สามัคคีธรรม)
โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้น
เมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก
ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้าน เศรษฐกิจ ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์
ที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองดอนในฐานะเมืองกิ่งนี้เลย
เมืองอื่นอันมีขนาดใหญ่กว่านี้ยังมีอยู่คือ จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี พาราณสี
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสด็จดับขันธปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์ผู้มีอำนาจ
พราหมณ์ผู้มีบารมี เศรษฐีคหบดีผู้มั่งคั่งที่เลื่อมใสในพระองค์มีมากในเมืองเหล่านี้
ท่านผู้มีอำนาจเหล่านั้นจักได้กระทำการบูชาพระสรีระของตถาคต"
สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละ
ฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ" หรือ อุปวัตตนะสาลวัน
ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ
ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว
กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า ๗ วัน
ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ ๘ แห่งพุทธปรินิพพาน
การที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินาราอันเป็นเมืองเล็กแห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน
มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญ คือ ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว
พระสรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา
หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
ให้เมืองเล็ก ๆ เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน
เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินารา
เพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึก
โดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม
"มกุฏพันธนเจดีย์" ที่ถวายพระเพลิง |
กุสินาราหลังพุทธปรินิพพาน
หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารากลาย
เป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการสักการบูชาของพุทธศาสนิกชน
เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมาก
ไว้รอบ ๆสถูปใหญ่คือ มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุ
พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มหาสถูปนี้
ได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่น ๆ
ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น ต่อมาเมื่อแคว้นมัลละ
ได้ตกอยู่ในความอารักขาของแคว้นมคธ ซึ่งในขณะนั้น
มีเมืองปาตลีบุตรเป็นเมืองหลวง
สาลวโนทยานยังคงเป็นสถานที่สำคัญอยู่
แต่อยู่ในสภาพที่ไม่รุ่งเรืองนัก ดังในทิพยาวทาน ได้พรรณนาไว้ว่า
"พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินารา
ประมาณ พ.ศ. ๓๑๐ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ ๑๐๐ , ๐๐๐ กหาปณะ
เพื่อเป็นค่าสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลา
พระเจ้าอโศกเมื่อทรงทราบชัดว่า ณ จุดนี้เป็นสถานที่พระบรมศาสดา
สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ถึงกับทรงสลดพระทัย
โศกเศร้าถึงเป็นลมสิ้นสติสมปฤดี"
จุนทสถูป บนที่ตั้งของบ้านนายจุนทะ
อันเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายก่อนปรินิพพาน
หลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. ๙๔๒ - ๙๔๗
ในช่วงรัชสมัยของ พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ ๒ ( พระเจ้าศรีวิกรมาฑิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ
ซึ่งท่านได้พรรณนาไว้ว่า "เมื่อมาถึงกุสินารา มีแต่เมืองที่ทรุดโทรม หมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ ห่างกันไป
โบสถ์ วิหาร และปูชนียวัตถุ ปรักหักพังโดยมาก สังฆารามที่ควรเป็นที่อยู่อาศัยก็ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่
ได้เห็นศิลาจารึกพระเจ้าอโศก ๒ หลัก ปักปรากฏอยู่ ๒ แห่งในอุทยานสาลวัน จารึกนั้นบอกว่า
ณ ที่นี้ เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์"
ในบันทึกของ พระถังซำจั๋ง (Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาเมืองกุสินาราราวปี พ.ศ. ๑๓๐๐
ได้พรรณนาไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า เมืองกุสินาราในสมัยนั้นยังคงมีซากเมือง ป้อมปราการ หอสูง
และสังฆารามอยู่บ้าง แต่อยู่ในสภาพปรักหักพัง ภายในเขตกำแพงเมืองยังพอมีคนอาศัยอยู่บ้างแต่น้อยมาก
ท่านยังได้ทันพบบ่อน้ำและซากสถูปบ้านของนายจุนทะ และได้เห็นความร่มรื่นของสาลวโนทยาน
สถานที่ปรินิพพาน และมกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงฯ จนในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕
ราชวงศ์สกลจุรีได้เข้ามาสร้างวัดขึ้นในบริเวณสาลวโนทยานจำนวนมาก
จนพระพุทธศาสนาได้หมดจากอินเดียไปใน พ.ศ. ๑๗๔๓ ทำให้สถานะของพระพุทธศาสนา
ในกุสินาราถูกปล่อยทิ้งร้างและกลายเป็นป่ารกทึบ จนใน พ.ศ. ๒๔๓๓ ภิกษุมหาวีระ สวามี
และท่านเทวจันทรมณี ชาวศรีลังกา เดินทางมายังกุสินาราและเริ่มอุทิศตัวในการฟื้นฟูพุทธสถานแห่งนี้
ร่วมกับเนซารี ชาวพุทธพม่า จนได้สร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า "มหาปรินิวานะ ธรรมะศาลา"
จุนทสถูป บนที่ตั้งของบ้านนายจุนทะ |
ในปี พ.ศ. ๒๓๙๗ นายวิลสัน นัก โบราณคดี อังกฤษ
ได้ทำการพิสูจน์ขั้นต้นว่าหมู่บ้านกาเซียคือกุสินารา
จนในปี พ.ศ. ๒๔๐๔- ๒๔๒๐ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม
ได้เริ่มทำการขุดค้นเนินดินในสาลวโนทยาน
จนในปี พ.ศ. ๒๔๑๘- ๒๔๒๐ นายคาร์ลลีเล่
หนึ่งในผู้ช่วยในทีมขุดค้นของท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์
ได้ทำการขุดค้นต่อจนได้พบพระพุทธรูปปางปรินิพพาน
วิหารปรินิพพาน และสถูปจำนวนมากที่ผู้ศรัทธา
ได้สร้างไว้ในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธศาสนายังรุ่งเรือง
โดยนายคาร์ลลีเล่ เป็นท่านแรกที่เอาใจใส่ในงานบูรณะ
และรักษาคุ้มครองพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ขุดพบ
จากนั้น นับแต่ พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นต้นมา
กุสินาราได้เริ่มมีผู้อุปถัมภ์ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์
เข้ามาสร้างวัดและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้จาริกแสวงบุญ
ที่เริ่มเข้ามาสักการะมหาสังเวชนียสถานแห่งนี้
จนในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ รัฐบาลอินเดียได้ตั้งคณะกรรมการ เพื่อพัฒนาปูชนียสถานแห่งนี้
เพื่อเตรียมเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธชยันตี โดยได้รื้อโครงสร้างวิหารปรินิพพานเก่า
ที่พึ่งได้รับการบูรณะสร้างใหม่ ไม่นานออกเพื่อสร้างมหาปรินิพพานวิหารใหม่ เพื่อให้เหมาะสม
กับโครงสร้างและสามารถรองรับพุทธศาสนิกชนได้
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ จนในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ วิหารได้พังลงมา
ทางการอินเดียจึงบูรณะสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ และทางการอินเดียและพุทธศาสนิกชน
ก็ได้มีส่วนร่วมในการบูรณะกุสินาราจนมีสภาพสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน จุดแสวงบุญ
และสภาพของกุสินาราในปัจจุบัน ปัจจุบันกุสินาราได้รับการบูรณะ และมีปูชนียวัตถุสำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ
"สถูปปรินิพพาน" เป็นสถูปแบบทรงโอคว่ำที่เป็นทรงพระราชนิยมในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช บนสถูปมียอมมน มีฉัตรสามชั้น "มหาปรินิพพานวิหาร"
ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกันกับสถูปปรินิพพาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน
(คือพระพุทธรูปนอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา) ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า ๑ , ๕๐๐ ปี ในจารึกระบุผู้สร้าง
คือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญ
ที่ชาวพุทธจะมาสักการะ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะอันพิเศษคือเหมือนคนนอนหลับธรรมดา
แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานจากไปอย่างผู้หมดกังวลในโลกทั้งปวง "มกุฏพันธนเจดีย์"
อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก ๑ กิโลเมตร ชาวท้องถิ่นเรียก รัมภาร์สถูป
เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีสภาพเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่
ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี ปัจจุบันชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมาย
โดยมีวัดของไทยด้วย ชื่อ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ปัจจุบันชาวไทยที่มาสักการะ ณ กุสินารา
นิยมมาพักที่นี่ ในส่วนพุทธสถานโบราณลุมพินีนั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมเป็นอย่างดี
จากรัฐบาลอินเดีย โดยรอบมีสภาพเป็นสวนป่าสาละร่มรื่นเหมือนครั้งพุทธกาล ชวนให้เจริญศรัทธา
แก่ผู้มาสักการะตลอดมาจนปัจจุบัน
สถานที่ประดิษฐาน
พระพุทธบรมศพพระพุทธเจ้าเป็นเวลา ๗ วัน
ก่อนอัญเชิญไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ |
ความสำคัญ
วันอัฏฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖
เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา
ถือเป็นวันที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
เป็นวันที่ชาวพุทธต้องมีความเสียใจและสูญเสียพระบรมสรีระ
แห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง
จึงเป็นวันควรแสดงธรรมสังเวชและระลึกถึงพระพุทธคุณ
ให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศล
ประเพณีวันอัฏฐมีบูชาในประเทศไทย
ประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลอง ในประเทศไทย
พบประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลองที่ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
โดยประเพณีนี้มีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ
ในปัจจุบันประเพณีนี้ได้รับการสนับสนุนจากทางหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน
โดยจัดเป็นงาน "วันอัฏฐมีบูชารำลึก เมืองทุ่งยั้ง" ณ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล
จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นประจำทุกปี โดยกำหนดจัดงานในวันวิสาขบูชา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
ถึงวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ รวม ๙ วัน กิจกรรมภายในงานมีการแสดง แสง สี เสียง
ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน จนถึงพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า(จำลอง)
มีประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียงเข้าชมเป็นจำนวนมาก
หลักธรรมที่เกี่ยวข้อง
สุจริต ๓ หมายถึง ความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ
ซึ่งส่งผลให้ผู้กระทำประสบแต่ความสงบสุข
สุจริตแสดงออกได้ ๓ ทาง คือ
ทางกาย เรียกว่า กายสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีที่แสดงออกทางกาย
ได้แก่ การเว้นจากการฆ่าสัตว์
ทางวาจา เรียกว่า วจีสุจริต หมายถึง ความประพฤติที่เกิดทางวาจา
ได้แก่ การเว้นจากการพูดโกหก การเว้นจากการพูดส่อเสียด
ทางใจ เรียก ว่า มโนสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีทีเกิดทางใจ
ได้แก่ การไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น และเห็นถูกต้องตามธรรมนองคลองธรรม
ขอบคุณข้อมูลจาก : dhammathai.org, วิกิพีเดีย |