วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา   ( บาลี:   อาสาฬหปูชา ;   อักษรโรมัน: Asalha Puja)
เป็น วันสำคัญทางศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท และวันหยุดราชการใน ประเทศไทย  
คำว่า   อาสาฬหบูชา   ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า
"การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตาม ปฏิทิน
ของ ประเทศอินเดีย   ตรงกับ วันเพ็ญ   เดือน ๘ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย
ซึ่งมักจะตรงกับ เดือนมิถุนายน หรือ เดือนกรกฎาคม   แต่ถ้าใน ปีใดมีเดือน ๘ สองหน  
ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๘ หลังแทน


ภาพวาด วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ ๔๕ ปี ก่อน พุทธศักราช  
ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ
ณ   ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมือง พาราณสี   แคว้นมคธ   อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรง
แสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ   ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร   แก่ปัญจวัคคีย์

การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ ๑ ใน ๕   ปัญจวัคคีย์  
เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรม
หรือบรรลุเป็น พระอริยบุคคล ระดับ โสดาบัน   ท่านจึงขอ อุปสมบท
ในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา   พระอัญญาโกณฑัญญะ
จึงกลายเป็น พระสงฆ์ องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรม
เป็นพระอริยบุคคล ( อนุพุทธะ)เป็นคนแรก๖


ภาพวาด ปฐมเทศนา

จึงทำให้ในวันนั้นมี พระรัตนตรัย ครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก
คือ มีทั้ง พระพุทธ   พระธรรม และ พระสงฆ์   ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม"
หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก
และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย

เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน ๘ หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธ เถรวาท มาก่อน
จนมาในปี   พ.ศ. ๒๕๐๑ การบูชาในเดือน ๘ หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย
ตามที่ คณะสังฆมนตรี   ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
เมื่อ   พ.ศ. ๒๕๐๑   โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทาง พุทธศาสนา
ในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ   พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)   โดยคณะสังฆมนตรี
ได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายก เมื่อวันที่   ๑๔ กรกฎาคม   พ.ศ. ๒๕๐๑

กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา
ขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับ วันวิสาขบูชา
อันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล

อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้กับวันหยุดของรัฐ
เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่น ๆ
ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับ วันวิสาขบูชา


พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา
ถูกขุดพบ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ความสำคัญ
วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรก
จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศ พระพุทธศาสนา แก่ชาวโลก
และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถ แสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง
แก่ชาวโลก ซึ่งพระธรรมที่ตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่าพระองค์

ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์
คือทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น "สัมมาสัมพุทธะ"
คือเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้
ซึ่งแตกต่างจาก " พระปัจเจกพุทธเจ้า" ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ
แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้
ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระธรรม"

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ท่าน โกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรม
สำเร็จพระ โสดาบัน เป็น พระอริยบุคคล คนแรก และ
ได้รับประทานเอหิภิกขุ อุปสมบทเป็น พระสงฆ์ องค์แรกในพระศาสนา
และด้วยการที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรก
ในโลกดังกล่าว พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก

ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระสงฆ์"
ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวัน
ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาดังกล่าว ซึ่งควรพิจารณา
เหตุผลโดยสรุปจากประกาศสำนักสังฆนายกเรื่องกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา
ที่ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาไว้โดยย่อ ดังนี้

เหตุการณ์สำคัญ
ที่เกิดในวันอาสาฬหบูชาในพระพุทธประวัติ

หลังจากได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖   ณ   ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แล้ว
พระองค์ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณ สัตตมหาสถาน โดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลาถึง ๗ สัปดาห์

และในขณะทรงนั่งประทับเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๕ หลังการตรัสรู้ ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ได้ทรงมานั่งคำนึงว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของลึกซึ้ง คนจะรู้และเข้าใจตามได้ยาก
ตามความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ว่า

... บัดนี้ ไม่สมควรที่เราจะประกาศธรรมที่เราตรัสรู้ เพราะธรรมที่เราตรัสรู้นั้น
เป็นสิ่งที่คนทั่วไป ที่ถูกราคะ โทสะครอบงำอยู่จะไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย ,
คนที่ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองมืด (คืออวิชชา) หุ้มไว้มิดทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถ
ที่จะเข้าใจธรรมะของเรา ที่เป็นสิ่งทวนกระแส (อวิชชา) ที่มีสภาพลึกซึ้ง ละเอียดเช่นนี้ได้เลย...

(มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม)


ท้าวสหัมบดีพรหม ทรงทูลอาราธนาให้แสดงธรรม

พรหมอาราธนา
ตามความในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย
เมื่อพระพุทธองค์ดำริจะไม่แสดงธรรมเช่นนี้
ปรากฏว่าท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบความดังกล่าวจึงคิดว่า  
" โลกจะฉิบหายละหนอ เพราะจิตของพระตถาคตอรหันตสัมมา
สัมพุทธเจ้า น้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย
ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม"  

ท้าวสหัมบดีพรหม จึงเสด็จลงจากพรหมโลก
เพื่อมาอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงตัดสินใจ
ที่จะทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้แก่คนทั้งหลาย
โดยท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวว่า  

" ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด
ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด

สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่
ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลาย
ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่"   จากนั้นท้าวสหัมบดีพรหม
ได้กล่าวอาราธนาเป็นนิพนธ์คาถาอีก ใจความโดยสรุปว่า

... ขณะนี้ ธรรมะที่ไม่บริสุทธิ์ได้เกิดขึ้นในแคว้น มคธ มาเนิ่นนาน.
ขอให้พระองค์เปิดประตู นิพพาน อันไม่ตาย เพื่อสัตว์ทั้งหลาย
จักได้ฟังธรรมและตรัสรู้ตามเถิด , คนยืนบนยอดเขา ย่อมเห็นได้โดยรอบฉันใด.

ข้าแต่พระองค์ พระองค์ย่อมเห็น! พระองค์เห็นเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ที่จมอยู่ในความทุกข์โศกทั้งปวง ถูกความเกิดแก่เจ็บตายครอบงำอยู่ไหม!.
ลุกขึ้นเถิดพระองค์ผู้กล้า! พระองค์ผู้ชนะสงคราม (คือกิเลส) แล้ว!
... ขอพระองค์เสด็จจาริกไปในโลกเถิด , ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมเถิด
สัตว์ที่จะรู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์ มีอยู่แน่นอน!

(มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คาถาพรหมอาราธนา)

บุคคลเปรียบบัวสามเหล่า-ตัดสินใจแสดงธรรม
หลังจากพระพุทธองค์ทรงพิจารณาตามคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหม
ที่เชิญให้พระองค์แสดงธรรม พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาตรวจสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ
และทรงเห็นว่า สัตว์โลกที่ยังสอนได้มีอยู่ เปรียบด้วย ดอกบัว ๓ จำพวก  
พวกที่จักสอนให้รู้ตามพระองค์ได้ง่ายก็มี พวกที่สอนได้ยากก็มี ฯลฯ ดังความต่อไปนี้


บุคคลเปรียบบัวสามเหล่า-ตัดสินใจแสดงธรรม
เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ
ก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี
มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี
มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี
จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี

บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี
เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว
ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ

บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ   จมอยู่ในน้ำ   น้ำหล่อเลี้ยงไว้
บางเหล่า   ตั้งอยู่เสมอน้ำ   บางเหล่า   ตั้งขึ้นพ้นน้ำ   น้ำไม่ติด ฉันใด

ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น
ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี
มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี
มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี
จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี
บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี...

( มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า)

ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์พิจารณาบุคคลเปรียบด้วยบัวสามเหล่าดังกล่าว พระพุทธองค์จึง  
ทรงตัดสินใจที่จะแสดงธรรม
  เพราะทรง   อาศัยบุคคลที่สามารถตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้เป็นหลัก  
ดังความที่ปรากฏใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ว่า

... บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว
จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย

เมื่อไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้อง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น เพราะเห็นแก่  
บุคคลผู้ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว
จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนถูกต้องในกุศลธรรม เมื่อไม่ได้เห็นไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลง
 

เราจึงอนุญาตการแสดงธรรมไว้ และก็เพราะ   อาศัยบุคคลเหล่านี้เป็นหลักอีกเหมือนกัน
จึงจำต้องแสดงธรรมแก่บุคคลประเภทอื่นด้วย
...

(อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต คิลานสูตร สูตรที่ ๒)



สารนาถ :สถานที่แสดงปฐมเทศนา

หาผู้รับปฐมเทศนา

หลังจากทรงตั้งพระทัยที่จะนำสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้
มาสอนแก่มนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงพิจารณาหาบุคคล
ที่สมควรจะแสดงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้โปรดก่อนเป็นบุคคลแรก

ในครั้งแรกพระองค์ทรงระลึกถึง   อาฬารดาบสกาลามโคตร  
และ   อุทกดาบสรามบุตร   ก่อน ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพระอาจารย์
ที่พระองค์ได้เข้าไปศึกษาในสำนักของท่านก่อนปลีกตัวออกมา
แสวงหาโพธิญาณด้วยพระองค์เอง

ก็ทรงทราบว่าทั้งสองท่านได้เสียชีวิตแล้ว
จึงได้ทรงระลึกถึง ปัญจวัคคีย์ ทั้งห้า ผู้ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์
ในระหว่างที่ทรงบำเพ็ญ ทุกรกิริยา   และทรงทราบด้วยพระญาณว่า
ปัญจวัคคีย์พำนักอยู่ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน   แขวงเมือง พาราณสี  

พระองค์จึงตั้งใจเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เพื่อแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นครั้งแรก

เสด็จสู่พาราณสี-โปรดปัญจวัคคีย์
พระพุทธองค์ใช้กว่า ๑๑ วัน เป็นระยะทางกว่า ๒๖๐ กิโลเมตร เพื่อเสด็จจากตำบลอุรุเวลา
ตำบลที่ตรัสรู้ ไปยังที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ (สถานที่แห่งนี้ชาวพุทธในยุคหลังได้สร้างสถูปขนาดใหญ่ไว้
ปัจจุบันเหลือเพียงซากกองอิฐมหึมา เรียกว่า   เจาคันธีสถูป)

เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงที่อยู่ของเหล่าปัญจวัคคีย์ในวันเพ็ญเดือน ๘ ( อาสาฬหมาส)
ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จเข้าไปที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแต่ไกล
ด้วยเหตุที่ปัญจวัคคีย์รังเกียจว่า " เจ้าชายสิทธัตถะผู้ได้เลิกการบำเพ็ญทุกขกิริยาหันมาเสวยอาหาร
เป็นผู้หมดโอกาสบรรลุธรรมได้เสด็จมา"   จึงได้นัดหมายกันและกันว่า  
" พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตร จีวร ของพระองค์
แต่พึงวางอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาจะนั่งก็จักประทับนั่งเอง"

ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปถึงกลุ่มพระปัญจวัคคีย์
พระปัญจวัคคีย์นั้นกลับลืมข้อตกลงที่ตั้งกันไว้แต่แรกเสียสิ้น ต่างลุกขึ้นมาต้อนรับพระพุทธเจ้า
รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท
รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย
พระพุทธเจ้าจึงประทับนั่งบนอาสนะที่พระปัญจวัคคีย์จัดถวายไว้

พระพุทธองค์ตรัสว่า   " เราตถาคตเป็น อรหันต์   ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ
เราได้บรรลุอมฤตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว
ไม่ช้าสักเท่าไร ' จักทำให้เข้าใจแจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ '
ที่คนทั้งหลายผู้พากันออกบวชจากเรือนต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเอง"

แรกทีเดียวพระปัญจวัคคีย์ยังไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
จึงค้านถึงสามครั้งว่า   " แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น
พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษ อย่างประเสริฐ
อย่างสามารถ ( อุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสส)

ก็บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก
ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐอย่างสามารถได้เล่า"
พระพุทธองค์ตรัสว่า   " พวกเธอยังจำได้หรือว่า เราได้เคยพูดถ้อยคำเช่นนี้มาก่อน "   และตรัสว่า

... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม

เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้าเท่าไรก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์
อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่...

(มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)

ด้วยพระดำรัสดังกล่าวพระปัญจวัคคีย์จึงได้ยอมเชื่อฟังพระพุทธองค์เงี่ยโสตสดับตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง

ประกาศพระสัจธรรม-แสดงปฐมเทศนา
เมื่อปัญจวัคคีย์ตั้งใจเพื่อสดับพระธรรมของพระองค์แล้ว  
พระพุทธองค์ทรงจึงทรงพาเหล่าปัญจวัคคีย์ไปสู่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันร่มรื่น
แล้วทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร   ซึ่งเรียกว่า   " ปฐมเทศนา"  

เป็นการยังธรรมจักรคือการเผยแผ่พระธรรมให้เป็นไปเป็นครั้งแรกในโลก

พระพุทธองค์ทรงกล่าวสรุปถึงเนื้อหาของการแสดงพระปฐมเทศนา
ไว้ในสัจจวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ว่า


เจาคันธีสถูป   สถานที่พระพุทธองค์
พบปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้

... ภิกษุทั้งหลาย! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ประกาศอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว
ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี ,
เป็นพระธรรมจักรที่สมณะพราหมณ์ ,
เทพ มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก จะต้านทานให้หมุนกลับไม่ได้
(คือความจริงที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้)

ข้อนี้คือ การบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง
การเปิดเผย การจำแนก และการทำให้ง่าย
ซึ่ง ความจริงอันประเสริฐสี่ประการ: สี่ประการนั้นได้แก่  
ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์,  
ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์,  
ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,
และ ความจริงอันประเสริฐ
คือทางที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์...

(มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สัจจวิภังคสูตร)

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแสดงพระปฐมเทศนานี้อยู่  
ดวงตาเห็นธรรม   ได้เกิดขึ้นแก่ท่าน พระโกณฑัญญะ ว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา"
ท่านโกณฑัญญะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลแล้ว

พระพุทธองค์ทรงทราบความที่พระโกณฑัญญะเป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม
มีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในคำสอนของพระองค์   จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า
"อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" ท่านผู้เจริญ ท่านโกณฑัญญะ รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น
คำว่า "อัญญา" นี้ จึงได้เป็นคำนำหน้าชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ

เมื่อท่านพระโกณฑัญญะได้บรรลุ โสดาบัน แล้ว จึงได้กราบทูลขอ บรรพชา อุปสมบท  
พระพุทธองค์จึงทรงประทาน   เอหิภิกขุอุปสัมปทา   ว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว
เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด"

ท่าน พระอัญญาโกณฑัญญะ จึงนับเป็น   " พระสงฆ์อริยสาวกองค์แรก"  
ใน พระพุทธศาสนา ๑   ซึ่งวันนั้นเป็น วันเพ็ญ   กลางเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน ๘ เป็น  
วันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก คือมี "พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์" ครบบริบูรณ์

ปัจจุบันสถานที่พระพุทธเจ้าประกาศพระอนุตตรสัจธรรมเป็นครั้งแรก
และสถานที่บังเกิดพระสงฆ์องค์แรกในโลก อยู่ในบริเวณที่ตั้งของ ธรรมเมกขสถูป
(แปลว่า: สถูปผู้เห็นธรรม) ภายในอิสิปตนมฤคทายวัน หรือ   สารนาถ ในปัจจุบัน

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชา
เกิดในบริเวณที่ตั้งของ   กลุ่มพุทธสถานสารนาถ   ภายในอาณาบริเวณ
ของ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน   ๙   กิโลเมตร เศษ ทางเหนือของ เมืองพาราณสี  
อันเป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาของ ศาสนาพราหมณ์  

สมัยนั้นแถบนี้อยู่ใน แคว้นมคธ   ชมพูทวีป   ในสมัย พุทธกาล  ( ในปัจจุบันอยู่ใน   รัฐพิหาร   ประเทศอินเดีย)
ปัจจุบัน   สารนาถ   จัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ ( ๑ ใน ๔ แห่งของชาวพุทธ )
เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถเนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มต้นประกาศ
พระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย แต่บ้างก็ว่ามาจากศัพท์ว่า
สารงฺค+นารถ = ที่อยู่ของสัตว์จำพวกกวาง

ภายในอาณาบริเวณสารนาถมี   ธรรมเมกขสถูป   เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด
สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
ประกาศพระสัจจธรรมเป็นครั้งแรกที่นี่ และ   เจาคันธีสถูป   อยู่ไม่ไกลจากสารนาถ เป็นมหาสถูป
ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสถานที่พำนักของเหล่าปัญจวัคคีย์ และสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จมา
ทรงพบกับเหล่าปัญจวัคคีย์ครั้งแรก ณ จุดนี้ ก่อนที่จะพาไปแสดงปฐมเทศนาในสารนาถ


สารนาถ :สถานที่แสดงปฐมเทศนา

ความสำคัญและสภาพสารนาถในสมัยพุทธกาล
สารนาถในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า   ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  
แปลว่า เขตป่าอภัยทานแก่สัตว์ที่เป็นที่บำเพ็ญตบะของฤษี เป็นสถานที่สงบ
และเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤษีและนักพรตต่าง ๆ ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะเพื่อเข้าถึงพรหมมัน
ตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพรามหณ์ ทำให้เหล่าปัจจวัคคีย์ที่ปลีกตัวมาจาก เจ้าชายสิทธัตถะ  
ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา ได้มาบำเพ็ญตบะที่นี่แทน

หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และเทศน์โปรดปัญวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว  
ได้ทรงพักจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับเหล่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งในระหว่างจำพรรษาแรก

พระองค์ได้สาวกเพิ่มกว่า ๔๕ องค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระยสะและบริวารของท่าน ๔๔ องค์  
ซึ่งรวมถึงบิดามารดาและภรรยาของพระยสะ ที่ได้มาฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์
และได้ยอมรับนับถือเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคู่แรกในโลกด้วย  
ทำให้ในพรรษาแรกที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
มีพระอรหันต์ในโลกรวม ๖๐ องค์ และองค์พระพุทธเจ้า

นอกจากนี้ ในบริเวณสารนาถ ยังเป็นสถานที่สำคัญที่พระพุทธองค์
ทรงประกาศเริ่มต้นส่งให้พระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลังจากทรงจำพรรษาแรกแล้ว  
( เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือธรรมเมกขสถูป)
ดังปรากฏความตอนนี้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค   ว่า

... ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก
เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน ๒ รูป โดยทางเดียวกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ
พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง...

( สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยปาสสูตรที่ ๕)

และด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมานี้
สารนาถจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งแรกมาตั้งแต่นั้น

ซึ่งในช่วงหลังจากพระพุทธองค์เสด็จออกจากสารนาถหลังประกาศส่งพระสาวกออกเผยแพร่ศาสนานั้น
ไม่ปรากฏในหลักฐานในพระไตรปิฎกว่ามีการสร้างอารามหรือสิ่งก่อสร้างในป่าสารนาถแห่งนี้
ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสิ่งก่อสร้างใหญ่โตคงจะได้มา

เริ่มสร้างขึ้นกันในช่วงหลังที่พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมั่นคงในแคว้นมคธแล้ว

สารนาถหลังพุทธกาล
หลังพุทธกาล ประมาณ ๓๐๐ ปี   พระเจ้าอโศกมหาราช ได้เสด็จมาที่สารนาถ
ในปี   พ.ศ. ๒๙๕   ครั้งนั้นพระองค์ได้พบว่ามีสังฆารามใหญ่โตที่สารนาถแล้ว
ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการบูรณะและก่อสร้างศาสนสถาน
เพิ่มเติมในสารนาถครั้งใหญ่ โดยพระองค์ได้สร้างสถูปและสิ่งต่าง ๆ มากมาย
ในบริเวณกลุ่มสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนาและพระธรรมเทศนาอื่น ๆ
แก่เบญจวัคคีย์ และหมู่ คันธกุฎี ของพระพุทธเจ้า ในบริเวณสารนาถ
เพื่อถวายเป็นอนุสรณียสถานแก่พระพุทธเจ้า

กลุ่มพุทธสถานเหล่านี้ได้เจริญรุ่งเรืองต่อมาจนถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์คุปตะ
ตามบันทึกของ พระถังซำจั๋ง  (Chinese traveler Hiuen-Tsang) ​
ซึ่งได้จาริกมาราว   พ.ศ. ๑๒๘๐   ท่านได้กล่าวไว้ในบันทึกของท่านว่า ท่านได้พบสังฆารามใหญ่โต
มีพระอยู่ประจำ ๑ , ๕๐๐ รูป ภายในกำแพงมีวิหารหลังหนึ่งสูงกว่า ๓๓ เมตร มีบันไดทางขึ้น
ปูด้วยแผ่นหินกว่า ๑๐๐ ขั้น กำแพงบันไดก่อด้วยอิฐเป็นขั้น ๆ ประดับด้วยพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา
ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวิหารมีสถูปหินอ่อนสูง ๗๐ ฟุต ( เสาอโศก) บนยอดเสามีรูปสิงห์สี่ตัว
เป็นมันวาวราวกับหยกใสสะท้อนแสง มหาสถูป (ธรรมเมกขสถูป)
มีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ทุกช่อง ฯลฯ


สารนาถ :สถานที่แสดงปฐมเทศนา

กลุ่มพุทธสถานสารนาถได้เจริญรุ่งเรืองสลับกับความเสื่อมเป็นช่วง ๆ ต่อมา
จนในที่สุดได้ถูกกองทัพ มุสลิม เตอร์กบุกเข้ามาทำลายในปี   พ.ศ. ๑๗๓๗
ทำให้มหาสังฆารามและพุทธวิหารในสารนาถถูกทำลายล้างและถูกทิ้งร้างไปอย่างสิ้นเชิง

ในระยะต่อมากว่า ๗๐๐ ปี เหลือเพียงกองดินและมหาสถูปใหญ่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมเมกขสถูปและเจาคันธีสถูป ที่เป็นกองสถูปอิฐใหญ่โตมาก

สภาพของสารนาถหลังจากนั้นกลายเป็นกองดินกองอิฐมหึมา ทำให้หลังจากนั้น
ชาวบ้านได้เข้ามารื้ออิฐจากสารนาถไปก่อสร้างอาคารในเมืองพาราณสีเป็นระยะ ๆ
ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญคือเหตุการณ์ที่ราชาเชตสิงห์ ( Chait Singh) มหาราชาแห่งเมืองพาราณสี
ได้สั่งให้ชคัตสิงห์อำมาตย์ไปรื้ออิฐเก่าจากสารนาถเพื่อนำไปสร้างตลาดในเมืองพาราณสี
(ปัจจุบันตลาดนี้เรียกว่า ชคันคุนช์) โดยได้รื้อมหาธรรมราชิกสถูป ที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชลง
และได้พบกับผอบศิลาสีเขียวสองชั้น ชั้นในมีไข่มุก พลอยและแผ่นเงินทองอยู่ปนกับขี้เถ้าและอัฐิ ๓ ชิ้น
ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชบรรจุไว้ แต่คชัตสิงห์กลับนำกระดูกไปลอยทิ้งที่แม่น้ำคงคา
เพราะเชื่อว่าเจ้าของกระดูกในผอบคงจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์เพราะไม่ได้นำกระดูกไปลอยน้ำตามธรรมเนียมฮินดู
ในปี   พ.ศ. ๒๓๓๗

จนเมื่ออินเดียตกไปอยู่ในความปกครองของ อังกฤษ ในปี   พ.ศ. ๒๔๒๐
ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องตั้งเจ้าหน้าที่มาขุดค้นอย่างถูกต้องตามหลักโบราณคดี
โดยสานงานต่อจากพันเอกแมคแคนซี่ ที่เข้ามาดูแลการขุดค้นตั้งแต่ปี   พ.ศ. ๒๓๕๘  
ซึ่งใช้เวลากว่าร้อยปีจึงจะขุดค้นสำเร็จในปี   พ.ศ. ๒๔๖๕  

ในสมัยที่ท่าน เซอร์   อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม   เป็นหัวหน้ากองโบราณคดีอินเดีย  
จนช่วงหลังที่ท่าน อนาคาริก ธรรมปาละ   ชาว ศรีลังกา   ได้มาบูรณะฟื้นฟูสารนาถ
ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยท่านได้ซื้อที่เพื่อสร้างวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่
ซึ่งนับเป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกในบริเวณสารนาถหลังจากถูกทำลาย หลังจากนั้นเป็นต้นมา
สารนาถได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา ทำให้สารนาถกลายเป็นจุดหมายปลายทาง
ในการแสวงบุญที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

ขอบคุณข้อมูลจาก :  dhammathai.org, วิกิพีเดีย

 

วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันอาสาฬหบูชา
วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันธรรมสวนะ บุญกฐิน