การแสวงหาตน

พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปํญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม

หลวงปู่เทศน์อบรมนักปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าอรัญญคาม
ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๓

ท่านนักปฏิบัติธรรม ที่น่ารักน่านับถือน้ำใจของพวกท่านทั้งหลาย ตั้งแต่วันที่ ๕ มาถึงวันที่ ๑๘ แล้ว ก็ ๑๔ วัน
ก็เป็นเวลานานพอสมควรที่เราได้จากบ้านมา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การปฏิบัติธรรมในที่นี้ คือเรานำเอาธรรมะในตัวในร่างกาย
ในจิตในใจของเรานี้ อยู่ในขันธ์ ๕ ของเรานี้ คือให้มามองดูว่า รูปธรรม นามธรรม อยู่ในร่างกายเรา มันเกิดมันดับอยู่ตลอด
เวลามันเกิดอย่างไร ดับอย่างไร เราก็มาทดสอบว่ามันเกิดเวลาไหน และมันดับเวลาไหน มันเกิดแล้ว มันเกิดอย่างไร

มันดับ ดับอย่างไร ครูบาอาจารย์ก็สอนมาตลอดเวลา เกิดดับ ๆ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรยั่งยืนถาวร มั่นคง
ไม่มีอะไรเป็นแก่นเป็นสาร ล้วนแล้วแต่เป็นของง่อนแง่น คลอนแคลน เป็นของเสื่อมโทรมสลายไปในที่สุด
ไม่ว่าแต่สิ่งที่เป็นรูปธรรม และสิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นเสมอเหมือนกันหมด เพราะเหตุนั้นท่านจึงสอนว่าเป็นอนิจจัง

ครูบาอาจารย์พูดไว้แต่ก่อนว่า ให้ภาวนาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่คำจริงในหลักคำพูดในเบื้องต้น ครูบาอาจารย์พูด
คือพูดถึงหลักแก่นของธรรมที่สุด เป็นหลักธรรมอย่างสูงส่งที่สุด เป็นการพูดในทางปากได้
แต่ในใจของตนเองไม่สามารถรู้ได้ ถ้า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความเกลียด ทิฏฐิมานะ ในกิเลสทั้งหลาย
สังโยคจิตก็สามารถละไป ทีละเล็กทีละน้อย สาเหตุที่เราไม่รู้ตัว อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ ทำให้
เราละอะไรไม่ได้เลย ถือว่า มันเป็นของตน ความโลภ ความโกรธ
ความหลง ความรัก ความเกลียด ความชัง ก็เป็น ของตัวเองหมด เอาไว้กับตนเองทั้งหมด

พระพุทธเจ้า พระองค์เคยเทศน์อบรมว่า “อัตตาหิ ปะระมัง ปิโย” “ตนนั่นแหละเป็นที่ รักอย่างยิ่ง” ตนเบื้องแรก ก็หมายถึง
อวัยวะร่างกายเบญจขันธ์ทั้ง ๕ ที่เราสมมุติขึ้นมานี้ เป็นต้น แต่ว่าตนนี้เป็นบ่อเกิดของความดีความชั่ว
ความดีก็เกิดอยู่นี่ ความชั่วก็เกิดอยู่นี่ สวรรค์เกิดอยู่นี่ นรกเกิดอยู่นี่ นิพพานเกิดอยู่นี่
เปรตอสุรกายเกิดอยู่นี่ทั้งหมด ถ้าแสวงหา ตนไม่ถูกอาจจะผิด หมายความว่าผิดคติ ความหมายที่ว่าเราต้องการตน รักตน

การแสวงหาตนนั้น คือหาที่พึ่ง ของตน ที่ตนจะเป็นที่พึ่งได้ตลอดกาล เป็นของที่ไม่แปรผัน จัดเป็นธรรมอันเที่ยงตรง
อันนี้หมายถึงตน ที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสเตือนพวกภิกษุสามเณร สมัยที่พระองค์เทศนาโปรดพวกชฏิล ๑,๐๐๓ คน
ที่แม่น้ำเนรัญชรา ณ ที่นั้น พระองค์พักในไร่ฝ้าย ไปพบพวกมานพ ๓๐ คน

ซึ่งทั้ง ๓๐ คนนี้ เป็นเพื่อนกัน รักกันมาก แต่หากินในทางเดียวกัน คือ หากินในทางมิจฉาชีพ มีการเล่นหมากรุก หมากสกา
แล้วคนหนึ่งไม่มีภรรยา ก็ไปเอาหญิงแพศยามาเป็นเมีย พากันเล่นสนุกสนานสำราญใจ พอเผลอไป ผู้หญิงแพศยาคนนั้นได้โอกาส
ก็เลยขโมยเอาเครื่องนุ่งห่มของเพื่อนคนหนึ่งไปหมด เมื่อเสร็จจากการละเล่นแล้ว มาดูสิ่งของเครื่องนุ่งห่มต่างๆ ไม่มี
ก็เลยตามหญิงแพศยาคนนั้น พอดีไปพบพระพุทธองค์ ก็ถามพระพุทธองค์ว่า เห็นหญิงแพศยาผ่านมาทางนี้หรือไม่

พระพุทธองค์ตอบว่า พวกเธอแสวงหาหญิงแพศยานั้นเพื่อประโยชน์อะไร พวกนั้นก็บอกว่าหญิงแพศยานั้น ขโมยของไป
พระพุทธองค์ตรัสถามอีกว่า การแสวงหาหญิงแพศยากับการแสวงหาตนนั้น อะไรจะดีกว่ากัน คนหนึ่งฉลาดเลยพูดขึ้นว่า
แสวงหาตนดีกว่า พระพุทธองค์ก็ตรัสต่อไปว่า เมื่อแสวงหาตนดีกว่าแล้ว ขอให้พวกเธอ พากันนั่งลง เราจะแสดงธรรมแก่ท่าน
ท่านทั้งหลายในโลกนี้เต็มไปด้วยกองทุกข์ ในโลกนี้ เต็มไปด้วยของอากูล เป็นของน่าเกลียด โลกนี้เต็มไปด้วยกาม
เต็มไปด้วยความรักความใคร่ของกาม แต่วิธีหนีจากความรักความใคร่มีอยู่ การมีมัจฉริยะความตระหนี่ไม่ยอมให้
ก็เป็นกองไฟกองหนึ่ง เป็นทุกข์ เป็นกิเลสตัวหนึ่ง และ “การให้” เป็นความสุขอันหนึ่ง คือเราดีใจ โดยเราให้เขา

ธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงนี้เรียกว่า อนุปุพพิกถา ๕ คือ “ทานกถา” กล่าวถึงการให้ “สีลกถา” กล่าวถึงการรักษาศีล “สัคคกถา”
กล่าวถึงความสุข อันเกิดขึ้นจากการให้และการเดินขึ้นจากการรักษาศีล “เนกขัมมากถา” กล่าวถึงการออกจากกาม “กามาทีนวกถา”
กล่าวถึงโทษของกาม นี่ ๕ อย่างนี้เป็น ธรรมฟอก ฟอกนิสัย ฟอกอุปนิสัย ฟอกจิตใจของพวกภัททวัคคีย์
เหล่านั้นให้รู้จักความเป็นอยู่ของตนเอง รู้จักการให้ การเสียสละ รู้จักการสังวร ระวัง รักษา กายวาจา
และรู้จักความสุขที่เกิดจากการให้เกิดขึ้นจากการรักษาศีล ให้รู้จักความทุกข์ที่เกิดขึ้น เราอยู่ในกาม มันเป็นโทษ

เราพลัดพรากจากของรักก็เป็นทุกข์ เราแสวงหาของรักไม่ได้ก็เป็นทุกข์ ได้มาแล้วไม่พอใจก็เป็นทุกข์
ได้มาแล้วเสื่อมสูญไปก็เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นสุข ก็เพราะเราอยู่ในกามคือเรามีความใคร่เท่าไหร่
ก็มีความทุกข์เท่านั้น แล้วแสดงวิธีออกจากกาม “เนกขัมมะ” คือ การออกบวชอย่างพวกเรา การออกจากกาม คือ การพ้น จากกาม
ไม่ยินดีในกาม ไม่ใคร่ในกาม ไม่รักในกาม หาวิถีทางที่จะหนีให้พ้นจากกามเหล่านั้น อันนี้พระพุทธเจ้าให้แสวงตนมาทางนี้
แสวงหาอย่างนี้ บัดนี้ พวกเราทั้งหลายก็มาแสวงหาด้วยกันทุกคน จงค้นหาตัวเองเพราะเหตุนั้น

ในโอกาสสุดท้ายนี้ ก็ขอให้นักปฏิบัติทุกท่าน เมื่อท่านทั้งหลายมีจิตจำนง ประสงค์หมายในทางที่ถูกต้อง
ในทางที่ประเสริฐ ในทางที่บริสุทธิ์ ขอสิ่งนั้นจงพลันสำเร็จ ดังความปรารถนาของพวกท่านทั้งหลายทุก ๆ ท่านเทอญ..........


ประวัติ พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
๑.ชาติกำเนิด ๔.กำเนิดวัดป่ามหาชัย ๗.สัจจะแห่งชีวิต ๑๐.นิมิตประหลาด ๑๓.ผจญภัย
๒.สร้างธาตุมหาชัย ๕.การเผยแผ่ ๘.ความพลัดพราก ๑๑.หลงในรู้ ๑๔.กำหนดรู้
๓.พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ๖.ปริศนาธรรม ๙.ธรรมโอสถ ๑๒.ชื่อมหาชัย ๑๕.พระบรมครู

ธรรมะคำสอน หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ
อารมณ์กรรมฐาน ทางเดินของจิต การแสวงหาตน นักปราชญ์ของจิต ทาง ๗ สาย ธรรมะของหลวงปู่(๒)
กายสังขาร-จิตสังขาร เบญจขันธ์เป็นของหนัก เหตุให้ถึงธรรม อนัตตาเบญจขันธ์ เกร็ดธรรมะ
กลับสู่หน้าหลัก