สารบัญ บทสวดพระปาฏิโมกข์
บทสวด บุพพกรณ์และบุพพกิจ บทสวด ปาฏิเทสนีย์ ๔
บทสวดนำ พระภิกขุปาฏิโมกข์ บทสวด เสขิยวัตร ๗๕
บทสวด ปาราชิก ๔ บทสวด อธิกรณสมถะ ๗
บทสวด สังฆาทิเสส ๑๓ การนับพระภิกษุ
บทสวด อนิยต ๒ คำขอโอกาสแสดงพระภิกขุปาฏิโมกข์
บทสวด นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ ปฏิทินพระปาฏิโมกข์ ปฏิทินวันพระ ปี 2566
บทสวด ปาจิตตีย์ ๙๒ การแบ่งฤดู
  อธิกมาสและปวารณา


อุโบสถขันธกะ (หมวดว่าด้วยอุโบสถ)

พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธ เห็นนักบวชลัทธิอื่นประชุมกันกล่าวธรรม ในวัน ๑๔ ค่ำ, ๑๕ ค่ำ, และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์
มีคนไปฟังธรรม มีความรัก ความเลื่อมใส ทำให้นักบวชเหล่านั้นมีผู้เข้าเป็นฝักฝ่าย
ทรงปรารภจะให้ภิกษุในพระพุทธศาสนาทำอย่างนั้นบ้าง จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลพระราชดำรินั้น
พระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุมัติ ประทานพระพุทธานุญาตให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ, ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์.

ครั้งแรกภิกษุทั้งหลายประชุมกัน แต่นั่งนิ่ง ๆ ชาวบ้านจะฟังธรรมก็ไม่ได้ฟัง จึงติเตียน
พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ประชุมกันเพื่อกล่าวธรรม.

การสวดปาฏิโมกข์เป็นอุโบสถกรรม

พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า สิกขาบทที่ทรงบัญญัติแก่ภิกษุทั้งหลาย
ควรอนุญาตให้สวดเป็นปาฏิโมกข์นั้นจักเป็นอุโบสถกรรม คือการทำอุโบสถของภิกษุเหล่านั้น.
จึงทรงบัญญัติตามที่ทรงพระดำรินั้น และทรงแสดงวิธีสวดปาฏิโมกข์ เริ่มต้องแต่กิจเบื้องต้น.

ข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับปาฏิโมกข์

๑. ภิกษุทั้งหลายสวดปาฏิโมกข์ทุกวัน ตรัสห้ามและปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ทำเช่นนั้น. ทรงอนุญาตให้สวดเฉพาะวันอุโบสถ 

๒. ภิกษุทั้งหลายสวดปาฏิโมกข์ ๓ ครั้ง ต่อ ๑ ปักษ์ (กึ่งเดือน) คือในวัน ๑๔ ค่ำ, ๑๕ ค่ำ, และ ๘ ค่ำ,
ตรัสห้ามและปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ทำเช่นนั้น. ทรงอนุญาตให้สวดปาฏิโมกข์เพียงครั้งเดียวต่อ ๑ ปักษ์ คือในวัน ๑๔ ค่ำ
หรือ ๑๕ ค่ำ 

๓. ภิกษุฉัพพัคคีย์สวดปาฏิโมกข์เฉพาะในพวกของตน. ตรัสห้ามและปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ทำเช่นนั้น.
ทรงอนุญาตให้ทำอุโบสถโดยพร้อมเพรียงกัน 

๔. ภิกษุทั้งหลายสงสัยว่า จะกำหนดเขตพร้อมเพรียงกันในอาวาสหนึ่งหรือถือเขตแผ่นดินทั้งผืน
ตรัสให้ใช้อาวาสเดียวกันเป็นเขตสามัคคี 

๕. พระมหากัปปินะ (ผู้เป็นพระอรหันต์) คิดว่าท่านบริสุทธิ์อยู่แล้ว จะควรได้ทำอุโบสถสังฆกรรมหรือไม่
พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงตรัสตอบว่า ถ้าเธอไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอุโบสถแล้ว ใครเล่าจะทำเช่นนั้น.
และตรัสสั่งให้ไปทำอุโบสถสังฆกรรม 

๖. ภิกษุทั้งหลายสงสัยว่า อาวาสเดียวกันนั้น กำหนดอย่างไร จึงทรงอนุญาตให้สมมติ คือประกาศสีมา (เขตแดน) โดยกำหนดภูเขา,
ก้อนหิน, ป่าไม้, ต้นไม้, หนทาง, จอมปลวก, แม่น้ำหรือแอ่งน้ำ เป็นเครื่องหมาย (นิมิต)
แล้วทรงแสดงวิธีสวดสมมติสีมาด้วยเครื่องหมายเหล่านั้น 

๗. ภิกษุฉัพพัคคีย์สมมติสีมา (ประกาศเขตแดน) ใหญ่เกินไป ๔ โยชน์บ้าง ๕ โยชน์บ้าง ๖ โยชน์บ้าง.
ภิกษุทั้งหลายมาพอดีสวดปาฏิโมกข์ก็มี สวดจบแล้วก็มี กำลังสวดอยู่ก็มี จึงทรงห้ามสมมติสีมาใหญ่เกินไป
ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ฝ่าฝืน แล้วทรงอนุญาตให้สมมติสีมาอย่างใหญ่เพียง ๓ โยชน์ 

๘. ภิกษุฉัพพัคคีย์สมมติสีมาริมฝั่งแม่น้ำ ภิกษุที่มาทำอุโบสถถูกน้ำพัด บาตรจีวรถูกน้ำพัด
จึงตรัสห้ามสมมติสีมาเช่นนั้น ทรงอนุญาตใหทำได้ต่อเมื่อมีเรือจอดอยู่เป็นประจำ หรือมีสะพานทอดอยู่เป็นประจำ 

๙. ภิกษุทั้งหลายสวดปาฏิโมกข์ตามบริเวณ ไม่มีที่สังเกต. ภิกษุที่เป็นอาคันตุกะ (ผู้มาจากที่อื่น)
ไม่รู้ว่าทำอุโบสถกันที่ไหน จึงทรงอนุญาตให้สมมติโรงอุโบสถทำอุโบสถ จะเป็นวิหาร (กุฎีที่อยู่อาศัย) หรือ เพิง
หรือปราสาท (เรือนเป็นชั้น หรือเรือนโล้น (หลังคาตัด) หรือถ้ำ ก็ได้ 

๑๐. ภิกษุทั้งหลายสมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่งในอาวาสเดียวกัน. ตรัสห้ามและตรัสแนะให้สวดถอนโรงอุโบสถเสียหลัง ๑
คงให้ใช้เพียงหลังเดียว 

๑๑. ภิกษุทั้งหลายสมมติโรงอุโบสถเล็กเกินไป มีพระมาประชุมมาก บางรูปต้องนั่งนอกเขต. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เป็นอันทำอุโบสถ และได้ตรัสแนะให้กำหนดเครื่องหมาย (นิมิต) แล้วประชุมสงฆ์สวดสมมติหน้ามุข
อุโบสถขยายให้ใหญ่ออกไปตามต้องการ 

๑๒. ภิกษุบวชใหม่มาประชุมก่อนในวันอุโบสถ นึกว่าพระเถระคงยังไม่มา จึงกลับไป. กว่าจะได้ทำอุโบสถก็กลางคืน
จึงตรัสอนุญาตให้ภิกษุที่เป็นเถระมาประชุมก่อนในวันอุโบสถ 

๑๓. มีวัดหลายวัดในเขตสีมาเดียวกัน ภิกษุทั้งหลายต่างวัดต่างทำอุโบสถ. พระผู้มีพระภาคจึงทรงให้รวมทำแห่งเดียวกัน
ไม่ให้แยกกันทำ 

๑๔. ตรัสอนุญาตให้สมมติสีมา เป็นเขตอยู่ร่วมกัน ทำอุโบสถร่วมกัน โดยให้เป็นเขตไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
(ภายในเบริเวณสีมานั้น ไปไหนได้ไม่ต้องนำจีวรติดตัวไปด้วยครบสำรับ) และให้สมมติเว้นเขตบ้านและละแวกบ้าน
(เพื่อไม่ให้เก็บจีวรไว้ในบ้าน) 

๑๕. ตรัสอนุญาตว่า เมื่อสวดถอน (เลิกใช้) ให้ถอนเขตอยู่ปราศจากไตรจีวรก่อนแล้ว ถอนเขตอยู่ร่วมกันทีหลัง 

๑๖. ถ้ายังมิได้สมมติสีมา ให้ใช้หมู่บ้านหรือนิคมที่อยู่นั้นเป็นคามสีมาและนิคมสีมาได้
แล้วอนุญาตให้ใช้เขตพ้นระยะน้ำสาดถึง ในแม่น้ำเป็นอุทกุกเขปสีมา (เขตวักน้ำสาด) เป็นเขตลอยเรือหรือแพ
หรือปลูกโรงทำอุโบสถได้กลางแม่น้ำ ทะเลหรือสระน้ำ แต่ไม่อนุญาตแม่น้ำ ทะเล หรือสระน้ำทั้งหมดเป็นเขต (สีมา) 

๑๗. ตรัสห้ามมิให้สมมติสีมาคาบเกี่ยวกัน ให้มีชานของสีมา 

๑๘. ตรัสอธิบายว่า วันอุโบสถ ๑๔ ค่ำก็มี ๑๕ ค่ำก็มี (กลางเดือนเป็น ๑๕ ค่ำ ปลายเดือนเป็น ๑๔ ค่ำบ้าง ๑๕ ค่ำบ้าง
สุดแต่เดือนขาด เดือนเต็ม) 

๑๙. ตรัสอธิบายหลักเกณฑ์เรื่องสวดปาฏิโมกข์ย่อ เมื่อมีเหตุสมควร ๑๐ อย่างเกิดขึ้น 

๒๐. ภิกษุที่จะกล่าวธรรมต้องได้รับเชื้อเชิญ ทรงอนุญาตให้พระเถระกล่าวธรรมเอง หรือเชิญภิกษุอื่นกล่าวธรรม 

๒๑. ตรัสอนุญาตให้มีการสมมติผู้ถามพระวินัย และผู้ตอบพระวินัย 

๒๒. ตรัสอนุญาตให้ขอโอกาสก่อน แล้วจึงโจทอาบัติ 

๒๓. ในการทำกรรมเป็นการสงฆ์ ทรงอนุญาตให้ค้านได้ ให้แสดงความคิดเห็นได้ อธิษฐานในใจว่าไม่เห็นด้วย
ในเมื่อคนเดียวค้านเข้าจะยุ่งยาก 

๒๔. ตรัสห้ามมิให้แกล้งสวดปาฏิโมกข์มิให้ผู้อื่นได้ยิน ถ้ามีเสียงผิดปกติและพยายามแล้ว ไม่เป็นอาบัติ 

๒๕. ตรัสห้ามมิให้สวดปาฏิโมกข์โดยมีคฤหัสถ์ปนอยู่ในบริษัท 

๒๖. ภิกษุผู้มิได้รับเชื้อเชิญ ตรัสห้ามมิให้สวดปาฏิโมกข์ ทรงอนุญาตให้พระเถระเป็นใหญ่ในเรื่องปาฏิโมกข์
(จะสวดเองหรือให้ใครสวดก็ได้) 

๒๗. พระเถระสวดเองไม่ได้ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด สามารถเป็นใหญ่ในเรื่องปาฏิโมกข์ 

๒๘. พระทั้งวัดไม่สามารถสวดปาฏิโมกข์ได้ ให้ส่งภิกษุรูปหนึ่งไปเรียนจากอาวาสใกล้เคียง จะโดยย่อหรือโดยพิสดารก็ตาม
ให้พระเถระเป็นผู้ใช้ไป ผู้ถูกใช้ขัดขืนในเมื่อไม่ป่วยไข้ ต้องอาบัติทุกกฏ 

๒๙. ตรัสอนุญาตให้เรียนปักขณนา (การคำนวณปักษ์) ได้ทุกรูป เพื่อบอกดิถีแก่คนทั้งหลายได้ 

๓๐. ตรัสอนุญาตให้เรียกชื่อ ให้จับสลากเพื่อนับจำนวนภิกษุในวันอุโบสถ 

๓๑. ตรัสอนุญาตให้ปัดกวาด, ปูอาสนะ, ตามประทีป, ตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ในโรงอุโบสถ โดยให้พระเถระเป็นผู้สั่งการ 

๓๓. ตรัสห้ามภิกษุที่จะไปที่อื่นโดยไม่บอกลาอุปัชฌาย์หรืออาจารย์, ให้อุปัชฌายะหรืออาจารย์สอบสวนว่าจะไปไหน ไปกับใคร
ถ้าเห็นไม่สมควรก็ไม่ให้อนุญาต ถ้าไม่อนุญาต ขืนไป ต้องอาบัติทุกกฏ 

๓๔. ภิกษุผู้ทรงความรู้ ประพฤติตนดีมา ให้ต้อนรับด้วยดี ถ้าไม่ต้อนรับ ต้องอาบัติทุกกฏ 

๓๕. ถ้าไม่มีใครสวดปาฏิโมกข์ได้เเลย และไม่สามารถจะส่งใครไปเรียนวิธีสวด ห้ามอยู่จำพรรษาร่วมกับภิกษุเหล่านั้น
ถ้าขืนอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ 

๓๖. ภิกษุเป็นไข้ ตรัสให้บอกความบริสุทธิ์แก่ภิกษุรูปหนึ่ง เพื่อนำไปบอกแก่สงฆ์. ถ้าไม่มีผู้รับไปบอก
ให้นำขึ้นเตียง ขึ้นตั่ง หามไปทำอุโบสถ. ไม่ให้ทำอุโบสถแยกกัน ถ้าให้เคลื่อนที่ อาพาธอาจกำเริบหรืออาจถึงมรณภาพ
ให้สงฆ์ไปทำอุโบสถที่ภิกษุรูปนั้น. แล้วตรัสให้ภิกษุผู้รับบอกปาริสุทธิต้องไปบอกแก่สงฆ์ให้จงได้ ถ้าไปไม่ได้เอง
ให้มอบหมายผู้อื่นบอกแทน 

๓๗. ในสังฆกรรมอื่นจากอุโบสถ ถ้าภิกษุเป็นไข้ ตรัสอนุญาตให้มอบฉันทะ และมีเงื่อนไขคล้ายอุโบสถ (ฉันทะคือความพอใจ
มอบให้สงฆ์ทำกรรมไปโดยตนไม่ต้องร่วมด้วย) 

๓๘. ในวันอุโบสถ ถ้ามีสังฆกรรมอื่นด้วย ตรัสอนุญาตให้ภิกษุผู้บอกความบริสุทธิ์นั้นบอกให้ฉันทะด้วย 

๓๙. ภิกษุถูกญาติจับตัว ถูกคนอื่น ๆ จับตัวไม่สามารถมาร่วมทำอุโบสถได้ ให้เจรจาขอตัวมาทำอุโบสถ ถ้าเจรจาไม่สำเร็จ
ให้นำออกให้พ้นเขตสีมา เพื่อให้สงฆ์ทำอุโบสถ ห้ามทำอุโบสถทั้งที่มีภิกษุอื่นอยู่ในเขตสีมา แต่มิได้เข้าร่วมประชุม 

๔๐. ถ้าในอุโบสถหรือสังฆกรรมอื่นมีภิกษุเป็นบ้า
ให้สงฆ์สวดสมมติเพื่อจะได้ทำอุโบสถหรือสังฆกรรมอื่นโดยไม่มีเธออยู่ด้วย 

๔๑. พระมี ๔ รูป ตรัสอนุญาตให้สวดปาฏิโมกข์, ถ้ามี ๓ รูป หรือ ๒ รูป ให้ประชุมกันบอกความบริสุทธิ์แก่กันและกัน
เรียกว่าปาริสุทธิอุโบสถ. ถ้ามีรูปเดียว ให้ปัดกวาดสถานที่คอยภิกษุอื่น เมื่อไม่เห็นมาให้อธิษฐาน คือตั้งใจระลึกว่า
วันนี้เป็นวันอุโบสถ ถ้าไม่ทำ ต้องอาบัติทุกกฏ 

๔๒. มิให้ทำอุโบสถทั้งที่ยังมีอาบัติ ให้แสดงอาบัติก่อนแล้วจึงทำอุโบสถ
ถ้าสงสัยในอาบัติก็ให้บอกแก่ภิกษุรูปหนึ่งก่อน 

๔๓. ห้ามภิกษุที่ต้องอาบัติเหมือน ๆ กัน แสดงอาบัติเช่นนั้นแก่กัน (สภาคาบัติ) ถ้าแสดงหรือรับต้องอาบัติทุกกฏ 

๔๔. ถ้าระลึกได้ว่ายังมีอาบัติอยู่ หรือสงสัยว่าจะต้องอาบัติใด ๆ ในขณะฟังปาฏิโมกข์
ให้บอกแก่ภิกษุที่อยู่ใกล้เพื่อรับทราบไว้ เมื่อเสร็จอุโบสถจะได้ทำคืน 

๔๕. ถ้าสงฆ์ต้องอาบัติในเรื่องเดียวกัน (สภาคาบัติ) ทั้งวัด ให้ส่งพระรูปหนึ่งไปแสดงที่วัดอื่น ถ้าไม่มีวัดใกล้เคียง
ให้ไปกลับภายใน ๗ วัน เพื่อหาที่แสดงอาบัติของส่วนรวม 

๔๖. ถ้าสงฆ์ทั้งวัดต้องอาบัติเรื่องเดียวกัน แต่ไม่รู้ชื่อหรือต้นเค้าแห่งอาบัติ
ให้สอบถามภิกษุผู้รู้วินัยที่เดินทางมาพัก แล้วแสดงคืนเสีย แต่ถ้าได้ไต่ถามพูดจากันแล้ว
ภิกษุทั้งหลายยังไม่ยอมแสดงอาบัติ (เพราะยังไม่เชื่อ เป็นต้น) ก็ให้ปล่อยไว้ ไม่ต้องว่ากล่าว 

๔๗. แล้วทรงแสดงเงื่อนไขในการทำอุโบสถที่ไม่ต้องอาบัติเกี่ยวกับไม่รู้ว่ายังมีภิกษุอื่นอยู่อีก จึงทำอุโบสถไปก่อน
รวม ๑๕ ข้อ 

๔๘. แล้วทรงแสดงเงื่อนไขในการทำอุโบสถที่ทำด้วยบริสุทธิ์ใจ แต่ก็รู้ว่ายังมีภิกษุอื่นอีก ยังมิได้มาทำอุโบสถ
คงปรับอาบัติทุกกฏเฉพาะภิกษุผู้สวด รวม ๑๕ ข้อ 

๔๙. แล้วทรงแสดงเงื่อนไขในการทำอุโบสถ (เหมือนข้อ ๔๘) แต่สงสัยว่าจะเป็นการควรหรือไม่ แล้วขืนสวดปาฏิโมกข์
คงปรับอาบัติทุกกฏเฉพาะผู้สวด รวม ๑๕ ข้อ 

๕๐. แล้วทรงแสดงเงื่อนไขในการทำอุโบสถ (เหมือนข้อ ๔๙) แต่สงสัยว่าจะเป็นการควรหรือไม่ แล้วขืนสวดปาฏิโมกข์
คงปรับอาบัติเฉพาะผู้สวด รวม ๑๕ ข้อ 

๕๑. แล้วทรงแสดงเงื่อนไขในการทำอุโบสถ (เหมือนข้อ ๕๐) แต่มุ่งให้แตกแยกกัน แล้วขืนสวดปาฏิโมกข์. ปรับอาบัติถุลลัจจัย
(แรงกว่าทุกกฏ) แก่ภิกษุผู้สวด รวม ๑๕ ข้อ 

๕๒. แล้วทรงแสดงเงื่อนไขแบบต้น ๆ ระหว่างภิกษุที่อยู่ประจำวัดกับภิกษุที่อยู่ประจำวัด,
ระหว่างภิกษุที่อยู่ประจำวัดกับภิกษุอาคันตุกะ, ระหว่างภิกษุอาคันตุกะกับภิกษุที่อยู่ประจำวัด
และระหว่างภิกษุอาคันตุกะ กับอาคันตุกะ รวม ๗๐๐ ข้อ 

๕๓. แล้วทรงแสดงเงื่อนไขการนับวันอุโบสถ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ
ที่ภิกษุอยู่ประจำวัดกับภิกษุอาคันตุกะมีความเห็นแตกต่างกัน ให้อนุโลมตามภิกษุข้างมาก เป็นต้น อีกหลายร้อยข้อ 

๕๔. ในที่สุดทรงแสดงหลักการที่มิให้ผู้ไม่สมควรนั่งรวมอยู่ด้วยในการสวดปาฏิโมกข์ ในวันอุโบสถ รวม ๒๒ ข้อ
ที่ไม่ให้สวดปาฏิโมกข์ เช่น มีนางภิกษุณีนั่งอยู่ด้วย เป็นต้น. 

 ( หมายเหตุ:  การลำดับเลขแต่ ๑ ถึง ๕๔ ข้อนี้ ลำดับเอาเองเพื่ออ่านเข้าใจง่าย
ถ้าจะลำดับให้พิสดารตามที่ทรงบัญญัติทุกข้อ ก็คงจะถึงจำนวนพันข้อ).


การสวดปาฏิโมกข์ วัดธาตุมหาชัย

การสวดปาฏิโมกข์
เหตุจำเป็นที่ต้องเลิกสวดปาฏิโมกข์

การสวดปาฏิโมกข์  เป็นทั้งสังฆกรรมตามพระวินัย  และเป็นกิจสงฆ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนา
ควรมีโอกาสได้ร่วมฟัง

ใน วินัยระบุว่า วัดหนึ่งจะต้องมีภิกษุสวดปาฏิมกข์ได้หนึ่งรูป  หากไม่มีเจ้าอาวาสต้องขวนขวายให้มี
หากไม่ขวนขวายเป็นอาบัติ  ถ้าขวนขวายแล้วยังไม่มี พอถึงวันปาฏิโมกข์ต้องไปร่วมฟังในวัดที่มีการสวดปาฏิโมกข์
ถ้าในย่านนั้นไม่มีวัดที่มีภิกษุสวดปาฏิโมกข์ หรือมีภิกษุไม่ครบ ๔ รูป ไม่ต้องสวดปาฏิโมกข์ แต่ให้อธิษฐานอุโบสถแทน
โดยตั้งใจว่า  " วันนี้เป็นวันอุโบสถ"

ใน ระหว่างที่มีการสวดปาฏิโมกข์  ผู้ที่จะอยู่ในที่ประชุมสงฆ์ได้ต้องเป็นภิกษุเท่านั้น
ไม่มีเหตุจำเป็นจะหยุดสวดปาฏิโมกข์ในระหว่างไม่ได้   เหตุจำเป็นที่ทำให้ต้องหยุดสวดปาฏิโมกข์มี  ๑๐  อย่าง  คือ

๑.  พระราชาเสด็จมา  ให้เลิกสวดปาฏิโมกข์เพื่อจะรับเสด็จได้
๒.  โจรมาปล้น  เลิกสวดปาฏิโมกข์เพื่อหนีภัยได้
๓. ไฟไหม้ เลิกสวดปาฏิโมกข์เพื่อไปดับไฟได้
๔.  น้ำหลากมา  เลิกสวดปาตฏิโมกข์เพื่อหนีน้ำได้  ถ้าสวดกลาง แจ้ง  เกิดฝนตกในระหว่าง  เลิกได้เหมือนกัน
๕.  คนมามาก  เลิกสวดปาฏิโมกข์  เพื่อไปต้อนรับปฏิสันถาร
๖.  ผีเข้าภิกษุ  เลิกสวดปาฏิโมกข์   เพื่อขับผีออกจากภิกษุ
๗. สัตว์ร้ายเช่น เสือ เป็นต้น  เข้ามาในอาราม เลิกสวดปาฏิโมกข์เพื่อไล่สัตว์ได้
๘.  งูร้ายเลื้อยเข้ามาในที่ชุมนุม  ก็เหมือนกัน
๙.  ภิกษุอาพาธด้วยโรคร้ายขึ้นในที่ชุมนุมสงฆ์  อันจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต  เลิกสวดปาฏิโมกข์เพื่อช่วยแก่ไขได้ 
ถ้ามีเหตุอันจะเป็นอันตรายเกิดขึ้นในที่นั้นก็หยุดได้
๑๐.  มีอันตรายแก่พรหมจรรย์  เช่น มีใครมาเพื่อจับภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง    ให้เลิกสวดปาฏิโมกข์  เพราะความสับสนอลหม่าน

จากบทความนี้ อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในความจริงว่า
หากมีเหตุ 10 ประการนี้ให้เลิกสวดปาฏิโมกข์ แต่แท้จริงแล้วเป็นอย่างนี้...

ทรงห้ามสวดปาติโมกข์ย่อ
     สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการสวดปาติโมกข์ย่อ ดังนี้
จึงสวดปาติโมกข์ย่อทุกครั้ง. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค
รับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ย่อ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ทรงอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อเมื่อมีอันตราย

     สมัยต่อมา ณ อาวาสแห่งหนึ่งในโกศลชนบท คนชาวดงได้มาพลุกพล่านในวันอุโบสถ.
ภิกษุทั้งหลายไม่อาจสวดปาติโมกข์โดยพิสดาร จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี
พระภาคทรงอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอันตราย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อ.

อันตราย ๑๐ ประการ
     สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ แม้เมื่ออันตรายไม่มี ก็สวดปาติโมกข์ย่อ. ภิกษุทั้งหลายจึง
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อไม่มีอันตราย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ย่อ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.
     เมื่อมีอันตราย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อ.
     อันตรายในเรื่องนั้นเหล่านี้ คือ
     ๑. พระราชาเสด็จมา
     ๒. โจรมาปล้น
     ๓. ไฟไหม้
     ๔. น้ำหลากมา
     ๕. คนมามาก
     ๖. ผีเข้าภิกษุ
     ๗. สัตว์ร้ายเข้ามา
     ๘. งูร้ายเลื้อยเข้ามา
     ๙. ภิกษุอาพาธหนักจะถึงเสียชีวิต
     ๑๐. มีอันตรายแก่พรหมจรรย์
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อในเพราะอันตรายเห็นปานนี้ เมื่อไม่มี
อันตราย ให้สวดโดยพิสดาร.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๔
พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ข้อที่ ๑๖๗ หน้าที่ ๑๘๒-๑๘๓
**** ให้สวดย่อ ไม่ใช่ให้เลิกสวด...

อธิษฐานอุโบสถ
     สมัยต่อมา ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุอยู่รูปเดียว จึงภิกษุนั้นได้มีความ
ปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป สวดปาติโมกข์  ให้ภิกษุ ๓ รูปทำปาริสุทธิ-

อุโบสถแก่กัน  ให้ภิกษุ ๒ รูป  ทำปาริสุทธิอุโบสถ  ก็เรามีอยู่เพียงรูปเดียว จะพึงทำอุโบสถ
อย่างไรหนอ.  ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.  พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุ
ทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุในศาสนานี้อยู่รูปเดียว.
ภิกษุนั้นพึงกวาดสถานที่เป็นที่ไปมาแห่งภิกษุทั้งหลาย คือจะเป็นโรงฉัน มณฑป หรือโคนต้นไม้
ก็ตาม  แล้วตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ ปูอาสนะ ตามประทีปไว้ แล้วนั่งรออยู่.  ถ้ามีภิกษุเหล่าอื่นมา
พึงทำอุโบสถร่วมกับพวกเธอ ถ้าไม่มีมา พึงอธิษฐานว่า  วันนี้เป็นวันอุโบสถของเรา ถ้าไม่
อธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ.
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๔ รูป จะนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่ง
มาแล้ว ๓ รูปสวดปาติโมกข์ไม่ได้  ถ้าขืนสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๓ รูป จะนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่ง
มาแล้ว ๒ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถไม่ได้  ถ้าขืนทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๒ รูป จะนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่ง
มาแล้วอีกรูปหนึ่งอธิษฐานไม่ได้  ถ้าขืนอธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๔
พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
ข้อที่ ๑๘๕ หน้าที่ ๒๐๑-๒๐๒

ที่มาจาก....พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prawinai/ 4.9.html
http://www.oknation.net/blog/nun2504/2013/03/20/entry-2




การสวดปาฏิโมกข์ย่อ อันตราย ๑๐ อย่าง อุเทศ การยกขึ้นแสดง ๕ ข้อควรรู้เกี่ยวกับพระภิกขุปาฏิโมกข์
อุโบสถขันธกะ อุโบสถ คำขอโอกาสแสดงปาฏิโมกข์ คำขอโอกาสตั้งญัตติปวารณา
ปวารณา โอวาทปาฏิโมกขคาถา โอวาทะปาฏิโมกขาทิปาโฐ บทสวด ตายนคาถา
บทสวด สัจจะกิริยาคาถา บทสวด สีลุทเทสปาฐะ บทสวด ทำวัตรพระ สมณสัญญา