วิธีผูกพัทธสีมา

วิธีผูกพัทธสีมาในบัดนี้
หัวข้อแห่งการผูกพัทธสีมา ที่ปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ ทำดังนี้ คือ.-
     ๑. พื้นที่ซึ่งจะสมมติเป็นสีมา ต้องได้รับอนุญาตจากบ้านเมืองก่อน
     ๒. ต้องประชุมภิกษุผู้อยู่ในเขตสีมา หรือนำฉันทะของเธอมา
     ๓. ต้องสวดถอน
     ๔. จัดเตรียมนิมิตไว้ตามทิศ
     ๕. เมื่อสมมติสีมา ต้องประชุมภิกษุผู้อยู่ในนิมิต
     ๖. ทักนิมิต
     ๗. สวดสมมติสีมา

๑. พื้นที่สีมาต้องรับอนุญาตก่อน
พื้นที่ซึ่งจะสมมติให้เป็นสีมานั้น ต้องได้รับอนุญาตจากบ้านเมืองก่อน นั้นหมายความว่า
ต้องขอพระราชทานวิสุงคามสีมาให้ได้ก่อน

๒. ต้องประชุมภิกษุในเขตสีมาหรือนำฉันทะมา

ข้อว่า ต้องประชุมภิกษุผู้อยู่ในเขตสีมา หรือนำฉันทะของเธอมานั้น หมายความว่า
ต้องประชุมภิกษุที่อยู่ในเขตสีมาทั้งหมด หรือนำฉันทะของเธอมา ให้ถูกต้องตามระเบียบ
ของสังฆกรรม

๓. ต้องสวดถอน
ต้องประชุมสวดถอนเป็นแห่ง ๆ ไป จนกว่าจะเห็นพอดีกับสถานที่

การสวดถอนนี้ ต้องสวดถอนติจีวราวิปวาสก่อน แล้วจึงสวดถอนสมานสังวาสสีมาภายหลัง

การสวดถอนนี้ กระทำล่วงหน้าไว้ก่อนก็ได้ หรือจะสวดถอนในวันผูกพัทธสีมานั้นก็ได้

๔. จัดเตรียมนิมิตไว้ตามทิศ
จัดเตรียมนิมิตไว้ตามทิศนั้น หมายถึง ต้องจัดเตรียมลูกนิมิตวางไว้ ๘ ทิศ หรือ ๔ ทิศ
ตามต้องการในที่เท่านั้น แล้วจัดคนไว้สำหรับคอยห้ามภิกษุอื่น ไม่ให้ผ่านเข้าไปในเวลานั้น
ตรวจดูหลุมนิมิตโดยรอบ ไม่ให้ลึกมากไป กะว่าเวลาทักนิมิตสามารถมองเห็นลูกนิมิตได้

๕. เมื่อสมมติต้องประชุมภิกษุที่อยู่ภายในนิมิต
เมื่อจะสมมติสีมา ต้องประชุมภิกษุอยู่ในภายในนิมิตทั้งหมด เพื่อให้ถูกต้อง
ตามระเบียบของการทำสังฆกรรม

๖. การทักนิมิต
การทักนิมิตนั้น กระทำต่อจากการสวดถอนเสร็จแล้ว ภิกษุผู้ทักนิมิตนั้นใช้ ๔ รูปก็พอ
นอกจากนั้นอยู่ในโรงอุโบสถ หรือจะออกไปทักทั้งหมดก็ได้

สำหรับภิกษุรูปที่จะทักนิมิตนั้น ต้องยืนอยู่ภายในนิมิต จะทักนิมิตทิศใด
ต้องยืนหันหน้าไปทางทิศนั้น

วิธีทักนิมิต
วิธีทักนิมิตนั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ทิศบูรพาเป็นต้นไป โดยเวียนขวา ไปจนถึงทิศอีสาน
แล้วจึงกลับมาทักทิศบูรพาอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ สีมาจึงจะเชื่อมกัน ชื่อว่า นิมิตไม่ขาด

ในเวลาทักนิมิต นั้น ต้องมีคนคอยตอบอยู่ภายนอก เพื่อให้แน่ว่าในทิศนั้น
มีอะไรเป็นนิมิต เช่น ทักถามในทิศ บูรพาว่า.-
     "ปุรตฺถิมาย ทิสาย กึ นิมิตฺตํ
แปลว่า "ในทิศตะวันออก อะไรเป็นนิมิต"
ผู้ตอบ ตอบว่า "ปาสาโณ ภนฺเต"
แปลว่า "หิน เจ้าข้า"
ผู้ทัก ต้องทักซ้ำอีครั้งหนึ่งว่า.-
      "เอโส ปาสาโณ นิมิตฺตํ"
แปลว่า "ศิลานั้น เป็นนิมิต"
ผู้ทักนิมิต ต้องทักในลักษณะเช่นนี้ ไปจนกว่าจะครบทั้ง ๘ หรือ ๔ ทิศ แล้วกลับมา
ทักทิศบูรพาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

ถ้าไม่กลับมาทักทิศบูรพาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ท่านปรับว่า "แนวนิมิตขาด"

๗. การสวดสมมติสีมา
การสวดกรรมวาจาสมมติสีมา นั้น กระทำหลังจากที่ทักนิมิตจนครบหมดทุกทิศแล้ว
การสวดนั้นต้องเข้าไปในโรงอุโบสถ แล้วภิกษุผู้ฉลาดสามารถรูปหนึ่ง เป็นผู้สวด
กรรมวาจาสมมติสีมา

คุณสมบัติของภิกษุผู้สวดกรรมวาจาสมมติสีมา
ภิกษุผู้สวดกรรมวาจาสมมติสีมา นั้น ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้ คือ.-
     ๑. ฉลาดเข้าใจในอักขรวิธีที่จะสวด
     ๒. สามารถสวดได้ชัดเจนถูกอักรวิธี
     ๓. ไม่อาพาธเป็นโรคเสียงแหบเครือ

ขั้นตอนการสวด
การสวดกรรมวาจาสมมติสีมา นั้น พึงสวดกรรมวาจาสมมติเขตภายในนิมิต เป็นสมานสังวาสสีมา
ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา แล้วดสวดสมมติติจีวราวิปปวาส เป็นอันเสร็จพิธี

บุรพกิจแห่การผูกพัทธสีมา
บุรพกิจ คือ กิจที่ต้องกระทำก่อนการสวดสมมติสีมานั้น มี ๓ ประการ คือ.-
     ๑. สวดถอนติจีวราวิปปวาสสีมา
     ๒. สวดถอนสมานสังวาสสีมา
     ๓. การทักนิมิต

มัชฌิมกิจแห่งการผูกพัทธสีมา
มัชฌิมกิจ คือ กิจที่จะต้องทำในระหว่างการสวดสมมติสีมา มี ๒ ประการ คือ.-
     ๑. สวดสมมติสมานสังวาสสีมา
     ๒. สวดสมมติติจีวราวิปปวาสสีมา

ส่วน ปัจฉิมกิจแห่งการผูกพัทธสีมา นั้น ไม่มี

การทักนิมิตสีมาสองชั้น มี ๒ วิธี คือ.-
     ๑. ทักสลับกัน
     ๒. ทักข้ามลูก

ประโยชน์ของการสมมติสีมาสองชั้น มี ๓ คือ.-
     ๑. เขตนิสัย เขตลาภ แผ่ไปทั่วถึง
     ๒. ของสงฆ์อาจรวมเป็นเจ้าของคนเดียวกัน
     ๓. สังฆกรรมทำได้สะดวก


สีมา พัทธสีมา อพัทธสีมา สีมาวิบัติด้วยเหตุ ๓
นิมิต ๘ ชนิด สมานสังวาสสีมา สีมาสังกระ ปุจฉา-วิสัชชนา
วิธีผูกพัทธสีมา แบบกรรมวาจาเนื่องด้วยสีมา คำทักนิมิต  


ที่มา หนังสืออธิบายวินัย สำหรับนักธรรมชั้นเอก
       ฉบับกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ จัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ ๒๕๓๑


 กลับสู่หน้าหลัก