อนุพุทธประวัติ

ยสกุลบุตร บุตรเศรษฐีผู้เบื่อหน่ายเปล่งวาจาว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ

ประวัติแห่งพระยสเถระ

สถานะเดิม


พระยสะนั้น เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี เป็นผู้บริบูรณ์ มีเรือน ๓ หลัง
เป็นที่อยู่ใน ๓ ฤดู ครั้งหนึ่ง เป็นฤดูฝน ยสกุลบุตร อยู่ในปราสาทเป็นที่อยู่ในฤดูฝน
บำเรอด้วยดนตรีล้วนแต่สตรีประโคม ไม่มีบุรุษเจือปน.

มูลเหตุแห่งการบวช


ค่ำวันหนึ่ง ยสกุลบุตรนอนหลับก่อน หมู่ชนบริวารหลับต่อภายหลัง
แสงไฟตามสว่างอยู่ ยสกุลบุตรตื่นขึ้น เห็นหมู่ชนบริวารนอนหลับ มีอาการพิกลต่าง ๆ
บางนางมีพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ข้างคอ บางนางมีเปิงมางตก
อยู่ ณ อก บางนางสยายผม บางนางมีเขฬะไหล บางนางบ่นละเมอต่าง ๆ
ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนก่อน ๆ หมู่ชนบริวารนั้น ปรากฏแก่ยสกุลบุตร
ดุจซากศพที่ทิ้งอยู่ในป่าช้า.

พบพระพุทธเจ้า

ครั้นยสกุลบุตร ได้เห็นแล้ว เกิดความสลดใจคิดเบื่อหน่าย ออกอุทาน
( วาจาที่เปล่งด้วยอำนาจความสลดใจ) ว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ
ยสกุลบุตรรำคาญใจ จึงสวมรองเท้าเดินออกจากประตูเรือนไปแล้ว
ออกประตูเมืองตรงไปในทางที่จะไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

เวลานั้นจวนใกล้รุ่ง พระศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง
ทรงได้ยินเสียงยสกุลบุตรออกอุทานนั้น เดินมายังที่ใกล้ จึงตรัสเรียกว่า
ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านมาที่นี่เถิด นั่งลงเถิด เราจักแสดงธรรม
แก่ท่าน ยสกุลบุตรได้ยินอย่างนั้นแล้ว คิดว่า ได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย
ที่นี่ไม่ขัดข้อง จึงถอดรองเท้าเสีย เข้าไปใกล้ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.

พระศาสดาทรงแสดงธรรม

พระศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพีกถา คือถ้อยคำที่ กล่าวโดยลำดับ
พรรณนาทานการให้ก่อนแล้ว พรรณนาศีลความ รักษากายวาจาเรียบร้อย
เป็นลำดับแห่งทาน พรรณนาสวรรค์ คือ กามคุณที่บุคคลใคร่ซึ่งจะพึงได้พึงถึง
ด้วยกรรมอันดี คือทานและศีล เป็นลำดับแห่งศีล พรรณนาโทษ คือความเป็นของไม่ยั่งยืน

และประกอบด้วยความคับแค้นแห่งกามอันได้ชื่อว่าสวรรค์นั้น เป็นลำดับแห่งสวรรค์
พรรณนาอานิสงส์แห่งความออกไปจากกาม เป็นลำดับแห่งโทษของกาม
ฟอกจิตยสกุลบุตรให้ห่างไกลจากความยินดีในกาม ควรรับพระธรรมเทศนา
ให้เกิดธรรมจักษุ เหมือนผ้าที่ปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้ฉะนั้น
แล้วจึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระองค์ยกขึ้นแสดงเอง คืออริยสัจ ๔ อย่าง
คือทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด เหตุให้ทุกข์ดับ และข้อปฏิบัติเป็นทางให้ถึงความดับทุกข์
ยสกุลบุตรได้เห็นธรรมพิเศษ ณ ที่นั้นแล้ว ภายหลังพิจารณาภูมิธรรม
ที่ตนได้เห็นแล้ว จิตพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน.

อุบาสกคนแรก

ฝ่ายมารดาของยสกุลบุตร เวลาเช้าขึ้นไปบนเรือน ไม่เห็นลูก
จึงบอกแก่เศรษฐีผู้สามีให้ทราบ เศรษฐีให้คนไปตามหาใน ๔ ทิศ
ส่วนตนออกเที่ยวหาด้วย เผอิญเดินไปในทางที่ไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ได้เห็นรองเท้าของลูกตั้งอยู่ ณ ที่นั้นแล้ว ตามเข้าไปถึงที่พระศาสดาประทับอยู่กับยสกุลบุตร.

พระศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ ให้เศรษฐีเห็นธรรมแล้ว
เศรษฐีทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แล้วแสดงตนเป็นอุบาสก ข้าพเจ้าถึงพระองค์
กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นที่ระลึก ขอพระองค์ทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสก
ผู้ถึงรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เศรษฐีนั้น ได้เป็นอุบาสก
อ้างพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ครบทั้ง ๓ เป็นสรณะก่อนกว่าชนทั้งปวงในโลก.

ในตอนนี้ พระคันถรจนาจารย์กล่าวความว่า ในขณะที่เศรษฐี
ผู้บิดายสกุลบุตรเข้าไปอยู่ ทรงบันดาลด้วยอิทธาภิสังขาร คือฤทธิ์ที่แต่งขึ้น
ไม่ให้บิดากับบุตรเห็นกัน ต่อทรงแสดงธรรมเทศนาจบ ยสกุลบุตรพิจารณาภูมิธรรม
อันตนได้เห็นแล้ว บรรลุพระอรหัต และเศรษฐีผู้บิดาได้บรรลุพระโสดาปัตติผลแล้ว
จึงทรงคลายอิทธาภิสังขารนั้นให้บิดากับบุตรเห็นกัน.

เศรษฐีผู้บิดายังไม่ทราบว่ายสกุลบุตรมีอาสวะสิ้นแล้ว จึงบอกความว่า
พ่อยสะ มารดาของเจ้า เศร้าโศกพิไรรำพันนัก เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด.
ยสกุลบุตรแลดูพระศาสดา ๆ ตรัสแก่เศรษฐีว่า คฤหบดี ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน
แต่ก่อนยสะได้เห็นธรรม ด้วยปัญญาอันรู้เห็นเป็นของเสขบุคคล เหมือนกับท่าน

ภายหลัง ยสะพิจารณาภูมิธรรมที่ตนได้เห็นแล้ว จิตก็พ้นจากอาสวะมิได้ถือมั่นด้วยอุปาทาน
ควรหรือยสะจะกลับคืนไปบริโภคกามคุณเหมือนแต่ก่อน. ไม่อย่างนั้นพระเจ้าข้า
เป็นลาภของพ่อยสะแล้วความเป็นมนุษย์ พ่อยสะได้ดีแล้ว ขอพระองค์กับพ่อยสะเป็นสมณะ
ตามเสด็จ จงทรงรับบิณฑบาตของข้าพเจ้าในวันนี้เถิด. พระศาสดาทรงรับด้วยนิ่งอยู่.
เศรษฐีทราบว่าทรงรับแล้ว ลุกจากที่นั่งแล้ว ถวายอภิวาทแล้ว ทำประทักษิณ ๑ แล้วหลีกไป .

(เสขบุคคล ผู้ยังต้องศึกษา เป็นชื่อของพระอริยเจ้าเบื้องต่ำ ๗ จำพวก. )

ยสกุลบุตรบวช

เมื่อเศรษฐีไปแล้วไม่ช้า ยสกุลบุตรทูลขออุปสมบท . พระศาสดาทรงอนุญาต
ให้เป็นภิกษุด้วย พระวาจาว่า มาเถิดภิกษุ ธรรมเรากล่าวดีแล้ว
ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด ในที่นี้ไม่ตรัสว่า เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ
เพราะพระยสะได้ถึงที่สุดทุกข์แล้ว. สมัยนั้น มีพระอรหันต์ขึ้นในโลกเป็น ๗ ทั้งพระยสะ.

อุบาสิกาคนแรก

ในเวลาเช้าวันนั้น พระศาสดากับพระยสะตามเสด็จ ๆ ไปถึงเรือนเศรษฐีนั้นแล้ว
ทรงนั่ง ณ อาสนะที่แต่งไว้ถวาย. มารดาและภริยาเก่าของยสะเข้าไปเฝ้า
พระองค์ทรงแสดงอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ ให้สตรีทั้ง ๒ นั้นเห็นธรรมแล้ว
สตรีทั้ง ๒ นั้นทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาแล้ว แสดงตนเป็นอุบาสิกา
ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะโดยนัยหนหลัง ต่างแต่เป็นผู้ชายเรียก อุบาสก
เป็นผู้หญิงเรียกว่า อุบาสิกา เท่านั้น สตรีทั้ง ๒ นั้นได้เป็นอุบาสิกาขึ้นในโลกกว่าหญิงอื่น.

ครั้นถึงเวลา มารดาบิดา และภริยาเก่าแห่งพระยสะ ก็อังคาสพระศาสดาและพระยสะ
ด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตโดยเคารพด้วยมือของตน ครั้นฉันเสร็จแล้ว
พระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาสั่งสอนชนทั้ง ๓ ให้เห็น ให้สมาทาน ให้อาจหาญ
ให้รื่นเริงแล้ว เสด็จกลับไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน.

สหายพระยส ๕๔ คน

ฝ่ายสหายของพระยสะ ๔ คน ชื่อวิมละ ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑
ควัมปติ ๑ เป็นบุตรแห่งเศรษฐีสืบ ๆ มาในเมืองพาราณสี
ได้ทราบ ข่าวว่ายสกุลบุตรออกบวชแล้ว จึงคิดว่า ธรรมวินัยที่ยสกุลบุตรออกบวช
นั้นจักไม่เลวทรามแน่แล้ว คงเป็นธรรมวินัยอันประเสริฐ ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว
พร้อมกันทั้ง ๔ คน ไปหาพระยสะ ๆ ก็พาสหาย ๔ คนนั้นไปเฝ้าพระศาสดา
ทูลขอให้ทรงสั่งสอน พระองค์ทรงสั่งสอน ให้กุลบุตรทั้ง ๔ นั้นเห็นธรรมแล้ว
ประทานอุปสมบทอนุญาตให้เป็นภิกษุแล้ว ทรงสั่งสอนให้บรรลุพระอรหัตตผล .
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ ขึ้นในโลก ๑๑ พระองค์ .

ฝ่ายสหายของพระยสะอีก ๕๐ คน เป็นชาวชนบท ได้ทราบข่าวนั้นแล้ว
คิดเหมือนหนหลัง พากันมาบวชตามแล้ว ได้สำเร็จพระอรหัตตผลด้วยกันสิ้น
โดยนัยก่อน บรรจบเป็นพระอรหันต์ ๖๑ องค์ .

งานประกาศศาสนา

พระยสะและพระสหายเหล่านี้ พระศาสดาทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา
ในคราวแรก พร้อมด้วยพระปัญจวัคคีย์ ตั้งแต่นั้นมาไม่ปรากฏอีก ไม่มีนามในจำพวก
พระมหาสาวกอันพระศาสดาทรงยกย่องในที่เอตทัคคะ ชะรอยจะนิพพานสาบศูนย์เสีย
ในคราวไปประกาศพระศาสนานั่นเอง.


นักธรรมโท – อนุพุทธประวัติ

หนังสืออนุพุทธประวัติที่พิมพ์ครั้งนี้ คงเค้าความตามฉบับเดิม
เป็นแต่ชำระระเบียบอักษรให้ต้องกับนิยมในบัดนี้จนตลอด เพื่ออนุโลม
ให้ยุกติ เป็นระเบียบเดียวกันกับหนังสือแบบเรียนธรรมวินัยอย่างอื่น ๆ
ที่ใช้เป็นหลักสูตรแห่งการเรียน ซึ่งพิมพ์ใหม่ในยุคนี้.

โดยพระกระแสรับสั่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
พระสาสนโสภณ

วัดเทพศิรินทราวาส
วันที่ ๑ พฤษภาคม พ. ศ. ๒๔๖๙

รวบรวม/เรียบเรียงโดย กรม -วชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่๘กุมภาพันธ์




พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ พระยสะ คำคืนผ้า เนื้อต้องห้าม
คำขอขมา คำอนุโมทนากฐิน คำลาสิกขา คำแสดงตนเป็นอุบาสก
อนุโมทนาวิธี คำสัตตาหะ คำสมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ บทสวดสติปัฏฐาน๔
อนุโมทนาวิธี แปล เจริญพระพุทธมนต์ พระภิกขุปาฏิโมกข์ บทพิจารณาสังขาร
ถวายพรพระ บทสวดพุทธมนต์ คำสมาทานพระกรรมฐาน ปฏิทินวันพระ
กรวดน้ำตอนเย็น พระสังคีณี คำปวารณาออกพรรษา หลวงปู่คำพันธ์
 กลับสู่หน้าหลัก