ภารสูตร

ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นภาระ

[ ๔๙] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภาระ
ผู้แบกภาระ เครื่องถือมั่นภาระ และเครื่องวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่
ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่า ภาระ คืออุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕
เป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์ คือรูป อุปาทานขันธ์ คือเวทนา อุปาทานขันธ์ คือสัญญา อุปาทาน
ขันธ์ คือสังขาร และอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาระ.

[ ๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่าบุคคล บุคคลนี้นั้น คือ
ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าผู้แบกภาระ.

[ ๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เครื่องถือมั่นภาระเป็นไฉน? ตัณหานี้ใด นำให้เกิดภพใหม่
ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในภพหรืออารมณ์
นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าเครื่องถือมั่นภาระ.

[ ๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การวางภาระเป็นไฉน? ความที่ตัณหานั่นแลดับไปด้วย
สำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย
นี้เรียกว่าการวางภาระ. พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลง
แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกในภายหลังว่า

[ ๕๓] ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล เครื่องถือมั่น
ภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว
ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อม ทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วดังนี้.

จบ สูตรที่ ๑.

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๗
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค หน้าที่ ๒๕ หัวข้อที่ ๔๙ - ๕๓


บทสวด ภารสุตตคาถา




บทจุลลไชยปกรณ์ ตำนานพระปริตร บทสวดปฏิจจสมุปบาท บทสวดสติปัฏฐาน๔ ประวัติพุทธสาวก
คำลากลับบ้าน บทปัพพโตปมคาถา บทเขมาเขมสรณทีปกคาถา คำสมาทนากรรมฐาน บทภารสุตตคาถา
บทปัจฉิมพุทโธวาท ติลักขณาทิคาถา บทสวดถวายพระพร โอวาทก่อนปรินิพพาน หลวงปู่คำพันธ์
ปฏิทินวันพระ มงคลปริตร คำปวารณาออกพรรษา คำอาราธนาธรรม เสียงพระพุทธประวัติ
ปัจฉิมพุทโธวาทปาฐะ วันออกพรรษา คำไหว้พระเจ้า ๑๐ ชาติ พระสังคีณี คาถากำลังวัน
คาถาบารมี ๓๐ ทัศ พระเจ้าพิมพิสาร ประวัติพระธาตุพนม รัตนปริตร ศิลปะพระธาตุพนม
บทพิจารณาสังขาร ประวัติวัดป่ามหาชัย      
 กลับสู่หน้าหลัก