พระธาตุพนม

 


พระธาตุพนม


ศิลปะสถาปัตยกรรม

พระธาตุพนม

พระธาตุพนม เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนายุคแรกๆ ที่แพร่เข้ามาในบริเวณกลุ่มน้ำโขง
และมีนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า พระธาตุพนมเป็นพระธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่
และมีความศักดิ์สิทธิ์สำคัญของลุ่มน้ำโขง


ดังนั้นในส่วนนี้ เป็นการประมวลภาพพระธาตุพนมในแง่งานศิลปะสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอยู่บนองค์พระธาตุพนม
รวมถึงภาพเก่าอันทรงคุณค่า

ภาพเส้นสันนิษฐานโครงสร้างพระธาตุพนม ๔ สมัย (๒ องค์ นับจากด้านซ้ายภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย
ภาคอีสาน เล่ม ๖ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒,
หน้า ๑๘๙๒, และอีก ๒ องค์ด้านขวา ภาพลายเส้นโดย ดร.สุพร ชนะพันธ์)

ภาพลายเส้นสันนิษฐานโครงสร้างสมัยปฏิสังขรณ์ครั้งที่ ๔ ระหว่าง พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕
สมัยเจ้าราชครูโพนสะเม็ก (ภาพลายเส้นโดย ดร.สุพร ชนะพันธ์)

ภาพลายเส้นเปรียบเทียบโครงสร้างพระธาตุพนมที่ซ่อนใน พ.ศ.๒๔๘๓
ตรงกับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการเสริมส่วนยอดพระธาตุพนมด้วยการครอบทับองค์เจดีย์เดิมไว้
ภายใน (ภาพลายเส้นโดย ดร.สุพร ชนะพันธ์)

รูปทรงดั้งเดิมของพระธาตุพนม

ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียรภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
อธิบายในหนังสือ ๕ มหาเจดีย์สยาม จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส ไว้ว่า

“ รูปทรงดั้งเดิมของพระธาตุพนมอาจเป็น ปราสาทเขมร-จาม กว่าที่รูปทรงขององค์พระธาตุพนม
จะเป็นอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ องค์พระธาตุพนมได้ถูกสร้างเสริมและต่อเติมมาหลายครั้งหลายสมัย
โดยนักวิชาการสันนิษฐานว่ารูปแบบดั้งเดิมเมื่อแรกสร้างน่าจะมีรูปทรงปราสาทเขมร
ที่สร้างขึ้นในสมัยก่อนเมืองพระนคร มีชื่อเรียกว่าแบบ ไพรกเมง-กำพงพระ

เนื่องจากปราสาทที่สร้างในช่วงสมัยนี้มักทำเรือธาตุเป็นห้อง ก่ออิฐเรียบ มีการประดับด้วยเสากลม
ที่วางคั่นอยู่เป็นระยะ ๆ บัวหัวเสาทำเป็นรูปกลม ซึ่งเหมือนกับที่พบในส่วนเรือนธาตุขององค์พระธาตุพนมนั่นเอง
หรือไม่เช่นนั้นก็อาจมีรูปร่างคล้ายกับปราสาทในศิลปะจาม ที่สร้างในสมัยฮั่วล่าย (Hoa-Lai)
และ ดงเดือง (Doug Doung) ซึ่งเคยรุ่งเรืองอยู่ในประเทศเวียดนาม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ คือ
กว่าพันปีมาแล้วก็เป็นได้ เนื่องจากเสาติดผนังขององค์พระธาตุพนมมีแถบลวดลายประดับอยู่ตรงกลางเสา
เหมือนกับที่พบตามปราสาทในศิลปะจามเป็นอย่างมาก

การที่พระธาตุพนมอาจเคยมีรูปแบบคล้ายคลึงกับปราสาทจามนี้ ไม่ถือเป็นเรื่องแปลกอย่างใดเลย
เนื่องจากที่ตั้งของพระธาตุพนมอยู่บนเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างชุมชนโบราณในกลุ่มน้ำโขงตอนกลาง
ของลาวกับช่องเขาที่ออกไปยังอาณาจักรจามปาในประเทศเวียดนามได้ ดังนั้นในบริเวณนี้
จึงอาจมีการแลกเปลี่ยนหรือรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากศิลปะจามได้ไม่ยากนัก”

ปราสาทฮั่วลายหลังเหนือ ศิลปะจาม (ภาพจาก ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียงอินเดีย, ลังกา, ชวา,
จาม, ขอม, พม่า, ลาว ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๓๘)


ภาพลวดลายพันธ์พฤกษาบนเสาคล้ายคลึงกับศิลปะจาม

ภาพสลักรูปบุคคลบนแผ่นอิฐ

ภาพสลักรูปบุคคลบนแผ่นอิฐ กำลังขี่สัตว์พาหนะ คือ ช้างกับม้า ปรากฏทุกด้านของเรือนธาตุชั้นที่ ๑
ขององค์พระธาตุพนม ภาพสลักดังกล่าวถูกนำไปเชื่อมโยงกับตำนานอุรังคธาตุว่า เป็นท้าวพญาทั้ง ๕
ที่มาร่วมกันสร้างอุบมุงบรรจุพระอุรังคธาตุ ซึ่งในตำนานบันทึกไว้ว่า

หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๘ ปี พระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์
ได้นำพระอุรังคธาตุมาทางเมืองหนองหานหลวง พญาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองหนองหานหลวง
และพญาคำแดงเจ้าเมืองหนองหานน้อยออกมาต้อนรับ

จากนั้นพระมหากัสสปะได้นำอุรังคธาตุมาที่ภูกำพร้า (บริเวณที่ตั้งองค์พระธาตุพนม)
โดยมีพญาทั้ง ๒ ตามมาด้วย แล้วมีพญาทั้ง ๓ เมืองทราบขาว จึงขอติดตามมาด้วย ได้แก่ พญานันทเสน
เจ้าเมืองศรีโคตรบูร พญาจุลณีพรหมทัตเจ้าเมืองจุลณี และพญาอินทรปัตถ์เจ้าเมืองอินทรปัตถ์นคร
พญาทั้ง ๕ จึงได้มาร่วมกันช่วยก่ออูบมุงเพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุ และอธิษฐาน
ขอให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาติหน้า

เมื่อพญาทั้ง ๕ เสด็จกลับบ้านเมืองแล้วพระวิษณุกรรมได้ลงมาทำการแกะสลักเป็นรูปพญาจากเมืองต่างๆ
กำลังทรงม้า ที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างอูบมุงพร้อมลวดลายประดับไว้บนผนังรอบๆ องค์พระธาตุทั้งสี่ทิศ
รูปเหล่านี้เชื่อกันว่าคือภาพสลักรูปบุคคลบนแผ่นอิฐนั่นเอง เหตุนี้จึงทำให้ญาติโยมจึงมีศรัทธา
ต่อพระธาตุพนมเรื่อยมา

แต่ก็มีนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ารูปสลักอิฐดังกล่าวอาจจะเป็นผู้นำพื้นเมืองในสมัยนั้นก็เป็นได้
หรือเป็นนักรบขี่ม้า ช้าง กำลังล่าสัตว์ ทำขึ้นมาในคติทางศาสนาพราหมณ์มากกว่าศาสนาพุทธ

ทางผู้จัดทำเห็นว่าภาพสลักดังกล่าวเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญ
ภาพสลักอิฐทั้งหมดน่าจะเป็นส่วนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดขององค์พระธาตุพนม จึงได้ถ่ายภาพทุกด้าน
เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ โดยคุณวรพงศ์ ผดุงชอบ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับภาพเก่า
ที่ถ่ายโดยอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เป็นภาพถ่ายก่อน ๓ เดือน ที่พระธาตุพนมจะพังทลาย
ลงมาในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ (จากหนังสือพระธาตุพนม จัดพิมพ์โดยเมืองโบราณ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘)

คำไหว้พระธาตุพนม 
ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฏฐิมายะ 
อุปะริมายะ ทิสายะ กะปะณะ คิริสมิง ปัพพะเต มหากัสสะเปนะ 
ฐาปิตัง พุทธะอุรังคธาตุง สิระสา นะมามิ

คำไหว้ยอดพระธาตุพนม 
เสตะฉัตตัง สุวัณณะระชะตัง ระตะนัง ปะณีตัง พุทธะอุรังคะเจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

ที่มา เว็บไซต์ วัดพระธาตุพนม http://www.watthat.com/




ประวัติวัดพระธาตุพนม สถูปอิฐเดิมพระธาตุนม        ภาพเก่าพระธาตุพนม      ศิลปะสถาปัตยกรรม
คำบูชาพระธาตุพนม ๑๐ ทิศ พระธาตุพนมล้ม ๗ พระธาตุประจำวันเกิด พระธาตุประจำปีเกิด

 กลับสู่หน้าหลัก