นักปราชญ์ของจิต

พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปํญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม

หลวงปู่เทศน์อบรมนักปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าอรัญญคาม
ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๓

บุญบารมีทั้งหลาย ที่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายทำมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ถ้าหากว่าใคร ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตั้งใจจริง ๆ ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานแก่ตนเอง ก็ได้มาพอสมควร ตามกำลังศรัทธา ความสามารถและความพยายามของแต่ล่ะท่าน
เพราะเหตุแห่งการบำเพ็ญ บุญกุศล และคนเกิดมาในโลกนี้ จะให้มันเกิดเสมอกันหมด สวยเหมือนกันหมด ฉลาดเหมือนกัน
มั่งมีศรีสุขเหมือนกัน ก็หายาก ก็เหลื่อมล้ำกันอยู่ ความสวย ความฉลาด ก็เลื่อมล้ำกันกันอยู่ ไม่เสมอกัน

ความที่ไม่เสมอกันนี้ เกี่ยวกับเหตุเบื้องต้น คือ เราปฏิบัติ เราทำไม่เหมือนกัน อย่างเรามาปฏิบัติธรรมนี้
บางคนก็ตั้งใจระมัดระวัง สังวรตลอดเวลา ทั้งการไป การมา การพูดการจา การขบการกิน ก็มีความสังวรระวัง ไม่ให้เกิด
ความประมาทขึ้น ไม่ให้หลงสติ มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ อันนี้เรียกว่าสมบูรณ์ ปฏิบัติกิจวัตรของตัวเองได้สมบูรณ์
การทำเหตุสมบูรณ์นั้น สมบูรณ์อย่างนี้ ผลการเกิดก็สมบูรณ์ ถ้าหากทำข้างต้นไม่สมบูรณ์
เมื่อได้รับผลก็ไม่สมบูรณ์เสมอต้นเสมอปลาย บางทีก็รวย บ้างก็จน บ้างก็มีความสุข หรือบ้างก็มีความทุกข์ เกิดขึ้นมาจากเหตุทั้งนั้น

ในวาระนี้ พวกเราทั้งหลายพากันมาทำเหตุดี การทำเหตุดีนั้น คือ วางตนแล้วว่า เราจะต้องมาปฏิบัติกรรมฐาน “ฐานะ”
แปลว่าที่ตั้ง กรรม หมายถึงการกระทำ เรากระทำอะไร เดี๋ยวนี้ เรามาปฏิบัติธรรม มารักษาศีลตามภูมิของตัวเอง เรากระทำอะไร
เดี๋ยวนี้ เรามาปฏิบัติธรรม มารักษาศีลตามภูมิของตัวเอง พระก็รักษาศีล ๒๒๗ ข้อ สามเณร
ก็รักษาศีล ๑๐ อุบาสก - อุบาสิกาก็รักษาศีล ๘ การรักษาศีล ๘ ให้สมบูรณ์ตามภูมิ อันนี้เป็นข้อหนึ่ง
เป็นบทบาทอันที่หนึ่ง ที่เป็นต้นเหตุแห่งความดี ข้อสอง ทำจิตของตนเองให้เป็นสมาธิ

ไม่ให้จิตใจฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่าง ๆ หรือตามอารมณ์ที่ต่ำช้า อารมณ์ที่ลามก คิดเชือนแชไปใน ปาณาติปาต อทินนาทาน
กาเมสุมิจฉาจาร ในทางที่ไม่ดีงาม สังวรระวัง ไม่ให้มันคิดไป ถ้ามันคิด เราต้องตำหนิติเตียนว่า
คิดอย่างนี้มันผิดแล้วทั้งศีลทั้งธรรม ผิดทั้งกฎหมายบ้านเมือง ตัวเตือน นี้เป็นตัวสติ สัมปชัญญะ
ผิดแล้วก็ถอนตัวอย่างนี้ จิตเราก็อยู่ในระบอบแห่งการสังวร คือ ตัวสมาธิ ทำอะไร คิดอะไร ก็เอาสติไปด้วย เอาปัญญา
ไปด้วย เพื่อสังวรระวังจิตไม่ให้มันผิด อันนี้เรียกว่า จิตใจดี บริหารงาน ที่จะต้องทำก็ดี

งานอะไรที่จะทำ คืองานปฏิบัติธรรมในเวลานี้ การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ไม่เกียจคร้าน ไม่เบื่อไม่หน่าย ถึงเวลาทำก็ทำ
เดินจงกรมเหนื่อยก็นั่งสมาธิ เมื่อนั่งสมาธิ เหนื่อยก็มาพิจารณารูปร่างสังขารอันเป็นรูปธรรม รูปธรรม
ที่เรายึดถืออยู่ ร่างกาย ที่เรียกว่า เขา เรา เขา เรานี้เป็นภาษาที่เรียกสมมุติกัน ไม่เป็นภาษาความจริง
ภาษาความจริงนั้นคือ เบญจขันธ์ เบญจขันธ์ขันธ์ทั้ง ๕ แบ่งเป็นรูปธรรมและนามธรรม

ส่วนรูปร่าง ที่เรามองเห็นกันนี้เป็นรูปธรรม ส่วนที่เรามองไม่เห็นเวทนา คือ ความเสวยสุขเสวยทุกข์ หรือเฉยๆ
ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา ตัวนี้ไม่เห็นมัน เราเจ็บปวด อวัยวะส่วนใด ส่วนหนึ่ง เรียกว่าเป็นทุกข์
คำว่าเป็นทุกข์นี้เรียกว่าทุกขเวทนา เวทนานี้คือ ความเสวยอารมณ์ ตัวเวทนานี้เราหนีไม่พ้น แต่ถ้าเรารู้ทันมัน
มันเป็นทุกข์ให้กำหนดว่า ทุกขเวทนา ทุกข์นี้มันเกิดได้มันมีประจำอยู่ ในชีวิตเรานี้เราหนีไม่ได้

เราเสวยอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีเกิดแล้วมีทุกข์ ถ้าอันไหนไม่มีเกิด ทุกข์ไม่มี ทุกข์มันเกิดที่ไหน มันเกิดในใจ เกิดในกาย
ก็ให้มันดับที่ใจดับที่กาย มันทุกข์ที่ไหน มันเจ็บปวดตรงไหน ก็ให้ พิจารณา เออ.....อันนี้มันเป็นทุกขัง
มันเกิดได้มันก็ดับได้ เราหนีจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เพราะ ทุกข์มันประจำสังขาร พิจารณาแล้วก็ปล่อยเสีย
อย่าไปยึดติดยึดถือมันอยู่ เมื่อเราไม่ยึด ก็เรียกว่าเราปลดทุกข์ ถ้าเรายึดอยู่ก็เรียกว่ายังแบกทุกข์อยู่
อันนี้การแก้ทุกข์

ตัวอุปาทานนี้เป็นตัวสำคัญ ตัวยึดตัวถือ ถือว่าของเรา ร่างกายเรา เราถือว่าเราอยู่ ตราบใด เราก็เป็นทุกข์อยู่ตราบนั้น
ถ้าเราไม่ถือว่าเราเสีย เป็นทุกข์ก็ช่างมัน เบญจขันธ์มัน ไม่ใช่เรา ช่างมันเถิด มันเจ็บกายของเรา
กระวนกระวายเดือดร้อนมีปฏิสาร ก็ช่างมัน “จิตตัง อะนาทุรัง ภะวิสสะติ” แต่จิตของเราไม่เดือดร้อน
ปล่อยมันเสียเมื่อเราปล่อยเราวาง ก็ไม่ใช่ของเรา มันก็เลยไม่เป็นทุกข์เหมือนกับคนอื่นเจ็บ คนอื่นเจ็บหู เจ็บตา เจ็บแข้ง
เจ็บขา เจ็บอวัยวะร่างกาย นั่งใกล้กันอยู่ แต่ร่างกายผู้อื่นเจ็บ เราไม่ได้ถือว่าของเรา
ถือว่าเป็นของคนอื่นเขาเจ็บเราไม่เจ็บ เพียงแต่สงสารเอ็นดูเท่านั้น ถ้าเราถือว่าของเรา เราต้องเจ็บ

ร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน ที่เรายึดถืออยู่นี้ ถ้าเราว่าเป็นของเราอยู่อันใดทุกอย่างทุกสิ่งในร่างกายของเราหมด
เรายึดเราถือ ถือเท่าไหร่ ยิ่งเป็นทุกข์เท่านั้น ถ้าไม่ใช่ของเราก็ไม่มีทุกข์ เราพิจารณาให้เห็นว่า
เบญจขันธ์นี้มันเป็นทุกข์ มันเกิดได้มันก็ดับได้ ขันธ์ ๕ มันเกิด ขันธ์ ๕ มันดับเอง เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้แล้ว
เราก็ปล่อยเสีย ว่าไม่ใช่ของเรา ตัวปล่อยนี้เอง ตัว ปล่อย ทุกข์ ตัววางทุกข์ ตัวไม่แบกทุกข์
ถึงว่าทุกข์มันเกิดขึ้นที่ไหนมันก็ดับที่นั่น

ตัวเวทนา ตัวเสวย เราจะห้ามจะกันไม่ให้เสวยไม่ได้ แต่เรารู้ เรากำหนดทันมัน อย่าไปเป็นเวทนากับมัน ถ้ามันมีความสุข
มันสบายดี อย่าไปสุขกับมัน ถ้ามันเฉย ๆ ไม่ได้เกามัน มันมีความสุขสดชื่นเพราะกลากไม่มี
คนที่เป็นกลากเป็นเกลื้อนนั้น เขาเกาเสีย เออ...เกาแล้วมีความสุขสบาย อันผู้ที่เกากับผู้ที่ไม่เกานั้น
ถ้าเราเทียบกันแล้ว ผู้ไม่มีกลากมีความสุขกว่าผู้มีกลาก ผู้มีกลากมีความสุขต่อเมื่อเกา มันหายคัน เออ...สบาย
มีความสุขจังเลย อันคนที่ไม่เกาไม่มีกลากเลยสบายกว่าผู้เกา เหมือนกับคนที่เสวยทุกข์ ปลดทุกข์ คนเสวยสุข วางสุข
อุเบกขา วางอุเบกขา วางเสียก่อน เขาจึงรู้ว่าเขาสบาย อันคนที่ไม่ได้วางอะไรเลย สบายกว่า

อีกประการหนึ่งเหมือนกันคนแบกคนหามของหนัก เขาหนักมากจนบ่าเขาจะแตก จะหัก หลังคดหลังงอ มันหนักมาก ไม่มีความสบาย
มีแต่หนักเป็นทุกข์ ถ้าปล่อยลงไป โอ้ย สบาย ทีนี้ผู้ไม่ได้วาง กับผู้ไม่ได้แบก ใครจะสบายมีความสุขกว่ากัน
มันก็ผู้ไม่ได้แบกนะสิ สบายกว่ามีความสุขมากกว่า อันนี้เหมือนกัน คนยึดคนถือหลาย ปล่อยวางแล้ว เออ..สบายใจ
ถ้าผู้ไม่ยึดไม่ถือ ปล่อย ไม่ใช่ของเรา ถือว่ามันเป็นขันธ์ ๕ เป็นธรรมชาติ มันเกิดแล้วมันก็ดับ มัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย
เป็นธรรมชาติของมัน แต่เราเองไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ยึดมั่น เฉย ๆ อยู่ อันนี้มันสบายพระพุทธเจ้าจึงสอนว่า
มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา อนัตตานั้นเป็นของไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเราของเขา เป็นเพียงของธรรมชาติ
มันเกิดมันดับของมันเอง

อัตตานั้น เป็นของที่ไม่แตกไม่หัก เป็นของเที่ยงตรง นิจจัง เป็นของเที่ยงแท้อย่างพระนิพพาน
หรือคุณธรรมอย่างสูงส่งที่เรานำมาปฏิบัติ อันนี้แหละเป็นตัวจริง ให้เราหาตัวจริง
พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ทำของเล่นของทิ้ง เช่น ผ้านุ่งแพรถือ เครื่องใช้เครื่องสอย เรือนชานบ้านช่อง ที่อยู่อาศัย
ไร่นาสาโท แก้วแหวนแสนศักดิ์รัตนมาศ เป็นสมบัติของโลก เราถือเอาชั่วขณะเดียว ผู้ใดอยู่ในโลกแล้วหาใช้
หนีจากโลกแล้วทิ้ง อันนี้เรียกว่าของเล่นของทิ้ง ของเล่นในโลกมนุษย์เหมือนกับของเล่นของเด็ก ๆ

เด็กมันเล่นบ้านเล็กบ้านน้อย เล่นอะไรมีหมด ของอยู่ของกิน ของใช้ในบ้านน้อย แต่ไม่ได้กินไม่ได้ใช้หรอก
เขาเล่นของม่วนสนุกสนาน เคยเล่นบ้านน้อยอยู่แม่นบ่อ โยมพวกพระเณรก็เหมือนกัน เคยเล่นหมากข่าง (ลูกข่าง)
หมากเสือกินหมู เล่นแล้วก็ทิ้ง ไม่ได้อะไรมา เด็กน้อยและเรือนน้อยและแล้วก็ทิ้ง ไม่ได้เก็บ ไม่ได้เอาอะไร ทิ้งหมด
ทีนี้พวกเราทั้งหลาย เราแสวงหาอะไร เครื่องใช้ไม้สอย เรือนชานบ้านช่อง สร้างใหญ่โตโหฐาน ไร่นาสาโทกว้างขวาง ทิ้งหมด
ไม่ได้เอาอะไร มิหนำซ้ำ เบญจขันธ์ที่เรายึดว่าเป็นของเรานี่ เราก็จะทิ้งอีก ไม่ได้เอาอีก
มันไม่ใช่ของจริงมันเป็นของปลอม ของเล่น ของใช้ ชั่วครู่ชั่วขณะเท่านั้น ชั่วชีวิตหนึ่งเท่านั้น
แล้วก็ทิ้งไปเหมือนกับเด็กเล่นของเล่น พอเล่นเสร็จมันก็ทิ้ง

เราก็เหมือนกัน ที่อยู่ในโลกนี้ก็ทิ้งเหมือนกัน ฉะนั้น จึงให้แสวงหาของจริง ให้แสวงหาศีลหาธรรม
ศีลธรรมไม่มีให้หาเอามาใส่ ศีลไม่มี หาศีลมาใส่ ธรรมไม่มีให้หามาใส่ ธรรมะตัวไหนจะเอามาใส่ จะเอามาไว้ เคยเตือนมาแต่ต้น ๆ
แล้ว ธรรมะข้อสำคัญที่สุดคือ ให้มีสติ ให้สร้างสติ ให้สติกับปัญญาแก่กล้า ให้รู้ทันอย่าให้เผลอ
คิดอะไรทำอะไรให้มีสติกำกับอยู่ งานที่ทำนั้นไม่ผิด ทางกายก็ไม่ผิด ทางวาจาก็ไม่ผิด ในใจคิดก็ไม่ผิด
ตัวสัมปชัญญะนั้น คือตัวนักปราชญ์ ตัวเตือนมันผิดไปแล้วก็เตือน อันนี้มันผิดนะ ผิดแล้วเลิกเสีย
ถ้าผิดแล้วยังดันทุรัง เรียกว่า อันธพาล อันธพาลขืนนักปราชญ์ ขืนครูบาอาจารย์ไม่เชื่อฟัง ต้องตกหลุมแน่
ถ้าเชื่อนักปราชญ์นั้นไม่เป็นไร นักปราชญ์มันมีน้ำใจ ในตัวเรานี้

ตัวปัญญา คือนักปราชญ์ ตัวเตือน ตัวสติตัวนำ ตัวตามไปตามมัน ตัวปัญญาเป็นตัวบอก เออ อันนั้นผิดนะ อย่านะอย่า
อันนี้ถูกนะทำไป ทำอันนี้ท่านให้รักษาพวกนี้ไว้ให้ดี ถ้าเราสร้าง สติให้แก่กล้า ท่านว่าเป็นพลัง สติพลัง
สติเป็นกำลัง ถ้ามีกำลังไปไหนถึงหมด เหมือนกับ ร่างกายเรามีกำลัง เราจะเดินไปไกลแค่ไหนถ้าไม่มีกำลัง อ่อนเพลีย
เดินไปใกล้ ๆ ก็เดินไม่ถึง ปัญญาพลัง อาศัยปัญญาเป็นกำลัง มีสติปัญญาเป็นกำลัง ไปไหนก็เร็ว คิดก็ไว ทำอะไรก็ไว
แก้อารมณ์ก็ไว ไม่ทำให้มันล่มจม แก้ทันทีเลย ในปากอ่าวมันไม่ล่มไม่จม อันนี้ ศรัทธาพลัง
ให้มีศรัทธาความเชื่อมั่นไว้ภายในตนเอง ศรัทธาคือความเชื่อ เชื่ออะไร เชื่อว่าบาปมีจริง บุญมีจริง สวรรค์มีจริง
นรกมีจริง เปรตมีจริง อสุรกายมีจริง คนทำดีได้ดี คนทำชั่วได้ชั่วจริง นี่ศรัทธาให้เชื่ออย่างนี้

ทีนี้เราต้องการอะไร ต้องการดี ต้องการทำดี ความดีมันจะมาทางไหน มันจะมาทางกาย มาทางวาจา มาทางใจ มาทางนี้เท่านั้น
ทางอื่นไม่มีที่จะมา ฉะนั้น จึงให้รักษาอันนี้ รักษา กายวาจาใจ ให้มันดีมันจึงจะได้ของดี ถ้าบ่อของความดีมันแตก
ความดีจึงไม่เต็ม โอ่งแตก น้ำมันไม่อยู่ ใจแตก คุณงามความดีก็ไม่อยู่เช่นเดียวกัน
ฉะนั้นจึงต้องรักษากายวาจาใจให้มันดี อย่าให้มันพูดผิด ให้มันพูดถูก กายก็ให้มันถูก อย่าให้มันผิด
อันนี้แหละความดีอยู่ ในนี้ ฉะนั้น จึงให้รักษาศีล ทำจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นสมาธิ ท่านจึงให้นั่งสมาธิ

กำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไปข้างหน้าไม่ให้คิด คืนหลัง
ให้มันคิดอยู่ในปัจจุบันนี้ มันถึงจะเป็นสมาธิ ถ้ามันเป็นสมาธิ มันอยู่เป็นวิริยะพลัง คือความเพียร
ความเพียรไม่ลดไม่ละ ไม่ติว่ามันร้อน มันหนาว มันเช้านักสายนัก เที่ยงแล้ว บ่ายแล้ว ดึกแล้ว ยังหัวค่ำอยู่
ไม่คิดอย่างนั้น นั่งให้ภาวนานั่ง นอนให้ภาวนานอน เดินให้ภาวนาเดิน กินให้มีสมาธิกิน คนที่มีสติ มีสมาธิ
กินมีความสังวรกิน กินมีประโยชน์ เรากำหนดอยู่ไม่เผลอ เรียกว่า “จิตเป็นหนึ่ง” ในการกินนี้มีสมาธิอยู่เหมือนกัน
นี่ให้เข้าใจไว้ พระพุทธเจ้าทรงให้สร้างเสริมพลัง ให้สร้างพลังขึ้น นี่คือพลัง ๕ คนที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน
ท่านจึงพยายามสร้างพลังอันนี้แหละ

พระพุทธเจ้าท่านสอนเบื้องต้น ท่านปรารภแล้วว่า บุคคลที่จะบรรลุธรรมนี้ยาก ยากนักยากหนาที่จะได้บรรลุ
ธรรมะเป็นของลึกซึ้งสุขุมคัมภีรภาพ เราตถาคตนี้ บำเพ็ญมาหลายร้อยชาติ จึงมาพบธรรมอันลึกซึ้งนี้
เหตุไฉนบริษัททั้งหลาย เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ผู้ที่ยังไม่ได้บำเพ็ญจะได้บรรลุหรือ ก็เลยท้อใจ กลัวไม่ได้บรรลุ
ต่อมาก็คิดได้ “โอ้...เวไนยสัตว์ทั้งหลายนี้คงจะมีอุปนิสัยไม่เหมือนกัน บางทีมีอุปนิสัยดีแล้ว บางที พอปานกลาง
บางทีพออบรมได้ บางทีอาจจะอบรมไม่ได้ เทียบกับบัว ๔ เหล่า บัวอันหนึ่ง นั้นมันพ้นน้ำแล้ว

พอพระอาทิตย์ออกมามันก็บานเลย ตั้งอยู่เสมอน้ำ มันก็จะบานในวันพรุ่งนี้ หรือมันอยู่ใต้น้ำลงไปหน่อยหนึ่ง
มันก็อาจจะบานในวันต่อไป ถ้ามันอยู่ใต้น้ำลึก ไม่มีโอกาสจะบาน ก็จะเป็นอาหารของเต่าและปลาต่อไป” ทีนี้ “สัทธินทรีย์”
กายแก่กล้าด้วย ศรัทธา “ปัญญินทรีย์” กายแก่กล้าด้วย ปัญญา “สตินทรีย์” กายแก่กล้าด้วยสติ “วิริยินทรีย์”

กายแก่กล้าด้วยความเพียร “สมาธินทรีย์” กายแก่กล้าด้วยสมาธิ นี่เรียกว่าอบรมอินทรีย์ ให้แก่กล้า
พวกนี้เมื่ออบรมให้แก่กล้าแล้ว ได้ฟังธรรมะอีกนิดเดียว ก็บรรลุเลย ผู้ที่ยังไม่แก่กล้า ก็อบรมกันไปเสียก่อน
เพิ่มขึ้นให้มันแก่กล้าขึ้น เรามาปฏิบัติอย่างนี้ค่อยอบรมตัวเองให้มันแก่กล้าขึ้น เพื่อมรรคผลนิพพานต่อไป
ถึงแม้ยังไม่ทันแก่กล้าเราก็ได้มรรคผลอยู่ กับอินทรีย์ของเรา เรามีเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น
ไม่ได้บรรลุมากก็ได้บรรลุน้อย ไม่ได้สูงก็ได้ต่ำ ไม่ได้เสียทีที่เรามาปฏิบัตินี้

เพราเหตุนั้น ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายให้หนักแน่น รักษาสติให้ดี อย่าให้มัน เผลอ ถ้าเผลอสติ เรียกว่าคนประมาท
คนประมาทคือคนหลง คนประมาทแล้วไม่ได้อะไร คือ คนตายแล้ว ทำอะไรก็ไม่เป็นอะไร ท่านจึงว่า “ปะมาโท อะมะตัง ปะทัง” ความประมาท
เป็นความตาย คนประมาทแล้ว ทำอะไรก็ไม่ถูก เพราะสติไม่พร้อม ทำอะไรทำไปเลย สติ ไม่มี ผิดแล้วผิดมาก ผิดแล้วจึงรู้
ถ้าจะพูดอะไรก็พูดไปก่อนแล้วจึงพิจารณาตามหลัง ผิดแล้ว สติไม่ทัน นี่คนประมาทมักพูดผิด ทางวาจาก็ดี
ทางกายก็มักทำผิด ผิดในเท้าในมือ การไปการมามักเตะตอ มักเตะสะดุด มักเตะหนาม มันไม่เห็นหนาม ไม่เห็นตอ ไม่เห็นสะดุด

ถ้าคนเห็นตอแล้วไม่เหยียบตอ ถ้าเห็นหนามมันก็ไม่เหยียบหนาม เห็นหนองเห็นพงก็ไม่ตก เห็นต้นไม้มันก็ไม่ชน
ถ้าไม่เห็นแล้วชน คนไม่มีสติก็เหมือนกันแหละกับคนไม่เห็น มันผิดแล้วจึงเห็น โอ้ ผิดแล้วหนอ
คนไม่เห็นต้นไม้เดินชนแล้วจึงเห็นต้นไม้ คนไม่เห็นตอแล้วเดินชนจึงเห็นตอ โอ้ ตอมันอยู่นี่เอง
เหมือนคนไม่มีสติทำผิดจึงได้รู้ มันแก้ไม่ได้แล้ว มันผิดแล้ว แก้มันก็ไม่เหมือนเดิม ต้องทำใหม่ไป
อันคนเตะสะดุดนั้น เตะแล้วจึงแก้มัน เท้าแตกแล้วมีแต่รักษาบาดแผลเท่านั้น จงพิจารณาการปฏิบัตินี้ อย่ามัวแต่สนุก
อย่ามัวแต่ม่วน ถ้าม่วนก็ให้ม่วนอยู่แต่ในการปฏิบัติ ม่วนในการเดินจงกรม ม่วนในการทำสมาธิ ม่วนในการภาวนา
ให้ม่วนแนวนี้ อย่าม่วนพูดกัน อย่าม่วนคุยกัน อย่าม่วนในการนอนสบาย อย่าม่วนในการกินสบาย ให้ม่วนในหน้าที่ของตัวเอง
ในการปฏิบัติ มันจึงจะถูก

ที่สุดนี้ ก็หวังว่านักปฏิบัติทั้งหลายคงจะพิจารณาพินิจพิเคราะห์ แก้ไขสันดานของ ตัวเอง ให้แก้ไขเอง
หลวงปู่ก็แก้ไขให้ไม่ได้ เพียงแต่พูดเฉย ๆ ให้แก้เอง เรามีสิ่งใด ก็ให้แก้สิ่งนั้น แก้สิ่งมันผิด
สิ่งไหนมันถูกแล้วให้ทำ ต่างคนต่างแก้ใครแก้มัน แปลงใครแปลงมัน ซ่อมใครซ่อมมันจึงจะได้ ถ้าเราไม่ยอมแก้ตัวเอง
ไม่ยอมซ่อมตัวเอง ไม่ยอมปรุงเจ้าของ ใครก็ปรุงไม่ได้ ใครก็แปลงให้ไม่ได้ ให้แปลงเอง ซ่อมเองเด้อ..

ที่สุดนี้ ขอพวกท่านทั้งหลายที่เป็นนักปฏิบัติธรรม และพวกญาติโยมทั้งหลาย
ที่ให้ความอุปการะและแสดงความยินดีในการปฏิบัตินี้ก็ดี ขอจงประสบแต่อายุ วรรณะ สุข พละ
นึกคิดปรารถนาผลอันใดในทางชอบขอผลสิ่งนั้นจงเกิดมีแก่นักปฏิบัติและญาติโยม ผู้ให้การอุปการะ แสดงความยินดีด้วย
จงสำเร็จผลทุกประการเทอญ......


ประวัติ พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
๑.ชาติกำเนิด ๔.กำเนิดวัดป่ามหาชัย ๗.สัจจะแห่งชีวิต ๑๐.นิมิตประหลาด ๑๓.ผจญภัย
๒.สร้างธาตุมหาชัย ๕.การเผยแผ่ ๘.ความพลัดพราก ๑๑.หลงในรู้ ๑๔.กำหนดรู้
๓.พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ๖.ปริศนาธรรม ๙.ธรรมโอสถ ๑๒.ชื่อมหาชัย ๑๕.พระบรมครู

ธรรมะคำสอน หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ
อารมณ์กรรมฐาน ทางเดินของจิต การแสวงหาตน นักปราชญ์ของจิต ทาง ๗ สาย ธรรมะของหลวงปู่(๒)
กายสังขาร-จิตสังขาร เบญจขันธ์เป็นของหนัก เหตุให้ถึงธรรม อนัตตาเบญจขันธ์ เกร็ดธรรมะ
กลับสู่หน้าหลัก