ทาง ๗ สาย
พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปํญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
หลวงปู่เทศน์อบรมนักปฏิบัติธรรม
ณ วัดป่าอรัญญคาม ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม
เมื่อเช้าวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๓๔
คณะศรัทธาญาติโยมชาวอำเภอนาแก โดยการนำของท่านเจ้าคณะอำเภอนาแก และคณะศรัทธาเจ้าภาพทางโรงพยาบาลนครพนมของเรา
ได้ถือโอกาสมาทำบุญวันนี้ และก็มาร่วมสามัคคีทำบุญร่วมกัน การทำบุญในวันนี้ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ คือ หลาย ๆ
แห่งมารวมกันโดยไม่ได้นัดแนะ ทางเจ้าภาพอำเภอนาแกก็นำเอาญาติโยมคณะศรัทธานาแกของเรามาร่วมทำบุญ ณ ที่นี้
นักปฏิบัติธรรมของเราทั้งหลายก็ถือโอกาสไปบิณฑบาตที่อำเภอปลาปาก
กลับมาทางโรงพยาบาลนครพนมก็เป็นเจ้าภาพถวายภัตตราหารพร้อมกับคณะศรัทธาที่ทำเป็นประจำอยู่
การทำบุญของพวกคณะศรัทธาทั้งหลายนี้ หลวงพ่อมีความภูมิใจและขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของเจ้าภาพทุกท่านที่ถือ
โอกาสมาทำบุญในครั้งนี้ หรือตั้งแต่เริ่มต้นเป็นต้นมาถึงวันนี้
การปฏิบัติธรรมก็ยังเหลือเวลาอีก ๒ วัน วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๓๔ ก็จบกัน ต่างองค์ก็ต่างเลิกรา
นำเอาธรรมะเอาข้อปฏิบัติที่ได้ฝึกหัดแล้วไปปฏิบัติที่บ้านของตน ญาติโยมนักปฏิบัติธรรม อุบาสก อุบาสิกา
ก็จะได้นำธรรมะที่ได้ฝึกหัดแล้วนี้ไปปฏิบัติในบ้านช่องของตน
ไม่ใช่ว่ามาปฏิบัติในที่นี่แล้วจากไปก็ทิ้งไว้ที่นี่ เราปฏิบัติได้แล้วก็นำเอาไปปฏิบัติต่อ ๆ ไป
สอนลูกหลานญาติพี่น้องมิตรสหายให้รู้ด้วยกัน ปฏิบัติด้วยกัน อันนี้จะเป็นประโยชน์แก่พวกเราและชาวโลกทั้งหลายมาก ๆ
ถ้าต่างคนต่างรู้แล้วไม่ได้ตักเตือนกันไม่ได้บอกกัน ไม่ได้ซักถามกัน ผู้ที่ยังไม่รู้ไม่ได้ปฏิบัตินั้นมีมาก
แต่ถ้าหากผู้ที่ได้ปฏิบัติแล้วคนหนึ่งนำเอาธรรมะ หมายความว่าเป็นทูตธรรมะ เอาไปเผยแผ่ ๑ คน เอาบริวาร ๕ คน
ให้รู้ด้วยกัน ต่างคนต่างกระทำ ก็จะได้บริษัทมากขึ้น ๆ นักปฏิบัติธรรมมากขึ้น ถ้าต่างคนต่างรู้แล้ว
ต่างคนต่างได้แล้ว ก็เฉยไว้ในใจในกายของตัวเอง ไม่เผยแผ่ธรรมะอันนี้ต่อไป ธรรมะก็ไม่สามารถ ที่จะแผ่กระจายออกไป
สู่จิตใจของชาวโลกทั้งหลายได้ ดังนั้นหากว่าเราได้จำบทบาทวิธีปฏิบัติจากครูบาอาจารย์แล้ว เราควรใส่ใจมาก ๆ
อันนี้ถือว่าเป็นคุณสมบัติ ไม่ใช่โภคสมบัติ คุณสมบัตินี้เป็นคุณธรรม เรียกว่าเป็นทรัพย์อันประเสริฐ
เป็นทรัพย์ที่ไม่ตาย เรียกว่าอริยทรัพย์ก็ได้ ทรัพย์เหล่านี้ สามารถที่จะติดตามดวงจิตวิญญาณของตัวเอง
ไปตลอดทุกหนทุกแห่ง เมื่อเราละโลกนี้ไปแล้ว ไปสู่โลกหน้า คุณธรรมที่เราปฏิบัตินี้จะเป็นเพื่อน เป็นผู้ติดตาม
เป็นผู้เตือน ผู้ชักนำเราไปสู่คติอันดี
คติอันดีที่เราต้องการนั้น โดยมากเราก็ปรารถนามนุษย์สมบัติ อย่างน้อย ก็ให้เราได้มนุษย์สมบัติ เราทำอย่างไร ๆ
ก็หนีจากมนุษย์สมบัตินี้ยาก แล้วก็ต่อมา สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ อันที่เราปรารถนา อย่างน้อยไม่ได้สวรรค์สมบัติ
ก็ให้ได้มนุษย์สมบัติ อย่าให้มันตกจากมนุษย์สมบัติ เราเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์แต่ละชาตินั้น เป็นมายาก
ใช่ว่าจะเป็นมาง่าย ๆ จำเป็นจะต้องอาศัยบุญบารมี เป็นพลวะปัจจัยช่วยให้เราได้เกิดมา เป็นมนุษย์
คุณธรรมที่ให้เป็นมนุษย์คือ เบญจศีล ศีลทั้ง ๕ หรือนิจศีล เรียกว่ามนุษย์ธรรม หรือ กรรมบถ ๑๐ เหล่านี้
แต่งให้มาเกิดเป็นมนุษย์ บัดนี้เราได้โอกาสดีแล้ว ได้อัตภาพ ได้ร่างกายมนุษย์เรียบร้อยแล้ว
เราพยายามรักษาระบบความเป็นมนุษย์ไว้ในตัวเองเราให้ดี แต่มนุษย์นี้ ท่านตรัสไว้มีหลายประเภท
เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เช่น
มนุสสโภโต มนุษย์ชนิดนี้ร่างกายเป็นมนุษย์ จิตใจมีศีลธรรม มีเมตตากรุณาธรรม เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ
รูปสมบัติ และคติสมบัติ เรียกว่า มนุสสโภโต
มนุสสเทโว ร่างกายเป็นมนุษย์ จิตใจเป็นเทวดา เป็นคนสังวร ระวัง กลัว บาป ละอายบาป ไม่กล้าทำบาป ทั้งที่ลับ และที่แจ้ง
ทั้งที่คนน้อยและคนมาก กลัวต่อความผิด ละอายความผิดของตัวเอง อันนี้เป็นมนุสสเทโว ร่างกายเป็นมนุษย์จิตใจเป็นเทวดา
มนุสสติรัจฉาโน ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจนั้นไม่มีศีลไม่มีธรรม ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้สูงรู้ต่ำ เต็
มไปด้วยโมหะ คือความหลงงมงาย ไม่รู้จักผิดถูก ไม่รู้จักสถานที่ควรเคารพและ ปูชนีย์ที่ควรเคารพ ปูชนียสถาน เช่น
วัดวาอาราม พระธาตุเจดีย์ เป็นปูชนียสถานที่ควรเคารพคารวะ ปูชนียบุคคล หมายถึงบุคคลผู้มีวัยวุฒิ วัยวุฑโฒ
ผู้ใหญ่โดยวัย คุณวุฑโฒ ผู้ใหญ่โดยคุณ แต่ทว่าคนที่มีจิตใจเต็มไปด้วยโมหะ มีความหลงงมงายนั้น
ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษสูงต่ำอะไร ไม่รู้จักผิด - ถูก ตลอดถึงพ่อแม่ของเขา เขาก็ทำลายได้ เขาเบียดเบียนได้
มนุษย์คนใดที่มีจิตใจไปอย่างนั้น ไม่รู้บาปบุญคุณโทษสูงต่ำ ไม่รู้จักที่ควรเคารพคารวะบูชา
ไม่รู้จักสถานที่หรือบุคคลที่ควรจะทำสามีกิจกรรม ก็แสดงว่าเป็นมนุษย์เฉพาะร่างกาย แต่จิตใจเป็นเดรัจฉานอยู่
ตายไปก็เป็นสัตว์เดรัจฉานจริง ๆ
มนุสสนิรโย ร่างกายเป็นมนุษย์ จิตใจเต็มไปด้วยความเดือดร้อน เดือดร้อนไปด้วยความโลภ ความโกรธ เดือดร้อนไปด้วยทิฏฐิ
มานะ ถือตน ถือตัวเก่งกล้าสามารถ อันนี้เรียกว่า มนุษย์ที่ตกอยู่ในภาวะของความร้อน อยู่ในโลกนี้ก็เดือดร้อน
แม้หนีจากโลกนี้ไปแล้วก็ตกนรก นี่เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุคคลที่ขัง บุคคลที่ยึดที่ถือ บุคคลที่หน่วงเหนี่ยว
ยึดถือโทสะ คือความโกรธ ความหงุดหงิดไว้ในใจตลอดเวลา เรื่องอะไรเกิดขึ้นก็มีความโกรธ เมื่อไม่สบกับตาตัวเอง
ไม่สบกับอารมณ์ตัวเอง ก็โกรธแล้ว เสียง กระทบหูไม่ถูกอารมณ์ก็โกรธแล้ว กลิ่น รส
อะไรทั้งหลายที่มาสัมผัสที่ร่างกายนี้ ก็เกิดความโกรธหมด บุคคลชนิดนี้ก็เรียกว่ามีความโลภอยู่เป็นเจ้าเรือน
จิตใจอยู่ในอำนาจของความโกรธ มันบีบบังคับหมดถอนไม่ได้ มนุษย์อย่างนี้อยู่ก็ตกนรกทั้งเป็น อยู่กับบ้านไหนก็ทำ
ให้บ้านนั้นเดือดร้อน พ่อแม่ ผัวเมีย ลูกเต้า แตกสามัคคีกัน บ้านใกล้เรือนเคียงไม่สมานสามัคคีกัน
ก็เพราะกิเลสตัวนี้เอง ตัวนี้สร้างให้มนุษย์เป็นเปรต หรือตกนรก ตายไปตกนรก นรกเป็นสภาพที่เดือดร้อนหลงงมงาย
เดือดร้อนไม่รู้จักลืมหูลืมตา อันนี้เรียกว่า มนุสสเนริยโก
มนุสสเปโต เป็นคนชอบหลอกลวง ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจนั้นชอบ หลอกลวง ฉ้อโกง ลักเล็กขโมยน้อยอะไรต่าง ๆ นานา
เสาะหาสมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตนเองโดยไม่อยากจะแลกเปลี่ยน ถึงจะแลกเปลี่ยนก็เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เอาเปรียบเขาเสมอ
มนุษย์อย่างนี้เรียกว่า มนุสสเปโต เป็นมนุษย์แต่ร่างกาย ส่วนใจเป็นเปรต ตายแล้วก็เป็นเปรตอีก ไม่รู้จักจบสิ้น
บัดนี้ พวกเราทั้งหลาย นักปฏิบัติธรรม เข้ามาปฏิบัติธรรมะในครั้งนี้ทำลายแล้ว คติของเปรต ปิดประตูเปรต ปิดประตูนรก
ทำลายแล้วปิดประตูสัตว์เดรัจฉาน เราไม่หลงแล้ว เราไม่ละเมิดแล้ว เพราะเราเป็นผู้ตื่นอยู่
ครูบาอาจารย์ก็แนะนำตักเตือนกันอยู่ตลอดเวลา เตือนเพื่อไม่ให้เราหลงนั่นเอง ให้เราหนีจากภพชาติสัตว์เดรัจฉาน
หนีจากภพชาติโง่เง่าเต่าตุ่น ญาติโยมทั้งหลายอย่าหลง อย่าขาดสติ ขาดปัญญา ก็เรียกว่าคนหลง คนประมาท
ถ้าหลงจะไปตกที่ไหน หลงก็ตกหลุมจากสภาพของความเป็นมนุษย์ ไปอยู่ในสภาพของสัตว์เดรัจฉาน
เรารักษาสภาพความเป็นมนุษย์นี้ไว้ให้ดี อย่าให้มันตก อย่าให้มันหลง เราไปไหนมาไหน ตั้งสติ มีสติ ระลึกก่อน เราจะพูด
จะทำ จะกิน นั่ง นอน ยืน เดิน เอาสติไว้ตลอดเวลา ขาขวาเดินก็รู้จักขวา ขาซ้ายเดินก็รู้จักซ้าย นั่งก็รู้จักนั่ง
เรานั่งเอาขาไหนลงก่อน เราทำอย่างไร วิธีไหน ให้กำกับในการนั่ง นั่งแล้วกำหนด “อิริยาบถในการเคลื่อนไหว”
ซ้ายขวาให้รู้จักหมด มองใกล้ มองไกลให้กำหนดตลอดเวลา อย่าเผลอ อันนี้แหละสร้างสติ ถ้าเราไม่หลง
เราไม่ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานหรอก
แต่ตัวปัญญา คือตัวสัมปชัญญะ เรากำหนดรู้แจ้ง เมื่อสติรู้แล้ว ตัวนี้ให้เข้ามาแก้ไข ว่าทำอย่างนั้นไม่ถูก
อย่างนี้ไม่ถูก ถ้ามันไม่ถูกก็ตักเตือนเขาเสีย ถ้าถูกก็ปฏิบัติต่อไป คืออย่างเรานั่งภาวนานี้แหละ นั่งสมาธิ
บางทีก็ยุบหนอพองหนอ หายใจเข้าพอง หายใจออกยุบ มันผิดถนัด ตัวสัมปชัญญะมันเตือนว่าผิดแล้ว ก็ตั้งใหม่
ถ้าเรากำหนดพุทโธ หายใจเข้า พุท หายใจออกโธ ถ้าจังหวะมันผิดคือเราเผลอสติ เราก็เข้าไปพูดว่า หายใจเข้าเป็นโธ
หายใจออกเป็นพุท พูดผิดแล้วต้องตั้งใหม่ ต้องเตือนกันอยู่อย่างนี้ เราเดินก็เหมือนกัน ขวาย่างก้าวพุท ซ้ายย่างก้าวโธ
บางทีเราซ้ายย่างพุท ขวาย่างโธ มันผิดจังหวะก็ตั้งใหม่ ให้ระวังว่าเราเดินผิด ซ้ายพุท ขวา โธ ตรงไหน
ก็มายืนตรงนั้นแหละถอนคืนมา มายืนตรงนั้นตั้งใหม่ ขวาพุท ซ้ายโธต่อไป อันนี้นักปฏิบัติทั้งหลายเคยทำกันมา
ครูบาอาจารย์ หลวงปู่ก็เคยเตือนมา หลวงปู่เคยเห็นนักปฏิบัติอยู่ภูค้อ เขาเป็นพราหมณ์
เขาจะเดินทางไปนมัสการพระธาตุพนมในวันนั้น เขาเดิน ๆ ไป ไปที่วัดป่าหลวงปู่ หลวงปู่เห็นเขาเดินไปถึง ทางแยก
เขาเดินเขากำหนดเท้าของเขา เขาเดินไปผิดทาง เขาตั้งใจว่าจะเดินไปทางขวา แต่บังเอิญเดินไปทางซ้าย ไปประมาณ ๓ - ๔
ก้าวถอยกลับแทนที่จะเดินกลับมา ไม่เอา ถอยหลัง กลับมาก้าวที่มันผิดเดินใหม่ ขนาดเขาเป็นพราหมณ์เขายังทำได้
บัดนี้ พวกเราทั้งหลายเข้ามาฝึกหัด ฝึกหัดกันมา ก็จวนจะหมดเวลาแล้ว รีบเร่งเข้า ปฏิบัติเข้าทั้งกลางวันกลางคืน
ในเวลากลางวันหลังจากรับประทานอาหารแล้วเรา ก็ทำหน้าที่ตามที่อยู่ของตนเอง ถ้ามิเช่นนั้นก็หาต้นไม้ที่มันดี ๆ
ที่มันเป็นร่มเป็นเงาไปนั่ง สมาธิ ปูผ้าแล้วก็นั่งกันต่อไป เพราะเราไม่ได้ฉันเพล ไม่ต้องห่วงถึงเพล นั่งตลอดไปก็ได้
เรานั่งเมื่อเหนื่อยก็ลุกขึ้นเดิน เดินเหนื่อยก็ยืน ยืนเหนื่อยก็นั่ง นั่งเหนื่อยก็นอนก็ได้ อิริยาบถ ๔
ใช้ได้ทั้งนั้น ร่างกายเบญจขันธ์นี้ นอกจากเราจะทำสัตยาธิษฐาน เช่น เราตั้งสัตยาธิษฐานว่า ในค่ำนี้
ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิชั่วโมงหนึ่ง สองชั่วโมง หรือสามชั่วโมง ถ้าหากว่า จิตของข้าพเจ้าไม่สงบเมื่อไหร่
ข้าพเจ้าจะไม่พลิกมัน ถึงแม้ว่ามันจะเจ็บ จะปวดก็ช่างมัน จะไม่พลิกไป ไม่ไหวติง จนกว่า ความสงบจะเกิดขึ้น จนตลอดครบ ๓
ชั่วโมงไม่พลิก อันนี้ เป็นสัตยาธิษฐาน เรียกว่า “อธิษฐานบารมี” เรารักษาความสัตย์อันนี้ไว้ ความมั่นใจอันนี้ไว้
และสัจจะความจริงไว้ แต่ถ้าเราทำปกติ เรานั่งสมาธิปกติธรรมดา จะกำหนดอารมณ์อะไร ก็ตาม พุท - โธ สัมมา อะระหัง ไหว- นิ่ง
หรือยุบหนอ- พองหนอก็ตาม ถ้าเราปวดเมื่อย นั่งขวาทับซ้าย มันเมื่อยมันปวดขึ้นมาแล้ว เรากำหนดเวทนาเรียกว่า “ทุกขเวทนา”
ทุกขเวทนานี้ มันเกิดขึ้นได้ มันหยุดได้ มันเป็นของธรรมชาติ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เพราะเวทนานี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลตัวตนของเขาอะไร ช่างมันเถิด ปล่อยมันเสีย ถอนจิตออก อย่าไปยึดติดเป็นอุปาทาน
ถอนจิตออกเถิด ปล่อยเสีย ถอนจิตออกจากตรงนั้นแหละ ตรงที่มันปวด เมื่อถอนจิตออกได้แล้ว ความปวดมันไม่มี
จิตเป็นส่วนจิต กายเป็นส่วนกาย ไม่มีปวดแล้วเพราะจิตไม่รับ ถ้าเรากำหนดจี้จุดอยู่ จี้จุดอยู่ ปวดหนอ ๆ
มันเป็นอุปาทาน มันจี้เข้าไปในจิตของเราเป็นเท็จ คำบริกรรมนี้เป็นเท็จ ทำลายความปวดนั้น ออกไป มันยาก ถอนเสีย
คลายเสีย เมื่อเราคลายแล้ว เราหยุดแล้ว ความปวดมันหายเอง อันนี้ วิธีแก้ทุกข์ ถ้ามันยังไม่หาย เรากำหนดอีก พิจารณาอีก
ถอนอีก ยังไม่หายก็เปลี่ยนอิริยาบถใหม่ ความปวดก็หายชั่วคราว แต่มันไม่หายจริง คือมันหายชั่วคราว ให้ทำอย่างนี้
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราใช้อิริยาบถ ๔ เรานั่น เราเมื่อยมากแล้ว ปวดมาก ให้เรายืน ถ้ายืนเราเมื่อยให้เดิน
ถ้าเดินเราเมื่อยก็ให้นั่งให้นอน อิริยาบถ ๔ นี้ใช้ได้ทั้งนั้น ไม่แปลกอะไรนี่ ให้โยมเข้าใจเด้อ
อันนี้จวนจะหมดเวลาแล้ว รีบเร่งเข้า ตลาดจะวายเสีย เมื่อตลาดจะวายแล้ว เราไม่รีบเร่งไปจ่ายตลาด เราก็ไม่มีอาหารมากิน
อันนี้เวลามันจะหมดแล้ว เหลือเพียง ๒ วัน เรารีบเร่งเข้า เราจะหมดเวลาแล้ว ให้มีความเพียรหนักแน่นขึ้น
ให้มีสติแก่กล้าขึ้น พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ไว้ การสร้างพลัง การสร้างอินทรีย์ ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า
อาการดีเปรียบเหมือนดอกบัวที่พ้นจากน้ำแล้ว คอยรับแต่แสงพระอาทิตย์ก็บาน
เหมือนกับคนที่บำเพ็ญบารมีเต็มแล้วแสดงหัวข้อธรรมะขึ้นนิดเดียวก็รู้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็อบรมบารมี ต่อ คือ
อบรมอินทรีย์พละ อินทรีย์พละในที่นี้หมายถึง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
๑.ศรัทธาพลัง อาศัยศรัทธาเป็นพลัง
๒.วิริยะพลัง อาศัยความเพียร ความพยายามไม่ลดไม่ละ
ทำความเพียรตลอดทั้งเช้า กลางวัน บ่าย เย็น กลางคืน ไม่ลดละ อาศัยอันนี้เป็นกำลัง
๓.สติพลัง อาศัยสติเป็นกำลัง รักษาสติไว้ดี ๆ
๔.สมาธิพลัง อาศัยความตั้งใจมั่นเป็นพลัง
๕.ปัญญาพลัง อาศัยความรู้ ความฉลาดหลักแหลม ความรู้เท่าเป็นพลัง
นี่กำลัง ๕ อย่าง เมื่อสมบูรณ์ ๕ อย่างนี้แล้ว มรรค ผล นิพพานอยู่แค่เอื้อมไม่ไปไกล อินทรีย์พลัง “อินทรีย์” แปลว่าความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนเอง ศรัทธา เป็นใหญ่ ในความเชื่อ สติเป็นใหญ่ในการมีสติ ตั้งสติดี สมาธิเป็นใหญ่ในการตั้งใจมั่น วิริยะ ความ เพียร เป็นใหญ่ในการประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติกันหนักแน่น ไม่เห็นแก่เหนื่อยแก่ยาก แก่ร้อนแก่เย็น แก่เช้าแก่สายบ่ายเที่ยง ไม่ได้เลือกตลอดเวลาความเพียรมันเป็นใหญ่ ในตรงนี้ ความเป็นใหญ่เขาเรียกว่า อินทรีย์ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ถ้าอันนี้สมบูรณ์แล้ว มรรค ผล นิพพาน พระพุทธเจ้าเทศน์ได้ผล แม้พระเรา สามัญชนอย่างพระเราทุกวันนี้ เทศน์ก็ได้ มรรคผลเหมือนกัน เพราะธรรมะอันนั้นมันเป็นของจริง ใครมาพูดก็ได้มรรคผลหมด ขอให้ปฏิบัติผู้ฟังนั้นเชื่อ แล้วนำไปปฏิบัติ ไม่ได้ว่าแต่ครูบาอาจารย์ผู้ใดผู้หนึ่ง แม้มันจะอยู่กับคนพาล แต่เขาพูดถูกต้อง ถูกตามหลัก แต่เขาทำไม่ได้ เรานำมาปฏิบัติ เราดีเอง เราได้เองเด้อ ให้ญาติโยมทั้งหลายเข้าใจ......
|