โอวาทะปาฏิโมกขาทิปาโฐ
อุททิฏฐัง โข เตนะ ภะคะวะตา ชานะตา ปัสสะตา อะระหะตา
สัมมาสัมพุทเธนะ, โอวาทะปาฏิโมกขัง ตีหิ คาถาหิ,
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา,
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา,
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี,
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต,
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา,
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะสาสะนัง,
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต ปาติโมกเข จะ สังวะโร,
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัส๎มิง ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง,
อะธิจิตเต จะ อาโยโค เอตัง พุทธานะสาสะนันติฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ พระองค์นั้น ทรงรู้ทรงเห็นแล้ว
ทรงแสดงโอวาทะปาฏิโมกข์ขึ้นแล้ว ด้วยคาถา ๓ บทว่า
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง,
พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม,
ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,
ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
การไม่ทำชั่วทั้งปวง ๑
การบำเพ็ญแต่ความดี ๑
การทำจิตต์ของตนให้ผ่องใส ๑
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑
ความเพียรในอธิจิตต์ ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ที่มา โอวาทะปาฏิโมกขาทิปาโฐ
มหาปทานสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหา. ที.๑๐/๔๐/๔๕ ,
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 345 -346
ภาพวัดเวฬุวันในปัจจุบัน |
สถานที่สำคัญ
เนื่องด้วย วันมาฆบูชา ( พุทธสังเวชนียสถาน)
พระพุทธรูปยืนกลางมณฑลมหาสังฆสันนิบาต
ในโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ รัฐพิหาร อินเดีย
(เป็นพระพุทธรูปสร้างใหม่ ปัจจุบันเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก)
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชา
เกิดภายในบริเวณที่ตั้งของ " กลุ่มพุทธสถานโบราณวัดเวฬุวันมหาวิหาร"
ภายในอาณาบริเวณของวัดเวฬุวันมหาวิหาร
ซึ่งลานจาตุรงคสันนิบาต อันเป็นจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ
ในวันมาฆบูชานั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุป
ทางโบราณคดีไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน
วัดเวฬุวันในสมัยพุทธกาล
เดิมวัดเวฬุวันเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จพระพาสของพระเจ้าพิมพิสาร
เป็นสวนป่าไผ่ร่มรื่นมีรั้วรอบและกำแพงเข้าออก
เวฬุวันมีอีกชื่อหนึ่งปรากฏในพระสูตรว่า
"พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน"หรือ "เวฬุวันกลันทกนิวาป"
(สวนป่าไผ่สถานที่สำหรับให้เหยื่อแก่กระแต)
พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายพระราชอุทยานแห่งนี้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา
หลังจากได้สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจจ์
ณ พระราชอุทยานลัฏฐิวัน (พระราชอุทยานสวนตาลหนุ่ม)
โดยในครั้งนั้นพระองค์ได้บรรลุพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
หลังจากการถวายกลันทกนิวาปสถานไม่นาน
อารามแห่งนี้ก็ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์
ประชุมจาตุรงคสันนิบาต ครั้งใหญ่
ในพระพุทธศาสนา อันเป็นเหตุการณ์สำคัญใน วันมาฆบูชา
สถานที่ แสดงโอวาทปฏิโมกข์ |
วัดเวฬุวันหลังการปรินิพพาน
หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน วัดเวฬุวันได้รับการดูแลมาตลอด
โดยเฉพาะมูลคันธกุฎีที่มีพระสงฆ์เฝ้าดูแลทำการปัดกวาดเช็ดถูปูลาดอาสนะ
และปฏิบัติต่อสถานที่ ๆ พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ทุก ๆ แห่ง
เหมือนสมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนมชีพอยู่มิได้ขาด
โดยมีการปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันกว่าพันปี
แต่จากเหตุการณ์ย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธหลายครั้ง
ในช่วง พ.ศ. 70
ที่เริ่มจากอำมาตย์และราษฎร
พร้อมใจกันถอดกษัตริย์นาคทัสสก์แห่งราชวงศ์ของพระเจ้าพิมพิสาร
ออกจากพระราชบัลลังก์ และยกสุสูนาคอำมาตย์
ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าลิจฉวีในกรุงเวสาลีแห่งแคว้นวัชชีเก่า
ให้เป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ใหม่แล้ว
พระเจ้าสุสูนาคจึงได้ทำการย้ายเมืองหลวง
ของแคว้นมคธไปยังเมืองเวสาลี
อันเป็นเมืองเดิมของตน และกษัตริย์พระองค์ต่อมาคือพระเจ้ากาลาโศกราช
ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาค
ได้ย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธอีก จากเมืองเวสาลีไปยังเมืองปาตลีบุตร
ทำให้เมืองราชคฤห์ถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้าง
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัดเวฬุวันขาดผู้อุปถัมภ์
และถูกทิ้งร้างอย่างสิ้นเชิงในช่วงพันปีถัดมา
โดยปรากฏหลักฐานบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน ( Fa-hsien)
ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. 942 - 947
ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ ๒ (พระเจ้าวิกรมาทิตย์)
แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ว่า เมืองราชคฤห์อยู่ในสภาพปรักหักพัง
แต่ยังทันได้เห็นมูลคันธกุฎีวัดเวฬุวันปรากฏอยู่
และยังคงมีพระภิกษุหลายรูปช่วยกันดูแลรักษาปัดกวาดอยู่เป็นประจำ
แต่ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกถึงสถานที่เกิดเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตแต่ประการใด แต่หลังจากนั้นประมาณ 200 ปี
วัดเวฬุวันก็ถูกทิ้งร้างไป ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง
( Chinese traveler Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาเมืองราชคฤห์
ราวปี พ.ศ. 1300 ซึ่งท่านบันทึกไว้แต่เพียงว่า
ท่านได้เห็นแต่เพียงซากมูลคันธกุฎีซึ่งมีกำแพงและอิฐล้อมรอบอยู่เท่านั้น
(ในสมัยนั้นเมืองราชคฤห์โรยราถึงที่สุดแล้ว
พระถังซำจั๋งได้แต่เพียงจดตำแหน่งที่ตั้งทิศทางระยะทางของสถูป
และโบราณสถานเก่าแก่อื่น ๆ ในเมืองราชคฤห์ไว้มาก
ทำให้เป็นประโยชน์แก่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี
ในการค้นหาโบราณสถานต่าง ๆ ในเมืองราชคฤห์ในปัจจุบัน)
สระน้ำที่วัดเวฬวัน |
จุดแสวงบุญและสภาพของวัดเวฬุวันในปัจจุบัน
ปัจจุบันหลังถูกทอดทิ้งเป็นเวลากว่าพันปี
และได้รับการบูรณะโดยกองโบราณคดีอินเดีย
ในช่วงที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
วัดเวฬุวัน ยังคงมีเนินดินโบราณสถาน
ที่ยังไม่ได้ขุดค้นอีกมาก สถานที่สำคัญ ๆ
ที่พุทธศาสนิกชนในปัจจุบันนิยมไปนมัสการคือ
"พระมูลคันธกุฎี" ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ทำการขุดค้น
เนื่องจากมีกุโบร์ของชาวมุสลิมสร้างทับไว้ข้างบนเนินดิน,
" สระกลันทกนิวาป " ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอินเดีย
ได้ทำการบูรณะใหม่อย่างสวยงาม, และ "ลานจาตุรงคสันนิบาต"
อันเป็นลานเล็ก ๆ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่กลางซุ้ม
ลานนี้เป็นจุดสำคัญที่ชาวพุทธนิยมมาทำการเวียนเทียนสักการะ
(ลานนี้เป็นลานที่กองโบราณคดีอินเดียสันนิษฐานว่า
พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในจุดนี้)
จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา (ลานจาตุรงคสันนิบาต)
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตจะเป็นเหตุการณ์
สำคัญยิ่งที่เกิดในบริเวณวัดเวฬุวันมหาวิหาร
แต่ทว่าไม่ปรากฏรายละเอียดในบันทึกของสมณทูตชาวจีน
และในพระไตรปิฎกแต่อย่างใดว่าเหตุการณ์ใหญ่นี้เกิดขึ้น
ณ จุดใดของวัดเวฬุวัน รวมทั้งจากการขุดค้นทางโบราณคดี
ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการทำเครื่องหมาย (เสาหิน)
หรือสถูประบุสถานที่ประชุมจาตุรงคสันนิบาตไว้แต่อย่างใด
(ตามปกติแล้วบริเวณที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา
มักจะพบสถูปโบราณหรือเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างหรือปักไว้
เพื่อเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับผู้แสวงบุญ)
ทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทราบโดยแน่ชัดว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตเกิดขึ้นในจุดใดของวัด
ในปัจจุบันกองโบราณคดีอินเดียได้แต่เพียงสันนิษฐานว่า
"เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในบริเวณลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป"
(โดยสันนิษฐานเอาจากเอกสารหลักฐานว่าเหตุการณ์ดังกล่าว
มีพระสงฆ์ประชุมกันมากถึงสองพันกว่ารูป และเกิดในช่วงที่พระพุทธองค์
พึ่งได้ทรงรับถวายอารามแห่งนี้ การประชุมครั้งนั้นคงยังต้องนั่งประชุมกันตามลานในป่าไผ่
เนื่องจากเสนาสนะหรือโรงธรรมสภาขนาดใหญ่ยังคงไม่ได้สร้างขึ้น
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป
เป็นลานกว้างลานเดียวในบริเวณวัดที่ไม่มีโบราณสถานอื่นตั้งอยู่)
โดยได้นำพระพุทธรูปยืนปางประทานพรไปประดิษฐานไว้บริเวณซุ้มเล็ก ๆ
กลางลาน และเรียกว่า "ลานจาตุรงคสันนิบาต"
ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริงอยู่ในจุดใด
และยังคงมีชาวพุทธบางกลุ่มสร้างซุ้มพระพุทธรูปไว้
ในบริเวณอื่นของวัดโดยเชื่อว่าจุดที่ตนสร้างนั้นเป็นลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริง
แต่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่ก็เชื่อตามข้อสันนิษฐาน
ของกองโบราณคดีอินเดียดังกล่าว
โดยนิยมนับถือกันว่าซุ้มพระพุทธรูปกลางลานนี้เป็นจุดสักการะของชาวไทย
ผู้มาแสวงบุญจุดสำคัญ 1 ใน 2 แห่งของเมืองราชคฤห์
(อีกจุดหนึ่งคือพระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชกูฏ) |