ประวัติวัดพระธาตุพนม


พระธาตุพนม


พระธาตุพนมหรือเรียกตามแผ่นทองจารึกซึ่งจารึกไว้ในสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก แห่งนครเวียงจันทน์
มาบูรณะใน พ.ศ. ๒๒๓๖ - ๔๕ ว่า "ธาตุปะนม" เป็นพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ ( กระดูกส่วนพระอุระ )
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ประดับตกแต่งด้วยศิลปลวดลายอันวิจิตรประณีตทั้งองค์

มีความหมายทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง สูงจากระดับพื้นดิน ๕๓ เมตร ฉัตรทองคำสูง ๔ เมตร
รวมเป็น ๕๗ เมตร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ห่างจากแม่น้ำโขงอันเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างประเทศลาว
กับประเทศไทยประมาณ ๕๐๐ เมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร 

ในตำนานพระธาตุพนมกล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกในราว พ.ศ. ๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร
กำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ โดยท้าวพญาทั้ง ๕ อันมีพญาศรีโคตบูร เป็นต้น และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์
อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประมุข  ลักษณะ การก่อสร้างในสมัยแรกนั้น ใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม
แล้วเผาให้สุกทีหลัง กว้างด้านละสองวาของพระมหากัสสปะ สูงสองวา ข้างในเป็นโพรง มีประตูเปิดทั้งสี่ด้าน

เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าที่พระมหากัส สปะเถระนำมาจากประเทศอิเนเดีย
ประดิษฐานไว้ข้างใน แล้วปิดประตูทั้งสี่ด้าน แต่ยังปิดไม่สนิททีเดียว ยังเปิดให้คนเข้าไปสักการะบูชาได้อยู่บางโอกาส
ในตำนานพระธาตุพนมบอกว่า "ยังมิได้ฐานปนาให้สมบูรณ์" นี้ก็หมายความว่า ยังมิได้ปิดประตูพระธาตุ
ให้มิดชิดนั่นเอง พึ่งมาสถาปนาให้สมบูรณ์ในราว พ.ศ. ๕๐๐ 

      ท้าวพญาทั้ง ๕ ผู้มาเป็นประมุขประธานในการก่อสร้างพระธาตุพนมในครั้งนั้น เป็นเจ้าผู้ครองนครในแคว้นต่าง ๆ คือ
           ๑. พญาจุลณีพรหมทัค ครองแคว้นจุลมณี ก่อด้านตะวันออก
           ๒. พญาอินทปัตถนคร ครองเมืองอินทปัตถนคร ก่อด้านตะวันตก
           ๓. พญาคำแดง ครองเมืองหนองหานน้อย ก่อด้านตะวันตก
           ๔. พญานันทเสน ครองเมืองศรีโคตบูร ก่อด้านเหนือ
           ๕. พญาสุวรรณภิงคาร ครองเมืองหนองหานหลวง ก่อขึ้นรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาละมี


องค์พระธาตุพนม ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในยุคต่อมาโดยลำดับ ซึ่งจะได้นำมาเขียนไว้โดยสังเขปดังนี้
. การบูรณะครั้งที่ ๑ ในราว พ.ศ. ๕๐๐ โดยมีพญาสุมิตธรรมวงศา แห่งเมืองมรุกขนคร และพระอรหันต์ ๕ องค์
เป็นประธาน ในการบูรณะครั้งนั้น ได้เอาอิฐซึ่งเผาให้สุกดีแล้วมาก่อต่อเติมจากยอดพระธาตุพนมองค์เดิมให้สูง
ขึ้นไปอีกประมาณ ๒๔ เมตร ( สันนิษฐานดูตามลักษณะก้อนอิฐหลังจากองค์พระธาตุพนมหักพังลงแล้ว )
แล้วอัญเชิญพระอุรังคธาตุออกจากอุโมงค์เดิม ซึ่งทำการบรรจุตั้งแต่สมัยพระมหากัสสปเถระ ขึ้นไปประดิษฐานไว้ใหม่
ที่ใจกลางพระธาตุชั้นที่สอง แล้วปิดประตูอย่างมิดชิด หรือสถาปนาไว้อย่างสมบูรณ์
( เวลานี้พบแล้ว อยู่สูงจากระดับพื้นดิน ๑๔.๗๐ เมตร )

. การบูรณะครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๗ โดยมีพระยานครหลวงพิชิตราชธานีศรีโคตบูร แห่งเมืองศรีโคตบูร
เป็นประธาน ได้โบกสะทายตีนพระธาตุทั้งสี่ด้าน และสร้างกำแพงรอบพระธาตุ พร้อมทั้งซุ้มประตู และเจดีย์หอข้าว
พระทางทิศตะวันออกพระธาตุ ๑ องค์ ( ถูกพระธาตุหักพังทับยับเยินหมดแล้ว )

. การบูรณะครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๖ - ๔๕ โดยมีเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กแห่งนครเวียงจันทน์เป็นประธาน
การบูรณะครั้งนี้ ได้ใช้อิฐก่อต่อเติมจากพระธาตุชั้นที่สองซึ่งทำการบูรณะใน พ.ศ. ๕๐๐ ให้สูงขึ้นอีกประมาณ ๔๓ เมตร
ได้มีการปรับปรุงที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุใหม่ โดยสร้างอูบสำริดครอบเจดีย์ศิลาอันเป็นที่บรรจุบุษบก
และผอบพระอุรังคธาตุไว้ อย่างแน่นหนา และได้บรรจุพระพุทธรูปเงิน ทอง แก้ว มรกต และอัญมณีอันมีค่าต่าง ๆ
ไว้ภายในอูบสำริดและนอกอูบสำริดไว้มากมาย มีจารึกพระธาตุพนมว่า "ธาตุปะนม" (ประนม)

. การบูรณะครั้งที่ ๔ ใน พ.ศ. ๒๓๕๐ - ๕๖ โดยมีเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์เป็นประธาน ได้ทำฉัตรใหม่
ด้วยทองคำ ประดับด้วยเพชรพลอยสีต่าง ๆ ประมาณ ๒๐๐ เม็ด และได้ทำพิธียกฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเจดีย์ในปีนั้น
( พ.ศ. ๒๓๕๖ ) ( ฉัตรนี้ ได้นำลงมาเก็บรักษาไว้ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารใน พ.ศ. ๒๔๙๗ )

. การบูรณะครั้งที่ ๕ โดยมีพระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน
ได้ซ่อมแซมโบกปูนองค์พระธาตุพนมใหม่ ลงรักปิดทองส่วนบนประดับแก้วติดดาวที่ระฆัง แผ่แผ่นทองคำหุ้มยอด
ปูลานพระธาตุ ซ่อมแซมกำแพงชั้นในและชั้นกลาง

. การบูรณะครั้งที่ ๖ ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๘๔ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ชุมจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ให้กรมศิลปากรอันมีหลวงวิจิตราวาทการเป็นหัวหน้า
สร้างเสริมครอบพระธาตุพนมองค์เดิมด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งแต่ชัน้ที่ ๓ ขั้นไป และต่อยอดให้สูงขึ้นไป
อีก ๑๐ เมตร รวมเป็น ๕๗ เมตร

. พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทำฉัตรใหม่ด้วยทองคำ
ซึ่งเป็นของวัดที่ได้จากประชาชนบริจาคและได้ทำพิธียกฉัตรในปีนั้น    ฉัตรทองคำ มีเนื้อทองของวัดอยู่
ประมาณ ๗ กิโลกรัม นอกนั้นเป็นโลหะสีทองหนักประมาณ ๒๐ กิโลกรัม ฉัตรหนักทั้งหมด ๑๑๐ กิโลกรัม
ก่อนรื้อนั่งร้าน ทางวัดได้ขอแรงสามเณรวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร โบกปูนตั้งแต่ยอดซุ้มประตูพระธาตุชั้นที่ ๑
จนถึงยอดสุด ใช้เวลาทำงานอยู่ ๑ เดือนจึงแล้วเสร็จ


พระธาตุพนม


องค์พระธาตุพนม
. พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารได้ลงรักปิดทองพระธาตุพนมส่วนยอดประมาณ ๑๐ เมตร
จนถึงก้านฉัตร ได้ขอแรงพระภิกษุสามเณรวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารช่วยทำ ใช้เวลาทำงานอยู่ ๑ เดือน
กับ ๑๕ วัน จึงเสร็จเรียบร้อยดี

. พ.ศ. ๒๕๑๑ ทางวัดได้ขอแรงพระภิกษุสามเณรวัดพระธาตุพนม ลงรักปิดทองลวดลายองค์พระธาตุพนมช่วงบน
ซึ่งทำการประดับใน พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๘๔ ส่วนยอดสูงประมาณ ๕ เมตร ได้เอาแผ่นทองเหลืองหุ้มแล้วจึงลงรักปิดทอง
ใช้เวลาทำงาน ๒ เดือนกว่าจึงแล้วเสร็จ

๑๐. ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ องค์พระธาตุพนมได้หักล้มลงไปทางทิศตะวันออกทั้งองค์
ทับวัตถุก่อสร้าง ๆ ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น เช่น หอพระทางทิศเหนือและทิศใต้ ศาลาการเปรียญและพระวิหารหอพระแก้วเสียหายหมด ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากฐานหรือพระธาตุชั้นที่ ๑ ซึ่งสร้างในสมัยแรกนั้นเก่าแก่มาก
และไม่สามารถทานน้ำหนักส่วนบนได้ จึงเกิดพังทลายลงมาดังกล่าว

๑๑. วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๘ หลังจากองค์พระธาตุพนมพังทลายแล้ว ๒๐ วัน เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร
ได้ลงมือทำการรื้อถอนและขนย้ายซากปรักหักพังขององค์ พระธาตุพนม ใช้แรงงานคนงานจำนวน ๕๐ คน
ใช้เวลาในการรื้อถอนและขนย้ายอยู่ ๑๗๐ วันจึงเสร็จเรียบร้อยดี

๑๒. วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๘ ทำพิธีบูชาพระธาตุพนมและบวงสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษตลอดถึงเทพเจ้า
ผู้ พิทักษ์องค์พระธาตุพนม และอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระธาตุจำลองชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อความสะดวก
ในการก่อสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่ เมื่อสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่เสร็จแล้ว
จะได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ที่เดิม

ในพิธีนี้มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระพิมลธรรม ( อาสภมหาเถระ )
เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และในขณะเดียวกันก็ได้อัญเชีญเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่พระธาตุ จำลองด้วย

๑๓. วันที่ ๑๗ - ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๘ ( หลังจากองค์พระธาตุพนมหักพังแล้ว ๖๒ วัน ) ได้พบพระอุรังคธาตุ
หรือกระดูกส่วนหัวอกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรจุอยู่ในผอบแก้ว หรือหลอดแก้ว
ซึ่งมีสัณฐานคล้ายรูปหัวใจ ผอบแก้วใบนี้หุ้มทองมีช่องเจาะสี่ด้าน มีฝาทองคำปิดสนิทสูง ๒.๑ เซนติเมตร
มีสีขาวแวววาวมาก คล้ายกับแก้วผลึก ภายในผอบมีน้ำมันจันทน์หล่อเลี้ยงอยู่
และมีพระอุรังคธาตุบรรจุอยู่ ๘ องค์

๑๔. วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘ ( หลังจากพบพระอุรังคธาตุแล้ว ๒ เดือน ๒๕ วัน )
ได้จัดสมโภชพระอุรังคธาตุขึ้นรวม ๗ วัน ๗ คืน งานเริ่มวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๙

ในงานนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงเสด็จมาเป็นประธานในพิธี
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์สถานที่ประกอบพิธีอยู่ที่
สนามหญ้าหน้าบริเวณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุพนม

๑๕. วันที่ ๑๐ - ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ทางวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ได้จัดงานเทศกาลประจำปี
ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออบมาให้พุทธศาสนิกชนสักการะบูชา และนำสิ่งของที่พบในองค์พระธาตุพนม
ออกมาให้ประชาชนชมตลอดงาน

๑๖. วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๙ บริษัท อิตาเลียน - ไทย ได้ขุดหลุมลงเข็มรากพระธาตุพนมองค์ใหม่
ต่อมาวันที่ ๒๘ - ๒๙ พฤษภาคม ศกเดียวกัน ทางวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อันมีพระเทพรัตนโมลี
เป็นประธาน ได้ทำพิธีลงเข็มรากพระธาตุพนมเพื่อเป็นปฐมฤกษ์ในการก่อสร้างพระธาตุพนมองค์ ใหม่

๑๗. วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๑๙ สมเด็จพระสังฆราช ได้เสด็จมาเยี่ยมคณะสงฆ์และประชาชนทั่วัดพระธาตุพนม
ได้ตรวจดูการก่อสร้างองค์พระธาตุพนม และได้ทรงนมัสการพระอุรังคธาตุด้วย

๑๘. วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๙ ถึงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๒๐ ทางวัดได้ขอแรงประชาชนในเขตอำเภอธาตุพนม
มาขนเศษอิฐเศษปูนจากบริเวณสนามหญ้าข้างในวิหารคตออกไปกองไว้ข้างนอกทางด้าน
ทิศเหนือ ซึ่งอยู่ใกล้หอพระนอน

๑๙. วันที่ ๑๙ มกราคม ถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ทางวัดได้จัดงานเทศกาลประจำปี
ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ออกไปให้ประชาชนชมและสักการะบูชาอีก และมีการแสดงนิทรรศการ
ของโบราณเหมือนปีก่อน

 


พระธาตุพนม


๒๐. วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๐ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้ลงมือประดับตกแต่งลวดลายองค์พระธาตุพนม

๒๑. วันที่ ๑๗ - ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ ทางวัดได้จัดงานเทศกาลประจำปี ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ
ออกมาให้ประชาชนได้สักการะบูชาจนตลอดงาน พระเทพรัตนโมลี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
เจ้าคณะจังหวัดนครพนม และนายสมพร กลิ่นพงษา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธีอัญเชิญ
ได้ทำพิธีแห่โดยตั้งขบวนแห่ที่ถนนหน้าวัดแล้วเดินทางไปตามถนนชยางกูร เลี้ยวเข้าถนนหน้าพระธาตุพนมจำลอง
ตรงไปยังเบญจาซึ่งตั้งอยู่สนามหญ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือพระธาตุ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เบญจา
เสร็จงานแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เดิม ในงานนี้มีการแสดงนิทรรศการเหมือนปีก่อนฯ

๒๒. วันที่ ๖ - ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ ทางวัดได้จัดงานนมัสการพระธาตุพนมประจำปีเหมือนปีก่อน ๆ
และได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุออกมาให้พุทธศาสนิกชนสักการะบูชาตลอดงาน พระเทพรัตนโมลี
เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร และนายพิชิต ลักษณะสมพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
เป็นประธานในพิธีอัญเชิญ ได้ทำพิธีแห่รอบองค์พระธาตุ ๑ รอบ แล้วจึงได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานไว้
บนพระเบญจาตลอด ๗ วัน ในวันสุดท้ายของงานพระเทพรัตนโมลี พร้อมด้วยพระสงฆ์และญาติโยม
ได้ทำพิธีคาระวะพระอุรังคธาตุ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เดิม ในงานนี้มีการนำเอาของมีค่า
ซึ่งค้นพบที่องค์พระธาตุพนมออกมาให้ประชาชนได้ชม จนตลอดงานเหมือนปีที่แล้วมา

๒๓. วันที่ ๒๑ - ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๒ ทางรัฐบาลได้จัดพระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาเป็นประธานในพิธีบรรจุ ในวันแรกของงานได้ทำพิธี
แห่พระอุรังคธาตุ ในวันที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกทรงเป็นประธานยกฉัตรพระธาตุ
ในวันที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จมาทรงบรรจุพระอุรังคธาตุ


สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิม

คำไหว้พระธาตุพนม
ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฏฐิมายะ
อุปะริมายะ ทิสายะ กะปะณะ คิริสมิง ปัพพะเต มหากัสสะเปนะ
ฐาปิตัง พุทธะอุรังคธาตุง สิระสา นะมามิ

คำไหว้ยอดพระธาตุพนม
เสตะฉัตตัง สุวัณณะระชะตัง ระตะนัง ปะณีตัง พุทธะอุรังคะเจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

ที่มา สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดนครพนม
http://www.songnkp.com/



ประวัติวัดพระธาตุพนม สถูปอิฐเดิมพระธาตุนม        ภาพเก่าพระธาตุพนม      ศิลปะสถาปัตยกรรม
คำบูชาพระธาตุพนม ๑๐ ทิศ พระธาตุพนมล้ม ๗ พระธาตุประจำวันเกิด พระธาตุประจำปีเกิด

 กลับสู่หน้าหลัก