ลักษณะและที่ตั้งสถูป
สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิม ตั้งอยู่เกาะกลางสระน้ำหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากองค์พระธาตุพนมประมาณ ๒๐๐ เมตร และห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง
ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศลาวประมาณ ๒๕ๆ เมตร มีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยม
สูงจากระดับพื้น ประมาณ ๑๔ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสูง ๖ๆ เซนติเมตร ข้างในใช้เก็บรักษาเศษอิฐเศษปูน
พระธาตุพนมองค์เดิม ซึ่งหักพังทลายลงในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ นอกจากนี้ ยังบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระอรหันตธาตุ พระพุทธรูป อัญมณี และวัตถุมงคลอื่น ๆ เป็นจำนวนมากอีกด้วย
กรุสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพร้อมทั้งสิ่งของอันมีค่า ได้จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ ส่วนกว้าง ๑.๕๐ เมตร
ยาว ๒ เมตร สูง ๑.๕๐ เมตร
สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิม |
การดำเนินการก่อสร้าง
ก่อนอื่น ต้องย้อนไปดูเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นกับองค์พระธาตุพนมเมื่อ ๒๕ ปีล่วงแล้ว
เราจึงจะรู้ที่ไปที่มาของเศษอิฐเศษปูนที่เก็บรักษาอยู่ในสถูปโดยแจ่มแจ้ง กล่าวคือ
เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๘ น. พระธาตุพนมซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง
ของประเทศไทย และเป็นจุดศูนย์รวมแห่งการเคารพบูชาของชาวพุทธในลุ่มแม่น้ำโขงมาช้านาน
ประมาณ ๒, ๐๐๐ กว่าปี ได้หักพังทลายลงไปทางทิศตะวันออกทั้งองค์ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากพระธาตุช่วงล่าง
หรือช่วงที่หนึ่งเก่าแก่และชำรุดมาก ไม่สามารถทานน้ำหนักช่วงบนไว้ได้จึงเป็นเหตุให้หักพังลงมาดังกล่าวแล้ว
ทางรัฐบาลได้ดำเนินการก่อสร้างใหม่ในปีต่อมา โดยสร้างด้วยคอนกรีตครอบฐานองค์เดิม
ซึ่งยังเหลืออยู่ประมาณ ๖ เมตร
ก่อนจะลงมือก่อสร้าง เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรร่วมกับทางวัดพระธาตุพนม โดยขนไปเก็บไว้ที่สนามด้านตะวันออก
หอพระนอนหรือหอพุทธไสยาสน์ ซึ่งอยู่นอกวิหารคตทางด้านเหนือองค์พระธาตุพนม เป็นการเก็บไว้ชั่วคราว
ในขณะเดียวกันนั้นก็คัดเลือกเอาอิฐส่วนที่สมบูรณ์และมีลวดลายแยกไว้ต่างหาก อิฐจำนวนนี้ส่วนมาก
ได้เก็บไว้ที่ที่วิหารคตทางทิศใต้องค์พระธาตุพนมทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการก่อสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่
ต่อมาเมื่อสร้างโครงพระธาตุด้วยคอนกรีตแล้วเสร็จ ก็ทำการตบแต่งด้วยลวดลาย
อิฐลวดลายที่คัดเลือกไว้ก่อนหน้านี้นั้นไม่สามารถนำไปปะติดปะต่อประกอบเป็นลวดลายได้ทั้งหมด
ทำได้เป็นบางตอนที่ช่วงล่างเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะพระธาตุพนมองค์ใหม่เล็กกว่าองค์เก่า คือ ที่ช่วงล่าง
หรือช่วงที่หนึ่งเล็กกว่าองค์เก่าหรือองค์เดิมด้านละประมาณ ๕ เซนติเมตร อีกประการหนึ่งอิฐลวดลาย
ที่คัดเลือกไว้นั้นมีไม่ครบ ชำรุดและหายไปก็มาก ไม่สามารถนำมาต่อกันให้เป็นลวดลายได้
อิฐลายส่วนที่เหลืออยู่จำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรให้คนงานนำไปเก็บไว้ที่โรงเก็บพัสดุก่อสร้าง
ซึ่งอยู่ด้านเหนือโรงเรียนพนมวิทยาคาร ต่อมาได้รื้อถอนโรงเก็บพัสดุก่อสร้าง ทางวัดพระธาตุพนม
ได้นำไปเก็บไว้ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมรัตนโมลีศรีโคตบูร
สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิม |
พ.ศ. ๒๕๒๕ หลังจากสร้างพระธาตุพนมแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์เป็นเวลา ๓ ปีเศษ
ทางวัดได้ขนย้ายเศษอิฐเศษปูนของพระธาตุพนมองค์เดิม ซึ่งกองรวมกันอยู่ที่สนามหญ้า
ทางตะวันออกหอพระนอน เอาไปเก็บไว้ที่เกาะกลางสระน้ำหน้าวัดพระธาตุพนม
พ.ศ. ๒๕๓๕ ทางวัดพระธาตุพนมได้ขุดลอกสระน้ำหน้าวัด ทางด้านใต้และด้านเหนือ
ได้ตบแต่งขอบสระน้ำให้สวยงามและมั่นคงด้วยหินทรายทั้ง ๒ สระ ในปีนั้นก็ได้มีโครงการจะสร้างสถูป
อิฐพระธาตุพนมด้วย แต่ไม่อาจดำเนินการได้ เพราะทุนทรัพย์ไม่พอ ส่กิวนทุนทรัพย์ที่มีอยู่ในขณะนั้น
ก็ได้เอาไปสร้างสิ่งที่จำเป็นกว่า ซึ่งจะต้องใช้โดยรีบด่วนเช่น เมรุเผาศพ ศาลาบำเพ็ญกุศล
และกุฏิที่พักพาอาศัยของพระภิกษุสามเณรเป็นต้น แต่ได้รวบรวมเศษอิฐพระธาตุซึ่งยังกระจัดกระจายอยู่
ในที่อื่นภายในวัด และที่อยู่ที่เกาะกลางสระน้ำหน้าวัดเอามากองพูนกันขึ้นเหมือนจอมปลวกสูงประมาณ ๕ เมตร
เพื่อเตรียมก่อสร้างสถูปครอบภายหลัง ได้ใช้อิฐก่อสร้างเป็นตัวอักษรไว้ที่ขอบสระ เพื่อให้คนที่เดินทางผ่านไปมา
ได้รู้ว่าเรามีโครงการก่อสร้างสถูป เพื่อเก็บรักษาอิฐพระธาตุพนมองค์เดิมไว้ไม่ให้สูญหาย ตักอักษรที่ขอบสระมีอยู่ด้วยกัน ๓ ด้านคือ ด้านเหนือ ด้านตะวันออก และด้านใต้ มีใจความวว่า “ สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิม”
นอกจากนี้ ยังใช้อิฐก่อเป็นตัวเลขบอก พ.ศ. ที่ขุดลอกสระว่า “ ๒๕๓๕” อีกด้วย
จาก พ.ศ. ๒๕๓๕ จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นเวลา ๗ ปี จึงได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นองค์สถูปขึ้น
คุณปัฐวาท สุขศรีวงศ์ กรุงเทพมหานคร และคณะอันประกอบด้วย คุณศิริธัช โรจนพฤกษ์
พล.โท ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นต้น มีศรัทธาเป็นเจ้าภาพบริจาคทุนทรัพย์ในการดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด
จำนวน ๒, ๖๒๐, ๐๐๐ (สองล้านหกแสนสองหมื่นบาทถ้วน) รายละเอียดในการก่อสร้างสถูกมีดังนี้
พระครูพนมธรรมโฆสิต (ดร. พระมหาสม สุมโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
โดยการอนุมัติของเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร คือ พระธรรมปริยัติมุนี เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง
โดยให้มีรูปทรงคล้ายกันกับองค์พระธาตุพนมยุคแรก คือ ยุค พ.ศ. ๘ หรือที่เรียกกันว่าพระธาตุพนมช่วงแรก
ได้ว่าจ้างคนงานในถิ่นนี้มาทำจำนวน ๓๐ คน ให้นายสว่าง ต้นเงิน เป็นหัวหน้าควบคุมดูแล
พระครูพนมธรรมโฆสิต เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด
วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ก่อนลงมือทำการก่อสร้าง ได้นิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูป
มาสวดพุทธมนต์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และหว่านหินลูกกรวดและทราย ซึ่งทำการปลุกเสกดีแล้ว
ในจุดที่จะทำการก่อสร้าง
ฐานสถูปสูง ๖๐ เซนติเมตร กว้างด้านละ ๑๖ เมตร องค์สถูปกว้างด้านละ ๑๒ เมตร
เทเสาด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน ๑๒ ต้น มีคานยึด ๔ แห่ง เทคอนกรีตเสริมเหล็ก
เป็นผนังด้านในสุด สูง ๘ เมตร ใช้อิฐใหม่ก่อทาบผนังคอนกรีต ใช้อิฐเก่าสลับอิฐใหม่ก่อทาบอีกชั้นหนึ่ง
ระหว่างหนังอิฐใหม่และผนังอิฐเก่าผสมอิฐใหม่ ได้เทคอนกรีตเสริมเหล็กเชื่อมหนา ๑๐ เซนติเมตร
สรุปแล้วผนังสถูปมี ๔ ชั้นคือ
๑. ด้านในคอนกรีตเสรอมเหล็ก
๒. อิฐใหม่ก่อเรียงกันขึ้นตามแนวผนังคอนกรีต
๓. คอนกรีตเสริมเหล็กเชื่อมระหว่างผนังอิฐเก่าและอิฐใหม่
๔. อิฐเก่าและอิฐใหม่เป็นผนังชั้นนอกสุด
สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิม |
สำหรับอิฐลวดลายองค์พระธาตุพนมองค์เดิม ซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมรัตนโมลีศรีโคตรบูรนั้น
ได้นำมาก่อติดผนังด้านนอกทั้ง ๔ ด้าน เนื่องจากอิฐลวดลายที่คัดเลือกแล้วนั้นมีเหลืออยู่ไม่มาก
ที่ชำรุดและสูญหายไปก็มาก จึงไม่สามารถประกอบเป็นลวดลายที่สมบูรณ์ได้เหมือนเดิม อย่างไรก็ดี
อิฐลวดลายซึ่งมีอยู่ขณะนี้ ก็พอถือเอาเป็นข้อมูลในการศึกษาด้านโบราณคดีได้
เมื่อเทคอนกรีตและก่ออิฐสูง ๘ เมตรแล้ว จากนั้นก็ได้ก่อหลังคามุงไว้สูงประมาณ ๖ เมตร
สถูปรวมสูง ๑๔ เมตร หรือจะเรียกว่า “ อูบมุง) ก็ได้ไม่ผิด หลังคามีลักษณะกลมเหมือนโอคว่ำ
ต่างแต่ยอดสุดมีรูปปั้นดอกบัว ๕ ดอกเท่านั้น
รูปดอกบัวปั้นที่หลังคาทั้ง ๕ ดอกนั้น ๔ ดอกเป็นดอกบัวที่บานแล้ว
อีกดอกยังตูมอยู่ ยังไม่บาน ซึ่งก็มีความหมายดังนี้
ในภัททกัปนี้ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๕ องค์ ๔ องค์ตรัสรู้ไปแล้ว ปละปรินิพพานไปแล้ว
อันได้แก่ พระกกุสันธะ, พระโกนาคมนะ, พระกัสสปะ และพระโคตมะ เหมือนดอกบัวที่บ้านแล้ว
และร่วงโรยไปแล้ว อีกหนึ่งองค์ จะมาตรัสรู้ในภายหน้า ในปลายภัททกัปนี้ ซึ่งได้แก่ พระศรีอริยเมตไตย์
เหมือนดอกบัวที่ยังตูมอยู่แต่จะบานในภายภาคหน้า
ที่มา
https://missmamyna 1.wordpress.com/ พระธาตุพนมองค์เดิม |