สีมา
คำว่า "สีมา" แปลว่า "เขต หรือ แดน"
สีมา ๒ ประเภท
สีมา นั้น มีอยู่ ๒ ประเภท คือ :-
๑. พัทธสีมา แดนที่ผูก
๒. อพัทธสีมา แดนที่ไม่ได้ผูก
พัทธสีมา
คำว่า "พัทธสีมา" แปลว่า "แดน หรือ เขต ที่ผูกแล้ว"
ความหมาย,- พัทธสีมา หมายถึง เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง โดยจัดตั้งนิมิต คือ
สิ่งที่เป็นเครื่องหมายกำหนดเอาไว้
การกำหนดเขต ซึ่งได้ชื่อว่า "พัทธสีมา" สงฆ์ได้รับพระพุทธานุญาต ให้กำหนดเอาเอง
ตามความพอใจ แต่พระองค์ทรงจำกัดไว้ ทั้งฝ่ายข้างเล็กและฝ่ายข้างใหญ่ คือ.-
๑. ขนาดเล็ก ต้องจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ซึ่งนั่งเข้าหัตถบาสกัน
๒. ขนาดใหญ่ ต้องไม่เกิน ๓ โยชน์
สีมาที่สงฆ์สมมติเล็กเกินไป หรือใหญ่เกินไปกว่าที่กำหนดนี้ จัดเป็นสีมาวิบัติ ใช้ไม่ได้
เหตุที่ทรงกำหนดเช่นนั้น
เหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกำหนดจำกัดสีมาทั้งข้างเล็กและข้างใหญ่ไว้เช่นนั้น
ก็เพราะว่า
๑. สีมาเล็กเกินไป จนจุภิกษุไม่ได้ ๒๑ รูป ทำอัพภานกรรมไม่ได้
๒. สีมาใหญ่เกินไป เหลือที่จะระวังรักษา
อัพภานกรรม เป็นสังฆกรรมที่ต้องการสงฆ์จำนวน ๒๐ รูป เพื่อประชุมกันสวด
ระงับอาบัติสังฆาทิเสส โดยนั่งเข้าหัตถบาสกัน และรวมกันกับภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นด้วยอีก ๑ รูป
จึงเป็น ๒๑ รูป ถ้าเล็กเกินไป ก็ไม่พอที่จะทำอัพภานกรรม
พระมติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ
สำหรับข้อที่ว่าใหญ่เกินกว่า ๓ โยชน์ นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระองค์ทรงมีพระมติว่า น่าจะเห็นว่าสงฆ์ได้รับประโยชน์ ๒ อย่าง คือ.-
๑. ได้ขยายเขตไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรกว้างออกไป
๒. ได้ขยายเขตนิสัยออกไป
นิมิต ๘ ชนิด
คำว่า "นิมิต" แปลว่า "เครื่องหมาย"
ความหมาย.- นิมิต ในที่นี้ หมายถึง วัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมายกำหนดเขตแห่งสีมา
วัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมายกำหนดเขตแห่งสีมานั้น มี ๘ ชนิด คือ.-
๑. ปพฺพโต ภูเขา
๒. ปาสาโณ ศิลา
๓. วนํ ป่า
๔. รุกฺโข ต้นไม้
๕. วมฺมิโก จอมปลวก
๖. มคฺโค หนทาง
๗. นที แม่น้ำ
๘. อุทกํ น้ำ
๑. ภูเขาที่ใช้ได้ ๓ ชนิด
ภูเขา ที่ใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น มี ๓ ชนิด คือ.-
๑. สุทฺธปํสุปพฺพโต ภูเขาดินล้วน
๒. สุทฺธปาสาณปพฺพโต ภูเขาศิลาล้วน
๓. อุภยมิสฺสกปพฺพโต ภูเขาศิลาปนดิน
๒. ศิลาที่ใช้ได้ ๔ ชนิด
ศิลาที่ใช้ได้ นั้น มี ๔ ชนิด คือ.-
๑. ศิลาแท้ หรือ ศิลาเจือแร่
๒. มีสัณฐานโตไม่ถึงช้าง เท่าศรีษะโคหรือกระบือเขื่องๆ
๓. เป็นศิลาแท่งเดียว
๔. มีขนาดเล็กเท่าก้อนน้ำอ้อย หนัก ๓๒ ปละ คือ ประมาณ ๕ ชั่ง
ศิลาที่ใช้ได้อีก ๓ ชนิด คือ.-
๑. ศิลาดาด
๒. ศิลาเทือก
๓. ศิลาดวด
๑. ศิลาดาด
คำว่า "ศิลาดาด" หมายถึง หินที่เป็นแผ่นราบใหญ่
๒. ศิลาเทือก
คำว่า "ศิลาเทือก" หมายถึง หินที่ตัดกันเป็นพืดยาว
๓. ศิลาดวด
คำว่า "ศิลาดวด" หมายถึง หินที่สูงขึ้นไปบนพื้นดิน
๓. ป่า
องค์ ๒ ของป่าไม้
ป่าไม้ที่นับว่าใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ ประการ คือ.-
๑. หมู่ไม้มีแก่น หรือ ชนิดเดียวกับไม้มีแก่น
๒. ขึ้นเป็นหมู่กันอย่างต่ำต้อง ๔ หรือ ๕ ต้น
๔. ต้นไม้
ต้นไม้นั้น ใช้ต้นไม้มีแก่นเพียงต้นเดียว และยังเป็นอยู่ เป็นต้นไม้ซึ่งเกิดจากพื้นดิน
หรือเป็นต้นไม้ที่ปลูกเอง
ขนาดของต้นไม้
ต้นไม้ที่นับว่าใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น ต้องมีขนาดดังนี้ คือ.-
๑. สูงอย่างน้อย ๘ นิ้ว
๒. ใหญ่ประมาณเท่าเล่มเข็ม
ต้นไม้ที่ใช้ไม่ได้
ต้นไม้ที่ใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาไม่ได้นั้น คือ.-
๑. ต้นไม้ที่ปลูกอยู่ในกระถาง
๒. ต้นไม้ที่แห้งตายไปเอง
๓. ต้นไม้ที่เฉาตายไปเอง
๕. จอมปลวก
จอมปลวก นั้น เป็นจอมปลวกที่ตั้งขึ้นมานานแล้ว หรือเพิ่งตั้งขึ้นในวันนั้น ก็ใช้ได้
ขนาดของจอมปลวก
จอมปลวกที่นับว่าใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น ต้องมีขนาดดังนี้ คือ.-
๑. สูงได้ ๘ นิ้ว
๒. ใหญ่เท่าเขาโค
๖. หนทาง
หนทาง นั้น ต้องเป็นหนทางที่คนใช้เดิน หรือทางเกวียนที่ยังใช้อยู่ ผ่านไปเพียง
ระยะ ๒ - ๓ บ้าน
ทางที่ใช้ไม่ได้
ทางที่่นับว่าใช้นิมิตแห่งสีมาไม่ได้ นั้น คือ.-
๑. ทางที่ไม่ได้ใช้
๒. ทางที่แยกออกจากทางใหญ่ ได้หน่อยหนึ่งแล้ววกกลับเข้ามาบรรจบกับทางใหญ่อีก
๗. แม่น้ำ
แม่น้ำ นั้น ที่ใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้ มีลักษณะ คือ.-
๑. มีกระแสน้ำไหลอยู่เสมอ แม้ฝนไม่ตกก็ไม่แห้ง
๒. ไม่เป็นแม่น้ำตัน คือ มีน้ำไหลอยู่เสมอ
๘. น้ำ
น้ำที่นับว่าใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น ต้องเป็นน้ำนิ่งที่ขังอยู่กับที่ไม่ไหล คือ.-
๑. น้ำในหนอง
๒. น้ำในบึง
๓. น้ำในบ่อ
๔. น้ำใสสระ (ชาตสระ สระที่เกิดขึ้นเอง)
น้ำที่ใช้เป็นนิมิตไม่ได้
ในอันธกอรรถกถาปกรณ์เก่า ท่านห้ามไม่ให้ถือเอาน้ำในบ่อลึก ซึ่งต้องใช้คันโพง
หรือวัตถุอย่างอื่นตักขึ้นมา เป็นนิมิต เพราะว่าในบ่อเช่นนั้น น้ำมีน้อย อาจวิดแห้งได้
มติของพระอรรถกถาจารย์
ท่านพระอาจารย์ผู้รจนาอรรถกถาปกรณ์มหาวรรค กล่าวไว้ว่า น้ำที่ใช้เป็นนิมิตแห่งสีมานั้น
ใช้น้ำนิ่ง แม้ในแอ่งที่สุกรขุด แม้ในที่เล่นของพวกเด็กชาวบ้าน โดยที่สุด น้ำที่เขาตักมาด้วยหม้อ
เทลงให้เต็มในหลุมอันขุดใหม่ในทันใดนั้น ถ้าพอจะขังอยู่ตลอดสวดกรรมวาจาจบ เหลืออยู่น้อยก็ตาม
มากก็ตาม เป็นใช้ได้ แต่ในที่นั้น ควรทำกองศิลา กองทราย กองดิน หรือปักหลักศิลา
หลักไม้ไว้เป็นเครื่องกำหนด
น้ำนิ่งตามมติของพระอรรถกถาจารย์นั้น มีลักษณะดังนี้ คือ.-
๑. น้ำในแอ่งที่สุกรขุด
๒. น้ำที่พวกเด็กชาวบ้านใช้เล่นกัน
๓. น้ำที่เขาใช้หม้อเป็นต้น ตักมาเทลงในหลุมที่ขุดใหม่
น้ำนิ่งตามลักษณะทั้ง ๓ ประการ ที่กล่าวมานี้ ใช้ได้ แต่ต้องทำเครื่องหมายอย่างใด
อย่างหนึ่งไว้ คือ.-
๑. ต้องทำกองหินไว้
๒. ต้องทำกองทรายไว้
๓. ต้องทำกองดินไว้
๔. ต้องปักหลักเสาหินไว้
๕. ต้องปักหลักเสาไม้ไว้
เครื่องหมายทั้ง ๕ ชนิด ดังกล่าวมานี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมใช้ได้
|