กายสังขาร-จิตสังขาร
พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปํญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
แสดงพระธรรมเทศน์
ณ วัดมรุกขนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖
นัมสการพระเดชพระคุณท่านเจ้าคณะจังหวัดนครพนม ครูบาอาจารย์ และขอสวัสดี นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
ณ สถานที่แห่งนี้ มีพลังและอำนาจช่วยสงเคราะห์ในการสร้างวัด มรุกขนครแห่งนี้ เป็นกำลังช่วยสนับสนุนท่านพระครู
ศรีเจติยาภิรักษ์ ผู้เป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างถาวรวัตถุ เพื่อเป็นประโยชน์ ขึ้นแก่พระพุทธศาสนาโดยตรงดังนั้น
โอกาสนี้หลงปู่ได้มาเยี่ยมท่าน โยคี นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายทุกท่าน แต่การปฏิบัติธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนของ
พระพุทธเจ้า มีมากมายก่ายกองเหลือที่จะคณานับ แต่ว่าย่อเป็นส่วน ๆ แล้วก็มีทั้งหมด ๘๔, 000 พระธรรมขันธ์ ย่อลงมาอีก
ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา ที่พวกเราทั้งหลายได้ปฏิบัติกันมาในขณะนี้การมาปฏิบัติธรรมะในครั้งนี้
ให้เรามาดูธรรมะของพระพุทธเจ้าที่มาดูในครั้งนี้ พระอาจารย์ ท่านผู้ให้กรรมฐาน ก็มีพระครูศรีเจติยาภิรักษ์
รองเจ้าคณะจังหวัด นครพนม และพระครูสิริปัญญาวุธ เจ้าคณะอำเภอธาตุพนม สำหรับหลวงปู่ ก็จะถือโอกาสนี้ให้ไฟ
เพิ่มเดือนหงายชี้แนะช่วยในทางปฏิบัตินี้ การปฏิบัติธรรม ให้มาดูธรรมะ ๒ อย่าง ธรรมะ ๒อย่าง
อยู่ที่ไหนก็อยู่ที่ตัวของเราเองคือ ๑ รูปธรรม และ๒คือนามธรรม
รูปธรรม เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันขึ้น สามัคคีกันขึ้น ปรุงกันขึ้น ให้เป็นรูป
รูปนี้เจริญขึ้นด้วยข้าวสุก ขนมสด มีความร้อนเป็นนิจ ไม่รู้จักจบรู้จักสิ้น อาศัยอาหารเป็นวิสามัญปัจจัย
ช่วยหล่อเลี้ยง ให้เป็นอยู่ แต่โลกนี้พวก เราทั้งหลายก็ได้มองเห็นด้วยตาเนื้อ แต่ตาในคือปัญญาของเรานั้น จะเห็นบ้าง
ไม่เห็นบ้าง เพราะเรายังเป็นปุถุชนอยู่หรือเป็นกัลยาณชน เป็นเมธาชน หรือเมธีชน ก็มีน้อยยากที่จะเห็นรูปในทางปัญญา
ดังนั้นโลกนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เรียกว่า “รูปธรรม” รูปธรรมทรงอะไรไว้ยึดอะไรไว้ถืออะไรไว้เป็นอย่างไร
รูปธรรมนี้ยึดของสกปรกไว้ข้างในอาศัยหนังเนื้อหุ้มห่อทางนอก อาศัยผ้าผ่อนแพรพรรณ สบงจีวร ปิดไม่ให้เราเห็นรูป
ปิดของสกปรก ของสกปรกนั้นคืออะไรก็เรียกว่า “อสุภะ” อาหารที่เราบริโภคเข้าไปเป็นอาหารที่ประณีตบรรจง
ญาติโยมนำมาด้วยศรัทธาเมื่อมา อาหารนี้น่ารับประทานน่าฉันน่ากิน เมื่อเรากินลงไปแล้วก็กลับกลาย เป็นของสกปรกทันที
เพระว่าร่างกายของเรา สกปรกอยู่แล้ว แต่ว่าร่างกายเรานี้ก็ขยันอยู่กายสังขารนี้ขยันมาก ขยันกำจัด
กำจัดของสกปรกออกมาทางทวาร ออกทางตาบ้าง ออกทางหูบ้าง ออกทางผิวหนังบ้าง ออกทางจมูกบ้างทางลิ้นบ้าง ออกทุกๆส่วนเลย
เมื่อออกมาแล้ว เราก็เรียกไม่เพราะออกมาแล้วใครๆก็ไม่ต้องการ แม้แต่เจ้าข้อผู้กินเข้าไปคาย ออกมา ก็ไม่ยอมกินอีก
เพราะว่ามันสกปรก สกปรกอยู่ที่ไหนก็อยู่ที่กายเรานี้เองดังนั้นจึงเรียกว่า กายนี้หุ้มด้วยของสกปรกไว้
แต่กายก็ขยันกำจัดออก ออกทางตาก็เรียก ว่าขี้ตา ออกทางหูก็เรียกว่า ขี้หู ออกทางจมูกก็เรียกว่า ขี้มูก
ออกทางปากเรียกว่า ขี้ปาก ขี้ฟัน ออกจากเหงื่อ ก็เรียกว่า ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ออกทางหัวก็เรียกว่า ขี้รังแค
เรียกอย่างนี้เหมือนกันทุกคน ของอย่างนี้เราไม่ต้องการ นี่กายสังขาร ขยันอย่างนี้ ไม่ได้ลดละ
อีกอย่างหนึ่ง กายสังขารทำงานขยันมากพวกเราทั้งหลายไม่รู้หรอกว่ากายสังขารนี้ มันขยันแค่ไหน ขยันเพื่ออะไร
ขยันเพื่อให้รูปนี้ทรงอยู่ ถ้าไม่ขยันรูปนี้ก็ไม่อยู่ อาศัยอาหารเป็นเหยื่อ
อาหารก็เปรียบคล้ายๆกับน้ำมันของรถยนต์ สิ่งที่หมุนก็คือเครื่องจักรรถยนต์
ส่วนที่หมุนในกายสังขารนี้ก็คือลมหายใจ ลมหายใจเข้าหายใจออกอยู่เป็นนิจ เราจะกำหนดรู้หรือไม่กำหนดรู้
กายสังขารก็ทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ลดละเราจะนอนหลับหรือตื่น ขบฉัน เดินไปเดินมา นั่ง นอน ทำงานอยู่ตลอดเวลา
ขยันมากๆมันคลายของสกปรกออกมา ส่วนนามธรรมคือ จิตสังขารคล้ายเหมือนกายสังขารหรือเปล่า จิตสังขารที่มันปรุงขึ้นมาดี
ปรุงทั้งอนาคตที่ยังไม่มาถึง ปรุงทั้งดีและไม่ดี ปรุงหมด เพราะอาหาร ของนามธรรม คือ ใจ ก็คืออารมณ์ กินอารมณ์อย่างเดียว
ไม่ได้กินอย่างอื่น ไม่เหมือนกายของเรา กายของเรากินข้าว กินน้ำ กินอาหาร แต่จิตสังขารกินอารมณ์อย่างเดียว กินทางใจ
แล้วยังไม่พอ ยังไม่อิ่มทั้งไม่ได้เลือกด้วย ดีก็กิน ชั่วก็กิน กินตลอด กินในใจของตัวเอง อย่างเดียวยังไม่พอ
ยังกินทางตาอีก ในทางตานี่
เมื่อตามองเห็นรูปภาพเกิดสัมผัส รู้สึกเป็นวิญญาณ เรียกว่า “ จักขุวิญญาณ” รูปดีก็กิน รูปไม่ดีก็กิน
กินทางตาก็ยังไม่พอ ยังกิน ทางหูอีก เสียงดีก็กิน เสียงไม่ดีก็กินกินทางหูยังไม่พอ ยังมากิน ทางจมูกอีก หอมก็กิน
เหม็นก็กิน กินทางจมูกแล้ว ก็ยังมากินทางลิ้นอีก จืด จาง เปรี้ยว หวาน เค็ม มันกินหมด กินทางลิ้นแล้วยังไม่พอ
ยังมากินทางกายอีก เย็นก็กิน ร้อนก็กิน อ่อนก็กิน แข็งก็กิน กินหมด เมื่อจิตสังขารกินไม่เลือกอย่างนี้
พระพุทธเจ้าของเราผู้เป็นบรมครู ทรงมองเห็นด้วยปัญญา ทรงบอกให้สำรวมเสีย สำรวมตา หูจมูก ลิ้น กายใจ ในเวลาเห็นรูป
ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายธรรมารมณ์ด้วยใจ มีทั้งอิฏฐารมณ์ ดี ชอบ และอนิฏฐารมณ์ ไม่ดี ไม่ชอบ
ก็ให้สำรวมว่าดีไม่ต้อง ไปยินดี ร้ายไม่ต้องไปยินร้าย
ให้พิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันเกิดได้มันดับได้ ตกอยู่ในอำนาจของอนิจจัง
หรือความไม่เที่ยงด้วยกันทั้งนั้น จะกินไปทำไม อย่ายินดีกว่า อย่ายินร้ายกว่า ถ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย กิเลสไม่เกิด
ความรักไม่เกิด ความใคร่ไม่เกิด ถ้าไม่ยินดียินร้าย ความหงุดหงิดฉุนเฉียวก็ไม่เกิด
ความโกรธก็ไม่เกิดขึ้นอีกเป็นเครื่องสกัดกั้นกิเลสที่มีอยู่ไม่ให้มีอำนาจ ให้อยู่ภายใต้ อำนาจของจิต
ที่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายมาปฏิบัติธรรมนี้ ก็เพื่อจะให้รู้จิตสังขาร กายสังขาร กายสังขารมันขยันปลง ขยันวาง
ขยันปล่อยของสกปรกโสมมออกอยู่ตลอดเวลา จิตสังขาร ขยันปล่อยหรือเปล่า ขยันวางหรือเปล่า ถ้ายังไม่ขยันปล่อย
ยังไม่ขยันวาง ก็ขอให้ปล่อยเสีย ให้วางเสีย อย่ายึดมั่นถือมั่นในกิเลสทั้งหลายเหล่านี้
ถ้าเราไม่ยึดปล่อยวางกิเลส เราปล่อยวันใด ความทุกข์ไม่เกิด ถ้าเรายึดอยู่ ความทุกข์ก็ยิ่งเกิดขึ้น
เพราะความทุกข์ติดตามเรามาตั้งแต่แรกเกิดแล้ว ทุกข์เกิด ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป
ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้ทุกข์ดับไปได้ ขอให้นักปฏิบัติทุกท่าน โยคาวจรทุกคน
ได้พิจารณาว่าเราจะทำอย่างไรทุกข์จึงจะเกิดไม่ได้ตัวทุกข์มันทนได้ยาก เมื่อมันมีพลังมากขึ้นแหม ..
ทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด แตกหมู่ แตกคณะ แตกบ้านแตกช่อง ผัวเมียแตกกัน ลูกเต้าแตกกัน พี่น้องแตกกัน บ้านเมืองแตกกัน
หมู่คณะไม่รวมกลุ่มเลย เพราะอำนาจกิเลสตัวนี้ อย่าให้มันมีพลัง
อย่าให้มันเกิดขึ้นเหนือจิตใจของเราได้กิเลสตัวนี้ทำไมมันถึงเกิดได้ มันเกิดเพราะเรายึดเราถือมันไว้ เราชอบมัน
มันก็ชอบเรา มันจึงเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ยึดไม่ถือมันแล้ว มันก็ไม่เกิด ถ้าเรายึดถือมันก็เกิดขึ้นได้ทันที
ญาติโยมนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเวลานอนหลับ ความจริงตัวทุกข์มันก็หลับก็นอนอยู่ นอนหลับแล้วไม่รู้สึกตัว
ไม่ได้รับสัมผัส มันจะเป็นทุกข์อย่างไร เราไม่รู้สึก เพราะหลับแล้ว เราไม่รับรู้ แต่เวลาเราตื่นขึ้นมาเรารับ
เรารับเราก็เลยเป็นทุกข์ ความโลภมากเกินไป ก็ปล่อยเสีย มันให้โทษ ความรักเกินไปก็วางเสีย มันให้โทษ
ถ้าเรารักกันด้วยกิเลสตัณหา ให้รักกันในวงแคบๆ รักเฉพาะคู่สามีภรรยา อย่าไปรักมากกว่านั้น ถ้าเรารักด้วยเมตตา
กรุณาธรรมให้รักกันมากๆ รักทั่วประเทศ รักทั่วโลกเลยยิ่งดี ดังนั้น ความทุกข์ก็ดี ความสุขก็ดี มันอยู่ที่ไหน
เมื่อเรามองเห็นแล้วว่ามันเกิดอยู่ที่ในใจ ใจเป็นศูนย์รวมใจเป็นเครื่องเก็บ มันรู้มัน ตัวสัญญาเป็นตัวเก็บ
เก็บว่าไม่ลืม ยิ่งเก็บไว้มากเท่าไร
เราไม่ยอมปล่อยวางมันก็ยิ่งเป็นทุกข์มากเท่านั้น เก็บความรักไว้ก็เป็นทุกข์ เก็บความหลงไว้มากๆก็เป็นทุกข์
เป็นทุกข์กันไปหมด เพราะเหตุฉะนั้นจึงว่าทุกข์มันเกิดขึ้น ทุกข์มันตั้งอยู่ มันก็ดับไป เรามาปล่อยทุกข์เสีย
วางทุกข์เสีย ถ้าเราจะวางทุกข์ เราจะวางด้วยวิธีไหน วางด้วยการปฏิบัติจิต จิตของเราเป็นทาสของความโกรธ เราจะโกรธไปทำไม
เมื่อเราโกรธแล้วมีความสุขหรือ เราจะมองเห็นได้ทันทีว่า แหม .. เรามีทุกข์มาก หากอาการกายกิริยาเป็นอากัปกิริยาไปหมด
ที่สวยอยู่ หน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใสก็ยิ้มไม่นาน กิริยาที่อ่อนโยนนิ่มนวล ก็ยิ้มไม่ได้ หน้าตาก็เป็นยักษ์เป็นมาร
กิริยาก็ขึงขัง เป็นโจรเป็นมารกันไปหมด นี่อำนาจของความโกรธ มันเป็นสุข หรือมันเป็นทุกข์ ทั้งผู้โกรธและผู้รับ
มันก็เป็นทุกข์เฉพาะผู้โกรธ
นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อเป็นอย่างนี้ทุกข์เรา ไม่ชอบแล้ว เราจะเก็บมันไว้ ทำไม ปล่อยมันเสียวางมันเสีย
เมื่อเห็นหน้าตาของเราไม่ดี ก็ให้เห็นว่าเป็นเรื่องของเรา ได้ยินในหูไม่ดี ก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องของเขา
ต้องเอาน้ำมาล้างหน้าไปก่อน น้ำล้างหน้าเอามา จากไหน เอามาจากใจสิ เอาน้ำใจ เราเอาริมฝีปากยิ้มออกไป ยิ้มไว้ก่อน
ยิ้มแล้วจึงพูดว่า ลูกเอ๊ย ครูบาอาจารย์ก็พูดว่า ลูกเณรเอ๊ย ถ้าพูดคำนี้แล้วความโกรธ
มันก็เกิดขึ้นไม่ได้มันหยุดชะงักก่อนมันจะเกิด มันหยุดแล้ว มันยิ้มแล้ว
พูดไม่ได้แล้วก็พิจารณาสมมุติฐานว่ามันเกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด เพราะความสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น
ทางกายสัมผัส สิ่งดีไม่ดี ยุให้เกิด กิเลสตัวนี้สำคัญโกรธแล้วความโกรธมันอยู่ใต้อำนาจของจิต
บัดนี้จิตเราอยู่เหนืออำนาจของความโกรธ ยิ้มได้แล้วก็สว่าง ระงับความโกรธได้แล้ว ความละนี้เราเรียกว่าอะไร
ถ้าเรียกตามภาษาธรรมะ ก็เรียกว่า คติภาษา คือการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ถ้าเราเรียกตามอริยสัจ๔ก็เรียกว่าเป็นมรรคเป็นทาง
ดับทุกข์
เมื่อมีมรรคดับ ทุกข์ได้แล้ว นิโรจ คือ ความดับจากกิเลสทั้งหลาย พ้นจากทางโลภ พ้นจากทางหลงงมงาย
ไม่ต้องพูดถึงหรอกมันเป็นเองคือไม่พ้นมากก็ต้องพ้นน้อย อย่างน้อยที่สุดก็เป็นตทังควิมุติยกระดับขึ้น
ไปเป็นวิขัมภนวิมุติก็ยังดีอยู่นะ โยม ! ถึงแม้ไม่ถึง นิสสรณวิมุติ ก็ยังดีอยู่ ดีกว่าที่เราไม่ละ
ดีกว่าที่เราไม่เลิกเพราะเหตุนั้นจึงขอให้จิตของเรา นี้คล้ายวางกิเลสทั้งหลายเรื่อยๆ ผ่อนกิเลสทั้งหลายเรื่อยๆ ก็หมด
ให้สร้างสติ สร้างปัญญา ให้รู้ทันก่อนที่กิเลสจะเกิดยกตัวอย่างเช่น ตามองเห็นรูป รูปสวย มันก็จะเกิดรัก รูปไม่สวย
มันก็จะเกิดเกลียด ทั้งสองอย่างนี้มันเป็นกิเลสทั้งหมด จะรักก็เป็นกิเลส จะโกรธก็เป็นกิเลสถ้าเรามีสติแก่กล้า
มีปัญญาสูงส่ง รู้ทันการณ์ปัจจุบัน ธรรมทั้งสองอย่างคือ อายตนะภายใน ภายนอก มองเห็นรูป รูปดี รูปไม่ดี ก็พิจารณาว่า
รูปดีและไม่ดี มันเกิดขึ้นได้ มันก็ดับได้ มันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ไม่ใช่เราหรอก
ไม่ใช่ของเราหรอกปล่อยวางมันเสีย
เมื่อเราวางได้ในเบื้องต้น มรรคของเราทัน ตัวมรรคสกัดไม่ให้กิเลสเกิด ความรักก็ไม่เกิดความโกรธก็ไม่เกิด
อันนี้แหละพระพุทธเจ้า จึงสอนให้เราสำรวมอินทรีย์ สำรวมอินทรีย์ให้ดี สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เราจะเดินก็สำรวมจะนั่งก็สำรวม เราจะขบฉันก็สำรวม สำรวมตลอดเวลา เราสำรวมได้ ก็เป็นสมณะสารูปที่สวยงาม
เป็นนักปฏิบัติธรรม ที่ละเอียดอ่อน เดินตามทางของอริยมรรคเดินตามทางของมัชฌิมาปฏิปทา ทางเดินสายกลางของพระพุทธจ้า
นี่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
ขอให้เอาจิตแข่งกายกายมันขยันขับของสกปรกออก ใจของเราก็ให้ขับของสกปรกออก
อย่าไปยึดถือของสกปรกไว้ของสกปรกก็คือกิเลสทั้งหลายนี่แหละ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฏฐิ มานะ อิจฉา ริษยา
การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ให้กำจัดพวกนี้ออก เหมือนกายกำจัดของสกปรกออกเราไม่ต้องไปแข่งที่อื่นหรอก
ไม่ต้องแข่งคนอื่นหรอก ให้แข่งกับตัวเราเองนี่แหละ เอาจิตสังขารมาแข่งกับกายสังขาร ให้แข่งกันให้ได้ อย่าให้กายสังขาร
ได้เปรียบ ความจริงจิตสังขารนี่เป็นของสะอาด ความจริงแล้วเบื้องแรกจิตสังขารนี้เป็นของบริสุทธิ์ผุดผ่อง
เกิดขึ้นมาทีแรกขาวสะอาด แต่มาขุ่นมัวเศร้าหมอง เมื่อบรรลุนิติภาวะ รู้เดียงสากันแล้ว รู้รัก รู้โกรธ รู้เกลียด รู้ชัง
นี่จิตจึงเศร้าหมอง
เมื่อขอให้เอาจิตแข่งกาย กายมันขยันขับของสกปรกออก ใจของเราก็ให้ขับของสกปรกออกอย่าไปยึดถือของสกปรกไว้
ของสกปรกก็คือกิเลสทั้งหลายนี่แหละ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฏฐิ มานะ อิจฉา ริษยา การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ให้กำจัดพวกนี้ออก เหมือนกายกำจัดของสกปรกออก
จิตเศร้าหมอง จิตจะกลับกลายเป็นของโง่ทันที แม้ว่าจะมีพ่อแม่เป็นครูสอนเราเบื้องต้นก็ตาม สอนการอยู่ การกิน การไปการมา
การคบค้าสมาคมสอนการทำการทำงาน พ่อแม่สอนลูก ต่อมาก็มี ครูบาอาจารย์สอนเราอีก สอนในประถมถึงมัธยม
สอนไปจนถึงปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็ยังโง่อยู่ ยังสร้างกิเลสมากมายอยู่ บางคนเรียนรู้แล้วก็ละกิเลส
ปล่อยวางกิเลสดังนั้น จิตจำเป็นต้องอาศัยนักปราชญ์
อะไรเป็นนักปราชญ์ของจิต เมื่อจิตนั้นโง่ มันไม่รู้ มันจะคิดดีก็ตอบดี ไม่ได้คิดชั่วมันก็ตอบชั่ว
ไม่ได้มันรักทำดีทำชั่วทำไม อดีตก็รัก อนาคตก็รัก รักปนตลอดเวลา เมื่อเรารักอยู่อย่างนี้ จะเอาอะไรมาแก้เบื้องต้น
นักปราชญ์ของจิตก็คือสติ สติให้เตือนก่อนคิด เตือนก่อนทำ เอาตัวเป็นยาแทรกเข้าไป ไปแทรกว่าคิดอย่างนี้
คิดอย่างนั้น ผิดนะ ไม่ได้นะ ถ้าทำตามความคิดนี้ กายก็ผิด วาจาผิด ถ้ามันถูก
ปัญญาก็บอกว่ามันถูกถ้าปฏิบัติแล้วจะดี จะมีความสุขทั้งตัวเองและผู้อื่น การปฏิบัติทางจิต มีเมตตา กรุณา มีมุทิตา
มีอุเบกขาการสงเคราะห์ เกื้อกูลอุดหนุน ซึ่งกันและกัน ทำประโยชน์ ต่อตน และประโยชน์ต่อผู้อื่น
เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ตลอดถึงประเทศชาติบ้านเมือง ความเป็นอยู่ของตัวเอง
และของสังคมก็ไม่เดือดร้อนเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสงบสุข อันนี้เกิดจากมี ปัญญาชี้จิตทำตามก็ได้ประโยชน์
ถ้าไม่มีสติปัญญาเตือนอยู่ จิตก็เขวกันไปใหญ่ จิตอาศัยสติปัญญาเป็นนักปราชญ์ เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นผู้เตือน
เหมือนพ่อแม่ เตือนลูกๆ ครูบาอาจารย์เตือนศิษย์ สติสัมปชัญญะเตือน ก็เช่นเดียวกัน
นักปฏิบัติธรรม ทั้งหลาย ที่หลวงปู่พูดมาก็นานพอสมควรแล้ว อันนี้พอเป็นแนวทางแก่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
ให้นำไปคิดถ้าคิดได้ว่าคำพูดของหลวงปู่พอที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติได้
ก็ขอนิมนต์รับไปปฏิบัติถ้าเห็นว่าไม่ใช่แนวทาง จะปล่อยวางไว้ ณ ที่นี้ ก็ไม่เป็นไรนะ
ในที่สุดนี้ ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายทุกท่าน ผู้มีเจตนาดี มี
กุศลจิตดี จงเป็นผู้สำเร็จในการปฏิบัติ รู้แจ้งทั่วถึงในธรรมะของพระพุทธเจ้า อันเป็นสัจธรรมที่แท่จริงทุกๆท่านเทอญ. |