อพัทธสีมา


อพัทธสีมา

คำว่า "อพัทธสีมา" แปลว่า "แดนที่ไม่ได้ผูก"

อพัทธสีมา แดนที่ไม่ได้ผูกนั้น มีอยู่ ๓ ประเภท คือ.-
     ๑. คามสีมา หรือ นิคมสีมา
     ๒. สัตตัพภันตรสีมา
     ๓.อุทกุกเขปสีมา

อพัทธสีมา นั้น เป็นแดนที่สงฆ์ไม่ได้กำหนดไว้ตายตัว กำหนดเอาตามทางบ้านเมืองกำหนดไว้
สงฆ์มีอำนาจเพียงถือเอาเป็นเขตประชุมสงฆ์ เพื่อทำสังฆกรรมเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ที่จะยึดถือเป็นเจ้าของ

๑. คามสีมา หรือ นิคมสีมา

คามสีมา หรือ นิคมสีมานั้นหมายถึง เขตหมู่บ้านหรือตำบลหนึ่ง ซึ่งบ้านเมืองกำหนดด้วยท้องที่
เช่น กำนันตำบลหนึ่ง หรือเขตในทั้งที่รวมหลายหมู่บ้าน หลายตำบล เข้าเป็นเขตหนึ่ง เช่น อำเภอ

ทรงอนุญาตให้กำหนดเอาเขตบ้าน เขตนิคมที่ตนเข้าอาศัยอยู่ ซึ่งฝ่ายอาณาจักรจัดไว้
เป็นเขตสามัคคีมีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน

เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ คือ.-
     คามสีมา ในปัจจุบัน คือ หมู่บ้าน หรือตำบล
     นิคมสีมา ในปัจจุบัน คือ อำเภอ

๒. สัตตัพภันตรสีมา
    คำว่า "สัตตัพภันตรสีมา" แปลว่า "สีมาภายในชั่ว ๗ อัพภันดร"
    ความหมาย.- สัตตัพภันตรสีมา หมายถึง เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นในป่า ซึ่งหาคนตั้งบ้านเรือนอาศัยไม่ได้
โดยวัดจากที่สุดแนวแห่งสงฆ์ออกไปด้านละ ๗ อัพภันดร โดยรอบ

    ๑ อัพภันดร เท่ากับ ๗ วา
    เพราะฉะนั้น ๗ อัพภันตร จึงเท่ากับ ๔๕ วา
    สัตตัพภันตรสีมา นี้ เป็นแดนกำหนดเขตแห่งสามัคคีในป่า

๓. อุทกุกเขปสีมา
    คำว่า "อุทกุกเขปสีมา" แปลว่า "เขตสามัคคีชั่ววักน้ำสาด"
    หมายถึง.- อุทกุกเขปสีมา หมายถึง เขตที่กำหนดลงในน่านน้ำ ชั่ววักน้ำสาดของบุรุษ
ผู้มีกำลังปานกลาง คือ ประมาณ ๓ วา

อุทกุกเขปสีมา ๓
    ในบาลีแสดงน่านน้ำ ที่สงฆ์จะกำหนดเป็นอุทกุกเขปสีมาได้ มี ๓ ประเภท คือ.-
          ๑. นที          แม่น้ำ
          ๒. สมุทร      ทะแล
          ๓. ชาตสระ   ที่ขังน้ำที่เกิดเองตามธรรมชาติ

๑. แม่น้ำ

     แม่น้ำ ที่ใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น ต้องมีลักษณะ ดังนี้.-
         ๑. มีกระแสน้ำไหลอยู่เสมอ แม้ฝนไม่ตกก็ไม่แห้ง
         ๒. ไม่เป็นแม่น้ำตัน คือ มีน้ำไหลอยู่เสมอ

๒. ทะเล
     ทะเล ที่ใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น หมายถึง น่านน้ำเค็ม ที่พ้นปากน้ำออกไป
ซึ่่งอยู่ในระหว่างฝั่งโอบทั้ง ๒ ข้าง

๓.ชาตสระ
    ชาตสระ ที่ใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น หมายถึง ที่ที่มีน้ำขังอยู่ซึ่งเกิดขึ้นมาเอง
ตามธรรมชาติ โดยเรียกชื่อต่าง ๆ กัน คือ.-
     ๑. บึง
     ๒. บ่อ
     ๓. สระ
     ๔. หนอง
     ๕. ทะเลสาบ

วิธีทำสังฆกรรมในน่านน้ำ

    วิธีทำสังฆกรรมในน่านน้ำทั้ง ๓ ประเภท ดังกล่าวมาแล้ว อย่างนี้ คือ.-
     ๑. เรือหรือแพนั้นผูกกับหลัก หรือทอดสมออยู่ จะทำบนเรือหรือแพนั้นก็ได้
     ๒. ให้ห่างจากตลิ่ง ชั่ววักน้ำสาด
     ๓. ไม่ให้ทำในเรือ หรือแพที่กำลังแล่น หรือลอยไปตามน้ำ

แม่น้ำที่เป็นแดนอุทกุกเขปสีมา
     แม่น้ำ ที่จะใช้เป็นแดนอุทกุกเขปสีมาได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ ประการ คือ.-
     ๑. แม่น้ำมีกระแสน้ำ มีน้ำไม่ขาดแห้งตลอดฤดูฝน
     ๒. ลึกพอจะเปียกผ้าอันตรวาสกของนางภิกษุนี ผู้ครองเป็นปริมณฑล เดินข้ามอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง

คลองที่ถือเป็นแม่น้ำ
     ลำคลองที่จะเป็นแม่น้ำได้นั้น ต้องประกอบด้วยลักษณะ ๒ ประการ คือ.-
     ๑. มีกระแสน้ำเซาะกว้างออกไป พ้นจากความเป็นคลองที่คนขุด เช่น ลำน้ำในระหว่างปากเกร็ด
     ๒. คลองนั้น เป็นทางแม่น้ำเก่า เช่น คลองบางใหญ่

สถานที่ทำกรรม ๓ ชนิด
    สถานที่ ที่จะใช้สำหรับทำสังฆกรรมในน่านน้ำ มี ๓ ชนิด คือ.-
     ๑. บนเรือ
     ๒. บนแพ
     ๓. บนร้านที่ปลูกขึ้นในน้ำ

หาดที่กำหนดเป็นอุทกุกเขปสีมา
     หาด ที่จะกำหนดเอา โดยฐาน เป็นอุทกุกเขปสีมาได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ.-
     ๑. หาดนั้นน้ำยังท่วมถึงแม้ในฤดูน้ำ
     ๒. ยังเป็นที่สาธารณะ ไม่เปิดให้จับจอง


สีมา พัทธสีมา อพัทธสีมา สีมาวิบัติด้วยเหตุ ๓
นิมิต ๘ ชนิด สมานสังวาสสีมา สีมาสังกระ ปุจฉา-วิสัชชนา
วิธีผูกพัทธสีมา แบบกรรมวาจาเนื่องด้วยสีมา คำทักนิมิต  


ที่มา หนังสืออธิบายวินัย สำหรับนักธรรมชั้นเอก
       ฉบับกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ จัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ ๒๕๓๑

 กลับสู่หน้าหลัก